FASHION

Adele Simpson ดีไซเนอร์หญิงผู้มีอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นอเมริกายาวนานถึง 5 ทศวรรษ

เธอไม่ใช่่แค่ผู้ริเริ่ม แต่เธอคือผู้พัฒนา สานต่อ และสร้างแบบแผนให้กับแฟชั่นยุคปัจจุบันตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

     ถ้าพูดเรื่องดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่หลายคนก็มักนึกถึงสุดยอดดีไซเนอร์ผู้รังสรรค์ความแปลกใหม่และสามารถปฏิวัติวงการแฟชั่นได้ในช่วงเวลาอันน่าทึ่ง แต่สำหรับ Adele Simpson สุดยอดดีไซเนอร์ของฝั่งอเมริกานั้นอาจไม่ถึงขั้นเรียกว่าปฏิวัติวงการแฟชั่น เธอพัฒนาองค์ประกอบด้านแฟชั่นให้ออกมาลงตัวที่สุดจนชื่อเสียงโด่งดังและมีอิทธิพลยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ วันนี้โว้กจะพาไปย้อนชมว่าหญิงสาวผู้เบิกร่องเส้นทางแฟชั่นให้กับอเมริกาผู้นี้ทำอย่างถึงประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุด

บรรยากาศของมหานครนิวยอร์กในช่วงปี 1900 ที่ Adele Simpson ลืมตาดูโลก / ภาพ: Business Insider

     จุดเริ่มต้นชีวิตของอเดลนั้นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1903 ในฐานะลูกสาวคนที่ 5 ของตระกูลพ่อแม่ชาวลัตเวียที่อพยพมาอยู่ ณ มหานครนิวยอร์ก ช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มย้ายถิ่นฐานอพยพสู่ดินแดนที่เปิดกว้างสำหรับการใช้ชีวิตอย่างอิสระและเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย แน่นอนว่านิวยอร์กคือหนึ่งในตัวเลือกหลักของพวกเขาเหล่านั้น เส้นทางของเด็กยุคนั้นเปิดกว้างมากพอให้อเดลเติบโตมาในเส้นทางที่เลือกเดิน ช่วงวัยรุ่นเธอตัดสินใจลงเรียนด้านการตัดเย็บที่สถาบันการออกแบบแพรตต์ก่อนจบการศึกษาประมาณต้นยุค ‘20s ช่วงชีวิตวัยเด็กของเธอไม่มีอะไรหวือหวานัก ตรงนี้เราจึงอยากให้อเดลเป็นตัวอย่างเพื่อให้นักศึกษาแฟชั่นรุ่นใหม่ศึกษาเส้นทางชีวิตของเธอต่อจากนี้ เพราะเส้นทางของดีไซเนอร์คนนี้ก้าวมาจากสถานะนักศึกษาแฟชั่นทั่วไปสู่การเป็นตำนานของวงการแฟชั่นระดับโลก

เสื้อผ้าในยุค '30s ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดซับซ้อนสวนทางกับแนวคิดของ Adele Simpson / ภาพ: Fashion Era

     “การเรียนรู้นอกตำราเป็นสิ่งสำคัญ” หลังจบการศึกษาเธอก็เดินหน้าสู่เส้นทางนักออกแบบทันที โดยเริ่มจากการทำงานในฐานะผู้ช่วยดีไซเนอร์ ก่อนจะเริ่มศึกษาเพิ่มเติมและเริ่มสร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการขวนขวายคว้าตำแหน่งหัวหน้าทีมออกแบบชุดเดรสของห้องเสื้อ Ben Gershel ตั้งแต่ปี 1923-1927 และเริ่มต้นเส้นทางครั้งใหม่กับแบรนด์ William Bass ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำของนิวยอร์กในขณะนั้น จนกระทั่งปี 1929 จุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของอเดลก็เกิดขึ้น เมื่อเธอรับตำแหน่งสำคัญของ Mary Lee Fashions (ก่อนจะซื้อกิจการและเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อตนเองในปี 1949) จุดบันทึกสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านแฟชั่นของอเมริกากำลังจะเริ่มขึ้น



