Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022-2023
FASHION

สีสันลมหนาวสู่ Thai Textiles Trend Book A/W 2022 - 2023 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

การเดินทางมาถึงของเหมันตฤดู เรื่องของลมหนาวที่มาพร้อมกับ "ผ้าทอ" งานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าของไทย สู่ Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022-2023 หนังสือที่เป็นคู่มือแก่ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของแฟชั่น โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

เครื่องทอผ้า

‘ผ้าทอ’ ศิลปะหัตถกรรมที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ช่วยเล่าเรื่องราวของแต่ละวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการขัดเกลาอย่างนับครั้งไม่ถ้วนจนเกิดเป็นเสน่ห์ที่น่าหลงไหลในงานปักเย็บ ทั้งสีสัน และลวดลายทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่น่าจดจำของทุกเชื้อชาติที่ดำรงอยู่ จนก้าวเข้ามาสู่ช่วงเหมันตฤดูแห่งปี 2022 – 2023 การเดินทางของสีสันแห่งฤดูหนาวบนผืนผ้าทอได้เริ่มขึ้นแล้ว

ในการจัดทำ Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022 – 2023 ประจำฤดูกาลนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงโปรดเกล้า ดำรงตำแหน่ง บรรณาธิการบริหาร (Editor in Chief) ร่วมกับ คุณกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย และทีมที่ปรึกษาอื่น ๆ ในการตีพิมพ์หนังสือในครั้งนี้ เพราะเรื่องราวของผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยนั้นเปี่ยมไปด้วย คุณค่าทางศิลปะ รายละเอียดที่ประณีตอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เพราะอีกหนึ่งพระราชประสงค์ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ คือทรงต้องการที่จะอนุรักษ์ผ้าทอ ปกป้อง สืบสานคุณค่าของผ้าทอ พัฒนาและผลักดันให้ผ้าทอไปไกลได้ถึงระดับสากล

ซึ่งในการจัดทำหนังสือ Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022 – 2023 พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมวัฒนธรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น พื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัสดุในแต่ละพื้นที่ และได้ทรงเล็งเห็นถึงศักยภาพของผ้าทอในพื้นที่อากาศหนาว ว่าผ้าทอของเรานั้นสามารถสร้างสรรค์ให้เติบโตไปในวงการแฟชั่นในระดับโลกได้ ดังนั้นแล้วหนังสือ Trend Book เล่มนี้จึงเป็นการดำเนินเรื่องราวของผ้าทอผ่านวัฒนธรรมของพื้นที่ที่อากาศหนาวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลวดลายที่มีความประณีต และสีสันจากธรรมชาติที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง



WATCH




ลายผ้าทอ ยกดอก ขิด จก เกาะล้วง มัดหมี่ ปัก

ลวดลายที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้เองก็มีอยู่อย่างหลากหลายโดยเป็นลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น

  • ลายยกดอก ที่ได้จากการทอแบบสลับเส้นด้าย
  • ลายขิด ลวดลายที่เกิดจากการทอฝ้ายที่มีเนื้อหนา หรือนำเอาไหมเปลือกมาผสมในการทอ
  • ลายจก ลายที่นำเส้นไหมลีบมาทอเพื่อให้เกิดความนุ่มฟู ผสมกับการสร้างลวดลายนูนที่เป็นเอกลักษณ์
  • ลายเกาะ หรือ ล้วง ลายที่เกิดจากการนำเอาเส้นใยต่าง ๆ ในธรรมชาติ มาทอรวมกับ เส้นไหมพุ่งที่มีสีสันทำให้เกิดมิติความหนาเป็นช่วง ๆ
  • ลายมัดหมี่ ลวดลายที่เกิดจากการใช้เทคนิคการสร้างลวดลายด้วยการมัดลาย หรือแต้มสีบนเส้นไหมเปลือก และเส้นฝ้ายขนาดใหญ่
  • ลายปัก เทคนิคการสร้างลวดลายด้วยการประดับตกแต่งผืนผ้าให้มีความสวยงามจากการใช้วัสดุตามธรรมชาติและเทคนิคต่าง ๆ ให้ขึ้นเป็นลวดลาย

นอกจากเรื่องลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แล้วยังมีเรื่องของสีสันที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก โดยในฤดูกาลนี้สีหลักที่นำเสนอผ่านสีสันแห่งเหมันตฤดู นั่นคือ “สีคราม” สีที่มีความนิยมกันมาอย่างช้านาน มักจะเอามาเป็นสีย้อมในเครื่องนุ่มห่มต่าง ๆ จนขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งสีย้อม” เพราะนอกจากคุณสมบัติของสีครามที่สามารถป้องกันในเรื่องของแสงแดด รังสียูวี และยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยเสริมให้สมุนไพรต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น “คราม” เองก็ยังเป็นสีที่ให้จุดกำเนิดเฉดสีต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เพราะฉะนั้นในหนังสือเล่มนี้ “คราม” จึงเป็นเหมือนตัวเอกหลักที่จะเล่าเรื่องราวของเหมันตฤดูให้แก่ทุกคนได้อ่านกันผ่านสีสันต่าง ๆ ที่น่าสนใจ

