FASHION

ทำเนียบดีไซเนอร์หญิงสะเทือนโลก! นี่คือสตรี 27 คนที่ทำให้วงการแฟชั่นสั่นสะเทือนในช่วงศตวรรษที่ 21

ฉลองวันสตรีสากลด้วยทำเนียบดีไซเนอร์หญิงทรงพลัง

วงการแฟชั่นเกิดการปรับกระบวนทัศน์เมื่อดีไซเนอร์หญิงทุกรุ่นหันมาคิดใหม่เรื่องวิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานของวงการ พวกเธอออกแบบด้วยสหัชญาณและความรู้สึก และชูค่าความเป็นมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด

 

วัฒนธรรมสตรีกำลังแผ่ไพศาลในภูมิทัศน์วงการแฟชั่นศตวรรษที่ 21 ทั้งในระดับเรือนยอดของห้องเสื้อใหญ่แห่งกรุงปารีส ในกลุ่มแบรนด์อิสระที่กำลังพุ่งแรง และผู้ประกอบการหลากรุ่นที่สร้างชื่อไว้ในวงการอย่างมั่นคงแล้ว นับเป็นพลังพลิกผันอันเกิดจากการทุ่มแรงกายแรงใจของสตรีเพื่อเปลี่ยนวงการให้ดีขึ้น ที่น่าสังเกตก็คือพวกเธอเปิดใจพูดถึงความรู้สึก ความสามารถหยั่งรู้ยุคสมัยที่เราอยู่ และการพลิกโลกแฟชั่นอย่างเงียบๆ แต่มั่นคง เพื่อขจัดทิ้งพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่มีมาแต่ก่อนเก่า ซึ่งฝังรากลึกในวงการ

 

แคมเปญโฆษณาของ Donna Karan โดยมี Rosemary McGrotha สวมบทประธานาธิบดีในปี 1992

 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ฉันเพิ่งเรียนจบทำงานครั้งแรกที่นิวยอร์ก Donna Karan เปิดตัวคอลเล็กชั่น Seven Easy Pieces รวม 7 ชิ้นเก่งที่ใส่ได้ทุกโอกาส เป็นคอลเล็กชั่นที่สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นสัญญาณบอกว่ายุครุ่งเรืองของเพาเวอร์วูแมนแห่งทศวรรษ 1980 และแฟชั่นแนวสตรีนิยมระลอกแรกกำลังจะมาถึง ดอนน่ามีความคิดว่าผู้หญิงทำได้ทุกอย่าง และผู้บริหารหญิงในอเมริกาจะทะลวงกำแพงที่เคยขวางไม่ให้ขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดของบริษัท เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วแคมเปญโฆษณาของดอนน่าที่ Rosemary McGrotha สวมบทประธานาธิบดีในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งทำให้เราเห็นว่าไม่ควรมีสิ่งใดไกลเกินจินตนาการสำหรับผู้หญิง แต่สมัยนั้นเราไม่เคยนึกว่าวันหนึ่งความสำเร็จของดีไซเนอร์หญิงจะสร้างโฉมหน้าใหม่ให้วงการแฟชั่น และพวกเธอไม่ได้ทำตามกฎของบริษัทที่ผู้ชายเป็นผู้นำเสียด้วย พวกเธอเพิกเฉยต่อกฎเกณฑ์เหล่านั้น เชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างที่ปรารถนา และเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนทั้งรุ่นได้เจริญรุ่งเรือง

 

(เรียงตามเข็มนาฬิกา) Rei Kawakubo, Miuccia Prada, Vivienne Westwood, Vera Wang, Virginie Viard และ Alberta Ferretti

 

การที่ผู้หญิงมีบทเด่นกลายเป็นเรื่องธรรมดา ห้องเสื้อใหญ่หลายห้องเสื้อมีผู้หญิงเป็นเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น Maria Grazia Chiuri ที่ Christian Dior, Clare Waight Keller ที่ Givenchy, Sarah Burton ที่ Alexander McQueen หรือ Virginie Viard ที่ Chanel ขณะเดียวกันผู้หญิงแถวหน้าของวงการก็ประสบความสำเร็จด้วยการเดินในเส้นทางของตัวเอง เช่น  Miuccia Prada, Rei Kawakubo, Vivienne Westwood, Donatella Versace, Vera Wang, Alberta Ferretti และอีกหลายต่อหลายคน

 

Rihanna นักร้องสาวผู้ผันตัวเป็นเจ้าแม่โปรเจกต์สินค้าหมื่นล้าน

 

ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ได้พุ่งลิ่วเป็นเส้นตรง หรือเป็นการไต่บันไดทีละขั้น ทว่าเป็นการหมุนรอบแกนใหม่ อันได้แก่ ความเป็นคนดังและโซเชียลมีเดีย ป้อมปราการแห่งแฟชั่นลักชัวรีซึ่งเมื่อทศวรรษก่อนไม่มีแม้แต่ประตูทางเข้า วันนี้กลับเปิดรับผู้ประกอบการหญิงหน้าใหม่จากทุกสาขาอาชีพในยุคดิจิทัล หลายคนเบนเข็มจากแวดวงการแสดงและวงการเพลงมาสู่วงการแฟชั่นอย่างเต็มภาคภูมิ เริ่มจากฝาแฝดตระกูล Olsen ตามด้วย Victoria Beckham และ Rihanna ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกที่มีแบรนด์ของตัวเอง โดย LVMH เป็นผู้หนุนหลัง

 

Mary-Kate กับ Ashley Olsen

 

ผู้หญิงเราใช้เสรีภาพที่มีประกาศตัวตนผ่านสื่อต่างๆ แต่บางคนก็เลือกที่จะเก็บตัวเงียบ เราจะไม่ได้เห็นรูปเซลฟี่วันพักผ่อนในอินสตาแกรมของ The Row ของคู่พี่น้อง Mary-Kate กับ Ashley Olsen ซึ่งมีแต่ภาพเสื้อผ้างามเรียบ จัดวางข้างงานศิลปะแบบน้อยชิ้นแต่ลงตัว แต่ที่สุดปลายอีกขั้วเราจะเห็นวิกตอเรียซึ่งถนัดเล่นบทคนดังมาตั้งแต่สมัยเข้าวงการเพลงใหม่ๆ และพร้อมจะแชร์ชีวิตผ่านอินสตาแกรม เจ้าตัวบอกว่า “ในอดีตคนเห็นฉันแค่ที่สื่อเอามาเสนอ แต่เดี๋ยวนี้คุณจะเห็นฉันทั้งเวลาพาลูกไปโรงเรียน เวลาอยู่ในสตูดิโอ เวลาทำหน้าที่ภรรยา หน้าที่นักธุรกิจหญิง...ผู้หญิงเห็นฉันแล้วรู้สึกว่าเรามีอะไรเหมือนกัน”

 

Victoria Beckham อดีตนักร้องสาวผู้ผันตัวเป็นดีไซเนอร์จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น OBE จากการอุทิศตนเพื่องานการกุศลและด้านแฟชั่น

 

ผู้หญิงสาวๆ มองว่าอิสรภาพเป็นของธรรมดา โดยเฉพาะความเป็นอิสระจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านเพศสภาพ ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นที่สังเกตเท่าที่ควร ถึงแม้ Hillary Clinton จะไม่ได้เป็นประธานาธิบดี แต่วันนี้อดีตเด็กสาวที่หลุดพ้นจากพันธนาการในทศวรรษ 1980 และ 1990 ก้าวเข้ามาเป็นดาวรุ่งในแวดวงการเมืองทั่วโลก และพวกเธอก็กล้าบอกเล่าถึงความจริงของผู้หญิงและค่านิยมของผู้หญิง เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คนในวงการแฟชั่น

 

 Stella McCartney ดีไซเนอร์เจ้าแม่ความยั่งยืนแห่งศตวรรษที่ 21

 

“การมาร่วมแรงกัน สนับสนุนกันและกันของผู้หญิง คือหัวใจของทุกสิ่งที่ฉันทำในฐานะนักออกแบบแฟชั่น” Stella McCartney กล่าว “สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจอย่างแท้จริงสำหรับฉันคือสายใยที่เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน” เธอเป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องความยั่งยืนและจริยธรรมมาก่อนใคร มาถึงวันนี้ทั้ง 2 ประเด็นกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยมที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในวงการแฟชั่นช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

(เรียงตามเข็มนาฬิกา) Katharine Hamnett, Emily Bode, Maria Cornejo, Eileen Fisher, Marine Serre และ Gabriela Hearst

 

กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระลอกแรกในวงการแฟชั่นเกิดขึ้นในยุค 1980 และมีผู้หญิงเป็นหัวขบวนอีกเช่นกัน ในวันนั้น Eileen Fisher, Katharine Hamnett และ Maria Cornejo เป็นทัพหน้า และสิ่งที่คนรุ่นนั้นริเริ่มก็กลายเป็นกระแสใหญ่ที่หนุนเนื่องดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เช่น Emily Bode, Marine Serre และ Gabriela Hearst ในปัจจุบัน วันนี้เรามาถึงจุดที่เสื้อผ้าสวยโก้น่าปรารถนากับเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผ่านการคิดใคร่ครวญมาอย่างดีสามารถไปด้วยกันได้