WATCH




ชุดสูทสำหรับสุภาพสตรีฝีมือการรังสรรค์ของ Adele Simpson / ภาพ: Vintage.tn

     อเดลเริ่มมีชื่อเสียงสุดขีดในช่วงนี้ ด้วยอายุประมาณ 20 ปลายๆ ทำให้หลายคนจับตามองว่าเธอจะพุ่งทะยานไปได้ไกลเพียงใดในเส้นทางความสวยงามเส้นทางนี้ และเมื่อเริ่มต้นกับทางแมรี่ ลี แฟชั่นส์ได้ไม่นานดีไซเนอร์ไฟแรงก็ปล่อยไลน์เสื้อผ้าราคาระดับกลางซึ่งนำเทคนิคกูตูร์แบบฝรั่งเศสมาประยุกต์ใช้กับเสื้อผ้าไลน์เรดี้ทูแวร์สไตล์อเมริกัน นับเป็นเครื่องหมายการค้าสำคัญที่ทำให้ชื่ออเดล ซิมป์สันยิ่งได้รับความสนใจจากสตรีอเมริกันเป็นอย่างมาก

ชุดเดรสของ Adele Simpson ปี 1948 ที่ทั้งดูสวยหรูและสวมใส่ง่ายในเวลาเดียวกัน / ภาพ: Wikimedia Commons

     “จุดเริ่มต้นของต้นแบบเสื้อผ้าที่นิยมของสตรีชาวอเมริกัน” แม้หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่ออเดลมาก่อน แต่เธอนี่ล่ะคือผู้อยู่เบื้องหลังแฟชั่นของสตรีชาวอเมริกันมาอย่างยาวนาน ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบแสดงให้เห็นผ่านผลงานที่เนี้ยบประณีตดุจงานกูตูร์จากฝรั่งเศส ผสมผสานกันความเรียบง่ายในการสวมใส่ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับความสวยงามอยู่เสมอ จะว่าไปรากฐานการผสมผสานรูปแบบแฟชั่นเหล่านี้ไม่ได้เป็นแบบแผนแค่กับแฟชั่นอเมริกัน แต่มีอิทธิพลในเวทีแฟชั่นระดับโลกจวบจนปัจจุบัน

แพตเทิร์นการทำชุดเดรสของ Adele Simpson ใน Vogue Patterns ยุค '40s / ภาพ: Pattern-Walk

     ในสมัยก่อนแน่นอนว่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังห่างไกลกับการพัฒนาให้ทุกเพศเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ ณ เวลานั้นสตรีชาวอเมริกันเองมักมีแฟชั่นตามแบบแผนที่สวมใส่ให้สวยงามตอบโจทย์มุมมองของสามี แต่อเดลไม่ได้คิดเช่นนั้น เธอมองว่าเสื้อผ้าต้องออกแบบมาให้ผู้สวมใส่รู้สึกมั่นใจและชื่นชมในตัวตนของตัวเอง นอกจากนี้ในยุคหลังสงครามโลกที่ผู้หญิงก้าวออกมาทำงานนอกบ้าน มีบทบาทกับสังคมมากขึ้น อเดลจึงเลือกเจาะไปที่กลุ่มผู้หญิงทำงาน ออกงานสังคม ท่องเที่ยว และต้องการเสื้อผ้าหลากหลายเหมาะสำหรับทุกสถานการณ์ เธอจึงหันหลังให้แฟชั่นสไตล์อวองต์-การ์ด และหันหน้าเข้าสู่การทำเสื้อผ้าให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายโดยไม่ละทิ้งความสวยงามแทน ซึ่งแนวคิดนี้พาเธอมุ่งสู่ความสำเร็จอย่างจริงจัง การันตีด้วยรางวัล Neiman-Marcus Award ในปี 1946 และ COTY American Fashion Critics Award ในปี 1947

