FASHION

เจาะชีวิต Tommy Nutter ช่างตัดสูทหัวขบถผู้รังสรรค์ชุดสูทให้ The Beatles บนปกอัลบั้มในตำนาน

จากเด็กหนุ่มชาวเวลส์ที่ตามความฝันมากรุงลอนดอนสู่เจ้าของห้องเสื้อที่ฉีกทุกขนบร้านตัดสูทในย่านที่โด่งดังที่สุด

     Tommy Nutter ชื่อของนักสร้างสรรค์คนนี้อาจไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไปมากนัก แต่เขาคือบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่นอีกคนหนึ่ง ผลงานและแนวคิดด้านแฟชั่นของเขากลายเป็นต้นแบบของความขบถ รวมถึงการตั้งคำถามกับกฎระเบียบอันเคร่งครัดของการแต่งกายแบบร่วมสมัย วันนี้โว้กจะพาย้อนไปทำความรู้จักกับชายผู้เปลี่ยนนิยามแฟชั่นของสุภาพบุรุษไปตลอดกาล นอกจากนี้ยังสร้างไอคอนิกพีซชิ้นสำคัญที่ตอนนี้กลายเป็นไอเท็มที่ช่างอมตะเหนือกาลเวลา

Tommy Nutter, Dorothy Banister และ David Nutter / ภาพ: HOUSE OF NUTTER THE REBEL TAILOR OF SAVILE ROW - LANCE RICHARDSON

     17 เมษายน 1943 เด็กน้อยชาวเวลส์ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกในเมืองบาร์เมาธ์ เขาเป็นลูกชายของ Christopher Nutter และ Dorothy Banister เริ่มแรกชีวิตที่อบอุ่นไปด้วยบรรยากาศของครอบครัว ทอมมีเข้ากันได้ดีกับ David Nutter พี่ชายสุดที่รัก พวกเขาคือเด็กหนุ่มผู้สนอกสนใจเกี่ยวกับศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ในขณะที่ทั้งคู่กำลังเติบโต พ่อแม่ของเขาก็ทำงานในย่านเอดจ์แวร์ ซึ่งพ่อของเขาเป็นเจ้าของร้านคาเฟ่ที่นั่น ก่อนทั้งครอบครัวจะย้ายไปอยู่ย่านคิลเบิร์นในกรุงลอนดอน นับเป็นจุดเปลี่ยนแรกของชีวิตครอบครัวนัตเตอร์ที่ขยับขยายมาอยู่เมืองหลวงของสหราชอาณาจักรแบบเต็มตัว

แนวทางการถ่ายภาพที่คุณพ่อสอนลูกทั้ง 2 คนมาตั้งแต่เด็ก / ภาพ: HOUSE OF NUTTER THE REBEL TAILOR OF SAVILE ROW - LANCE RICHARDSON

     เลือดพ่อเลือดแม่ส่งต่อมาถึงพี่น้องคู่นี้ แม่ของเขาได้รับการขนานนามว่าเป็นหญิงผู้รักสัตว์ ความโอบอ้อมและอ่อนโยนของเธอเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทอมมีซึมซับรูปแบบความคิดนี้เอาไว้ เขาเก็บเกี่ยวความเป็นเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก ส่วนฝั่งพ่อก็มอบทักษะการถ่ายภาพและปลูกฝังให้ลูกทั้ง 2 คนสนใจด้านการถ่ายภาพและศิลปะแขนงอื่นๆ ถึงตรงนี้เหมือนว่าทอมมีก็ค้นพบทางของตัวเอง ในช่วงวัยมัธยมเขาต่อต้านการเติบโตตามเส้นทางของเด็กทั่วไป แนวคิดความขบถเริ่มก่อตัวสวนทางกับระบบการศึกษาภาคบังคับธรรมดา เขาและเดวิดจึงเลือกศึกษาในวิทยาลัยเทคนิควิลส์เดน แต่สุดท้ายเขาก็พบว่าตัวตนที่แท้ของเขาคือศิลปะและแฟชั่น ทอมมีจึงตัดสินใจช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยการศึกษาการตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ ณ Tailor and Cutter Academy



