‘ความตาย ความสวยงาม และแฟชั่น’ เจาะลึกว่าทำไมหัวกะโหลกถึงเป็นซิกเนเจอร์ของ Alexander McQueen
เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่เขาเริ่มต้นอาชีพดีไซเนอร์ด้วยหัวกระโหลก ก่อนจะพัฒนาแฟชั่นสุดลึกลับพร้อมสัญลักษณ์แห่งความตายมาจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต
Alexander Lee McQueen หรือ Alexander McQueen ที่สาวกแฟชั่นรู้จักกันเป็นอย่างดี เขาคือดีไซเนอร์ชาวอังกฤษผู้ตรากตรำฝ่าความยากลำบากและไล่ตามความฝัน จนกระทั่งจบชีวิตตัวเองเมื่อยืนอยู่ในจุดสูงสุดและฝากผลงานชิ้นสุดท้ายไว้บนรันเวย์ให้กลายเป็นตำนานตลอดไป ใครที่เคยชมโชว์ของเขาต้องจำภาพความสร้างสรรค์และแหวกแนวของทั้งเซ็ตติ้ง เสื้อผ้า รวมถึงการแสดงต่างๆ ได้อย่างแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไปจากสารบบของอเล็กซานเดอร์เลยคือ “หัวกะโหลก” วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันว่าทำไมโครงกระดูกส่วนบนสุดของมนุษย์ถึงกลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของดีไซเนอร์ระดับตำนานคนนี้
ผลงานคอลเล็กชั่นจบการศึกษาของ Alexander McQueen / ภาพ: Pinterest
เรื่องราวของหัวกะโหลกในโลกแฟชั่นของอเล็กซานเดอร์ แม็กควีนต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1992 อเล็กซานเดอร์ในฐานะนักศึกษาแฟชั่นจากสถาบัน Central Saint Martins นำเสนอคอลเล็กชั่นจบการศึกษาด้วยคอนเซปต์ Jack The Ripper และบรรดาเหยื่อของเขา สะท้อนให้เห็นเงาดำมืดในจินตนาการที่สะท้อนออกมาเป็นแฟชั่นแสนลึกลับมาตั้งแต่สมัยเรียน เขาเลือกใช้หัวกะโหลกเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้ฉุกคิดถึงเรื่องความตาย หลังจากวันนั้นเราก็ได้เห็นแฟชั่นที่เต็มไปด้วยการวิเคราะห์ร่างกายมนุษย์ และหยิบส่วนต่างๆ ของร่างกายมาตีความจนเกิดเป็นความสวยงามของแฟชั่นในรูปแบบเฉพาะตัว
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง McQueen ที่ผู้สร้างใช้สัญลักษณ์หัวกะโหลกแทนสัญลักษณ์ของตัว Alexander McQueen / ภาพ: Asylum SFX
ตลอดระยะเวลานับทศวรรษเขาหยิบเอาความละเอียดอ่อนของวัสดุมารังสรรค์ผ่านกระบวนการคิดที่เต็มไปด้วยความล้ำหน้าเหนือจินตนาการ “Dark Fashion” ที่เราคุ้นเคยจากอเล็กซานเดอร์ แม็กควีนถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกจดจำว่าแฟชั่นจากมุมมืดที่สวยงามอย่างลึกลับแบบนี้เป็นลายเซ็นของดีไซเนอร์ดาวรุ่งชาวอังกฤษอย่างแน่นอน และนั่นกลายเป็นสนามแฟชั่นที่เต็มไปด้วยวัตถุอันน่าค้นหา หัวกะโหลกเองก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางคล้ายภาษาสากลในการถ่ายทอดอารมณ์เหล่านี้ให้คนทั่วโลกเข้าใจแฟชั่นของเขาตรงกัน
WATCH
Nicky Hilton กับลุคโทนสีดำที่สไตลิ่งผ้าพันคอจาก Alexander McQueen เพื่อความสมบูรณ์แบบ / ภาพ: Livingly
กระโดดข้ามมาถึงปี 2003 กับยุคมิลเลนเนียลที่แฟชั่นแบบ Y2K โดดเด่นอย่างมาก ผู้หญิงยุคนั้นต้องพันผ้าพันคอ ซึ่งเป็นเหมือนแอ็กเซสเซอรี่ชิ้นเด่นที่ขาดไม่ได้ อเล็กซานเดอร์ แม็กควีนเองก็หยิบเอาสัญลักษณ์ซิกเนเจอร์อย่างหัวกะโหลกมาเป็นลวดลายหลักบนผ้าพันคอของแบรนด์ ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Mission ของ Roland Joffé ในปี 1986 และแล้วผ้าพันคอลายหัวกะโหลกก็ตีตลาดแฟชั่นเหล่าเซเลบริตี้จนมีคนเปรียบเปรยว่า “ผ้าพันคอหัวกะโหลกเหล่านี้ไม่ใช่แค่ผ้าพันคอ แต่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะทางสังคม” เลยทีเดียว
