Fashion Campaigns get Banned
FASHION

ย้อนรอย 6 แคมเปญโฆษณาสุดฉาว เมื่อโลกแฟชั่นสร้างสรรค์จนเกินงาม!

แม้วงการแฟชั่นจะไร้ขีดกำจัด แต่ถ้า “ข้ามเส้น” ก็อาจถูกแบนได้

     แวดวงแฟชั่นคือความสนุก ความสร้างสรรค์ ความหวือหวาน่าตื่นตะลึง และหลายครั้ง ‘แฟชั่น’ ก็ข้ามข้อจำกัดบางอย่างที่อาจจะทั้งตั้งใจ และไม่ตั้งใจ จนกลายเป็นสิ่งต้องห้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคมเปญโฆษณาที่หลายครั้งก็เลือกที่จะสื่อสารเพื่อสร้างกระแส แต่ถ้ามันข้ามเส้นจนเกินไปก็อาจจะลงท้ายด้วยการถูกแบน อย่างเช่น 6 แคมเปญแฟชั่นที่เรายกตัวอย่างมาในครั้งนี้...

     Dolce & Gabbana ‘The Great Show’ in China

Dolce & Gabbana ‘The Great Show’ in China

     แคมเปญโฆษณาที่กลายเป็นกระแส ‘เหยียดเชื้อชาติ’ ครั้งใหญ่ของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Dolce & Gabbana ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจที่จะนำเสนอในมุมที่กล่าวข้างต้น เพียงแต่ต้องการนำเสนอความเป็นจีน โดยการเลือกนางแบบเอเชียให้มาโชว์ลีลาการใช้ตะเกียบในการทานอาหาร รวมไปถึงการคีบพิซซ่า ซึ่งชาวจีนที่ได้เห็นโฆษณาชิ้นนี้มองว่านี่เป็นการเหยียดหยามคนจีนว่าไม่รู้จักวัฒนธรรมแบบตะวันตก ส่งผลให้โชว์ที่จะจัดในจีนต้องยกเลิก และเกิดกระแสต่อต้านจากตลาดใหญ่ในเอเชียจนทางแบรนด์ต้องออกมาขอโทษต่อเหตุดังกล่าว

     Gucci Ads Campaign 2003

Gucci Ads Campaign 2003

     ต้องยอมรับว่าความเย้ายวนทางเพศนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่มักถูกนำมาสื่อสารในโฆษณา เพื่อดึงดูดให้น่าสนใจ ยิ่งถ้าสามารถนำเสนอได้อย่างพอเหมาะพอดีจะยิ่งทำให้การสื่อสารนั้นดูมีชั้นเชิงทางศิลปะมากยิ่งขึ้น แต่ดูเหมือนว่าโฆษณาของ Gucci ในปี 2003 อาจจะล้ำเส้นของชั้นเชิงไปหลายสเต็ป ด้วยการให้นางแบบสาว Carmen Kass โชว์ส่วนพึงสงวนที่ถูกตัดแต่งขนเป็นสัญลักษณ์ตัว ‘G’ ซึ่งแน่นอนว่าโฆษณาชิ้นนี้ก็ลงเอยด้วยการถูกแบนอย่างแน่นอน

     Sisley ‘Fashion Junkie’ Ads Campaign



WATCH




Sisley ‘Fashion Junkie’ Ads Campaign

     ‘ยาเสพติด’ เป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับในเชิงกฎหมายไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดในโลก ดังนั้นถ้าหากไม่อยากจะให้การทำโฆษณาต้องถูกห้าม ก็ควรจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ส่อเค้าไปถึงประเด็นดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่า ‘Sisley’ ไม่ได้คิดแบบนั้น ด้วยการปล่อยแคมเปญโฆษณาที่ให้หญิงสาวแสดงท่าทางกำลังเสพยา (ซึ่งในภาพเป็นการเสพเสื้อผ้าแทนยาเสพติด) พร้อมแสดงอาการมึนเมา ซึ่งทางแบรนด์ต้องการจะสื่อว่าเสื้อผ้าของทางแบรนด์นั้นทำให้คนเสพติดได้ แต่สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่าสิ่งที่สื่อออกมาผู้คนจะตีความว่าทางแบรนด์กำลังสนับสนุนให้ผู้คนใช้ยาเสพติดกันมากขึ้นมากกว่า

