FASHION

ทำไมปกโว้กฉบับนี้ต้องเป็นสีน้ำเงิน?

นี่คือเหตุผลและความหมายของปก “สีน้ำเงิน” บนโว้ก ฉบับกันยายน 2560!

เรื่องโดย: มานิตย์ มณีพันธุ์กุล

 

คอลเล็กชั่นใหม่ประจำวินเทอร์ 2017 จาก Dior โดยการนำของ Maria grazia Chiuri มาพร้อมสีน้ำเงินล้วนทั้งคอลเล็กชั่น ประจวบเหมาะกับที่นิตยสารโว้ก ฉบับเดือนกันยายน 2560 ทำปกกรุ๊ปช็อตนางแบบดังระดับโลกถึง 5 คนในลุคสีน้ำเงินล้วน และนี่คือเหตุผลและความหมายของปก “สีน้ำเงิน” ฉบับนี้!

 

ภารกิจตามหาลุคใหม่ของมาเรีย กราเซีย

 

Dior Fall/Winter 2017 / ภาพ: indigital.tv

ถ้าจะหาเหตุผลว่าเพราะเหตุใดงานใหม่ของมาเรีย กราเซียประจำฤดูหนาวนี้ถึงมาพร้อมสีน้ำเงินหลากเฉดทั้ง 68 ลุคที่ปรากฏบนรันเวย์ เราคงต้องย้อนไปไกลถึงวันที่เธอได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งที่ได้ชื่อว่าโหด หิน และท้าทายความสามารถมากที่สุดในวงการแฟชั่นโลก ภารกิจใหม่ของเธอไม่ต่างอะไรกับการพยายามค้นหา “ลุคใหม่” ให้แบรนด์ เหมือนกับปรากฏการณ์ “New Look” ที่เคยเป็นตำนานมาแล้ว

 

สิ่งนี้เพื่อหนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียล

 

Dior Fall/Winter 2017 Backstage / ภาพ: Morgan O’Donovan

การเรียนรู้ถึงความต้องการของสาวสวยในยุคนี้นำมาซึ่งลุคหรูของแบรนด์ที่ถูกปรับให้ดูร่วมสมัยขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือชิ้นเด็ดอย่างเสื้อยืดพิมพ์ลายสโลแกนอันโด่งดัง We Should All BeFeminists ชิ้นเด่นอย่างกางเกงยีนส์ รวมถึงสไตลิ่งหน้าผมที่ดูเป็นธรรมชาติ และสร้อยคอแบบโช้กเกอร์ที่ฮิตติดลมบนนั่นด้วย “ฉันอยากส่งเสียงไปยังหนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียลและทำความเข้าใจกับพวกเขา เพราะฉันอยากจะสนับสนุนพวกเขา”

 

อิทธิพลจากการเมือง

 

โปสเตอร์ Rosie the Riveter 

จุดเริ่มต้นของผลงานชิ้นนี้จึงเป็นการพุ่งไปยังขบวนการเฟมินิสต์ยุคใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลังกระแสการเลือกตั้งของอเมริกาและการเข้ามาของ Donald Trump โดยตั้งใจย้อนมองไปยังบทบาทของสตรีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีภาพโปสเตอร์อันโด่งดังอย่าง Rosie the Riveter มาผสมกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีใน ยุค 1970 ซึ่งมาพร้อมกับยูนิฟอร์มที่พวกเธอสวมใส่

 

 

ขบวนการ Black Panthers 

หนึ่งในนั้นก็คือหมวกเบเรต์สีดำที่ดูคล้ายกับหมวกที่ขบวนการ Black Panthers ของชนผิวสีในอเมริกาสวมในการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมกัน ในยุค 1970 ทั้งหมดถูกนำมาใช้ใหม่ในคอลเล็กชั่นนี้

 

ยูนิฟอร์มที่บ่งบอกถึงเสรีภาพ

 

Dior Fall/Winter 2017 Backstage / ภาพ: Morgan O’Donovan

มาเรีย กราเซียพบว่าเธอสามารถเชื่อมโยงความเป็นยูนิฟอร์มเข้ากับแนวคิดเรื่องเสรีภาพได้อย่างไม่ยากเย็น เธอเริ่มค้นคว้าจากคลังเก่าของแบรนด์ ย้อนไกลไปถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนไปเจอลุคที่รู้จักกันในชื่อ Chevrier จากคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ประจำวินเทอร์ ปี 1949 ซึ่งเป็นชุดเสื้อมีฮู้ดที่ให้กลิ่นอายสปอร์ตส์แวร์ จนมาถึงลุคเก่าในปี 1951 ที่เป็นชุดสูทกระโปรงคาดเข็มขัดในตัวสีน้ำเงินกรมท่า ซึ่งก็มาสอดคล้องกับหนังสือในปี 1954 ที่ชื่อ The Little Dictionary of Fashion ที่เมอซีเยอดิออร์เคยเขียนไว้ว่า “ในบรรดาสีทั้งหมด สีน้ำเงินกรมท่าคือสีเดียวที่สามารถเทียบได้กับสีดำ มันมีคุณสมบัติเช่นเดียวกัน”

 

การส่งต่อสีน้ำเงินให้กับคนรุ่นใหม่

 

Maria Grazia Chiuri จากโชว์ Dior Fall/Winter 2017 / ภาพ: indigital.tv

เมื่อเข้าไปถามมาเรีย กราเซียว่า เธอคิดว่าสีน้ำเงินคือสิ่งที่เธออยากใส่เป็นยูนิฟอร์มประจำตัวเธอเองหรือไม่ คำตอบที่ได้ในช่วงฟินาเล่ของโชว์จบลงพร้อมการโค้งคำนับของเธอก็คือ“ฉันยังคงเป็นเจเนอเรชั่นสีดำอยู่ และตัดสินใจแล้วว่าสีน้ำเงินก็สามารถเทียบเคียงสีดำได้ไม่ต่างกัน” ถ้าอย่างนั้นเราคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสาวรุ่นใหม่แฟนคลับของแบรนด์ประจำยุคนี้สวมชุดยูนิฟอร์มสีน้ำเงินหลากแบบจากดิออร์แทนเธอต่อไปจากนี้ก็แล้วกัน

 

โว้ก ประเทศไทย ฉบับกันยายนกับสีน้ำเงิน

 

นิตยสารโว้ก ประเทศไทย ฉบับเดือนกันยายน 2560 วางแผงแล้ว

เมื่อสีน้ำเงินกลายเป็นสีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแฟชั่นในขณะนี้ ดีไซเนอร์ดังแห่งแบรนด์เพชรยอดมงกุฎยอมอุทิศคอลเล็กชั่นสำคัญเพื่อสนับสนุนหนุ่มสาววัยมิลเลนเนียล คงเป็นเหตุผลที่เพียงพอสำหรับปกโว้กฉบับกันยายนซึ่งเป็นฉบับแฟชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ในการนำเสนอลุคสีน้ำเงินพร้อมด้วยนางแบบเลือดใหม่ในโททัลลุคของ Dior ผู้ซึ่งถูกส่งต่อสีน้ำเงินให้เป็นยูนิฟอร์มที่แสดงออกถึงความต้องการและปกป้องแนวคิดของตัวเอง

 

 

WATCH