FASHION

ครบรอบ 100 ปีความเป็นชายอันหนักแน่นของผู้หญิงยุคแรกในประวัติศาสตร์แฟชั่น

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้ติดกับดักอยู่กับฉากเดิมๆ และกล้าจะสร้างความแข็งแกร่งโดยไม่สนกรอบเกณฑ์ที่ต้องอ่อนโยนเสมอไป

     ปี 2021 ถือเป็นอีกปีที่เริ่มศักราชใหม่และทำให้เรานึกถึงเมื่อ 100 ปีก่อน ไม่ต่างจากตำนานน้ำหอม Chanel (อ่านบทความเกี่ยวกับตำนานเลข 5 ของชาเนลได้ ที่นี่) เมื่อยุค 1920s นั้นมีแรงกระเพื่อมทางสังคมมากมายหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ศิลปะ การเมือง โรคระบาด รวมไปถึงกฎเกณฑ์เรื่องเพศที่น่าค้นหา วันนี้โว้กจะพาทุกคนไปย้อนดูว่าเมื่อ 100 ปีก่อนที่มีหลักฐานว่าหญิงสาวตีกรอบจำกัดเรื่องการแต่งกายให้ค่อยๆ แตกออกนั้นเป็นอย่างไร และทำไมยุคนี้ถึงถูกขนานนามให้เป็นยุคแห่งแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความหลากหลายในปัจจุบัน แม้บันทึกทางประวัติศาสตร์จะไม่เคยมีคำว่า “Gender Equality” เกิดขึ้นอย่างชัดเจนนัก

ชุดแฟลปเปอร์เดรสเมื่อยุค 1920s ที่แม้จะมีความเฟมินีนแต่ก็เผยรูปร่างผู้หญิงในอุดมคติยุคนั้นที่เรียบเบียนมีโครงสร้างแบบแมสคิวลีนมากขึ้น / ภาพ: HubPages

     เราเริ่มจากความจัดจ้านของชุดแฟลปเปอร์เดรสที่เป็นสีสันและเอกลักษณ์ของยุคนี้มาโดยตลอด ทุกคนจำได้เสมอว่ายุค 1920s จะต้องเป็นเดรสสั้นและรูปร่างในอุดมคติไม่จำเป็นสะบึมล่อตาชายหนุ่มอีกต่อไป เพราะนี่คือช่วงยุคแห่งการเริ่มต้นใหม่...หญิงสาวส่วนมากทำลายความเชื่อเดิมๆ ในการสร้างส่วนเว้าโค้งทั้งส่วนหน้าอกและบั้นท้าย รวมถึงรัดส่วนเอวโดยใช้คอร์เซต แต่พวกเธอจะเชื่อมั่นในหุ่นที่เรียบแบนมากขึ้น ไม่ได้แสดงเอกลักษณ์ความเป็นหญิงสาวผ่านจุดเด่นอันดึงดูดสายตาของชายหนุ่มเหมือนแฟชั่นก่อนหน้านี้ รูปร่างแบบนี้เคยถูกเปรียบเทียบเชิงสังคมว่าเป็นนัยยะซ่อนเร้นในการแสดงออกอย่างอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจที่วัตถุทางเพศในสายตาผู้ชายถูกลดทอนจนหน้าอกกับบั้นท้ายในอุดมคติค่อยๆ เจือจางไปสวนทางกับแนวคิดสะท้อนความแมสคิวลีนที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น

การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ในยุคนั้นการออกสิทธิ์ออกเสียงในการตัดสินใจถูกมองเป็นเรื่องผู้ชายเท่านั้น / ภาพ: The National Archives