Adele Simpson นำเสนอผ้าคอตตอนพิมพ์ลายสุดเลื่องชื่อ / ภาพ: eBay

     “นำผ้าคอตตอนออกจากห้องครัว” การเปลี่ยนแปลงสำคัญของวงการแฟชั่นฟากอเมริกาเกิดขึ้นด้วยน้ำมืออเดลอีกครั้งเมื่อเธอให้ความสำคัญกับการนำผ้าคอตตอนมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าอย่างจริงจัง ซึ่งอเดลถือเป็นดีไซเนอร์อเมริกันคนแรกที่มองผ้าคอตตอนเป็นวัสดุหลักสำหรับการรังสรรค์เสื้อผ้า ช่วงยุค ‘40s ที่ทุกคนเคยชินกับการใช้ผ้าคอตตอนในห้องครัว ตอนนั้นอเดลได้พลิกโฉมให้ผ้าชนิดนี้กลายเป็นนางในคอลเล็กชั่นของเธอ และเธอก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเส้นใยบางอย่างสามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานให้หลุดออกจากกรอบเดิมๆ ได้โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ชุดสำหรับงานกลางคืนสุดหรูหราของ Adele Simpson ที่ราคาน่าคบหาเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพระดับกูตูร์ / ภาพ: myvintagevogue

     เชื่อไหมว่าการเดินทางของอเดลที่มาพร้อมความยอดเยี่ยมแบบนี้มาพร้อมราคาน่าคบหา แน่นอนว่าการริเริ่มทำสิ่งใหม่จนสามารถเคลมว่าเป็น “คนแรก” มักสร้างมูลค่าทางความคิดมหาศาล ซึ่งปัจจัยนี้สามารถทำให้ราคาเสื้อผ้าของแบรนด์พุ่งทะยานสูงขึ้นได้เช่นกัน แต่เธอมองว่าทุกคนสามารถสร้างความสวยงามได้ในราคาที่เหมาะสม ในช่วงปลายยุค ‘40s ที่เธอกำลังมีชื่อเสียงมากในนิวยอร์ก ดีไซเนอร์คนนี้ติดป้ายราคาขายชุดเดรสงานกูตูร์สุดเนี้ยบเริ่มต้นประมาณหลักพันบาทหรือประมาณหลักหมื่นกลางๆ ในค่าเงินปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบคุณภาพของชุดระดับนี้ถือว่าเป็นราคาที่น่าใจหายมาก เพราะชุดเดรสเปิดไหล่ของแบรนด์ระดับไฮเอนด์ในปัจจุบันราคาก็พุ่งไปเกือบครึ่งแสนเป็นอย่างต่ำแน่นอน

ผลงานการรังสรรค์แคมเปญโฆษณาของ Adele Simpson / ภาพ: Loveoffashion

     ช่วงยุค ‘40s – ‘70s เสื้อผ้าของอเดลโด่งดังถึงขีดสุด มีโฆษณาปรากฏอยู่ในสื่อหลากหลายรูปแบบทั่วอเมริกา และนอกจากราคาที่จับต้องได้แล้ว ชุดเดรสของอเดลยังมีขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำอีกด้วย เรียกว่าใครอยากหาเสื้อผ้าคุณภาพสูงราคาสมเหตุสมผลแล้วล่ะก็อเดลก็พร้อมตอบโจทย์พวกเธอเสมอ นอกจากนี้ดีไซเนอร์หญิงผู้ทรงอิทธิพลยังรังสรรค์ชุดเดรสแบบมีเข็มขัดปรับระดับขึ้นในช่วง ‘50s ต่อด้วยการหยิบจับเนื้อผ้าหลากหลายรูปแบบมารังสรรค์ชุดเพื่อพัฒนาแบรนด์อยู่ตลอดเวลา ยุค ‘60s ก็นำกลิ่นอายความสวยงามของเอเชียมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าลินิน ลวดลาย และซิลูเอตต่างๆ นับว่าอเดลไม่เคยหยุดนิ่งแม้จะสร้างอิทธิพลให้กับโลกแฟชั่นฟากอเมริกามามากมายแล้วก็ตาม