WATCH




Savile Row ย่านสุดโด่งดังของเหล่าสุภาพบุรุษ / ภาพ: Retail Gazzette

     เชื่อไหมว่าก่อนเขาจะตัดสินใจเข้าศึกษาด้านแฟชั่นเป็นครั้งแรก เขาเคยรับจ้างทั่วไปโดยใช้ทักษะจากวิทยาลัยเทคนิคมาก่อน แม้เขาจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงแต่พ่อของเขาก็โน้มน้าวถึงเรื่องเกียรติของอาชีพและความมั่นคงในชีวิตจึงอยากให้รับราชการ แต่สุดท้ายเด็กหนุ่มต้องการเดินตามฝันของตัวเอง วันหนึ่งเขาเห็นประกาศรับสมัครพนักงานของเซวิลโรว์ ถนนแห่งสุภาพบุรุษชื่อก้องโลก เขาก็สมัครอย่างไม่รอช้า และแน่นอนว่าตอนสมัครก็ไม่ได้บอกพ่อแต่อย่างใด หลังจากรู้ความจริงพ่อก็ไม่อยากให้ทำเท่าไรนักเพราะมองว่าอาชีพช่างตัดเสื้อไม่ใช่อาชีพที่มั่นคง แม้ตัวเองจะชอบศิลปะเหมือนกันก็ตาม

Burlington Arcade สถานที่ทำงานด้านแฟชั่นครั้งแรกของ Tommy Nutter / ภาพ: HOUSE OF NUTTER THE REBEL TAILOR OF SAVILE ROW - LANCE RICHARDSON

     หลังจากออกจากงานประจำเขาก็ไม่ได้ทำงาน ณ เซวิลโรว์ทันที ทอมมีระหกระเหินวิ่งทำงานเก็บเงินเพื่อทำตามความฝัน และแล้วในช่วงต้นยุค ‘60s เขาก็ได้เริ่มงานกับ G.Ward & Co., ห้องเสื้อเก่าแก่ของอังกฤษ เริ่มแรกเขาไม่ใช่เด็กพรสวรรค์โดดเด่นที่วงการตัดสูทจับตามอง ทอมมีเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้แทบทุกเรื่องตั้งแต่อุปกรณ์การตัดเย็บเบื้องต้นไปจนถึงวิธีการสวมใส่ให้ถูกต้อง เรียกว่าเขาเริ่มจากศูนย์เลยก็ว่าได้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่เขาเริ่มทำงานและเรียนรู้วิถีแฟชั่นไปพร้อมกัน หนุ่มคนนี้ก็กล้าแกร่งมากพอ นอกจากนี้ไอเดียขบถก็เริ่มผลิบานขึ้นเรื่อยๆ ณ ขณะนั้นเซวิลโรว์เต็มไปด้วยสูทสุดเนี้ยบที่แต่ละห้องเสื้อแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนคนจากทั่วทุกสารทิศต้องมาสัมผัสความยอดเยี่ยมกันสักครั้ง ทว่าทอมมีกำลังจะปฏิวัติถนนเส้นนี้ด้วยตัวเอง

Tommy Nutter ในร้าน House of Nutter ช่วงปี 1969 ที่เขาเพิ่งเปิดหมาดๆ / ภาพ: Jones

