FASHION

#VOGUEMORE เปิดโลกแฟชั่นไอเท็มวินเทจ สมบัติล้ำค่าเมื่อเดินทางผ่านกาลเวลา

ความซับซ้อนของความวินเทจอาจทำให้หลายคนเคยสงสัย แต่วันนี้ความสงสัยถูกคลายลงและเตรียมเดินหน้าไปอย่างสดใสในอนาคต

ช่างภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช

สไตลิ่ง: ตะวัน ก้อนแก้ว

อาร์ตไดเร็กเตอร์: วิวาน วรศิริ

กราฟิก: บพิตร วิเศษน้อย

เรื่อง: นาทนาม ไวยหงษ์

กระเป๋าและเสื้อผ้า: Hermès, The Vintage Store และ The Treasure Box

 

#VogueMore ครั้งนี้พาแฟนๆ เปิดโลกใหม่ในโลกแห่งของวินเทจ ความสำคัญของการให้คุณค่าในสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้สำคัญแค่เรื่องราคา แต่มันคือตัวแทนบ่งบอกถึงคุณค่าทางจิตใจและประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่น แนวทางของตลาดไอเท็มวินเทจจะเป็นอย่างไร มันกำลังเดินไปได้สวยจริงหรือไม่ อะไรบ่งบอกถึงนิยามความวินเทจได้บ้าง และก้าวต่อไปของตลาดวินเทจในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ประเด็นต่างๆ ที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานกำลังจะถูกไขคำตอบ!

 

“Eternal Treasures ไอเท็มวินเทจ สมบัติล้ำค่าเมื่อเดินทางผ่านกาลเวลา” - สมบัติล้ำค่าที่แท้จริงไม่ใช่แค่ของที่มีมูลค่าด้านราคาสูงในช่วงเวลาหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การเดินทางผ่านกาลเวลาอันยาวนานหล่อหลอมให้ไอเท็มวินเทจชิ้นต่างๆ กลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่ได้ถูกวัดด้วยตัวเงิน ดังนั้นคำว่า “ล้ำค่า” และ “อมตะ” จึงเป็นคำนิยามที่ระเบิดพลังความต้องการของวินเทจจากทั่วโลกมาเสมอ แต่คำนิยามสำหรับของวินเทจกลับไม่มีนิยามตายตัว สามารถผันเปลี่ยนได้ตามแนวคิดและมุมมองเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มสังคม ส่วนสำคัญส่วนแรกในการทำความเข้าในวัฏจักรของโลกแห่งของวินเทจคือการวาดกรอบนิยามทำความเข้าใจอย่างเปิดกว้างก่อน

กระเป๋าสะพายวินเทจตัวล็อค Double CC พร้อมรายละเอียดผ้าเดนิมและไม้จากแบรนด์ Chanel

กาลเวลาเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะ ทว่าแต่ละคนอาจมีช่วงเวลา “วินเทจ” ไม่เหมือนกัน และมีความหมายบางอย่างสอดแทรกไว้อย่างมีเอกลักษณ์

การสร้างสรรค์ของชิ้นหนึ่งนั้นถ้าสามารถตราตรึงคนไว้ได้ช่วงเวลาหนึ่งอาจไม่สามารถอยู่ยืนยงได้ตลอดกาล ของวินเทจเป็นสิ่งตรงข้ามกับที่กล่าวมาอย่างสิ้นเชิง ช่วงเวลาของแต่ละชิ้นถูกนิยามผ่านเวลาก็จริงแต่มีรายละเอียดเรื่องสไตล์สอดแทรกไว้เช่นกัน นิยามแรกคือคำศัพท์ที่คล้ายคลึงกันอย่าง “Antique” ที่สร้างความสับสนมาโดยตลอด คำนี้บ่งบอกถึงความเก่าแก่มากๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นของตกยุคหรือเป็นของเก่าที่นำมาปรับใช้และสร้างสรรค์เลียนล้อกับไปแฟชั่นในหลายรูปได้ค่อนข้างยาก หลายคนก็นิยามว่ามันต้องอายุเกิน 100 ปี ทั้งนี้ทั้งนั้นก็สามารถอะลุ่มอล่วยได้ตามแนวยึดถือส่วนบุคคล เพราะสุดท้ายคำนี้ถึงมีคำจำกัดความก็จริงแต่ยังไม่ใช่คำจำกัดความสากลที่ถูกตีกรอบไว้อย่างชัดเจนเท่าไรนัก

