FASHION
ย้อนรอยประวัติ Yves Saint Laurent ชีวิตหลังม่านรันเวย์ที่เป็นดั่งปกรณัมแห่งโลกแฟชั่นช่วงชีวิตที่สุกสกาว และด้านเร้นลับราวหุบเหวของอัจฉริยะผู้เป็นมากกว่าตำนาน |
“Fashions fade. Style is eternal.” “แฟชั่นเดี๋ยวเดียวก็จางหาย สไตล์สิยืนยงคงนิรันดร์” วาทกรรมคลาสสิกของ Yves Saint Laurent ที่มักจะถูกกล่าวอ้างถึงในแวดวงแฟชั่นอยู่ตลอดเสมอมา และวันนี้เองที่โว้กจะพาไปย้อนรอยประวัติ Yves Saint Laurent ผู้เป็นอัจฉริยะแห่งโลกแฟชั่นกันในบทความนี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจวบจนเป็นตำนาน
Yves Saint Laurent มีที่มาจากชื่อว่า อีฟส์ มาติเออร์-แซงต์-โลรองต์ (Yves Mathieu-Saint-Laurent) ชื่อของเด็กหนุ่มอายุ 18 ปี ที่ ณ เวลานั้นเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยของ Christian Dior ดีไซเนอร์นักออกแบบโอตกูตูร์ผู้โด่งดัง และทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลก ซึ่งหลังจาก Yves Saint Laurent ได้รับรางวัลการออกแบบสาขาเสื้อผ้าสตรียอดเยี่ยมจากเวทีประกวด The International Wool Secretariat (IWS) ซึ่งเป็นปีเดียวกันนั้น Karl Lagerfeld ก็ได้ชนะรางวัลในสาขาการออกแบบเสื้อโค้ตอีกด้วย หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1957 การสูญเสียอันยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้น คือการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของเมอซิเออร์ ดิออร์ กลายเป็นจุดพลิกผันชีวิตของโลรองต์อย่างเลี่ยงไม่ได้ เขาได้กลายเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนักออกแบบหลักของ Dior ซึ่งในขณะนั้นโลรองต์มีอายุเพียงแค่ 21 ปีเท่านั้น ดูจากภายนอกแล้วโลรองต์นับว่าเป็นอัจฉริยภาพที่มากความสามารถ และเพอร์เฟกต์คนหนึ่งในวงการเลยทีเดียว แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าอีกด้านหนึ่งในมุมที่ใครก็เข้าไปไม่ถึงนั้นกลับเต็มไปด้วยปัญหา และสภาวะทางจิตใจที่เต็มไปด้วยความสับสน ซับซ้อน ที่เหมือนปีศาจที่สั่งสมพลังงานรอจังหวะที่เหมาะสมที่จะนำพาชีวิตของเขาดำดิ่งสู่ความมืดมิดของความการทรมาน และทำลายตัวเองในที่สุด
ภาพ: Telegraph.co.uk
เมื่อความรักคือปีกที่ประคองใจ
ในขณะที่ปีศาจตนนั้นยังไม่มีพลังมากพอที่จะฉุดคร่าทุกอย่างลงหุบเหวอันมืดมิด ในงานศพของคริสติยอง ดิออร์ ปรากฏชายหนุ่มรูปร่างสูง ท่าทางขี้อายพูดน้อย ที่พยายามซ่อนเร้นสายตา และตัวตนเอาไว้ใต้กรอบแว่นสี่เหลี่ยมทรงหนา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจปิดบังลูกศรแห่งสวรรค์ไปได้ สิ่งเหล่านั้นกลับดึงดูดให้นักธุรกิจหนุ่มนาม Pierre Bergé ให้อยากทำความรู้จักโลรองต์มากขึ้น สิ่งที่แบร์เชมองเห็นนั้นคือความอ่อนไหว เปราะปรางอันน่าทะนุถนอม และเต็มไปด้วยเสน่ห์ ความ Introvert นั้นเป็นเพียงฉากหน้าที่ปกป้องดินแดนแห่งความสร้างสรรค์ของโลรองต์เป็น ดินแดนที่ไม่ใช่ใครก็สามารถก้าวล่วงเข้าไปได้ จนกระทั่งแบร์เชคือคนที่สามารถโอบอุ้มโลกอันเปราะบางนั้นได้สำเร็จ โลกของโลรองต์เหมือนโดนโอบอุ้มโดยปีกแห่งรักของแบร์เชเป็นเวลามากกว่า 50 ปี