     และแล้วเหตุการณ์สำคัญที่สุดก็เกิดขึ้นในปี 1969 ทอมมีจับมือกับเพื่อนร่วมอาชีพอย่าง Edward Sexton เปิดร้าน Nutters of Savile Row ณ ห้องเลขที่ 35 บนถนนเซวิลโรว์ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Cilla Black ศิลปินชื่อดังผู้เล็งเห็นแววของทอมมี และ Bobby Willis สามีของเธอที่เป็นถึงผู้อำนวยการของค่าย Apple Corps ที่บริหารวงดนตรีอมตะอย่าง The Beatles ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก เพราะทอมมีได้พาห้องเสื้อของเขาก้าวกระโดดจากแบรนด์เกิดใหม่สู่แบรนด์แฟชั่นระดับแถวหน้าของเซวิลโรว์ด้วยวิธีการรังสรรค์สูทสุดขบถที่พลิกโฉมถนนเส้นนี้จนเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วทั้งวงการ

ภาพปกอัลบั้ม Abbey Road สุดโด่งดังของ The Beatles / ภาพ: Time Magazine

     หากใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังนึกภาพผลงานของทอมมีไม่ออกเราอยากให้ลองชมภาพปกอัลบั้ม Abbey Road ของวง 4 เต่าทอง การเดินข้ามถนนสุดอมตะครั้งนั้นสมาชิก 3 จาก 4 คนสวมสูทจากห้องเสื้อของทอมมีแบบโททัลลุค โดยมีเพียง George Harrison เท่านั้นที่มาในลุคเดนิมออนเดนิม ถึงแม้เสื้อผ้าทุกชิ้นจะตัดเย็บแบบประณีตตามธรรมเนียมของเซวิลโรว์ แต่ที่น่าสนใจคือทอมมีเลือกใช้ซิลูเอตแปลกตา อีกทั้งยังมีการสไตลิ่งที่เหล่าคอแฟชั่นแบบอนุรักษ์นิยมอาจต้องกุมหัว ทว่าทอมมีไม่จำเป็นต้องสนใจความดั้งเดิมมากนัก เพราะหน้าปกอัลบั้มนี้ดังเป็นพลุแตกและพาห้องเสื้อของเขาก้าวกระโดดขึ้นสู่ยอดพีระมิดอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นวงเดอะบีเทิลส์ก็เลือกสวมเสื้อผ้าของทอมมีเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Ringo Starr มือกลองคนสำคัญของวง

Tommy Nutter กับกางเกงทรง Bell Bottom อันเป็นเอกลักษณ์ / ภาพ: Chittleborough & Morgan

     ความโดดเด่นของทอมมีไม่ใช่แค่แนวคิดสุดขบถอย่างเดียวเท่านั้น แต่รูปแบบของเสื้อผ้าที่พลิ้วไหวกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ ชุดสูทของทอมมีมักเต็มไปด้วยรายละเอียดการตัดเย็บชั้นสูง รังสรรค์ขึ้นเป็นสูทซิลูเอตแปลกตาที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ และสิ่งหนึ่งที่เขาฝากไว้ให้กับโลกแฟชั่นได้จดจำคือกางเกงทรง “Bell Bottom” หรือกางเกงขากระดิ่งที่เราคุ้นหูคุ้นตาเป็นอย่างดี ทอมมีเป็นเจ้าของไอเดียการคิดค้นกางเกงทรงนี้ขึ้น โดยเขามักจะแมตช์กับเสื้อนอกทรงไหล่กว้าง ตัดเย็บโครงหัวไหล่ชัดเจน แต่ถึงแม้เขาจะสร้างสรรค์ให้แฟชั่นของห้องเสื้อนัตเตอร์พุ่งทะลุกรอบเพียงใด เขาก็ยังเคารพวิถีการทำสูทดั้งเดิมที่เน้นเรื่องคุณภาพตามแบบฉบับเซวิลโรว์อยู่เสมอ ถือเป็นการให้เกียรติกับย่านที่เขาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาอย่างจริงจัง