 

“Vintage” คำนิยามของคำนี้อาจจะต้องสาธยายออกจากแวดวงแฟชั่นสักหน่อย เพราะเดิมทีคำนี้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมการทำไวน์เป็นหลัก โดยความหมายของมันใช้ในการระบุปีเก็บเกี่ยวขององุ่นในประเทศฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ และถูกใช้ระบุการตั้งต้นผลิตอย่างแพร่หลาย ทว่า Ruby Lane ผู้เชี่ยวชาญด้านของเก่าระบุว่าคำว่า “วินเทจ” มันใช้บ่งบอกในแง่คุณภาพด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดคือของวินเทจต้องบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่ามันมาจากยุคไหน ช่วงปีอะไร และสะท้อนสังคมวัฒนธรรมยุคนั้นได้อย่างชัดเจน แฟชั่นก็เช่นกัน เราสามารถระบุคุณภาพอันยอดเยี่ยมของไอเท็มแต่ละชิ้นได้ผ่านปีการผลิต มากไปกว่านั้นยังแสดงการเคลื่อนตัวของวัฒนธรรมผ่านรูปแบบของทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า และแอ็กเซสเซอรี่อื่นๆ ดังนั้นจะยุค ‘70s, ‘80s หรือยุคไหนก็ตามนับเป็นของวินเทจได้เกือบทั้งหมด เพียงแต่ว่ามีกรอบบางๆ ที่ผู้ช่ำชองในตลาดวินเทจระบุว่า “ของวินเทจควรมีอายุและบ่งบอกตัวตนของสิ่งนี้ย้อนไปมากกว่า 20 ปี” ซึ่งสอดคล้องกับการสอบถามผู้ประกอบการร้านค้าวินเทจในประเทศไทยที่ระบุถึงช่วงเวลาของความวินเทจใกล้เคียงกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศด้วยตัวเลขด้วยกัน

กระเป๋ารุ่น Lady Dior วินเทจบุผ้าซาตินสีแดงจากแบรนด์ Dior

วินเทจไม่ใช่ของหายากราคาแพงเสมอไป...

เมื่อพูดถึงแฟชั่นไอเท็มวินเทจที่ผู้หญิงคุ้นเคยกันดีคงจะเป็นร้านแบรนด์เนมที่นำของเก่าคุณภาพดีกลับมาขายให้เราจับจ่ายเป็นเจ้าของ ของหลายชิ้นมีราคาสูงมากๆ แม้จะเป็นของมือสองและถูกใช้มาอย่างยาวนานก่อนจะนำมาปรับสภาพและขายทอดตลาดในเวลาต่อมา ยกตัวอย่างเช่นกระเป๋าจากแบรนด์ดังทั้ง Hermès, Chanel หรือ Louis Vuitton เป็นต้น ของเหล่านี้บ่งบอกยุคสมัยได้อย่างชัดเจนและเป็นสินค้าคุณภาพสูงจากแบรนด์ชั้นนำ แต่ไอเท็มวินเทจชิ้นชูโรงเหล่านี้เป็นเพียงประเภทหนึ่งของไอเท็มวินเทจเท่านั้น เพราะของเหล่านี้หากไม่ใช่ไอคอนิกพีซหรือไอเท็มที่กำลังกลับมาได้รับความนิยมในปัจจุบันจากปัจจัยทั้งการนำไอเท็มต้นแบบกลับมาทำใหม่ เซเลบริตี้เลือกใช้ และอื่นๆ ก็อาจจะไม่ได้มีราคาสูงลิ่วจนยากจะจับต้องขนาดนั้น เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถครอบครองของวินเทจได้ตรงจริตโดยเลือกสรรตามความพอใจและงบประมาณอย่างอิสระ ไม่แน่สาวๆ อาจช็อปกระเป๋าวินเทจแบรนด์ Gucci รุ่นเก่าที่ไม่ได้ฮอตฮิตและหายากมากนัก แต่ถูกใจเราได้ในราคาที่เหมาะสมและค่อยๆ เพิ่มคุณค่าทางจิตใจ ย้อนเวลาหาอัตลักษณ์ของสิ่งนั้นๆ ผ่านการครอบครองในช่วง 50 ปีหลังการผลิต รวมถึงเพิ่มคุณค่าทางงานศิลปะไปพร้อมกัน



