FASHION
เส้นทางสู่เจ้าแม่แห่งพังก์ของ Vivienne Westwood ในยุคที่พังก์ยังไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าแม่แฟชั่นสายพังก์ที่ยืนหยัดได้อย่างยาวนานที่สุดคงเป็นเธอคนเดียวเท่านั้น |
Sex Pistols, The Clash, The Ramones, และ Vivienne Westwood คงไม่มีใครปฏิเสธว่าพวกเขาคือไอคอนตลอดกาลแห่งพังก์ เพียงแต่ว่า 3 รายชื่อแรกคือวงดนตรีพังก์ร็อก ที่มีสมาชิกเป็นชายฉกรรจ์จอมขบถที่พร้อมจะแหกทุกกฎสังคม ในขณะที่รายชื่อสุดท้ายไม่ใช่วงดนตรี ยิ่งไปกว่านั้นเธอคือสตรีที่ยืนเด่นในโลกพังก์โดยท้าทาย
Vivienne Westwood คือนักออกแบบและแฟชั่นดีไซน์เนอร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี ทว่าอีกหนึ่งแง่มุมชีวิตที่น่าสนใจของเธอคือการเป็นผู้นำเสนอความพังก์ให้กับวงการแฟชั่นอย่างห้าวหาญ ก่อนที่พังก์จะกลายเป็นคำคุ้นหูเราอย่างทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้ Vivienne Westwood จึงเป็นชื่อสำคัญที่จารึกลงในประวัติศาสตร์พังก์ และนี่คือเรื่องราวของเธอ
Vivienne Westwood ในวัยเด็ก / ภาพ: The Times
เดือนเมษายน ปี 1941 ในขณะที่ฝุ่นควันแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงคุกรุ่น คือช่วงเวลาเดียวกับที่ Vivienne Isabel Westwood ลืมตาดูโลก ณ เมือง Cheshire ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวชนชั้นกลาง โดยพ่อของเธอทำงานเป็นผู้ดูแลโรงงานในโรงงานผลิตเครื่องบิน
ในปี 1958 Vivienne ย้ายออกจากบ้านเกิดตามครอบครัว จุดหมายปลายทางคือเมือง Middlesex และที่นี่คือครั้งแรกที่สอนให้ Vivienne ได้รู้จักงานออกแบบ โดยเธอได้ลงเรียนหลักสูตรเครื่องประดับและช่างเงินที่ University of Westminster ทว่าหลังจากผ่านไปแค่เทอมแรก Vivienne ก็ถึงกับตัดพ้อว่า
"ฉันไม่รู้ว่าสาวกรรมกรอย่างฉัน จะสามารถหาเลี้ยงชีพในโลกศิลปะได้อย่างไร"
อย่างไรก็ตามด้วยความพยายาม Vivienne ก็จบการศึกษาได้สำเร็จ ก่อนจะเริ่มชีวิตวัยทำงานด้วยการเป็นครูในโรงเรียนประถม ควบคู่ไปกับการออกแบบและผลิตเครื่องประดับมาวางจำหน่ายบนแผงลอยใจกลางถนน Portobello Road Vivienne ได้พบกับ Derek Westwood ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน ก่อนจะแต่งงานกันในปี 1962 และให้กำเนิดลูกชาย Benjamin Westwood
ถึงตรงนี้ชีวิตของ Vivienne ยังดูไม่ใกล้เคียงกับการเข้าสู่วงโคจรของพังก์เลยแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับกระแสพังก์ที่ถึงแม้จะเริ่มเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศอังกฤษช่วงทศวรรษ 60-70 อย่างไรก็ตามพื้นที่ในวัฒนธรรมแห่งนี้ยังถูกยึดครองโดยผู้ชายเป็นหลัก
Vivienne Westwood กับ Malcom Mclaren / ภาพ: fashiongtonpost
เมื่อพังก์คือวัฒนธรรมแห่งความขบถ ห่าม เกรี้ยวกราด ไม่สนกฎเกณฑ์สังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในยุคสมัยดังกล่าวผู้ชายเลือกที่จะถ่ายทอดออกมามากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงยังไม่ได้ขึ้นมามีปากมีเสียงเท่าไรนัก เช่นเดียวกับ Vivienne ในฐานะผู้รับชมการเคลื่อนไหวแห่งกระแสพังก์ เธอเคยกล่าวเอาไว้ว่า
“จะดูว่าใครพังก์ไม่พังก์ ให้ดูว่าเขาคนนั้นพูดในสิ่งที่อยู่ในระบบหรือกฎเกณฑ์หรือเปล่า”
