FASHION

#VogueCulture 3 สิ่งที่เวทีระดับโลกทำเมื่อเรตติ้งดิ่งเหว กลยุทธ์กู้ชีพงานออสการ์ แกรมมี่ ลูกโลกทองคำ

ก่อนถึงออสการ์ไปวอร์มอัพกับเบื้องหลังวิธีคิดของ Master Mind ระดับโลก

แม้หลายคนจะยังมีความรู้สึกว่างานประกาศรางวัลยังขายดี แต่เชื่อไหมว่างานแกรมมี่ ซูเปอร์โบว์ล ลูกโลกทองคำ จนถึงออสการ์ ล้วนมีเรตติ้งถล่มทลาย…ในทางดิ่งลง จนต้องหาทางกู้หน้า (และแซะกระเป๋าตังค์สปอนเซอร์) กันจ้าละหวั่น และนี่คือวิธีที่คนระดับ Mastermind ของอุตสาหกรรมบันเทิงโลกคิดออก  

 

Inclusive Names

 

ด้วยเรตติ้งตกฮวบเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2018 เหตุผลหนึ่งเพราะคนดูไม่เห็น “ตัวเอง” ในงานประกาศรางวัลทั้งหลาย ทางแก้ที่หลายเวทีพยายามทำคือใส่ชื่อนักแสดงที่เป็นตัวแทนผู้ชมทางบ้าน เราจึงได้เห็นชื่อของนักแสดงหลายชาติพันธุ์มากขึ้น อาทิ Constance Wu (หรืออาจจะมี Michelle Yeoh) จาก Crazy Rich Asians หรือ Yalitza Aparicio จากหนังเม็กซิโก Roma รวมไปถึงกลุ่มนักแสดงแอฟริกา-อเมริกัน อาทิ Viola Davis จาก Widows ของ Steve McQueen, KiKi Layne จาก If Beale Street Could Talk ของ Barry Jenkins ผู้กำกับหนังออสการ์ Moonlight และ Mahershala Ali จาก Green Book ที่เพิ่งได้ออสการ์จาก Moonlight

 

Dressed to the Nines

 

เป็นเรื่องจริงนะว่า “ชุดสวยบนพรมแดง” คือเหตุผลต้นๆ ที่ผู้ชมดูงานประกาศรางวัลยืดยาว 3 ชั่วโมงครึ่ง (ขอโทษนะ Cate Blanchett และ Natalie Portman ที่ผู้ชมทางบ้านอยากได้ยินพิธีกรถามดาราว่า “Who are you wearing?”) และน่าดีใจที่พรมแดงยุคนี้ช่างแสนจะ Diversity มีตั้งแต่ Gucci ในยุคที่มันก็จะดูเหวอๆ หน่อยของ Alessandro Michele, Valentino ยุคสาวน้อยในเทพนิยายของ Pierpaolo Piccioli, Givenchy ยุค Crispy chic ของ Clare Waight Keller, Maximum minimalism ของ Calvin Klein for Appointment จาก Raf Simons (อ้าว! ลาออกอีกแล้ว) หรือ Prada ที่ต้องเจอดาราที่จูนความมั่นใจกับคลื่นความน่าเกลียดอันน่ามองของ Miuccia ได้ลงตัว อาทิ เดรสฝอยสีเขียวแอซิดของ Sarah Paulson ที่งานเวิลด์พรีเมียร์หนัง Ocean’s 8 และดีใจมากที่จะได้เห็นเลดี้กาก้ามายืนเซลฟ์บนพรมแดงบ่อยๆ อีกครั้ง

 

Popular Category

 

คอหนังไม่เคยยกโทษให้ออสการ์ที่บังอาจปัดตกหนังดีอย่าง The Dark Knight (2008), Mad Max: Fury Road (2015) และ Wonder Woman (2017) จากสาขาหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม เพราะไม่เชื่อว่า “You can have it all” กล่าวคือได้เงินแล้วยังจะได้รางวัลอีกรึ ว่าแล้วก็แบ่งๆ กันไปให้หนังเล็กๆ ทุนต่ำบ้าง (ซึ่งส่วนมากเป็นหนังจากการวิ่งเต้นของ Harvey Weinstein) วิธีหนึ่งที่เข้ามาแก้ปัญหาหนังดีไม่รู้จะหาดูที่ไหนคือการมาถึงของ Netflix ซึ่งโดนกีดกันไปอีกว่าหนังที่ไม่ได้ฉายในโรงหนังไม่ควรขึ้นเวทีประกาศรางวัลอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งปีนี้หนังงดงามเกินบรรยาย Roma ของ Alfonso Cuarón รอดตัวไปเพราะชิงเข้าฉายในโรงก่อนสตรีมมิ่งในเน็ตฟลิกซ์

 

 

อีกทางแก้หนึ่งคือตั้งสาขาใหม่ “Popular Films” เพราะออสการ์เองก็อยากดึงเรตติ้งด้วยการให้กล่องกับหนังทำเงินบ้าง แต่โดนด่ายับจนต้องทำแท้งสาขานี้ไป อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้เกิดการด่าถล่มจมดินอีกรอบ ในปีนี้อาจได้เห็นหนังทำเงินหลายเรื่องหลุดพ้นสาขาทางเทคนิคต่างๆ ขึ้นมาลุ้นรางวัลสาขาใหญ่อย่างนักแสดง ผู้กำกับ หรือหนังยอดเยี่ยม เพื่อแก้อาการ “มีหนังชื่อนี้ในโลกด้วยรึ” ของผู้ชมทางบ้าน อาทิ Mary Poppins Returns, A Quiet Place และ Black Panther (สาธุ!)

WATCH