ทำความรู้จัก 'Virtual Influencer' คนดังปัญญาประดิษฐ์ คลื่นลูกใหญ่ที่อาจซัดคนแฟชั่นจนตกงาน!
พวกเธอ 'ไม่ใช่คน' และมนุษย์อย่างเราก็เตรียมตกงานกันได้เลย
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2019 อุตสาหกรรมแฟชั่นและบันเทิง ได้ทำความรู้จักกับอินฟลูเอ็นเซอร์สาวลูกครึ่งอเมริกัน-บราซิล (เขาว่าอย่างนั้น) นามว่า “Lil Miquela” ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาไปทั่วโลก ด้วยการจูบปากอย่างดูดดื่มกับนางแบบชื่อดังแห่งยุคอย่าง Bella Hadid ในโฆษณาแคมเปญสุดอื้อฉาวของแบรนด์แฟชั่น Calvin Klein ทว่าหลังจากที่โฆษณาชิ้นนั้นถูกเผยแพร่ไปได้ไม่นาน เหล่าสายแฟ(ชั่น)ก็ต้องตกตะลึงกันยกใหญ่ เมื่อต่างมารู้ความจริงทีหลังว่าเธอคนนั้น “ไม่ใช่คน”...
แน่นอนว่าคุณอ่านไม่ผิด...อินฟลูเอ็นเซอร์สาวคนนั้นไม่ใช่คน หากเธอคือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เกิดขึ้นจากการทำอวตารให้คล้ายกับมีชีวิตจริงเหมือนคนทั่วไป โดยฝีมือการสร้างสรรค์ของบริษัท Brud ในเมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถือกำเนิดเมื่อเดือนเมษายน ปี 2016 โดยเธอถูกวางบทบาทเอาไว้ให้เป็นทั้ง สาวสายแฟ(ชั่น), ศิลปินแนวอาร์แอนด์บี เรื่อยไปจนถึงเป็นนักเสรีนิยมที่เคลื่อนไหวเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ อีกด้วย นอกจากนี้ลิลยังมีบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัว (@lilmiquela) เอาไว้อัปเดตชีวิตรายวันไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 3 ล้านบัญชีแล้วในเวลานี้ และเพิ่งเปิดตัวหนุ่มรู้ใจที่เป็นมนุษย์จริงๆ ที่ชื่อ Ben ไปเมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการก้าวข้ามพรมแดนทุกขีดจำกัดการใช้ชีวิตของปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง
1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ลิลสามารถสร้างรายได้ได้จริง อีกทั้งยังสร้างมูลค่าทางกระแสนิยมได้อย่างท่วมท้น ทั้งในอุตสาหกรรมแฟชั่นและบันเทิงที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นมากมาย ตั้งแต่ Givenchy ที่เธอได้อวตารไปนั่งฟรอนต์รว์ พร้อมถ่ายรูปกับแบ็กดรอปมาแล้ว หรือแม้แต่ Calvin Klein เองที่กล่าวไปแล้วข้างต้น กระทั่งในวงการดนตรี ปัญญาประดิษฐ์คนนี้ก็ตามไปก่อกวนมาแล้วด้วยเช่นกัน ด้วยการออกซิงเกิ้ลเพลง Speak Up, Automatic, Not Mine และล่าสุดกับ Hard Feeling เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ความโด่งดังและโดดเด่นของลิลสร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วโลกอย่างมาก จนแม้แต่สื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Time ยังได้เชิญเธอคนนี้ขึ้นเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกมาแล้วในปี 2018 ร่วมทำเนียบกับ อดีตประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ และศิลปินเกาหลีใต้วง BTS นั่นจึงอาจกล่าวได้ว่า ลิล มิเคลา ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของนวัตกรรม Virtual Influencer สุดล้ำบนโลกใบนี้ เป็นเหมือนร่างอวตารมนุษย์ (Digital Human) นำร่อง ก่อนที่ต่อมาหลากหลายประเทศจะเริ่มหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