อย่างไรก็ตาม Vivienne ก็ไม่ได้เข้าสู่โลกแห่งพังก์ จนกระทั่งเธอเลิกรากับ Derek และได้โคจรมาเจอกับ Malcolm McLaren ปี 1965 คือปีที่ Vivienne ในวัย 24 ปี เจอกับ Malcolm ในวัย 18 เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะตกหลุมรักกันอย่างรวดเร็วเนื่องจากทั้งคู่สนใจที่จะใช้แฟชั่นเป็นรูปแบบการแสดงตัวตนเหมือนกัน ทว่ากลับไม่ค่อยชื่นชอบแนวฮิปปี้บุปผาชนซึ่งกำลังเฟื่องฟูในช่วงเวลาดังกล่าวเท่าไรนัก
นอกจากนั้น Malcolm นี่แหละคือคนที่นำพา Vivienne เข้าสู่โลกแห่งพังก์และการออกแบบเสื้อผ้า Vivienne เป็นคนที่มีเซนส์ด้านสไตล์อยู่แล้ว เธอไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง และพยายามแหกกรอบอยู่เสมอ เธอยึดมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น ซึ่งเป็นดีเอ็นเอแบบเดียวกันที่ไหลเวียนอยู่ในหมู่ชาวพังก์ ในขณะที่ Malcolm ก็เป็นสมาชิกแก๊งพังก์ขนานแท้ ด้วยเหตุนี้ความแตกต่างที่เหมือนกันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกได้รู้จักกับดีไซน์เนอร์นาม Vivienne Westwood ในเวลาต่อมา
Vivienne เริ่มต้นด้วยการออกแบบผลิตเสื้อผ้าของ Teddy Boy ให้กับ Malcolm ก่อนที่ในปี 1971 พวกเขาจะร่วมกันเปิดร้าน Let it Rock ที่ 430 Kings Road ปีต่อมาเมื่อกระแสพังก์เริ่มหันมาสนใจเสื้อผ้านักขี่มอเตอร์ไซ ซิป และเครื่องหนัง ร้านนี้ถูกรีแบรนด์ด้วยหัวกะโหลกไขว้ และเปลี่ยนชื่อเป็น Too Fast to Live, Too Young to Die ซึ่งเสื้อผ้าที่ Vivienne และ Malcolm ออกแบบนั้นล่อแหลม และท้าทายกรอบศีลธรรมในยุคสมัยดังกล่าวอย่างมาก นำไปสู่การถูกดำเนินคดีในข้อหาลามกอนาจารหลายครั้ง ทว่าทั้งคู่ก็ยังคงแน่วแน่ในแนวทาง
ในปี 1974 Too Fast to Live, Too Young to Die ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Sex เป็นร้านที่มาพร้อมคอนเซปต์ 'แตกต่างจากร้านอื่นในอังกฤษในขณะนั้น' และมันก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของแฟชั่นพังก์ในยุคนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Malcolm ได้รับหน้าที่เป็นผู้จัดการ Sex Pistols วงดนตรีพังก์พุ่งแรงแห่งยุค ‘70s
WATCH
Vivienne Westwood และแฟชั่นที่สะท้อนตัวตนของเธอได้ดีเสมอมา / ภาพ: Luxus-Plus
ด้วยเหตุนี้ Malcolm และ Vivienne จึงรับหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้าให้สมาชิกวงได้สวมใส่ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชื่อของทั้งคู่เป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะดีไซน์เนอร์สายพังก์
“การแสดงออกทางศิลปะของพวกเขาคือ ‘พังก์ร็อก” คำนิยามของสื่อในยุคสมัยดังกล่าวต่อผลงานของ Vivienne และ Malcolm
“Malcolm และ Vivienne ใช้เสื้อผ้าเพื่อทำให้เกิดแรงเคลื่อนไหวในสังคม กระตุ้นเตือน ตั้งคำถาม และยังสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” ส่วนหนึ่งจากบันทึกความทรงจำของ Viv Albertine
ทั้งคู่แสดงให้เห็นว่าพังก์เป็นมากกว่าแฟชั่น แต่มันคือการประกาศตัวตนผ่านเสื้อผ้า ดนตรี และศิลปะแขนงอื่นๆ เพื่อท้าทายอำนาจของโครงสร้างสังคมที่ถูกกดทับ เสื้อผ้าของพวกเขาสอดแทรกด้วยชุดความคิดขบถ กลั่นออกมาเป็นองค์ประกอบทางแฟชั่น เช่น ซิป หนัง โซ่ และเข็มกลัดซ่อนปลาย บางชุดมีรอยฉีกขาดที่จงใจประดิษฐ์ขึ้น