Elton John ในชุดสูทสไตล์ล้ำสมัยจากห้องเสื้อ Tommy Nutter / ภาพ: Monster of Music

     ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ทอมมีโลดแล่นอยู่บนถนนเซวิลโรว์ด้วยแฟชั่นนอกกรอบนั้นมีศิลปินชั้นนำของวงการตบเท้ามาตัดสูทกับเขาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Sir Roy Strong, Mick Jagger, Bianca Jagger, David Hockney และแน่นอนว่าจะขาดสุดยอดศิลปินสไตล์จัดจ้านอย่าง Elton John ไปไม่ได้ ทุกคนหลงใหลในรูปแบบเสื้อผ้าของทอมมีเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขามองว่านี่คือความลงตัวระหว่างความสร้างสรรค์กับคุณภาพชั้นยอดของเซวิลโรว์ ตอนนั้นเขาเปลี่ยนนิยามของสูทเซวิลโรว์ในสายตาเซเลบริตี้ยุคใหม่(ในขณะนั้น) ได้มากเลยทีเดียว

เบื้องหลังการถ่ายปก Abbey Road ของ The Beatles ที่สมาชิก 3 จาก 4 คนสวมชุดสูทของ Tommy Nutter / ภาพ: Financial Times

     ชีวิตส่วนตัวช่วงปลายยุค ‘60s ต่อต้นยุค ‘70s ของทอมมีก็รุ่งสุดขีดเมื่อเขากลายเป็นเพื่อนคนสนิทของวงบีเทิลส์ โดยเฉพาะ John Lennon และ Paul McCartney ทั้ง 2 คนมักจะชวนเขาไปดื่มชา ปาร์ตี้ และเล่นเพลงใหม่ให้เขาฟังก่อนใครอยู่เสมอ จนเขาเคยได้ฉายาว่าเป็น “สมาชิกเดอะบีเทิลส์คนที่ 5” แต่เหมือนชีวิตการทำงานไม่ได้สวยหรูเหมือนการคบหาศิลปินระดับโลกเท่าไรนัก แม้เสื้อผ้าเขาจะโด่งดังและขายได้ในราคาแพง แต่บางครั้งทอมมีเลือกความสร้างสรรค์เหนือธุรกิจ ด้านการทำงานจึงมีปัญหาอย่างมาก จนกระทั่งปี 1976 ปัญหาเรื้อรังตรงนี้ก็ไม่คลี่คลายลงแต่อย่างใด ช่างฝีมือคนสำคัญของแบรนด์จึงโหวตให้เขาพ้นสภาพการเป็นผู้ดูแลห้องเสื้อที่เขาสร้างมากับมือ และแน่นอนว่าหนึ่งในผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือเอ็ดเวิร์ด เพื่อนซี้ที่สร้างธุรกิจนี้มาด้วยกัน

Tommy Nutter ในชุดสูทสไตล์สุดล้ำที่ไม่มีใครเหมือน / ภาพ: David Nutter - Kilgour

     ช่วงบั้นปลายของทอมมีในห้องเสื้อแห่งแรกเขาได้ฝากมุมมองธุรกิจแฟชั่นที่สำคัญไว้ โดยเขาขยับขยายธุรกิจไลน์เรดี้ทูแวร์ เพราะมองว่าธุรกิจการตัดสูทในช่วงนั้นเสื่อมความนิยมลง แต่นั่นก็ไม่เพียงพอให้เขาประคองธุรกิจไปพร้อมกับชีวิตสุดอู้ฟู่ ณ ตอนนั้นได้ เอ็ดเวิร์ดรับช่วงธุรกิจต่อคนเดียว ส่วนทอมมีย้ายไปทำงานที่ Kilgour ร้านดังอีกร้านหนึ่งในถนนเส้นเดียวกัน ก่อนปี 1983 เขาจะกลับมาเปิดร้าน “Tommy Nutter, Savile Row” ร้านขายเสื้อผ้าเรดี้ทูแวร์ ณ ห้องเลขที่ 19 และเอ็ดเวิร์ดก็ปิดร้านเดิมก่อนจะเปิดร้านใหม่ในชื่อของเขาเอง

