Vogue Scoop Chanel
FASHION

'Maisons d'Art & Le19M' เจาะรายละเอียดเมซงและศูนย์รวมช่างฝีมือ เบื้องหลัง Métiers d'Art ของ CHANEL

#VogueScoop ตอนพิเศษ Ep.2 พาไปเจาะลึก Maisons d’Art แต่ละเมซง ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์คอลเล็กชั่น Métiers d'Art ของแบรนด์ CHANEL ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คอลเล็กชั่นที่ไม่ได้มีเรื่องราวผิวเผินแค่ความงามของซิลูเอตและดีไซน์งานออกแบบเท่านั้น ทว่ายังสะท้อนให้เห็นถึงปณิธานของชาเนลที่ต้องการรักษางานช่างฝีมือให้อยู่คู่กับโลกแฟชั่นต่อไปอีกเท่านั้น พร้อมพาไปทำความรู้จักกับอาคาร Le19M อาคารศูนย์รวมเมซงช่างฝีมือต่างๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังงานสถาปัตยกรรมฟรีฟอร์มสุดโมเดิร์นแห่งนี้

 

     หลังจากที่โว้กพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคอลเล็กชั่น Métiers d'Art ของ CHANEL กันแล้ว ('Métiers d'Art' รู้จักคอลเล็กชั่นสำคัญของ CHANEL ที่ต่ออายุงานช่างฝีมือให้โลกแฟชั่นมาจนถึงปัจจุบัน) ครั้งนี้โว้กจะขอพาทุกคนไปเจาะลึกกับ Maisons d’Art หลักๆ แต่ละเมซงที่มีความชำนาญในงานช่างฝีมือที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งร่วมมือกันประกอบสร้างคอลเล็กชั่นสุดตระการตาให้กับชาเนลมานานร่วมสองทศวรรษ

     ดังที่ทราบกันดีว่า Maisons d’Art คือเบื้องหลังในการสร้างสรรค์ผลงานสุดตระการตาของคอลเล็กชั่น Métiers d'Art ของชาเนล โดยในปัจจุบัน แบรนด์ชาเนลเป็นเจ้าของ Maisons d’Art และโรงงานช่างฝีมือรวมกันมากกว่า 50 แห่ง และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามปณิธานของแบรนด์ที่ต้องการจะอนุรักษ์งานฝีมือให้อยู่คู่กับอุตสาหกรรมแฟชั่นต่อไป ซึ่งแต่ละเมซงนั้นมีต่างทักษะความชำนาญด้านงานช่างฝีมือที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น Lesage เมซงที่มีความชำนาญด้านงานปักและการทอผ้าทวีด ซึ่งเข้ามาร่วมงานกับแบรนด์ชาเนล ตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ Karl Lagerfeld ได้นั่งแท่นเป็นหัวเรือใหญ่, Lemarié เมซงที่ชำนาญด้านการทำดอกไม้และตกแต่งขนนก ที่มีผลงานไฮไลต์คือ ‘ดอกคามิลเลีย’ กว่า 25,000 ดอก ถูกสร้างขึ้นจากเมซงนี้ทุกๆ ปี ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา, Montex เมซงซึ่งมีความชำนาญในงานเย็บปักถักร้อย ที่ได้เข้าร่วมงานกับชาเนล คอลเล็กชั่น Métiers d'Art ตั้งแต่ปี 2011 พร้อมสร้างสรรค์งานปักและงานถักด้วยความชำนาญให้ได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนแฟชั่นเสมอมา, Goossens เมซงผู้อยู่เบื้องหลังงานช่างทอง รวมไปถึงงานแกะสลัก และงานคอสตูมจิวเวลรี ที่ตัวของ โคโค่ ชาเนล เองถูกใจการตีความอัญมณี ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากยุคโบราณของเมซงนี้มาตั้งแต่ปี 1953