ในขณะที่บางชุดสะท้อนรสนิยมทางเพศแบบ BDSM รวมถึงการประนามความรุนแรงที่เป็นบาดแผลใหญ่ตั้งแต่ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างเสื้อยืดสกรีนคำว่า destroy และมีเครื่องหมายสวัสติกะปรากฏอยู่บนนั้น เรียกได้ว่า Vivienne และ Malcolm คือคู่รักที่มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนวงการพังก์ในอังกฤษ ช่วงกลางทศวรรษ 70 พร้อมนำพาวัฒนธรรมพังก์จอมขบถนี้เข้าสู่แฟชั่นกระแสหลักได้อย่างงดงาม
อย่างไรก็ตามงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา Vivienne และ Malcolm ไม่สามารถประคองความรักได้ตลอดรอดฝั่ง ถึงแม้จะมีโซ่ทองคล้องใจด้วยกันหนึ่งคนอย่าง Joe Corre ก็ตาม พวกเขาแยกทางกันในปี 1984
“Malcolm ใจร้ายกับฉันมา เขาอาจจะอิจฉาฉัน”
“เขามักจะพูดเสมอว่า ‘เธอเป็นแค่ช่างเย็บผ้า’ ‘เธอไม่มีวันได้เป็นนักออกแบบถ้าไม่ได้พบฉัน’ เขาพยายามบั่นทอนความมั่นใจฉันด้วยการพูดจาแย่ๆ ตลอดเวลา” Vivienne เผยถึงช่วงเวลาที่เลวร้ายกับอดีตคนรักผ่านหนังสือพิมพ์ Telegraph
หลังแยกทางกัน Malcolm หันไปให้ความสนใจกับดนตรี ส่วน Vivienne ยังคงเดินหน้าต่อไปในบนถนนเส้นทางแฟชั่นดีไซน์เนอร์ แต่มีการเปลี่ยนสไตล์จากดีไซเนอร์สตรีทแฟชั่นมาเป็นไฮแฟชั่น ซึ่งทำให้เธอประสบความสำเร็จอย่างสูงในระดับนานาชาติ
การที่ Vivienne มีจุดยืดที่ชัดเจน และเธอไม่เคยลังเลที่จะแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาผ่านเสื้อผ้าที่ออกแบบทำให้เธอกลับได้รับรางวัลดีไซเนอร์แห่งปีของอังกฤษถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นคนแรกที่ทำเช่นนั้นได้
Vivienne Westwood กับวิถีการผสมผสานวิถีพังก์เข้าไปในไลฟ์สไตล์ / ภาพ: image-cdn
Vivienne นำวัฒนธรรมจากมุมต่างๆ ของโลกเช่นแฟชั่นฮิปฮอปแบบแอฟริกัน แฟชั่นแบบชนพื้นเมืองอเมริกัน ไปจนถึงความแปลกแบบเอ็กโซติก (exotic) เช่นการใช้ป้ายนีออนแบบโตเกียว มาผสมผสานเข้ากับการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอได้อย่างลงตัว ในขณะเดียวกันก็ยังแสดงการต่อต้านโครงสร้างสังคมที่กดทับอย่างไม่ลดละ เช่น การใช้โลโก้ของบริษัทยักษ์ใหญ่บนเสื้อผ้า หรือการเลียนแบบเสื้อผ้าราชวงศ์อังกฤษแต่ใช้ขนเฟอร์ปลอม
ตั้งแต่ปี 1985-1987 Vivienne ได้รับแรงบันดาลใจจากบัลเล่ต์ Petrushka ในการออกแบบ mini-crini ซึ่งเป็นเวอร์ชันย่อของ crinoline วิคตอเรีย กระโปรงทรงพัฟบอลทรงยาวมินิเป็นแรงบันดาลใจให้กระโปรงพัฟบอล นำเสนอโดยดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง Christian Lacroix
mini-crini ถูกอธิบายในปี 1989 ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างอุดมคติสองประการที่ขัดแย้งกัน crinoline สื่อถึงกรอบแห่งการแต่งกายที่จำกัดของผู้หญิง ในขณะที่ miniskirt หมายถึงการปลดปล่อยอันเป็นอิสระ
อีกหนึ่งอดุมการณ์โดดเด่นที่แฝงอยู่ในงานของ Vivienne คือ การทำลายกำแพงความเป็นหญิงและชาย เช่น ให้ผู้หญิงใส่รองเท้าขี่ม้าคู่ใหญ่ๆ แต่ชิ้นส่วนอื่นๆของเสื้อผ้ายังคงความเป็นหญิง สำหรับคอลเล็กชันตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาจนถึงในปัจจุบัน Exploration เธอออกแบบให้มีความเป็นไบเซ็กชวล ขับเน้นตัวตนที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพศ และค้นหาการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติของผ้าโดยทำเหมือนมันเป็นสิ่งมีชีวิต