     สิทธิการเป็นผู้นำและมีสิทธิ์มีเสียงก็เพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงสามารถโหวตได้มีสิทธิ์เท่าเทียมกันมากขึ้นและสามารถความเป็นผู้นำ ซึ่งสะท้อนถึงความแมสคิวลีนตามมายาคติว่าผู้ชายเป็นผู้นำในยุคนั้นได้อย่างดี ความเรียบง่ายที่เปลี่ยนแปลงโลกแบบทีละเล็กทีละน้อยเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค 1920s แต่จนถึงทุกวันนี้ผู้หญิงหรือแม้แต่เพศเป็นอื่นจากชายยังต้องเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมอันเต็มไปด้วยรากเหง้าของชายเป็นใหญ่มานานหลายร้อยปีหรืออาจจะเกินกว่านั้น ยุคสมัยบรรพบุรุษของเราทั้งในและต่างประเทศเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมโดยมีกลไกวิธีคิดนำสมัยมากในยุคนั้น เราควรมองกลับไปและชื่นชมเขาว่าภาวะผู้นำหรือการตัดสินไม่ใช่ความแมสคิวลีนตามมายาคติ แต่คือสิ่งที่ทุกคนพึงได้รับหรือกระทำได้ จุดเริ่มต้นก็เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้



WATCH




ชุด Chanel Suit ที่ผสมกลิ่นอายความแมสคิวลีนลงไปจนกลายเป็นที่เลื่องลือในยุคนั้น โดยภาพนี้ Ina Claire นักแสดงหญิงชื่อดังสวมใส่ในปี 1924 / ภาพ: Edward Steichen

     มาถึงเรื่องสำคัญของแฟชั่นยุค 1920s คงหนีไม่พ้นเรื่องการผสมผสานความแมสคิวลีนให้โดดเด่นในร่างหญิงสาวเพื่อตอบสนองความต้องการความแข็งแกร่งอย่างเท่าเทียมที่ผู้หญิงสมัยก่อนแทบไม่เคยได้รับ ยกตัวอย่างง่ายที่สุด Coco Chanel ใช้แรงกดทับตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์แฟชั่นของแบรนด์ Chanel ยุคแรกให้โดดเด่นด้วยการผสมผสานกลิ่นอายความแมสคิวลีนลงบนเสื้อผ้าได้อย่างลงตัว ยกตัวอย่าง Chanel Suit เป็นต้น เสื้อผ้าเป็นสิทธิ์ในการแสดงขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนให้ความแมสคิวลีนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเข้าถึงได้ด้วยวิธีใดก็ตามนั้นทำให้เราเห็นว่าคุณค่าของผู้หญิงไม่จำเป็นต้องถูกกรอบตามแฟชั่นที่ถูกกำหนดว่านี่คือ “ผู้หญิง” สมกฎเกณฑ์ทางสังคมของผู้ชายอีกต่อไป

กลุ่มผู้หญิงที่สวมเสื้อเชิ้ตผูกเนกไทพร้อมรองเท้าหนังทรงอ็อกซ์ฟอร์ดที่มีลักษณะเหมือนลุคเด่นของสุภาพบุรุษ / ภาพ: ED Times

     พอเกริ่นถึงความแมสคิวลีนแล้ว ความเป็นชายในแบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแหวกกรงขังด้านเพศของผู้หญิงออกมาโลดแล่นได้อิสระมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่มมิติการสวมเสื้อผ้าให้ผู้หญิงสามารถสวมสูทของผู้ชายจริงๆ ได้ ไม่ใช่แค่มีกลิ่นอายแต่หมายถึงการสวมชุดนั้นเลยจริงๆ สิ่งนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในประวัติศาสตร์เพราะไม่ได้เป็นกระแสหลักของสังคมในยามที่ชายยังปกครองสังคมอย่างเป็นใหญ่และไม่ได้ให้ความแมสคิวลีนลื่นไหลไปสู่ผู้หญิงในวงกว้าง จึงมีเพียงภาพถ่ายไม่กี่ภาพเท่านั้นที่ระบุให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหญิงสาวยุคนั้นได้สวมมันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เผลอๆ จะจริงจังกว่ายุคนี้เสียอีก กว่าเรื่องนี้จะเห็นและสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างมหาศาลก็คงต้องพูดถึง Le Smoking ของ Yves Saint Laurent ที่ระเบิดฟอร์มได้เต็มที่ในการขัดเกลาความแมสคิวลีนให้ออกมาเท่สุดขีดในเรือนร่างของหญิงสาวตั้งแต่ช่วงยุค 1960s เป็นต้นมา (อ่านเรื่องราวของ Le Smoking เพิ่มเติมได้ ที่นี่)