ชุดเดรสสำหรับงานกลางคืนของพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี Richard Nixon ของ Pat Nixon / ภาพ: Bettmann

     เครื่องหมายการันตีความยิ่งใหญ่ของอเดลอีกอย่างหนึ่งคือการเป็นดีไซเนอร์ผู้ออกแบบชุดให้กับเหล่าสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Lady Bird Johnson, Pat Nixon และ Barbara Bush ซึ่งพวกเธอสะท้อนตัวตนของหญิงสาวแบบอเดล ซิมป์สันได้เป็นอย่างดี เพราะสตรีผู้แข็งแกร่งเหล่านี้มีลักษณะตรงกับแรงบันดาลใจในการสรรสร้างเสื้อผ้าของอเดลที่มองถึงตัวตนของเหล่าสตรียุคใหม่มาตั้งแต่ต้น

ชุดเดรสของ Pat Nixon ที่ใส่ไปเยือนประเทศจีนเมื่อปี 1972 ออกแบบโดย Adele Simpson / ภาพ: Jeremy Thompson

     นับตั้งแต่ปี 1922 ที่เธอเริ่มเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์อเดลไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองแม้แต่น้อย นอกจากเสื้อผ้าแล้วเธอยังเริ่มศึกษาและผลิตเครื่องประดับอีกด้วย การเดินทางหลายสิบปีสร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลกแฟชั่นของอเมริกาได้อย่างสมบูรณ์แบบ สุดท้ายการเดินทางสิ้นสุดลงในปี 1985 เมื่ออเดลในวัยเลข 8 วางมือและให้ลูกสาวและลูกเขยรับหน้าที่ต่อ ก่อนพวกเขาจะขายกิจการให้กับ Barron Peters ไปในปี 1991 แต่โชคร้ายที่แบรนด์ไม่ได้ไปต่อ และบาร์รอน ปีเตอร์ก็ล้มละลายในเวลาต่อมา ปิดตำนานอเดล ซิมป์สันไว้เพียงเท่านี้

แฟชั่นสุดเรียบหรูของ Adele Simpson ที่รายละเอียดต่างๆ ถ่ายทอดมาสู่ชุดเดรสสำหรับงานกลางคืนในยุคปัจจุบัน / ภาพ: Millie Motts

     ตอนนี้ผลงานของเธออาจกลายเป็นเพียงหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์แฟชั่นที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่เรื่องราวของเธอตอกย้ำเส้นทางชีวิตที่สร้างแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองรักจนสร้างอิทธิพลกับโลกแฟชั่นได้ยาวนานเกินครึ่งศตวรรษ แม้วันนี้จะไม่มีแบรนด์อเดล ซิมป์สันอีกต่อไป แต่รูปแบบแฟชั่นที่เธอสร้างไว้ยังคงปรากฏเด่นชัดในอุตสาหกรรมแฟชั่น(โดยเฉพาะแฟชั่นของฝั่งอเมริกา) จวบจนปัจจุบัน และวันที่ 23 สิงหาคม 1995 อเดลก็เสียชีวิตลงด้วยวัย 91 ปี เราหวังว่าแรงบันดาลใจจากเรื่องราวนี้สามารถผลักดันให้คนเดินหน้าและพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง และที่สำคัญได้จดจำบุคคลสำคัญที่อาจเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ วันนี้เราย้ำชื่อนี้ให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของเธออีกครั้ง เนื่องในวาระครบรอบการจากไปครบ 26 ปี โว้กขอร่วมไว้อาลัยและรำลึกถึง “อเดล ซิมป์สัน” สุดยอดตำนานแฟชั่นอีกหนึ่งคน

 

ข้อมูล:

fashionmodeldirectory.com

fashionencyclopedia.com

vintagecouture.com

vanityfair.com

wwd.com

pattern-walk.com

nytimes.com

New York Fashion: The Evolution of American Style - Caroline RennoldsNew York, 1989

WATCH