FASHION

เหตุผลที่ Anna Wintour สวมแว่นกันแดดเคียงข้าง 'ควีนอังกฤษ' ที่ลอนดอนแฟชั่นวีค

#VogueVoices ล่าสุดโดย สธน ตันตราภรณ์ Managing Editor แห่งโว้กประเทศไทย

ภายใต้ฉากหน้าของกระแส “ราชินีอังกฤษที่ฟรอนต์โรว” ซึ่งกระหน่ำโซเชียลมีเดียทั่วโลกมาตั้งแต่เมื่อคืนวาน (20 กุมภาพันธ์ 2018) ยังมีข้อขบคิดเกินเลยไปกว่าแค่ “ความคูลของควีน” อีกทั้งยังสะท้อนความเป็นไปของวงการแฟชั่นและสังคมโลก สธน ตันตราภรณ์ Managing Editor แห่งโว้กประเทศไทยขอนำเสนอเจาะลึกเป็นหัวข้อย่อย ตามนี้

 

เกี่ยวกับการเสด็จเยือนแฟชั่นโชว์

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การปรากฏตัวแบบ “เซอร์ไพรส์” ผู้ชมของราชินีเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร ณ โค้งสุดท้ายของสัปดาห์แฟชั่นประจำกรุงลอนดอน ซึ่งนอกเหนือจากการนั่งแถวหน้าติดกับ แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กอเมริกาและสตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกแฟชั่นตามภาพข่าวทั่วไปแล้ว การมาถึงของพระองค์ยังส่งสารถึงความสำคัญของภาคธุรกิจแฟชั่นทั้งของเมืองผู้ดีเอง รวมถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นโลกโดยรวม และถึงแม้ว่าประชาชนชาวอังกฤษจะเริ่มเปรยๆ ด้วยเข้าใจหัวอกของราชินีวัย 91 ปีผู้ทรงงานหนักมาตลอดพระชนม์ชีพว่า “พระองค์ก็คงอยากจะทำอะไรที่ทรงไม่เคยทำบ้าง” แต่ในความเป็นจริงภารกิจในครั้งนี้กลับไม่น่าจะใช่เพียงเรื่องเล่นๆ เพราะมีการเตรียมการกันอย่างพร้อมเพรียงเป็นการภายใน ตั้งแต่การปูพรมรับเสด็จเรื่อยไปจนถึงการตระเตรียมหมายกำหนดการพิธีการนานาอย่างเงียบเชียบ จนแม้แต่ผู้ชมในบ่ายนั้นก็พากันประหลาดใจกับการเสด็จเยือนของพระองค์ไปตามๆ กัน

คำใบ้หลักไม่ได้อยู่ที่แอนนา วินทัวร์ แม้จริงอยู่ที่เธอเพิ่งจะรับเหรียญตราปรับยศเลื่อนขั้นเป็น “คุณหญิง” เต็มตัวจากสมเด็จพระราชินีนาถรายเดียวกันนี้ตั้งแต่เมื่อกลางปีที่แล้ว (ในครานั้นนักข่าวหลายสำนักยังพากันคาดคะเนถึงบทสนทนาและอนาคตของภาคธุรกิจแฟชั่นที่ทั้งคู่น่าจะร่วมด้วยช่วยกัน) แต่เมื่อคำนวณจากตำแหน่งที่นั่งของแอนนาซึ่งประกบทางด้านซ้ายมือของพระองค์ที่มิได้สลักสำคัญไปกว่าเพียง “คู่เคียงที่สมน้ำสมเนื้อ...ตามศักดิ์” แถมยังนั่งอยู่ก่อนแล้วก่อนราชินีจะเสด็จเยือนโชว์ แสงไฟทั้งหมดจึงควรหันไปจับยังสตรีอีกข้างของพระองค์มากกว่า ซึ่งก็คือ คาโรไลน์ รัช นายหญิงแห่งสมาพันธ์แฟชั่นอังกฤษหรือ British Fashion Council ผู้นั่งอยู่ริมสุดชิดขอบแคตวอล์กในแถวหน้าข้างขวาของพระองค์ เพราะเธอคนนี้คือผู้รับเสด็จ ส่งเสด็จ ประกบชิดตลอดการเสด็จเยือนโชว์นิทรรศการตรงโถงด้านหน้า รวมถึงเป็นผู้กล่าวสปีชมอบรางวัล ก่อนทูลเชิญพระองค์ขึ้นมอบรางวัลให้กับดีไซเนอร์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของปรากฏการณ์สำคัญในครั้งนี้

ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเพื่อขุนสร้างรางวัล Queen Elizabeth II สาขาการออกแบบสายอังกฤษรางวัลแรกโดยเฉพาะ โดยนับจากนี้ทุกปีจะมีการมอบรางวัลเดียวกันนี้ให้กับดีไซเนอร์มากพรสวรรค์สายเลือดอังกฤษเพื่อพัฒนาภาคแฟชั่นและผลักดันการลงทุนในระดับนานาชาติ นี่มิใช่ครั้งแรกของเมืองผู้ดีที่ราชินีทรงลงมา “ลุยเอง” กับภาคแฟชั่น ราชวงศ์เคยมอบเหรียญตราและสัญลักษณ์ให้กับแบรนด์อังกฤษที่สร้างชื่อให้กับประเทศและมีฐานการผลิตหลักอยู่ภายใต้ฟากฟ้าสหราชอาณาจักร

 