ลุค Joker สีสันฉูดฉาดที่ Tommy Nutter ออกแบบให้ Jack Nicholson ในภาพยนตร์เรื่อง Batman ปี 1989 / ภาพ: Batman Wiki - Fandom

     ถึงแม้จะเคยรุ่งและร่วงมาแล้วแต่ทอมมีก็ยังคงเป็นไอคอนของวงการอยู่เสมอ หมดยุค 4 เต่าทอง ทอมมียังมีเอลตัน จอห์นเป็นลูกค้าระดับวีวีไอพี เขาสร้างสรรค์ชุดสำหรับเล่นคอนเสิร์ตให้เอลตันอยู่เสมอ ซึ่งทุกคนสามารถจดจำชุดสูทอันมีเอกลักษณ์ได้ไม่เปลี่ยนแปลง ใครเห็นก็รู้เลยว่านี่คือผลงานของทอมมี ดังนั้นชื่อของทอมมียังคงวนเวียนอยู่ในสารบบแฟชั่นของเหล่าเซเลบริตี้ไม่เสื่อมคลาย ผลงานชิ้นก้องโลกชิ้นสุดท้ายคือชุด Joker ของ Jack Nicholson ในภาพยนตร์เรื่อง Batman ฉบับปี 1989 หลังจุดนี้เหมือนกราฟชีวิตของทอมมีจะถึงจุดดิ่งอย่างแท้จริง เขาตรวจพบว่าเป็นโรคเอดส์และเหลือเวลาอยู่บนโลกนี้ไม่นานนัก

การเลเยอร์เสื้อลายตาราง 4 ชั้นของ Tommy Nutter / ภาพ: David Nutter - Husbands

     หลังจากสร้างประวัติศาสตร์ไว้ให้กับวงการแฟชั่นอยู่หลายหน้า ช่วงบั้นปลายชีวิตทอมมีก็ไม่ใช่คนสนิทของศิลปินดังอีกต่อไป เขากลายเป็นเจ้าของห้องเสื้อบนถนนเซวิลโรว์ทั่วไป ไม่มีชื่อเสียงอะไรโดดเด่นเปรี้ยงปร้างเท่ากับช่วงเปิดตัวใหม่ๆ ธุรกิจของเขาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนจากบริษัท J&J Crombie และวันที่ 17 สิงหาคม 1992 ทอมมีก็จากโลกนี้ไป ณ โรงพยาบาลครอมเวลล์ ด้วยอายุเพียง 49 ปีเท่านั้น

ภาพสุดไอคอนิกของ Tommy Nutter ที่สาวกแฟชั่นจดจำได้ดีที่สุด / ภาพ: Another Man

     ถึงแม้ตัวจะจากไปแต่เขาก็ฝากผลงานด้านแฟชั่นไว้ให้คนจดจำได้ไม่น้อย เริ่มตั้งแต่วิธีการเจาะกลุ่มเป้าหมายศิลปินชื่อดังเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และขยายฐานความนิยมซึ่งส่งผลอย่างเห็นได้ชัดจนถึงปัจจุบัน รูปแบบของชุดสูททอมมีเองก็กลายเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าความขบถสามารถผสมผสานกับต้นฉบับดั้งเดิมได้อย่างไม่มีที่ติ ความสร้างสรรค์สามารถสอดประสานกับความเนี้ยบประณีตตามฉบับเซวิลโรว์อย่างลงตัว นอกจากนี้กางเกงขากระดิ่งยังกลายเป็นที่นิยมและเป็นต้นแบบของกางเกงขาบานรูปแบบต่างๆ ทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน เนื่องในวาระครบรอบการจากไปครบ 29 ปี โว้กขอไว้อาลัยและรำลึกถึง “ทอมมี นัตเตอร์” อีกหนึ่งตำนานของวงการแฟชั่น 

 

ข้อมูล: HOUSE OF NUTTER THE REBEL TAILOR OF SAVILE ROW - LANCE RICHARDSON

husbands-paris.com

walesonline.co.uk

theguardian.com

WATCH