FASHION

บันทึกการเดินทาง กับ 'ภารกิจอันไม่รู้จบ' ของโว้กประเทศไทย และชุมชนผ้าย้อมครามแห่งเมืองสกลนคร

การเดินทางสู่เมืองสกลนครครั้งนี้ ไม่เพียงแค่การไปเยี่ยมเยียนกลุ่มชุมชนงานหัตถกรรมเท่านั้น หากเป็นการลงไปเพื่อยืนเคียงข้าง เป็นกระบอกเสียง และสนับสนุนงานฝีมือของคนไทย ทีเปรียบดั่งรากแก้วแห่งอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย #VogueThailandAugust2022

     “ภารกิจอันไม่รู้จบ” หนึ่งในนิยามคำพูดของ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย ระหว่างการนั่งประชุมเตรียมงานอย่างขะมักเขม้น ก่อนที่การถ่ายทำแฟชั่นเซ็ตปกของนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 จะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วัน ณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยที่จังหวัดสกลนคร หนึ่งในดินแดนพหุวัฒนธรรมที่เปี่ยมไปด้วยมนตร์เสน่ห์ พื้นที่ที่เป็นดั่งต้นกำเนิดของภูมิปัญญาพื้นถิ่นเรื่องผ้าย้อมครามของชนเผ่าต่างๆ ที่แรกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามกระจายตัวอยู่ในหลายตำบลทั่วทั้งจังหวัด จนอาจกล่าวได้ว่า นี่คืออีกหนึ่งจังหวัดที่โดดเด่นและรุ่มรวยในเรื่องานฝีมือท้องถิ่นที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

     โว้กประเทศไทยเริ่มต้นลัดเลาะจาก “ดอนหมูดิน” บ้านช่างปั้นงานเซรามิก ซึ่งมีที่มาจากการใช้วัตถุดิบหลักในการสร้างสรรค์ผลงานเซรามิกอย่างดินที่มาจากหมู่บ้านดอนหมู ที่ถูกต่อยอดทำงานเซรามิกบนที่ดินของบรรพบุรุษ ด้วยการผสานเอาศาสตร์ด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นคอลเล็กชั่นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ถูกวางเรียงไปทั่วทั้งบ้านดอนหมูดิน สะท้อนถึง ‘วิถีชีวิตประจำวัน’ ซึ่งไม่ได้นึกถึงประโยชน์โพดผลด้านกำไรเป็นหลักอย่างทุนนิยมดังที่เราทุกคนคุ้นชินกันในกรุงเทพมหานครละปริทณฑล



WATCH




1 / 3



2 / 3



3 / 3



     ผละจากเครื่องเคลือบเซรามิกแห่งดอนหมูดิน โว้กเดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่ตั้งของกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีเปลือกไม้บ้านผักคำภู ที่มีประวัติการก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 จากสมาชิกชุมชนที่เริ่มต้นเพียง 80 คนในตอนแรก สู่ 300 กว่าหลังคาเรือนในปัจจุบันคือคำตอบแห่งความสำเร็จของธุรกิจชุมชนของกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีเปลือกไม้บ้านผักคำภูแห่งนี้ที่ไม่ต้องเขียนอธิบายให้มากความ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีเปลือกไม้บ้านผักคำภูยังคงเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนาสีสันและลวดลาย จนกลายเป็นความชำนาญเฉพาะตัว และเกิดเป็นอัตลักษณ์ที่สะท้อนผ่านผลงานผ้าฝ้ายย้อมสีเปลือกไม้ประจำกลุ่ม อันโดดเด่นด้วยเฉดสีเอิร์ธโทนและโทนสีพาสเทล ซึ่งล้วนแล้วแต่อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับองค์ความรู้ทางธรรมชาติทั้งสิ้น แต่ก็สามารถสร้างอาชีพให้กับ ‘แม่ๆ’ และครอบครัวหลายร้อยหลังคาเรือนให้อยู่ดีกินดีได้ไม่ยาก

     อีกหนึ่งจุดหมายของโว้กประเทศไทยคือ กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านอูนดงก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวสกลนครที่ผูกพันกับงานย้อมครามมาช้านาน ที่นี่เริ่มต้นขึ้นในปี 2547 หรือเมื่อ 18 ปีก่อน ซึ่งสมาชิกกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านอูนดงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีการรวมกลุ่มทอผ้าย้มครามนี้เกิดขึ้น เนื่องจากรายได้ที่ได้รับจากวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ทำให้ลูกหลานและครอบครัวของพวกเขามีอนาคตต่อไป ‘ผ้าย้อมคราม’ ที่ได้จากการใช้ครามน้อยแห่งบ้านอูนดงจึงไม่ต่างอะไรกับสมบัติแห่งภูมิปัญญาอันล้ำค่า ที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์อันชัดเจนให้กับบ้านอูนดง ซึ่งความน่าสนใจของงานย้อมครามแห่งบ้านอูดงนั้นคงหนีไม่พ้นงานย้อมครามเฉดสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งต้องย้อมซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากกว่า 10 หม้อย้อม กว่าที่จะได้เฉดสีเข้มอันเป็นเอกลักษณ์ผ้าย้อมครามแห่งบ้านอูนดง