 

มาเรีย กราเซีย คิวรี่ ผู้หญิงคนแรกที่นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Dior

 

เราได้ยินเรื่องความกล้าพูดของดีไซเนอร์หญิงมากขึ้นในยุคที่การเมืองเรื่องเพศสภาพกำลังถอยหลังเข้าคลอง มาเรีย กราเซีย คิวรี่ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Dior นำชื่อบทความ “We Should All Be Feminists ของ Chimamanda Ngozi Adichie มาพิมพ์บนเสื้อยืดในคอลเล็กชั่นแรกที่ออกแบบให้ดิออร์เมื่อปี 2016 การกระทำนั้นออกมาจากใจเธอจริงๆ “ตอนนั้นฉันอายุ 51 กำลังคิดทบทวนช่วงต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งภาระที่สังคมกำหนดให้ผู้หญิงต้องแบกรับในฐานะเมีย ลูก และแม่” มาเรีย กราเซียเล่า “การแสดงฝีมือในวงการแฟชั่นทุกวันนี้ไม่ใช่แค่การทำเดรสสวยจัดๆ สักตัว แต่ในฐานะดีไซเนอร์และในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันว่าเรามีความรับผิดชอบที่จะต้องอ่านยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนไปให้ออก”

 

Simone Rocha ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ภายใต้ชื่อและสกุลของเธอเอง

 

หนึ่งในพลังเบื้องหลังวิธีคิดของดีไซเนอร์หญิงคือความผูกพันของคนต่างรุ่น ไม่ว่าจะเป็นแม่กับลูก หรือเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานร่วมกันและดึงผู้หญิงคนอื่นให้เข้ามาร่วมแรงร่วมใจด้วย Simone Rocha ก่อตั้งบริษัทร่วมกับคุณแม่ Odette เมื่อปี 2010 โดยอาศัยความเป็นหญิงมาดทอมบอยเป็นจุดแข็ง เธอบอกว่า “เราเป็นทีมหญิงล้วน และการมีแม่กับพวกสาวๆ อยู่ในสตูดิโอด้วยก็ทำให้เราต่างจากที่อื่น ฉันอยากจะแน่ใจว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานด้วย การออกแบบสำหรับฉันมีที่มาจากการเสวนาแลกเปลี่ยนกันสดๆ ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน”

 

Clare Waight Keller ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Givenchy

 

มายาคติเรื่องหนึ่งที่มีพิษสงไม่ใช่น้อยในวงการแฟชั่นคือความคิดที่ว่า งานชั้นยอดเกิดจากการกลั่นแรงบันดาลใจของอัจฉริยะออกมาเป็นผลงาน ความคิดเช่นนี้เป็นภัยต่อสุขภาพของดีไซเนอร์ชายหลายต่อหลายคน ขณะที่ผู้หญิงมักจะใช้ความเห็นร่วมและการเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นแรงขับเคลื่อนในการออกแบบมากกว่า แคลร์ เวต เคลเลอร์ไต่เต้าขึ้นมาจากตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายออกแบบในห้องเสื้อที่มีผู้ชายเป็นผู้นำ ก่อนจะมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของจีวองชี่ในปี 2017 เธอจึงรู้ว่าการทำงาน 2 แบบนี้ต่างกันอย่างไร “ฉันเป็นลูกน้องผู้ชายมาตลอด และมีหน้าที่ตีความความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงของเขา แต่หลังจากเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ความคิดก็เริ่มออกมาเองจากข้างใน ฉันพูดมาตลอดว่าสิ่งที่สำคัญมากๆ คือเราต้องรู้สึกอยู่ข้างใน”

 

Silvia Venturini Fendi

 

การทำงานกับกลุ่มพี่น้องผู้หญิงที่ Fendi ในยุค 1980 ช่วยหล่อหลอมทัศนะเรื่องการทำงานของมาเรีย กราเซีย “บริษัทเป็นของพี่น้อง 5 สาวที่ต่างก็มีครอบครัวของตัวเอง พวกเธอแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน แล้วก็มองเห็นทัศนคติที่แตกต่างของกันและกัน นับว่าฉันโชคดีมาก เพราะวงการแฟชั่นอิตาลีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น”

 

Sarah Burton และ Anna Wintour

 