ตลอดมาแบร์เชคือพลังบวกที่คอยประคับประคองโลรองต์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โลรองต์ต้องไปเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามแอลจีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่เขาต้องเผชิญกับปัญหาทางจิต ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทหาร ว่ากันว่านอกจากการรักษาด้วยยากล่อมประสาทแล้ว โลรองต์ยังต้องเผชิญกับการบำบัดด้วยการช็อตด้วยกระแสไฟฟ้า (Electroshock Therapy) อีกด้วย ความทรมานซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ กลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้โลรองต์ต้องถูกประกาศปลดจากห้องเสื้อดิออร์ในเวลาต่อมา และไม่ว่าปัญหาที่ถาโถมสักเท่าไหร่ โลกอันเปราะบางของโลรองต์ก็ยังมีปีกของแบร์เชคอยปกป้องดูแล อยู่เคียงข้างเสมอ และเป็นแรงผลักดันทำให้เขาเปิดห้องเสื้อขึ้นใหม่ได้สำเร็จภายใต้ชื่อ Yves Saint Laurent ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1961 หลังจากฟ้าหลังฝนมาเยือน ความสำเร็จส่องสว่าง และห้อมล้อมตัวโลรองต์ดั่งเนรมิตบนเวทีแฟชั่น ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นตัวอย่างของชายรักชายที่ประสบความสำเร็จในแวดวงสังคมฝรั่งเศสเพียงชั่วข้ามคืน
เพราะความงามของโลกแฟชั่นนั้นไม่มีเพศ
ความสำเร็จนั้นไม่อาจหยุดโลรองต์ให้ย่ำอยู่กับที่ได้ เขาทุ่มเทพลังงานทั้งหมด ในการผลิตผลงานออกแบบอันน่าทึ่งหลากหลายคอลเล็กชั่น ไม่ว่าจะเป็นชุดโมนดรียาน (Mondriaan) ในปี ค.ศ. 1965 นำเสนอความเรียบโก้ของผู้หญิงสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว และมันยังเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดผสมผสานงานศิลปะเข้ากับแฟชั่นที่เป็นดั่งเอกลักษณ์ของโลรองต์ตลอดมา และยิ่งไปกว่านั้นโลรองต์ยังกล้าทะลายกำแพงเรื่องเพศ แบ่งแยกออกจากเรื่องความงามของโลกแฟชั่น ขบถต่อขนบแนวคิดเรื่องเพศ ด้วยการออกแบบคอลเล็กชั่น Le Smoking ในปี 1966 ด้วยการหยิบยืมเอาองค์ประกอบชุดทักซิโดคลาสสิกของผู้ชายมาปรับปรุง แปลงโฉมใหม่ให้เป็น Pants Suit หรือสูทกางเกงสำหรับผู้หญิง ใครจะไปเชื่อว่าเพียงเสื้อผ้าก็สามารถทำลายโครงสร้างความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมลงได้ ซึ่ง Soft power นี้ยังขยายไปสู่บริบทของการเรียกร้องสิทธิสตรี และความเท่าเทียมกันทางเพศก่อเกิดเป็นปรากฏการณ์กระแสตีกลับ มีการต่อต้าน และปฏิเสธภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่สวมกางเกงในวงกว้างในเวลานั้น ชนิดที่บรรดาภัตตาคารและโรงแรมหรูหลายแห่งในนิวยอร์กถึงขั้นออกกฎไม่ให้ผู้หญิงคนใดก็ตามสวมกางเกงขายาวเข้ามาใช้บริการในพื้นที่ได้
WATCH
ทุกครั้งก่อนเริ่มคอลเล็กชั่นใหม่ โลรองต์จะเก็บตัวเงียบสนิทเสมือนหายตัวไปในอากาศ เพื่อทำงานอย่างบ้าคลั่งในสตูดิโอของเขา โหมทำงานอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน สเกตช์ภาพคอลเล็กชั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนว่าสิ่งเหล่านั้นจะช่วยจะช่วยเยียวยาความเปราะบางอ่อนแอในตัว จนเมื่อโชว์จบลง โลรองต์ก็อยู่ในสภาวะสิ้นสภาพไร้ซึ่งแรงกำลังใดๆ ซึ่งในเรื่องนี้แบร์เชคือคนที่รับรู้และเข้าใจสภาวะนี้ของโลรองต์เป็นอย่างดี ดังนั้นทุกครั้งหลังโชว์จบ เขาจะพาโลรองต์บินหนีไปยังบ้านพักตากอากาศในประเทศโมรอกโกเพื่อให้โลรองต์ได้ชาร์จพลัง ดื่มด่ำความผ่อนคลายท่ามกลางเพื่อนนางแบบและศิลปินที่เขาชื่นชอบ ปีกอันอ่อนโยนของแบร์เชพยายามอย่างมากที่จะประคับประคองโลรองต์ จนกระทั่งวันแห่งความมืดมิดก็ได้มาถึง เมฆทะมึนแห่งความเศร้าและความโกลาหลภายในจิตใจของโลรองต์ได้กลับมาก่อตัวขึ้น จอมปีศาจที่หลับใหลอยู่มานานก็ได้ตื่นขึ้น และนำพาให้โลรองต์ตกอยู่ในห้วงเวลาอันดำมืดที่สุด …