แนวคิดว่าด้วยสตรีนิยมมักจะเสนอปัญหาว่าเรือนร่างของผู้หญิงถูกเก็บไว้ในพื้นที่ส่วนตัว ก่อให้เกิดมายาคติความกลัวซึ่งถูกผลิตซ้ำโดยการสั่งสอนในครอบครัว หนำซ้ำเรือนร่างของผู้หญิงยังถูกกีดกันออกจากความปรารถนาทางเพศหรือเรื่องเซ็กซ์ ก่อนที่แฟชั่นพังก์จะเข้ามาลบคำสบประมาทนี้ เพราะสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้เสื้อผ้าแนวนี้คือการแสดงออกถึงรสนิยมทางเพศ
หรือการท้าทายอัตลักษณ์ทางเพศใหม่ๆ อย่างชัดเจนผ่านเช่นการนำส่วนประกอบของชุดที่ดูเป็นผู้หญิงมาผสมผสานกับไอเท็มที่ดูไม่เข้ากัน ความแหกกรอบก็ทำให้ผู้หญิงมีเสรีในการนิยามร่างกายของตนเองใหม่ผู้หญิงอาจไม่ต้องถูกนิยามว่าเป็นวัตถุทางเพศอีกต่อไป เป็นการแยกขาดผู้หญิงจากบทบาททางเพศโดยสิ้นเชิง
Vivienne Westwood เดินขบวนรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม / ภาพ: Squarespace
ถึงแม้ว่า Vivienne จะเคยออกมาปฏิเสธว่าเธอไม่ใช่เฟมินิสต์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เธอทำมีส่วนสำคัญในการช่วยปลดแอกคุณค่าผู้หญิงออกจากกรอบที่สังคมได้วางเอาไว้ และดูเหมือนว่ายิ่งแก่ตัวขึ้น ความต้องการเรียกร้องให้สังคมดีขึ้นของ Vivienne ในบทบาทแฟชั่นดีไซน์เนอร์จะไม่เพียงพอแก่ใจของเธออีกต่อไป เพราะเธอยังเป็นนักรณรงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนให้กับองค์กร Greenpeace เธอเดินทางไปที่ขั้วโลกเหนือและนำขบวนรณรงค์หลายครั้ง ถึงแม้ว่าการที่แบรนด์ Vivienne Westwood ประสบความสำเร็จ กลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ระดับโลก ซึ่งแน่นอนว่าการต้องผลิตเสื้อผ้าปริมาณมากขนาดนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้เธอถูกหยิบประเด็นนี้มาโจมตีหลายครั้งก็ตาม
“การที่พังก์ไปอยู่ในไฮแฟชั่นนั้นเป็นเพียงการที่คนรวยๆ จะได้มีโอกาสแต่งตัวจนๆ เพราะในขณะที่พังก์ในไฮแฟชั่นมีเม็ดเงินอัดฉีดในอุตสาหกรรม คนทำแฟชั่นพังก์ที่แท้จริงตามท้องถนนกลับต้องวิ่งหาคนสนับสนุนให้มีที่ยืนของตัวเอง” ส่วนหนึ่งจากบทความ THE PUNK WAY VS. THE RUNWAY ทว่า Vivienne ก็ยังคงยืนยันเหตุผลในแบบของเธอ
“ฉันตระหนักดีว่าบริษัทของฉันขยายตัวเร็วเกินไป ฉันทำเสื้อผ้าที่ฉันชอบ และถ้าคนอื่นๆ ชอบด้วย ฉันก็จะทำต่อไป และนั่นคือเหตุผลที่ฉันได้ทำต่อมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ ฉันไม่ได้แค่พยายามทำเสื้อผ้า ฉันคิดว่าฉันกำลังพยายามให้ทางเลือกที่วิเศษแก่ผู้คนในการนำเสนอตัวตนของตนเอง และนี่เกี่ยวข้องกับการเป็นขบถ มันเป็นเรื่องของคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ และนั่นแหละคือการเป็นขบถในนิยามของฉัน”
เรื่องราวเหล่านี้คือการฉายภาพให้เห็นว่า Vivienne ได้นำพาความพังก์เดินทางมาอย่างยาวไกล เข้าสู่กระแสหลักของสังคม ก่อนจะใช้มันเป็นเครื่องมือในการส่งเสียงเรียกร้องต่อโครงสร้างอันบิดเบี้ยวในสังคม Vivienne Westwood จึงเป็นชื่อที่ควรค่าแก่การเป็นพังก์ไอคอนอย่างไร้ข้อครหา ดั่งวลีหนึ่งที่สำนักข่าว The Guradian เคยนิยามเอาไว้ว่า
“พังก์อาจจะหายไปจากกระแสดนตรี แต่ยังมีชีวิตอยู่ในเสื้อผ้าของ Vivienne Westwood”
WATCH