     ตามมาด้วย Lognon เมซงที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานอัดพลีตในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาตั้งแต่ปี 1853 ก่อนที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาเนล ในปี 2013 และใช้ทักษะความแม่นยำในการสร้างสรรค์งานอัดพลีต เพื่อสร้างผลงานให้ชาเนลตั้งแต่นั้น, Maison Michel เมซงที่ชำนาญเรื่องการทำหมวก หนึ่งในแฟชั่นไอเท็มชิ้นสำคัญของชาเนลที่ได้เมซงแห่งนี้มาร่วมงานสร้างสรรค์หมวกตั้งแต่ปี 1997, Massaro เมซงผู้ชำนาญด้านการทำรองเท้า ซึ่งเข้าร่วมกับชาเนลในปี 2002 เป็นต้นมา โดยในปี 1957 เมซงนี้ยังได้สร้างสรรค์รองเท้ารุ่นไอคอนิก Two-Tone เวอร์ชั่นสีเบจและสีดำให้กับแบรนด์ จนกลายเป็นภาพจำมาแล้ว, Paloma เมซงที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานผ้าชนิดบาง และมีน้ำหนักเบา ที่เข้ามาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน Métiers d'Art ให้กับชาเนลมาตั้งแต่ปี 2011 และ Causse คืออีกหนึ่งเมซงเด่นที่เป็นแหล่งกำเนิดของอุตสาหกรรมผลิตถุงมือระดับโลก ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานช่างฝีมือของ CHANEL ตั้งแต่ปี 2012 และได้รับเลือกจาก UNESCO ให้เป็นรายชื่องานฝีมือที่หายากที่สุดแขนงหนึ่งอีกด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงเมซงเด่นๆ เท่านั้น เพราะนอกจากนี้ก็ยังมีช่างฝีมืออีกหลายแขนงที่อยู่เบื้องหลังผลงานคอลเล็กชั่น Métiers d'Art ที่เราได้เห็นกันทุกปี

     ด้วยจำนวนของ Maisons d’Art ของชาเนลที่เพิ่มมากขึ้น และต่างกระจัดกระจายอยู่กันคนละที่  แต่เพื่อความสะดวกในการร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเลิศ จึงทำให้เกิดอาคาร Le19M ของชาเนลขึ้น ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเมซงงานช่างฝีมือทุกแขนงเอาไว้ในที่เดียว บนเนื้อที่ขนาด 5,000 ตารางเมตร กับความสูงของอาคาร 7 ชั้น โดยฝีมือการออกแบบของสถาปนิกชื่อดัง Rudy Ricciotti ที่มีความโดดเด่นอยู่ที่งานสถาปัตยกรรมเสาคอนกรีตฟรีฟอร์ม ซึ่งเรียงรายอยู่เป็นปราการด้านนอกอาคาร

     ทั้งนี้ชื่อ Le19M ยังมีความหมายนัยยะเชื่อมโยงกับแบรนด์ชาเนลโดยตรง นั่นคือ เลข 19 ที่เป็นวันเกิดของผู้ก่อตั้งแบรนด์ โคโค่ ชาเนล และยังหมายถึงเขตการปกครองที่ 19 ของกรุงปารีส ที่อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ด้วย ตามมาด้วยตัวอักษร M ที่หมายถึง Mains ที่แปลว่า มือ ในภาษาฝรั่งเศส สื่อนัยยะถึงการสร้างสรรค์ผลงานด้วยมือ รวมไปถึง Métier ที่แปลว่า งานช่างฝีมือ และ Mode ที่แปลว่า แฟชั่น

     สำหรับอาคาร Le19M เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2021 พร้อมกับการจัดโชว์คอลเล็กชั่น Métiers d'Art ประจำปี 2021/2022 โดยฝีมือการสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นของ Virginie Viard ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนปัจจุบัน ที่เลือกจัดโชว์ในปีนั้นที่อาคารแห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์รวมต้นกำเนิดงานช่างฝีมือสุดวิจิตรของคอลเล็กชั่น Métiers d'Art และเพื่อเป็นการสดุดีเหล่าช่างฝีมือผู้อยู่เบื้องหลังผลงานสวยสะกดสุดประณีตของแบรนด์ชาเนลเสมอมา

WATCH