WATCH




เสื้อแจ๊กเก็ตทวีดวินเทจจากแบรนด์ Chanel

ของใหม่แกะกล่องกับของวินเทจไม่ใช่สิ่งที่เปรียบเทียบกันได้

คำถามที่พบเห็นได้บ่อยก็คือการตัดสินใจซื้อของสักชิ้นโดยเฉพาะของแบรนด์เนมมีราคาคือ “ของใหม่” หรือ “วินเทจ” ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าของวินเทจกับของมือสองไม่เหมือนกันเสียทีเดียว บางชิ้นเป็นสินค้าผ่านการใช้แต่ไม่ใช่ของเก่าวินเทจ อาจจะซื้อเมื่อ 3 เดือนก่อนและยังไม่ได้ผลิตเรื่องราวในตัวเองพอที่จะสะท้อนตัวตนของไอเท็มนั้นๆ ได้ แตกต่างกับของวินเทจที่อาจจะเป็นของซีรีส์เดียวกันแต่ถ้าสามารถบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่ามาจากที่ไหน ยุคใด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนคือกระเป๋า Dior รุ่น Saddle Bag ที่ไม่กี่ปีมานี้แบรนด์หยิบกลับมาทำอีกครั้ง หลังจากเคยได้รับความนิยมอย่างมากในยุคก่อน แต่ของชิ้นนี้ยังไม่ใช่ของวินเทจ ยังไม่ผ่านกาลเวลาพอจะผลิตเรื่องราวอันโดดเด่นที่สามารถสะท้อนเทรนด์แฟชั่นยุคนั้นๆ ก็ว่าได้ หรืออาจจะเรียกว่ากระเป๋าอานม้าแบบใหม่อาจยังไม่การันตีว่าจะเป็นไอคอนิกพีซประจำยุคปัจจุบันเท่ากับกระเป๋ารุ่นเดียวกันเมื่อหลายทศวรรษก่อนนั่นเอง ดังนั้นการตัดสินใจซื้อไอเท็มสักชิ้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจ การประเมินคุณค่าด้านต่างๆ และงบประมาณ ทั้ง 2 แบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน อย่างเช่นของใหม่คือสินค้ามือ 1 สมบูรณ์ในทุกกระเบียดนิ้ว แต่สำหรับของวินเทจนั้นมีคุณค่าด้านเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และความหายาก(ในบางชิ้น) เป็นจุดเด่น ไม่จำเป็นต้องตามเทรนด์แฟชั่นใหม่ล่าสุดเสมอไป

กระเป๋ารุ่น Lady Dior วินเทจวัสดุผ้าเดนิมจากแบรนด์ Dior

Timeless & Runway ความแตกต่างที่สร้างบรรทัดฐานให้ไอเท็มวินเทจ

ต้องบอกว่าของวินเทจสามารถแบ่งได้ด้วยหลักเกณฑ์ด้านประเภทเช่นกัน แน่นอนว่าแบรนด์ดังระดับโลกมีไอเท็มชิ้นอมตะเหนือกาลเวลาที่ได้รับความนิยมมานานหลายสิบปี ในขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์งานคีย์พีซในแต่ละคอลเล็กชั่น ดังนั้นของวินเทจจึงถูกแบ่งประเภทออกมาอย่างชัดเจนว่าเป็นของคลาสสิกหรือของประจำฤดูกาล ซึ่งปกติของคลาสสิกจะมีราคากลางที่คนทั่วไปสามารถนำมาเปรียบเทียบเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ง่ายกว่า ส่วนไอเท็มชิ้นรันเวย์นั้นถือเป็นไอเท็มชิ้นหายากที่ราคามักจะสูงลิ่วเนื่องจากผลิตมาจำนวนจำกัดและหายากกว่าหลายเท่าตัว แต่ก็มีไอเท็มบนรันเวย์บางชิ้นที่เสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็วจนทำให้ราคาตกและกลายเป็นไอเท็มที่ผู้คนอาจมองข้ามไปในร้านขายของวินเทจบ้างในบางโอกาส

 