ลวดลาย Marilyn Monroe เวอร์ชั่นกะโหลกครึ่งซีกบนผ้าพันคอ Alexander McQueen ปี 2008 / ภาพ: 1stDibs
ความโดดเด่นที่ติดตลาดกับแรงบันดาลใจด้านมืดเบื้องหลัง พร้อมทั้งความสนใจเรื่องร่างกายมนุษย์ ทั้งหมดผสมผสานกันและผลักดันให้อเล็กซานเดอร์พัฒนาไอเท็มลายหัวกะโหลกชิ้นเด่นออกมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระโปรง เสื้อ และกระเป๋าคลัตช์อันโด่งดัง เขาสร้างสรรค์แฟชั่นให้ติดตาจนเข้าไปอยู่ในกระแสวัฒนธรรมป๊อปยุค 2000s ได้อย่างแนบเนียน ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาแนวทางการทำงานที่มุ่งเน้นพัฒนาแฟชั่นด้านมืดและความสวยงามอันลึกลับโดยใช้สัญลักษณ์สากลเป็นสื่อกลางให้ทุกคนได้เสพงานศิลปะเครื่องแต่งกายต่อไปในทุกๆ ซีซั่น
กระเป๋าคลัตช์หัวกะโหลกที่ถือเป็นไอเท็มชิ้นไอคอนิกของ Alexander McQueen / ภาพ: Essex Fashion House
เมื่อเขาพูดถึงความตาย...ความตายก็ทำให้ผลงานของเขาล้ำลึกกว่าที่เคย หลังจากอเล็กซานเดอร์ แม็กควีนเสียชีวิตไปเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2010 ไม่กี่ปีให้หลังลวดลายหัวกะโหลกก็กลับมาฮิตและกลายเป็นไอเท็มที่สื่ออารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งในมุมมองของผู้เสพช่วงนั้น หลังจากที่ผ้าพันคอลายหัวกะโหลกเคยหายไปจากสารบบแฟชั่นพร้อมๆ กับแฟชั่น Y2K นอกจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์อีกว่าแฟชั่นของอเล็กซานเดอร์หมายถึงความเปราะบางและพลังเหนือชีวิตมาโดยตลอด เพราะเขามักสอดแทรกงานออกแบบที่ใช้วัสดุแสนเปราะบาง ละเอียดอ่อน และวาดลวดลายที่สาดสัญลักษณ์ของชีวิตหลังความตาย แฟชั่นของเขาในหลายซีซั่นจึงดูมืดมิดลึกลับแต่ก็สวยงามตามรูปแบบเขาต้องการ
ภาพไอคอนิกของ Alexander McQueen ที่กำลังสูบบุหรี่ไปพร้อมกับหัวกะโหลก / ภาพ: Artsy
วันนี้เมื่อกระแสแฟชั่น Y2K กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เราอาจจะได้เห็นลวดลายกะโหลกออกมาโลดแล่นตามท้องถนนได้เหมือนวันเก่าๆ แม้สัญลักษณ์แห่งความตายจะดูน่ากลัว แต่เมื่อขึ้นชื่อว่ามาจากแบรนด์อเล็กซานเดอร์ แม็กควีนก็เหมือนการเปลี่ยนความขนหัวลุกเป็นความงดงามที่ยากจะหาใครเลียนแบบ อาจจะจริงตามที่มีคนโต้แย้งว่าเขาไม่ใช้ผู้คิดค้นการสร้างความสวยงามจากหัวกะโหลกเป็นคนแรก เพราะตามประวัติศาสตร์มีผู้คนจากหลายอารยธรรมใช้หัวกะโหลกเป็นผืนผ้าใบสำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่อเล็กซานเดอร์ดึงเอาความหมายในมุมมองของเขามาสอดแทรกลงในสัญลักษณ์สากลนี้ พร้อมทั้งนำเสนอมันในรูปแบบเฉพาะตัวจนเกิดเป็นผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซ และได้รับความนิยมไปทั่วโลก หากพูดถึงความตาย ความสวยงาม แฟชั่น และหัวกะโหลก ชื่อของอเล็กซานเดอร์ แม็กควีนจะต้องปรากฏขึ้นในความคิดของสาวกแฟชั่นทั่วโลกอย่างแน่นอน โว้กขอไว้อาลัยแด่การจากไปครบ 12 ปีของดีไซเนอร์ชาวอังกฤษผู้นี้
ข้อมูล:
WATCH