  • เฉดสีม่วง สุกงอมพร้อมพรั่ง (Ripe & Maturity) เสน่ห์แห่งการเป็นผู้นำของสตรีเพศ ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์จนสุกงอมได้ที่ เกิดเป็นการยอมรับเหล่าสตรีที่มีอำนาจและบทบาทในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเท่าเทียมทางเพศ และเสรีภาพในการแสดงออก เปรียบเสมือนกับความลึกลับของผลไม้ตระกูเบอร์รี่ที่ผ่านการสุกงอมได้ที่ก่อเกิดประโยชน์ต่าง ๆ อย่างมากมาย

  • เฉดสีคราม สุขุมลุ่มลึก (Profoundness Mild) สีที่บ่งบอกถึงตัวตนของคนรุ่นใหม่พร้อมพรั่งด้วยวัฒนธรรมในเมืองใหญ่ แต่จิตใจกำลังมองหาความสงบ และการเข้าถึงธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง สร้างสังคมแบบข้ามวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น กล้าที่จะสร้างสรรค์อย่างเป็นธรรมชาติ เคารพในธรรมชาติและศิลปะอย่างยั่งยืน

  • เฉดสีเอิร์ธโทน ความมหัศจรรย์จากผืนดิน (Heaven on Earth) เฉดสีที่ชวนให้ระลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และมรดกทางอารยธรรม สะท้อนชีวิตคนรุ่นใหม่ที่เคารพในมรดกจากคนรุ่นเก่า ก่อให้เกิดการสืบสาน ต่อยอดองค์ความรู้ สู่การเป็นดินแดนที่มั่งคั่งและอุดสมบูรณ์

  • เฉดสีเหลือง ผู้โอบอุ้มภูมิปัญญา (Nurturer of Wisdom) กลิ่นอายแห่งช่วงเปลี่ยนผ่านและสิ้นสุดของฤดูกาลเก็บเกี่ยวมาถึงแล้ว ช่วงเวลาแห่งความสุข ความสนุกสนานกับเทศกาลเก็บเกี่ยวตามประเพณีของไทย ทำให้การรอคอยความสนุกสนานได้สิ้นสุดลง ก่อเกิดเป็นกลุ่มคนที่ได้ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานความบันเทิงจากธรรมชาติ เกิดเป็นปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมเพื่อถ่ายทอดและเชื่อมโยงคุณค่า ประเพณี องค์ความรู้จากอดีตสู่ปัจจุบัน เกิดเป็นผลงาน Masterpiece จากภูมิปัญญาของท้องถิ่นไทย

  • โทนสีจากการเดินทางแห่งประสบการณ์ (A Humble Journey) โทนสีจากการเดินทางแห่งประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยวระหว่างทางก่อเกิดเป็นความงามตามอุดมคติใหม่ ความงามที่ไม่ได้งามเพียงจากเปลือกนอก แต่เป็นความสวยงามที่เกิดจากธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น ทำให้เห็นถึงบุคลิกที่แสดงออกผ่านทางภาษากายที่อ่อนน้อม และสุภาพ เป็นพลังบวกของชีวิตที่ไม่แน่นอน

  • โทนสีแห่งอิสระในการค้นพบตัวเอง (An Alternative Persuasion) โทนสีที่ผ่านการค้นพบตัวเองอย่างอิสระ ก่อเกิดเป็นจิตวิญญาณด้านงานศิลป์แบบใหม่ที่มีความทันสมัย พ่วงมาด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วม ในการเชื่อมโยงสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว พร้อมก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตธรรมชาติสร้างสรรค์ในโลกดิจิทัล

จากหนังสือ Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022 – 2023 นี้ก็ช่วยให้เราได้มองเห็นความสวยงามของฤดูหนาวในรูปแบบที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ผ่านการส่งต่อเรื่องราวและวัฒนธรรมในทุกพื้นที่จากอดีตสู่ปัจจุบัน และพร้อมที่จะเป็นตัวช่วยให้ “ผ้าทอ” ได้ก้าวเข้าสู่อนาคตอย่างสร้างสรรค์ต่อไป ผ่านมือของเหล่าดีไซเนอร์ที่ช่วยกันสืบทอดและส่งต่อความสวยงามเหล่านี้

WATCH