การพัฒนาของแวดวงการซื้อ-ขายไอเท็มวินเทจ

เมื่อเทรนด์แฟชั่นเริ่มหวนนึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ มากขึ้น แรงบันดาลใจจากหลายสิบปีก่อนถูกนำมาผลิตซ้ำและเติมแต่งจนกลายเป็นของใหม่หน้าตาคุ้นเคย ดังนั้นของวินเทจที่เป็นต้นฉบับของไอเท็มในปัจจุบันจึงได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้คนตามเทรนด์จึงหันมาหาไอคอนิกพีซต่างๆ และเริ่มศึกษาทำความเข้าใจกับไอเท็มวินเทจมากขึ้น ผู้ประกอบการร้านขายของวินเทจแห่งหนึ่งกล่าวว่า “รู้สึกว่าแวดวงไอเท็มวินเทจขยายใหญ่ขึ้นมาก คนให้ความสนใจและเข้าใจวินเทจมากขึ้น เมื่อก่อนเราต้องคอยแนะนำและตอบคำถามลูกค้าว่าวินเทจคืออะไร ทำไมถึงน่าสนใจและควรซื้อ แต่เดี๋ยวนี้ลูกค้าที่เข้ามาคือตั้งใจมาซื้อวินเทจโดยเฉพาะเลยค่ะ ถือเป็นการการันตีอย่างชัดเจนว่าการขับเคลื่อนโลกวินเทจไม่ใช่แค่ผู้ขายเท่านั้น แต่ผู้ซื้อที่มีความสนใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นทำให้มันเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

เสื้อคลุมตัดต่อลาย พร้อมปักประดับลายใบไม้สีแดงจากแบรนด์ Dries Van Noten

คุณค่าที่ไม่ใช่เม็ดเงินได้รับการตอบสนองในเชิงบวก

“เสน่ห์ของไอเท็มวินเทจคือการได้มาซึ่งของชิ้นนั้นโดยพกเรื่องราวติดตัวมาด้วย” ในต่างประเทศผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน ไม่ใช่แค่กับกระเป๋าและเสื้อผ้า แต่รวมถึงรถ เฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะ ฯลฯ ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากแค่เทรนด์แต่เป็นระบบการปลูกฝังการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว สนใจความลึกซึ้งมากกว่าแค่รูปลักษณ์อันงดงาม ตอนนี้ประเทศไทยก็เริ่มพัฒนาในจุดนี้อย่างต่อเนื่อง ผู้คนเริ่มใส่ใจความสวยงามอย่างรอบด้านประกอบกับความลึกซึ้ง การขับเคลื่อนไปของแวดวงไอเท็มวินเทจโดยเฉพาะด้านแฟชั่นในประเทศไทยจึงเติบโตอย่างก้าวกระโดด เหตุผลเรื่องรักษ์โลก การเก็บของเก่าเพื่อเพิ่มมูลค่า และอีกหลายต่อหลายเหตุผลเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จุดโฟกัสปักที่โลกของไอเท็มวินเทจเช่นกัน

อนาคตอันสดใสของตลาดไอเท็มวินเทจในประเทศไทย

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าตลาดแฟชั่นวินเทจเติบโตขึ้นอย่างมาก ผู้คนมีจุดประสงค์ในการเลือกซื้อหลากหลายมากขึ้น การปลูกฝังลูกหลาน รวมถึงเริ่มศึกษาด้วยตัวเองเป็นจุดแข็งที่สุดและเป็นรากฐานสำคัญให้วงการนี้เติบโตอย่างมีคุณภาพ การซื้อ-ขายลงทุนเองก็ขยายกว้างขึ้น มีของในตลาดมากขึ้น มีอุปสงค์-อุปทานสัมพันธ์กันอย่างลงตัว ดังนั้นเมื่อทุกอย่างประกอบกันก็ตอบได้อย่างชัดเจนว่าอนาคตวงการนี้จะไปได้อีกไกล มากไปกว่านั้นยังสะท้อนให้เห็นว่าวงการในรูปแบบคล้ายคลึงกัน เช่นแวดวงศิลปะหรืออะไรก็ตามที่ผูกโยงเข้ากับเรื่องราวเบื้องหลังก็น่าจะไปได้สวยเช่นกัน เมื่อมูลค่าและคุณค่าด้านจิตใจสอดประสานกันอย่างสมบูรณ์แบบ เราก็สามารถเอ่ยได้อย่างเต็มปากว่าไอเท็มวินเทจเป็นสมบัติล้ำค่าเมื่อเดินทางผ่านกาลเวลาอย่างแท้จริง

 

พบกับ #VogueMore ปกดิจิทัลของโว้กประเทศไทย และสกู๊ปพิเศษบน Vogue.co.th ได้ทุกวันพุธที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน

WATCH