     กระนั้นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ผลงานผ้าย้อมสีธรรมชาติของและงานฝีมือทั้งหมดนั้น คือสิ่งที่โว้กสังเกตได้ว่าไม่มีการบังคับให้ชาวบ้านต้องมานั่งทอผ้าหลังขดหลังแข็งเพื่อรายได้เพียงแค่ทางเดียว หากเป็นไปด้วยความสมัครใจว่าใครใคร่อยากยึดอาชีพทอผ้าย้อมสีธรรมชาติเป็นงานหลักก็ยึด หรือใครใคร่อยากยึดงานทอผ้าย้อมสีธรรมชาติเป็นแค่งานอดิเรกชั่วครั้งชั่วคราวก็ยึด ซึ่งนั่นเองที่ทำให้กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติระดับชุมชนหลายแห่งในจังหวัดสกลนครยังคงดำรงอยู่มาได้จวบจนทุกวันนี้ และขยายออกไปไม่รู้จบสิ้น เพราะการไม่เบียดเบียนวีถีชีวิต หรือฝืนธรรมชาติความเป็นอยู่ของใคร

     การเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดสกลนครครั้งนี้ของโว้กประเทศไทย มิใช่การมุ่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครั้งใหม่จากแค่งานฝีมือผ้าย้อมครามเท่านั้น หากระหว่างทางเรายังได้สังเกตเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสกลนครที่ผูกพันกับงานเกษตรกรรมมากมาย ซึ่งที่ที่สามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านคำประมง ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยพื้นที่ของเกษตรอินทรีผสมผสาน ทั้งเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา และกิจกรรมปลูกพืชผัก ที่เกิดขึ้นห่างจากพื้นที่รวมกลุ่มผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมงเพียงไม่กี่ก้าวเดิน ตอกย้ำภาพวิถีชีวิตควบคู่ระหว่างงานเกษตรกรรมและงานฝีมือของชาวบ้านจังหวัดสกลนครได้เป็นอย่างดี

     อีกหนึ่งจุดหมายสำคัญในจังหวัดสกลนครที่โว้กพาผู้อ่านเดินทางไปถึงในครั้งนี้คือ ‘บ้านดอนกอย’ สถานที่ต้นกำเนิด ‘ดอนกอยโมเดล’ หนึ่งในโครงการพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้ทรงกรุยทางและมุ่งวางรากฐานการพัฒนาคุณภาพการทอผ้าให้กับชุมชม ตามรอยพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นนั้นสามารถพัฒนาต่อยอดให้มีความร่วมสมัยได้จริง

     ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้เคยเปิดเผยเอาไว้อีกว่า “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงมุ่งมั่นทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถรักษาอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของคนไทยให้อยู่คู่กับประเทศชาติของเราตราบชั่วกาลนาน โดยพระองค์ได้เสด็จพระดำเนินไปดูชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องคนไทยดังที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เคยปฏิบัติกรณียกิจในทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่ง "ดอนกอยโมเดล" เป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสร้างคุณภาพชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิต บนพื้นฐานภูมิปัญญาชาวไทยให้ดีขึ้น โดยทรงนำพระปรีชาสามารถในเรื่องแฟชั่น และเรื่องผ้า ไปพระราชทานพระดำริให้กับประชาชน โดยมีวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ได้ทรงเสด็จทอดพระเนตรงานผ้าคราม ณ หมู่บ้านดอยกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพื่อต่อยอดพัฒนาผ้าครามให้เป็นที่รู้จักและเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของชาวบ้านดียิ่งขึ้นต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน OTOP City 2020 และทรงพระดำเนินไปพระราชทานกำลังใจให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ชาวบ้านต่อสู้กับชีวิต นอกจากนี้ ได้พระราชทานแบบผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี โดยได้พระราชทานแนวทางให้ใช้ลายดังกล่าวได้ทุกเทคนิคและทุกประเภทผ้า และทรงมีพระประสงค์อยากช่วยชาวบ้านที่ทอผ้าในชุมชน นับเป็นพระปณิธานที่แน่วแน่ที่ได้สะท้อนเบื้องลึกของพระองค์ท่านว่าทรงรักและห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ท่านทุกคนอย่างแท้จริง”

     ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ยังทรงมีพระดำริในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการทอผ้าอย่างครบวงจรในหลายประการ อันได้แก่ ต้องทะลายกำแพงค่านิยมที่ว่า ผ้าไทยเป็นของโบราณ คร่ำครึ คนมีอายุเท่านั้นจึงจะสวมใส่ได้ ด้วยการพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” , คิดวางแผนตั้งแต่ต้นว่าเราจะผลิตลวดลายแบบไหน สีสันแบบไหนให้มีความทันสมัย ด้วยการนำลายดั้งเดิมมาพัฒนาต่อยอด โดยทรงพยากรณ์คาดเดารสนิยมความนิยมชมชอบในวงการแฟชั่นของลูกค้าในอนาคต นำมาสู่หนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK ที่ทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง, ต้องมีเรื่องราวที่บอกความหมายของงานหัตถกรรมนั้นๆ, บรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสม, วัตถุดิบที่ใช้ต้องเป็นธรรมชาติ และต้องหาพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ เพื่อทดแทนต้นไม้ให้สีที่ได้ใช้ไป, ต้องพึ่งพาตนเอง ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้ายได้, งานหัตถกรรมที่ผลิตออกมานั้นต้องถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย และให้ความสำคัญกับเรื่องการตลาด ด้วยการทำการตลาดสมัยใหม่ เฉกเช่นที่เราได้เห็นผ่านแคตตาล็อก 'ดอนกอยโมเดล' นั่นเอง

     ณ บ้านดอนกอยแห่งนี้เองที่ถูกเลือกเป็นสถานที่ในการถ่ายปกฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2565 พื้นที่รวมกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยกลับแน่นขนัดไปด้วยกม้วนผ้าฝ้ายเข็นมือ กี่ทอผ้า และหม้อย้อมคราม ที่วางเรียงเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ทีมงานโว้กประเทศไทยสาวเท้าเข้าไป แต่ละกี่ทอผ้า แต่ละเครื่องปั่นฝ้าย และแต่ละหม้อยอ้มคราม ประจำไปด้วยเหล่าแม่ๆ หลายชีวิตที่ผูกพันกับงานทอผ้าย้อมครามมานานกว่า 19 ปี และมีการแบ่งกันทำงานอย่างชัดเจนเป็นกลุ่มๆ ตามเนื้องานที่ได้รับมอบหมาย ตั้งแต่การขึ้นลายด้วยเชือกฟาง, ขั้นตอนการทอผ้า ไปจนถึงงานย้อมคราม ที่แม้ว่าสมาชิกทุกคนจะได้เคยสัมผัสเนื้องานมาทั้งหมด แต่การแบ่งเช่นนี้จะทำให้เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งความโดดเด่นของกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยก็คงจะต้องยกให้กับผ้าย้อมครามที่มีสีสันสวยงามและมันเงาแวววาว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รวมไปถึงลวดลายผ้าโบราณและลายประยุกต์สวยสะดุดตา หนึ่งในนั้นคือ ‘ลายขอ’ ลายผ้าพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณรวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งต่อมากลายเป็นที่นิยมชมชอบและสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนแห่งนี้เป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งยังช่วยทำให้ผลงานผ้าทอมือย้อมครามได้ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สายตาของคนทั่วประเทศ และกลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความถึงแค่ความสำเร็จของผลงานทอผ้าเท่านั้น หากหมายถึงปากท้องและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกที่จะประสบความสำเร็จและดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้เทคโนโลยีและพื้นที่ออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น ก็ช่วยส่งให้ผลงานทั้งหมดของแม่ๆ ถูกเผยแพร่ไปสู่สายตาของคนในวงกว้างกว่าแค่ในชุมชน ผ่านทั้งเพจออนไลน์และ QR code แคตตาล็อก ที่ทำให้คนภายนอกเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของบ้านดอนกอยและอีกหลายแห่งง่ายยิ่งขึ้น

     “ภารกิจอันไม่รู้จบ” ของโว้กประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป และจังหวัดสกลนครคงจะไม่ใช่หมุดหมายสุดท้ายที่โว้กประเทศไทยจะเดินทางไปถึงเพื่อสนับสนุน ยืนเคียงข้าง และเป็นกระบอกเสียงให้กับงานฝีมือของคนไทย ซึ่งเป็นดั่งรากแก้วของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตลอดการเดินทางกว่า 3 วัน 2 คืน ที่โว้กอุตส่าห์ดั้นด้นไปถึงเพื่อเก็บภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ตและเรื่องราวทั้งหมดมาเล่าต่อให้ผู้อ่านได้อ่านกันอยู่ตอนนี้ไม่ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้อ่านเท่านั้น หากยังเปิดโลกให้กับทีมงานโว้กอีกครั้ง ทำให้เราได้เห็นอะไรอีกมากมายมากกว่าแค่ภาพของทุ่มนาสองข้างทาง คอกวัว หรือภาพของแม่ๆ ที่กำลังนั่งทำงานด้วยความตั้งใจจริงหน้าหม้อย้อมครามและกี่ทอผ้าที่ใหญ่กว่าพวกท่านหลายเท่าตัวนัก ทั้งหมดนี้เองคือบันทึกเรื่องราวเบื้องหลังการเดินทางของแฟชั่นเซ็ตล่าสุดของโว้กประเทศไทยที่ยังคงจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า พราะตราบใดที่การเดินทางของกลุ่มชุมชนงานฝีมือของคนไทยยังไม่สิ้นสุด การเดินทางของโว้กประเทศไทยก็ยังคงไม่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueThailandAugust2022