เกี่ยวกับการสวมแว่นกันแดดของ แอนนา วินทัวร์

อีกหนึ่งประเด็นร้อนคือการสวมแว่นตากันแดดและนั่งไขว่ห้างตลอดการชมโชว์ของราชินีแห่งวงการแฟชั่น ผู้คนต่างทราบดีว่าทั้งสองสิ่งนั้นเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเธอ (นอกเหนือจากผมบ๊อบระดับไอคอน) อย่างไรก็ตาม การรับเสด็จราชินีเอลิซาเบธด้วยกรรมวิธีการประจำตัวในครั้งนี้ถูกวิจารณ์แหลกว่าไม่ให้เกียรติเจ้านายและผิดมารยาทสังคม ด้วยว่าแว่นกันแดดนั้นมิควรสวมภายใต้อาคาร อีกทั้งยังมิควรใช้ปกปิดดวงตายามสนทนากับเจ้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้าราชบริพารใกล้ชิดจะกล่าวภายหลังอย่างกลางๆ ว่า “พระองค์ไม่ได้ทรงว่าอะไร แต่ฝ่ายในเชื่อว่าพระองค์ต้องรู้สึกแปลกๆ” แต่ตลอดการทอดพระเนตรโชว์ ราชินีเอลิซาเบธทรงแย้มพระสรวลและตรัสกับคุณหญิงแอนนา วินทัวร์อย่างเป็นกันเองตลอดต่อหน้าผู้ขัดหูขัดตาทั่วประเทศ

ไม่ว่าเราจะปักใจอย่างไรกับ “วิถีอันควร” ของสังคม (โลก) ที่เราอาศัยอยู่ สิ่งที่เราควรนำมาพิจารณาควบคู่เพื่อหาบทสรุปท้ายสุดของแต่ละคนคือความจริงที่ว่าแว่นกันแดดของเธอนั้นถือเป็นแว่นสายตาไปในตัว ข้อมูลนี้ระบุในหนังสือชีวประวัติ Front Row. Anna Wintour: The Cool Life and Hot Times of Vogue’s Editor in Chief ซึ่งรวบรวมข้อมูลมาอย่างอิ่มแน่นคับคั่งโดยผู้เขียน Jerry Oppenheimer และชี้ชัดถึงเหตุผลกับหน้าที่หลักของเทรดมาร์กประจำตัวของเธอชิ้นนี้ ในขณะเดียวกัน หากเราเลือกหักคะแนนเธอในประเด็นดังกล่าว เราก็จำเป็นจะต้องหักคะแนน Richard Quinn ดีไซเนอร์ อดีตนักศึกษารั้ววิทยาลัย Central Saint Martins ซึ่งเพิ่งเปิดแบรนด์ได้เพียงไม่ถึง 2 ปีผู้นั้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากเขาก้าวไปรับมอบรางวัลใหญ่จากพระองค์ในลุคกึ่งกรันจ์กับเสื้อลายสก็อตปลดกระดุมโชว์เสื้อยืด พร้อมสวมหมวกแก๊ปแบบไม่ถอดตลอดพิธีการ

วิเคราะห์กันในทางแฟชั่น การเสด็จเยือนแฟชั่นวีคซึ่งว่ากันตามตรงแล้วไม่ต่างกับพื้นที่นอกระบบในดินแดนสมมติย่อมเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวมาตั้งแต่ต้น นี่คืออาณาเขตแห่งความฝันที่เกินเลยไปกว่าโลกแห่งความเป็นจริง สไตล์อันหลากหลายในวาระแห่งชาติของโลกแฟชั่นที่เวียนมาบรรจบทุกๆ ครึ่งปีซึ่งเราเรียกขานกันว่า ‘แฟชั่นวีค’ นี้ชวนผู้ชมตาดำๆ นอกอุตสาหกรรมตามท้องถนนให้เอียงคอตั้งคำถามมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วมิใช่หรือ ในขณะเดียวกัน ราชวงศ์อังกฤษเองก็เคยดูถูกดูแคลนการมีส่วนร่วมในระบบแฟชั่นและถือเป็นเรื่องไม่สมควรที่ชนชั้นปกครองจะลงมาเล่นในสนามแห่งสไตล์ที่เป็นของเล่นของ “พวกอยากเลื่อนยศ” จนก่อให้เกิดประเด็นความขัดแย้งในยุคสมัยของเจ้าหญิงไดอาน่า ในวันนี้ที่เกมพลิกและลมเปลี่ยนทิศ ไม่ว่าจะด้วยผลประโยชน์ของฝ่ายใดในอนาคต หากเป็นเรื่องดี เราทุกคนก็ควรมองกันในภาพกว้างและเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ กันบ้างเป็นไร เพราะในขณะที่วงการกำลังชื่นชมยินดีและสรรเสริญสมเด็จพระราชินีนาถผู้มองการณ์ไกลและเปิดโอกาสให้โลกหมุน เหตุใดจึงควรมีคนหวนไห้กลับไปเฝ้าฝันและให้คุณค่าแก่เพียง “การสวมแบล็กไทรอรับเสด็จ” ในจินตนาการเพื่อตามหาความเหมาะควร ก็ในเมื่อเราควรมองปรากฏการณ์นี้ด้วยสายตาแห่งความภาคภูมิใจที่ “ขนาดเจ้านายยังมาเยือน” อย่างมิได้คาดฝันในท้ายที่สุดเสียที

WATCH