ในยุคมีการสั่งห้ามขายเครื่องดื่มมึนเมา เป็นจุดสำคัญที่ไลฟ์สไตล์ผลัดเปลี่ยนสลับกันระหว่างหญิงและชาย / ภาพ: Vox

     “คำสั่งห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสลับขั้วของวิถีชีวิตอย่างน่าเหลือเชื่อ” ไม่น่าเชื่อว่ามีรายงานระบุไว้มากมายว่าพองดขายเครื่องดื่มวิถีชีวิตของชายหนุ่มยุคนั้นก็มีขั้วหนึ่งหายไป การรวมกลุ่มคุยกันในร้านเหล้าตามภาษาบ้านๆ ไม่มีให้เราเห็น ผู้ชายอยู่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ และผู้หญิงออกไปใช้ชีวิตสไตล์ผู้ชายในรูปแบบดั่งกล่าวแทน(แบบไม่มีแอลกอฮอล์) สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “New Woman” ในสหรัฐอเมริกา และต่อมาจากเหตุผลเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการขยายรากฐานจากไลฟ์สไตล์ง่ายๆ ของคนทั่วไปสู่การทำงาน ผู้หญิงมีสิทธิ์มากขึ้นก็ก้าวเข้ามาทำงานทดแทนผู้ชาย ความแมสคิวลีนในการใช้กำลังและทักษะต่างๆ ที่ถือถูกมองเป็นมุมสะท้อนของความแมสคิวลีนในยุคนั้นถูกแทนที่ด้วยผู้หญิง ถึงขนาดว่าเมืองการผลิตพาหนะและอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน กลายเป็นเมืองแห่งความแข็งแกร่งของพลังหญิงในยุคที่การทำงานนอกบ้านยังถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชาย นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนิยาม “ความเป็นชาย” ในสังคมอเมริกาและมีผลต่อถึงสังคมทั่วโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

Anita Berber นางโชว์ชาวเยอรมันสมัยยุค 1920s ที่สวมชุดทักซิโด้แบบเต็มยศ เพื่อเตรียมขึ้นแสดงในปี 1921 / ภาพ: Eleni Foka

     นอกจากเรื่องในชีวิตจริงแล้วการแสดงก็มีมิติสำคัญที่เราต้องพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง เหล่านางโชว์สมัยก่อนยุค 1920s มีรูปแบบการแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายและเครื่องหัวอันหรูหราฟู่ฟ่า และแสดงความเฟมินีนอย่างเต็มเปี่ยม ทว่าในยุคนี้เองกลับมีการกลับตาลปัตรของเครื่องแต่งกายรวมถึงรูปแบบการแสดงเกิดขึ้น หญิงสาวหันมาสวมชุดผู้ชายเพื่อสะท้อนตัวตนรูปแบบใหม่ในยุคนั้น มากไปกว่านั้นยังสร้างแรงบันดาลใจเพื่อทำลายกรอบธรรมเนียมแบบเดิมๆ เหมือนทุกครั้งในการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ แง่มุมทางความบันเทิงถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่เชื่อลองชมปรากฏการณ์ทางดนตรีของยุคฮิปปี้ การแสดงของ Madonna ในช่วง Live Aids หรือแม้แต่ตัวตนความจัดจ้านของผู้ชายยุคใหม่อย่าง Harry Styles หรือวงบอยแบนด์เกาหลีดูสิ ทั้งหมดมันเปลี่ยนแปลงโลกด้วยตัวดนตรีและศิลปินได้อย่างแท้จริง

โฆษณารองเท้าอ็อฟซ์ฟอร์ดที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการแต่งกายรูปใหม่ของผู้หญิงที่สามารถดึงเอาวิถีความแมสคิวลีนมาใช้อย่างเปิดเผย / ภาพ: History Daily