     Mia Goth for Miu Miu Spring /Summer 2015 Ads Campaign

Mia Goth for Miu Miu Spring Summer 2015 Ads Campaign

     เด็ก และความเย้ายวนทางเพศเป็นสองสิ่งที่ดูไม่น่าจะโคจรมาเจอกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนสื่อโฆษณา เพราะนี่ถือเป็นประเด็นอ่อนไหว และแน่นอนว่าหากถูกนำเสนอออกไปก็จะต้องถูกแบนอย่างแน่นอน อย่างเช่นกรณีแคมเปญโฆษณาของแบรนด์ Miu Miu ในคอลเลคชั่นฤดูร้อน 2015 ที่นำนักแสดง Mia Goth มาร่วมถ่าย ถึงแม้ว่าในตอนนั้นเธอจะอายุ 21 ปี แล้วก็ตาม แต่ด้วยใบหน้าที่ยังดูเหมือนเด็ก ประกอบกับท่าทางการถ่ายที่ดูไร้เดียงสาเย้ายวนจึงทำให้โฆษณาชิ้นนี้ถูกแบนไป เนื่องจากความกังวลที่ว่าจะไปสนับสนุนปัญหาอาชญากรรมทางเพศในเด็ก และเยาวชน

     Hailee Steinfeld for Miu Miu

Hailee Steinfeld for Miu Miu

     อีกหนึ่งแคมเปญที่ถูกแบรนด์ของเฮาส์ Miu Miu ถ้าหากดูจากภาพอาจจะสร้างความสงสัยได้ว่าทำไมแคมเปญโฆษณาชิ้นนี้จึงถูกแบน แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียดจะทราบว่าในขณะนั้น Hailee Steinfeld ที่เป็นแบบให้กับโฆษณานั้นมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น และด้วยกฎข้อบังคับของการถ่ายโฆษณาแล้วไม่ควรจะนำเด็กไปอยู่ในภาวะเสี่ยง อย่างเช่นการนำไปนั่งบริเวณรางรถไฟ อีกทั้งภาพยังสื่อความไปถึงการปลิดชีพตนเองได้อีกด้วย ดังนั้นสมาพันธ์โฆษณาในยุโรปจึงเลือกแบนโฆษณาชิ้นนี้

     Dolce & Gabbana Spring/Summer 2007 Ads Campaign

 Dolce & Gabbana Spring – Summer 2007 Ads Campaign

     เนื่องจากความเปิดกว้างที่จะสื่อสารเรื่องเพศในสังคมตะวันตกนั้นสามารถสื่อสารได้อย่างเสรีมากกว่า ดังนั้นความตระหนักรู้ในประเด็นความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับเพศก็จะมีมากตามไปด้วย ดังนั้นการทำสื่อโฆษณาที่จะส่อเค้าไปถึงการสนับสนุนอาชาญกรรมทางเพศก็มักจะเป็นสิ่งต้องห้าม แม้ว่าทางผู้ทำโฆษณาอาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นแคมเปญโฆษณาของ Dolce & Gabbana ที่ต้องการจะสะท้อนความเซ็กซี่ของทั้งเพศชาย และเพศหญิง แต่ดูเหมือนภาพที่ออกมาจะเป็นการสนับสนุนการข่มขืนเสียมากกว่า จึงทำให้โฆษณาชิ้นนี้ถูกแบนไปในที่สุด

     แม้ว่าในวงการสร้างสรรค์ อิสระทางความคิด และการถ่ายทอดความคิดอาจจะยากที่จะตีกรอบ แต่ผู้ที่เป็น ‘นักสร้างสรรค์’ ก็จะต้องรู้ขอบเขตของความพอดี และคิดตระหนักอย่างรอบด้านก่อนที่จะสร้างสรรค์งานที่จะสื่อสารกับผู้คน มิเช่นนั้นชิ้นงานที่จะสื่อสารกับผู้คน อาจจะไม่ถูกนำมาใช้สื่อสารอีกต่อไปก็เป็นได้

ข้อมูล : DAZED และ The Guardian

WATCH