FASHION
Q: เสื้อแขนหมูแฮมนี่มาจากไหนคะ#VogueAnswers ตอบคำถามแฟชั่นที่คาใจโดยทีมโว้กประเทศไทย |
คำอธิบายภาพ: สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
คำถามแฟชั่นที่คาใจส่งมาถามโว้กสิเราจะตอบให้ ใน #VogueAnswers ซีรีย์ประจำใหม่ล่าสุดจากโว้กประเทศไทยที่จะมาตอบทุกคำถามเพื่อไขข้อข้องใจในทุกประเด็นแฟชั่นให้กระจ่าง เริ่มด้วยประเด็นที่ถูกถามมามากที่สุดในช่วงนี้ หลังจากที่โว้กปล่อยตัวอย่างบทความจากโว้กฉบับพิเศษเดือนสิงหาคม ก็มีคำถามน่าคิดในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับแฟชั่นไทยส่งมาเพียบ จึงขอยกคำตอบส่วนหนึ่งจากโว้กเล่มพิเศษมาตอบให้หายสงสัยกัน
Q: เสื้อแขนหมูแฮมนี่มาจากไหนคะ
V: เครื่องแต่งกายไทยมีการปรับประยุกต์และแปรเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัย ด้วยการคัดสรรองค์ประกอบหรือวัตถุดิบนำเข้าจากวัฒนธรรมต่างชาติมาปรุงแต่งให้เป็นไปตามรสนิยมและลักษณะการใช้งานแบบไทยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของนานาอารยประเทศว่าไม่เสมอด้วยวิถีทางแห่งสากล และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของบูรพมหากษัตริย์ไทยที่ทรงเล็งเห็นว่าเรามิอาจอยู่โดดเดี่ยวหรือดื้อดึงต่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ต่อไปได้ การแต่งกายซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่แสดงถึงอารยธรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงปรากฏพระองค์ในเครื่องทรงแบบตะวันตก พร้อมกับมีการบันทึกภาพเจ้านายฝ่ายในซึ่งแต่งพระองค์ด้วยเครื่องแต่งกายแบบตะวันตกเป็นครั้งแรก และเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบเมื่อสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับสหราชอาณาจักร
คำอธิบายภาพ: พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมทอลายแบบแขนหมูแฮม ทรงฉายพระรูปคู่กับพระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
สยามเริ่มรับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตกเข้ามาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองสิริราชสมบัติก็ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงให้กลับไปใช้แบบแผนครั้งรัชกาลที่ 3 แต่เมื่อช่วงราว พ.ศ. 2439 เป็นต้นมาก็มีการเปลี่ยนแปลงแนวแฟชั่นของสุภาพสตรียุโรปอีกครั้งหนึ่งโดยหันไปนิยมเสื้อแขนพองตรงต้นแขนซึ่งเคยนิยมกันมาก่อนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และกลับมาเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางอีกครั้งในปลายศตวรรษเดียวกัน แขนเสื้อลักษณะดังกล่าวเรียกว่า Gigot sleeve หรือ Leg-of-mutton sleeve ซึ่งรู้จักกันในนาม “เสื้อแขนหมูแฮม” ปรากฏในพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยเจ้าจอมมารดาชุ่ม จากนั้นเสื้อแขนหมูแฮมจึงกลายเป็นพระราชนิยมของราชสำนักฝ่ายในช่วงปลายรัชกาลที่ 5
คำอธิบายภาพ: พระรูปรวมพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉลองพระองค์แขนหมูแฮมตามพระราชนิยม
ใครมีคำถามแฟชั่นที่คาใจอยากให้โว้กช่วยตอบสามารถถามกันเข้ามาได้เลยทุกช่องทางของโว้ก ไล่ตั้งแต่คอมเมนต์ด้านล่างบทความนี้ เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และช่องทางใหม่ล่าสุดของโว้กอย่างไลน์แอด @vogueth แล้วเราจะนำมาตอบให้หายสงสัยกัน ว่าแล้วอย่ามัวแต่ปล่อยให้ตัวเองต้องสงสัย ส่งมาเลย! #VogueAnswers
WATCH