     “Oxfords for Women” ประเด็นสุดท้ายเราเลือกยกประเด็นรองเท้ามาพูดถึงกันในหัวข้อนี้ เพราะเห็นอย่างชัดเจนว่ามีรองเท้าประเภทอ็อกซ์ฟอร์ดที่เมื่อก่อนเป็นรองเท้าที่แสดงสัญลักษณ์ความเป็นสุภาพบุรุษมาอย่างยาวนาน(จนถึงทุกวันนี้) แต่ยุค 1920s มีการปรับรูปแบบเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ การสวมมันในชีวิตประจำวันเหมือนการสอดแทรกความแมสคิวลีนอยู่ในตัวเสมอ เพราะฉะนั้นหลากหลายเหตุผลข้างต้นประกอบกับไอเท็มชิ้นสุดท้ายในการสวมออกจากบ้านทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าโลกเริ่มผลัดนิยามความแข็งแกร่งและไม่อ้อนข้อ ให้อ่อนโยนลื่นไหลไปกับวัฒนธรรมยุคใหม่(ในขณะนั้น) ได้ดีเยี่ยมมากขึ้นนั่นเอง

แม้ผู้หญิงยุคนั้นจะใช้สิทธิ์เรียกร้องความเท่าเทียมและเติมกลิ่นอายแมสคิวลีนให้เป็นเรื่องปกติ แต่ก็ยังสร้างพลังได้โดยไม่ละทิ้งตัวตนของตัวเอง เรื่องนี้จึงเป็นจุดกำเนิดในการเรียกร้องความเท่าเทียมที่สำคัญของประวัติศาสตร์แฟชั่นไปจนถึงประวัติศาสตร์โลก / ภาพ: The British Newspaper Archive Blog

     สรุปปิดท้ายเมื่อทุกประเด็นหลอมรวมกันเป็นสังคม ความแมสคิวลีนยุคนั้นถือเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงและนำมาสร้างงานวิจัยเยอะแยะมากมาย การย้อนศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นว่าหญิงสาวยุคนั้นไม่ได้เพียงเอาความแมสคิวลีนมาสะสมไว้ในตัว แต่พวกเธอตีกรอบความแมสคิวลีนให้เปลี่ยนแปลงไป ข้อจำกัดที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้นโดนทำลายและเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเท่าเทียมอย่างมีนัยยะสำคัญ ความเป็นชายต่างๆ กลายเป็นความเป็นปกติของมนุษย์อย่างที่ควรจะเป็น และรากฐานความลื่นไหลของวัฒนธรรมและสังคมนี้มีผลระยะยาวต่อมาถึงความเป็นปัจเจกบุคคลของมนุษย์ทุกคนในปัจจุบันที่ไม่ว่าชาย หญิง หรือเพศใดก็ย่อมต้องมีเอกลักษณ์ใดมานิยามให้ปวดหัว เพราะยุค 1920s ทำให้เห็นแล้วว่า “แมสคิวลีน” ก็เป็นเพียงนิยามที่เป็นผลพวงมาจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่มาตั้งแต่สมัยอดีตกาล การเดินหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างไม่ใช่การลอกเลียนเพื่อเป็นเหมือนกลุ่มคนเป็นใหญ่ แต่เป็นการสร้างสังคมใหม่ในรูปแบบอันเหมาะสมมากขึ้นนั่นเอง “แค่ฉันเป็นผู้หญิงทำไมจะหนักแน่นแข็งแกร่งไม่ได้”

 

ข้อมูล: Vox, ED Times, Chanel Archive, Yves Saint Laurent Archive, Mises Institute, Vintage Dancer, The representations of masculinities in 1920s American literature:Ernest Hemingway and Willa Cather by Omar Agustin Moran, Magnificat และ The Transformation of Gender and Sexuality in1920s America: A Literary Interpretation by Taylor Gilkison

WATCH

TAGS : 1920s