จมดิ่งในความมืดมิด
ในความเป็นจริงปีศาจไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการเข้ามาในชีวิต เข้ามาในช่วงที่เรามีความสุขที่สุด เพราะความสุขทำให้เราไม่ระวังตัว ไม่เว้นแต่ผู้ที่มีปีกแห่งรักโอบอุ้มไว้ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970s โลรองต์สนุกไปกับปาร์ตี้ หลงระเริงไปกับเพื่อนแปลกหน้าที่เข้าหาเขาเพียงเพราะผลประโยชน์ทางการเงิน และชื่อเสียงที่โด่งดังของเขาเพียงเท่านั้น เรียกได้ว่าเต้นรำอยู่ท่านกลางฝูงอสรพิษนานาชนิดแต่ไม่ว่าสิ่งใดก็ไม่สู้แรงปรารถนาที่กำเนิดจากการล่อลวง โลรองต์ไม่อาจต่อต้านความปรารถนาอันดำมืดของตัวเองได้ เขาลอบมีความสัมพันธ์แบบลับๆ กับ Jacques de Bascher คู่รักเพลย์บอยของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ซึ่งบาสเชอร์คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้โลรองต์ก้าวเข้าไปสู่ประตูบานสีดำ ทำให้เขาได้รู้จักกับเหล้า เซ็กซ์ และยาเสพติด จนมีส่วนทำให้เกิดรอยร้าวบาดหมางในความสัมพันธ์กับปิแอร์ แบร์เชในที่สุด
อีกหนึ่งประสบการณ์ในหุบเหวลึกอันมืดมนของโลรองต์ ถูกตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2017 เป็นหนังสือสุดอื้อฉาวที่ชื่อว่า Saint Laurent et Moi - Une Histoire Intime มันเขียนขึ้นจากประสบการณ์ของ Fabrice Thomas ข้อความในหนังสือเล่าถึงช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1990-1992 ในขณะที่โทมาส์มีอายุได้ 28 ปี เขาทำหน้าที่เป็นคนขับรถของโลรองต์ แต่ก็ถูกว่าจ้างแบบลับๆ จากแบร์เชให้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล และเป็นคู่นอนให้กับโลรองต์ซึ่งในขณะนั้นมีอายุประมาณ 54 ปี โทมาส์ตกลงรับทำงานนี้และยอมที่จะสานสัมพันธ์กับโลรองต์ในทันที เพียงเพราะความต้องการเงินและหวังว่างานนี้จะช่วยยกระดับชีวิตของเขาให้ดีขึ้น คำกล่าวอ้างในหนังสือเล่มนี้แสดงข้อมูลที่ไร้ผู้ยืนยันว่า เขาใช้ความพยายามหนักมากแค่ไหนที่จะเยียวยาโลรองต์ที่มักตกอยู่ในสภาพเมามายไร้สติ หรือจมดิ่งอยู่กับสภาวะซึมเศร้าท่ามกลางกองเหล้าและยาเสพติด โทมาส์ยังเล่าอีกว่า เขาได้ทำการโบยตีโลรองต์ด้วยแส้ตามคำสั่งของโลรองต์ เพราะโลรองต์อยากที่จะรู้สึกถึงความเจ็บปวดและรู้ตัวว่าเขายังคงมีชีวิตอยู่เพราะตัวเองยังรู้สึกเจ็ดปวดอยู่ ก่อนที่จะเริ่มกอบโกยเศษเสี้ยวของสติที่แตกร้าว กับกำลังกายที่เหลืออันน้อยนิดมารังสรรค์ผลงานวินเทอร์คอลเล็กชั่นใหม่อีกครั้ง
ภาพ: Can.bel.tr
สุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของเขาก่อนอำลาจากวงการแฟชั่นในปี ค.ศ. 2002 โลรองต์ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่เคยได้รู้จัก เคยสนับสนุนเขา อยู่เคียงข้างเขาอย่างเข้าใจตลอดมา ก่อนจะพูดเป็นประโยคสุดท้ายด้วยรอยยิ้มว่า “นับจากนี้ไปเขาจะไม่มีวันลืมใครสักคน” จากนั้นไม่นานเรื่องราวของ Yves Saint Laurent ก็กลายเป็นตำนานที่จะถูกเล่าขานให้โลกได้จดจำตลอดไป เมื่อเขาได้จากไปในปี ค.ศ. 2008 ด้วยโรคมะเร็งสมองในขณะที่เขามีอายุ 71 ปี
ข้อมูล : Wurkon, Longtungirl
WATCH