WATCH
ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ ก็นับเป็นอีกสองประเทศที่เริ่มหันมาสนใจอินฟลูเอ็นเซอร์ปัญญาประดิษฐ์เช่นนี้ เริ่มจากแดนอาทิตย์อุทัยก่อนเป็นลำดับแรก การถือครอง Pop-Culture อย่างการ์ตูนอะนิเมะเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะพัฒนาให้เกิดปัญญาประดิษฐ์ในร่างอวตารคล้ายมนุษย์ได้ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 หลังจากปลุกปั้นกันมาสักพักใหญ่ ประเทศญี่ปุ่นก็ได้เปิดตัวเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อว่า IMMA ซึ่งในปีต่อมาเธอก็ได้รับเลือกให้เป็นนางแบบหน้าใหม่ให้กับแบรนด์เครื่องสำอาง KATE ทันที รวมทั้งได้ร่วมถ่ายแบบในแคมเปญแฟชั่นของแบรนด์ Burberry ร่วมกับเพื่อนๆ ร่างอวตารคนอื่นๆ มาแล้วด้วยในปีเดียวกันนั้น และล่าสุดอิมมะยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับญี่ปุ่น ด้วยการเข้าร่วมพิธีปิดพาราลิมปิกเกมส์ปี 2021 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว อีกด้วย นอกจากนั้นเธอก็ยังอวตารตัวเองไปออกงานสังคมมากมาย ถ่ายรูป พร้อมโพสต์ลงอินสตาแกรมอยู่เป็นนิจ (@imma.gram) ไม่ต่างจากเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ทั่วโลก ซึ่งตอนนี้บนอินสตาแกรมของเธอก็มีผู้ติดตามากถึง 3 แสนกว่าคนแล้วเรียบร้อย
เวอร์ชวลอินฟลูเอ็นเซอร์อีกหนึ่งคนที่น่าจับตามองมาจากประเทศเกาหลีใต้ เธอมีชื่อว่า "Rozy" ที่มีรายงานล่าสุดว่าเธอสามารถสร้างรายได้จากงานโฆษณาไปแล้วกว่าพันล้านวอน ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งตัวเลขนี้เองที่อาจจะทำให้อินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีเลือดเนื้ออยู่ในชีวิตจริงอย่างเราๆ นั้นต้องร้อนๆ หนาว ๆ กันบ้าง สำหรับโรซี่นั้นเธอเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของผู้พัฒนาระบบ AI และทีมกราฟฟิกจาก Sidus Studio X ที่จะมีอายุ 22 ปีไปตลอดกาล โดยบนบัญชีอินสตาแกรมของเธอตอนนี้มีผู้ติดตามอยู่ที่จำนวนกว่า 6 หมื่นคน (@rozy.gram) และยังคงทะยานขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับผลงานที่ออกมาให้พวกเราได้เห็นอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
(จากซ้ายไปขวา) Shudu ซูเปอร์โมเดลผิวดำ / Bermuda อิทเกิร์ลผมบลอนด์แห่งเมืองลอสแอนเจลิส และ Liam Nikuro เวอร์ชวลอินฟลูเอ็นเซอร์เพศชาย
นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีปัญญาประดิษฐ์ในร่างอวตารมนุษย์คนอื่นๆ ที่เรายังไม่ได้พูดถึงอย่างละเอียดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Shudu ซูเปอร์โมเดลผิวดำแห่งโลกดิจิทัล โดยฝีมือการสร้างสรรค์ Cameron-James Wilson ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเติมเต็มความหลากหลายทางเชื้อชาติในโลกของเวอร์ชวลอินฟลูเอ็นเซอร์ ให้เหมือนกับโลกจริงในตอนนี้, Bermuda อิทเกิร์ลผมบลอนด์แห่งเมืองลอสแอนเจลิส ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2016 เพื่อนซี้คนสำคัญของลิล ที่มักจะโผล่ไปร่วมเฟรมกับลิลอยู่ในบางครั้ง เพื่อเป็นการสร้างสังคมให้กับเวอร์ชวลอินฟลูเอ็นเซอร์เหล่านี้ ให้เหมือนกับชีวิตของคนจริงๆ มากที่สุด หรือกระทั่งจะเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ฝั่งผู้ชายก็มี อย่างเช่น Liam Nikuro ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2019 และยังคงได้รับการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
หากว่าแฟชั่นคือการ “มองไปข้างหน้า” เทรนด์ของเวอร์ชวลอินฟลูเอ็นเซอร์นี้ก็คงเป็นแฟชั่นในอนาคตที่น่าหวั่นใจไม่น้อย สำหรับเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์อย่างพวกเราที่มีชีวิตจริงๆ เพราะอะไรน่ะหรือ...ประการแรก เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ในโลกดิจิทัลเหล่านี้จะถูกรับประกันได้ 100 เปอร์เซนต์เลยว่าพวกเขาจะไม่มีข่าวฉาว ที่จะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ที่พวกเขารับเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ เพราะพวกเขาอาศัยอยู่แค่ในโลกเสมือนจริงเท่านั้น ประการต่อมา พวกเขามีอายุขัยไม่จำกัด และสามารถทำงานได้ตลอดไป แม้กระทั่งที่อินฟลูเอ็นเซอร์อย่างเราๆ จากโลกนี้ไปอย่าสงบแล้วก็ตาม พวกเขาก็จะยังคงอยู่ทำงานแทนพวกคุณต่อไปได้นานจนคุณกลับมาเกิดใหม่เลยล่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าทีมกราฟฟิก และผู้พัฒนาระบบ AI รุ่นที่สร้างพวกเขาเหล่านี้ขึ้นมาหายไป ก็ยังคงจะมีพนักงานเบื้องหลังรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา และเข้ามาควบคุมเหล่าเวอร์ชวลอินฟลูเอ็นเซอร์เหล่านี้ให้มีชีวิตต่อไปอยู่ดี ซึ่งนั่นหมายถึงการกอบโกยเม็ดเงินมหาศาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ประการสุดท้ายของความน่าวิตกกังวลว่า คนอย่างเราจะตกงานที่ผู้เขียนนึกออกก็คือ ในยุคสมัยที่ชีวิตของคนจริงๆ อย่างเราต้องเจอกับวิกฤตการณ์โรคระบาด ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ New Normal ที่มนุษย์พึ่งพาเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์แบบเช่นนี้โดยไม่ต้องเจอหน้ากันจริงๆ การหันไปเลือกใช้ร่างอวตารมนุษย์มาทำงานให้แบรนด์ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการจ้างคนจริงๆ ที่อาจเสี่ยงติดโรคเป็นไหนๆ
กระนั้นก็ยังมีอีกเรื่องที่น่าคิดต่อไป หากว่าธุรกิจเวอร์ชวลอินฟลูเอ็นเซอร์นั้นบูมขึ้นมาจริงๆ ในอนาคต (ซึ่งคิดว่าน่าจะมีวันนั้น) แต่ละประเทศก็คงจะต้องออกกฎหมายบังคับใช้ในการรับรองสถานะการมีอยู่ในสังคมของพวกเขาเหล่านั้นในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับทั้งเหล่าปัญญาประดิษฐ์ และพวกเราที่เป็นคนจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคำกล่าวที่ว่า “อีกหน่อย หุ่นยนต์ก็คงจะมาแย่งงานคนทำหมด” จะไม่ใช่ประโยคที่เป็นเท็จอีกต่อไปแล้ว...
ข้อมูล : virtualhumans.org, slika.co, influencermarketinghub.com และ Wikipedia-Virtual Influencer
WATCH