ซาราห์ เบอร์ตันบอกว่าเธอกับทีมงานที่อเล็กซานเดอร์ แม็กควีนช่วยกันทำเสื้อผ้าเหมือน “ผึ้งงาน ไม่มีลำดับชั้น” เธอเชื่อในความเข้มแข็งและละเอียดอ่อนของผู้หญิง และความเชื่อนี้ก็ส่งผ่านไปยังทุกสิ่งที่เธอทำ รวมถึงการผนวกคำปาฐกถาเรื่องการปลดแอกสตรีของ Christabel Pankhurst นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงไว้ในเพลงประกอบแฟชั่นโชว์ฤดูใบไม้ร่วงของเธอ ช่วงที่ผ่านมาซาราห์จับเทคนิคการทำเสื้อผ้าเทเลอร์มาผสมกับการจับเดรปข้าง ผนึกลายกุหลาบ 3 มิติบนแจ็กเกต และใส่โครงสุ่มหลังแบบสมัยวิกตอเรียให้ชุดทักซีโด้ซึ่งเป็นความก้าวหน้าร่วมสมัย ทิ้งการแต่งกายแบบเดิมที่มีเพียง 2 ตัวเลือกคือไม่หญิงก็ชาย ซาราห์บอกว่า “ประเด็นคือคุณไม่ต้องเหมือนผู้ชายก็มีอำนาจได้”

 

Phoebe Philo ดีไซเนอร์สาวที่นำความนิยมมาสู่แบรนด์ Celine อย่างท่วมท้น

 

การก้าวสู่แดนสว่างที่สไตล์และความสามารถอันหลากหลายของสตรีเป็นที่เสาะแสวงหานี้เกิดขึ้นภายหลังการฝ่าฟันกับอคติด้านเพศที่ฝังลึกในองค์กรช่วงเปลี่ยนผ่านสู่สหัสวรรษใหม่ ซึ่งสเตลล่า แม็กคาร์ตนีย์, แคลร์ เวต เคลเลอร์, ซาราห์ เบอร์ตัน รวมถึง Phoebe Philo เพิ่งจะอายุ 20 ต้นๆ ฉันบังเอิญได้ยินผู้บริหารชายในวงการแฟชั่นถกกันว่าควรจ้างหญิงสาวมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์หรือไม่ เพราะพวกเธอมีแนวโน้มว่าจะมีลูก นอกจากนี้ผู้รู้ที่เป็นชายยังมักจะกระซิบเชิงบ่อนทำลายว่าผู้หญิงทำได้แค่ออกแบบเสื้อผ้าที่ใส่ได้จริง ซึ่งอยู่ต่ำกว่าผลงานอัจฉริยะขั้นสูงฝีมือผู้ชาย มืออาชีพรุ่นปัจจุบันเป็นผู้พลิกสถานการณ์จากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่พวกเธอก็ต้องสู้มาก่อน “ฉันเริ่มทำงานตอนอายุ 25 ที่ห้องเสื้อในปารีสที่ขับเคลื่อนโดยผู้ชาย” สเตลล่าเล่าประสบการณ์สมัยทำงานที่ Chloé “แต่ฉันสังเกตว่าผู้หญิงสาวๆ ต่างหากที่เป็นคนทำให้ยอดขายโต” หลังจากนั้นไม่นาน เธอออกมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง และพนักงานร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง “ที่นี่เราฉลองการมีลูกกัน” เธอบอก “เมื่อก่อนเคยมีคำพูดติดตลกในวงการว่า ‘ถ้าจะท้องในวงการแฟชั่น จงไปทำงานให้สเตลล่า แม็กคาร์ตนีย์’ มันเป็นโจ๊กที่ฉันภูมิใจมาก” ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยไต่เต้าในสตูดิโอออกแบบของบริษัทใหญ่ในสมัยนั้นเล่าว่า แบรนด์ที่เธอทำงานให้ซึ่งเธอไม่ขอเอ่ยชื่อถึงกับตกตะลึงที่เธอตั้งครรภ์ “ไม่เคยมีแม่ลูกอ่อนคนไหนเคยทำงานที่นั่นในตำแหน่งดีไซเนอร์” เธอเล่า “เขาต้องออกนโยบายบริษัทเรื่องการลาคลอดก็เพราะฉันนี่แหละ”

 

 เครื่องหนังจาก Fall 2015 ของ Celine ตอกย้ำความเป็นเจ้าแห่ง It Bag ขั้นสุดยอดซึ่งถือเป็นความสามารถเฉพาะตัวของฟีบี้ เพราะไปที่ไหน เธอก็ทิ้งเครื่องหนังชิ้นเด็ดขายดีไว้ที่นั่น

 

ฟีบี้คือผู้บุกเบิกเส้นทางใหม่สำหรับคนเป็นแม่ในวงการแฟชั่น (และสำหรับดีไซเนอร์หญิงที่อยากทำเสื้อผ้าที่ “ใส่ได้จริง”) ช่วงที่ทำงานที่โคลเอ้ ฟีบี้ปฏิวัติสิ่งที่ “เด็กสาว” อยากสวม และเมื่อย้ายไปอยู่ Céline เธอก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้หญิงที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ในระหว่างนี้เธอลาคลอดทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2005 ซึ่งทำให้เกิดเสียงซุบซิบฮือฮาในวงการว่าเธอเข้ามาทำลายขนบเดิมที่ดีไซเนอร์ระดับดาราทำงานกัน 24 ชั่วโมง และฟีบี้ก็ไม่อยากเสแสร้งว่าเธอเป็นคนออกแบบคอลเล็กชั่นเองระหว่างลาคลอด “ฉันไม่มีอะไรต้องอายสักหน่อย ฉันมีลูกนี่นา! คนเขาคาดหวังกันว่าอย่างไรไม่ทราบ”

 

เมื่อมองเทียบกับอดีต วงการแฟชั่นทุกวันนี้แปลกตาไปมากจากทศวรรษที่แล้ว ซึ่งการสวมชุดกระโปรงผ้าพิมพ์ลายสีสันสดใส (นำโดย Michelle Obama) เป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอก และเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ดีไซเนอร์หญิงต่างก็ทำเสื้อผ้าที่ใส่ได้หลายโอกาสและใช้ได้นานออกมาเสนอ ถือเป็นกำลังหนุนในการสู้รบกับความสิ้นเปลืองสูญเปล่า รวมทั้งการเคลื่อนไหวสู่ความไม่ฟุ่มเฟือยและความประหยัด ที่ทำให้เกิดการหวนกลับไปหาสุนทรียะของงานดีไซน์จากอดีตกันอีกครั้งในศตวรรษที่ 21

 

 Grace Wales Bonner ดีไซเนอร์สาวลูกครึ่งอังกฤษ-จาเมกา

 

คุณจะเห็นปรากฏการณ์ที่ว่านี้ในความบริสุทธิ์สง่างามเหมือนเครื่องนุ่งห่มนักบวชของแบรนด์ The Row ในงานฝีมือแบบอเมริกันแท้ๆ ในคอลเล็กชั่นรีไซเคิลของ Bode และในงานออกแบบเสื้อผ้าเทเลอร์เรียบง่ายที่ติดตลาดแล้วของกาบริเอลา เฮิสต์ ซึ่งบอกว่า “ถ้าฉันทำเสื้อโค้ตขึ้นมาสักตัว มันจะเป็นเสื้อที่อีก 10 ปีคุณก็ยังใส่ได้ เป็นเสื้อที่อยู่ได้นาน” เสื้อผ้าเทเลอร์ที่ใส่ความคิดเข้าไปอย่างมากของ Grace Wales Bonner ดีไซเนอร์สาวลูกครึ่งอังกฤษ-จาเมกามุ่งดึงความสนใจไปสู่วัฒนธรรมทางปัญญาของคนแอฟริกาพลัดถิ่น เธอบอกว่า “ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันมองการแต่งตัวว่าเป็นการกระทำที่สะท้อนความเคารพบูชา อารมณ์ความรู้สึก และจิตวิญญาณ” ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาพคนรุ่นใหม่ที่นำคุณค่าความเป็นมนุษย์มาเป็นศูนย์กลางของแฟชั่น

 

ได้เวลาพักสักนิดเพื่อฉลองและตั้งคำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป จงหวังว่าความโปร่งใสและเคารพซึ่งกันและกันนี้จะแผ่ขยายครอบคลุมคนทำงานทุกคนที่ทำเสื้อผ้าให้เราสวมใส่ ไม่ว่าเขาจะเป็นชายหรือหญิง หวังว่าผู้ที่เป็นกระบอกเสียงของผู้หญิงผิวสีจะก้าวขึ้นมารุ่งในวงการมากขึ้น และหวังว่าในที่สุดทุกคนจะก้าวช้าลงบ้าง จะได้เห็นว่าการมีความสุขกับแฟชั่นนั้นหาใช่การประลองความเร็วไม่ หากสิ่งที่ว่ามาดูจะยังอยู่อีกไกล อย่างน้อยที่สุดเราก็จินตนาการถึงมันได้ด้วยอานิสงส์จากสิ่งที่ผู้หญิงเราทำสำเร็จแล้วนั่นเอง

 

เรื่อง: Sarah Mower

แปลและเรียบเรียง: วิริยา สังขนิยม

WATCH