FASHION

ชุดเดรสสีแดงบนต้นไม้ งานศิลปะที่ซ่อนไปด้วยความหดหู่ใจเพราะสะท้อนปัญหาสังคมขั้นสูงสุด

แม้โลกยุค 2021 มาไกลเพียงใด แต่ปัญหาบางอย่างกลับยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและไม่เคยอยู่ในสายตาของคนในสังคม

     งานศิลปะคือการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างออกมาโดยไม่ต้องออกเสียง ความมีเสน่ห์ของมันคือการต้องตีความพร้อมล้วงลึกถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังเพื่อซึมซับทุกแง่มุมของแต่ละชิ้นงานให้ได้มากที่สุด และวันนี้มีศิลปินคนหนึ่งต้องการรังสรรค์ผลงานเพื่อสะท้อนสังคมและตีแผ่ความจริงให้คนตระหนักว่ามีหญิงสาวชาวพื้นเมืองมากมายต้องเผชิญชะตากรรมอันยากลำบาก พวกเธอหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยหรืออาจจะเสียชีวิตไปแล้ว โปรเจกต์งานศิลปะนี้จึงเกิดขึ้น

The REDress Project บริเวณหน้าเนลสัน ซิตี้ฮอลล์ / ภาพ: Bill Metcalfe

     Jaime Black คือผู้ขับเคลื่อนวงการศิลปะที่ผสมผสานเป้าหมายด้านการพัฒนาสังคม วันนี้เธอหยิบเอา “ชุดเดรสสีแดง” มาใช้เป็นแกนหลักในการนำเสนองานศิลปะ “The REDress Project” ที่สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงอย่างน่าหดหู่ ศิลปินสาวเลือกเอาชุดเดรสสีนี้เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของหญิงสาวชาวพื้นเมืองที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเพื่อแสดงให้เห็นว่าถึงแม้โลกจะเดินทางถึงปี 2021 แต่ความเกลียดชังเชิงระบบทำให้กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มคนบางกลุ่มได้รับความโหดร้ายทั้งถูกทำให้สูญหายหรือถึงขนาดถูกฆาตรกรรรมเลยทีเดียว

The REDress Project บริเวณหน้าเนลสัน ซิตี้ฮอลล์ / ภาพ: Bill Metcalfe

     ตอนนี้งานศิลปะของไฆเม่ถูกจัดแสดงอยู่ที่เนลสัน ซิตี้ฮอลล์ในเมืองเนลสัน รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเผยว่าที่เธอเลือกรังสรรค์ผลงานไว้ตรงนี้เพราะเป็นสถานที่คนผ่านไปผ่านมาเยอะและมีโอกาสสะดุดตากับงานศิลปะชิ้นนี้จนเริ่มตั้งคำถามกับมันว่าทำไมชุดเดรสสีแดงต้องโดนแขวนไว้กับต้นไม้ที่ดูไปดูมาก็แอบให้อารมณ์ความขนลุกขึ้นมาไม่น้อย ซึ่งงานนี้เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการใช้ชุดแดงสื่อถึงปัญหาสังคมที่ถูกละเลยจากเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ศิลปินสาวได้เห็นกิจกรรมรวมกลุ่มของหญิงสาวพื้นเมืองสวมชุดสีแดงและมีตัวแทนกลุ่มปีนขึ้นสู่ยอดอนุสาวรีย์ใจกลางเมืองตะโกนเรียกหาหญิงสาวที่หายตัวไป ไฆเม่จึงต้องการนำพลังตรงนี้กลับมาใช้ในงานศิลปะเพื่อสื่อสารในรูปแบบเดียวกัน



WATCH




The REDress Project บริเวณหน้าเนลสัน ซิตี้ฮอลล์ / ภาพ: Bill Metcalfe

     ผลงานชิ้นนี้ของไฆเม่ไม่ใช่แค่การประท้วงเรียกร้องแบบปัจเจกบุคคล เพราะเธอเล็งเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนเป็นผลกระทบมาจากการเหยียดชาติพันธุ์เชิงโครงสร้าง มีการสร้างความเกลียดชังและผลิตซ้ำมันมาเรื่อยๆ มันถึงเวลาเสียทีที่หญิงสาวพื้นเมืองและผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นต้องมีพื้นที่ในการเรียกร้องความเป็นธรรมบ้าง “ยิ่งผลิตผลงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งมีคนเห็นมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น” ไฆเม่เน้นย้ำถึงการผลิตผลงานศิลปะชุดนี้อย่างจริงจัง เธอต้องการให้ชุดเดรสสีแดงกลายเป็นสัญลักษณ์อันแข็งแกร่ง และต่อไปสามารถเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการสร้างชุดความคิดใหม่ๆ ให้กับคนในสังคม เพราะฉะนั้นชุดเดรสสีแดงนี้จึงไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้กับคนพื้นเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่มันเป็นเหมือนงานศิลปะที่ใช้ขับเคลื่อนความเป็นมนุษย์ให้กับสังคมทั่วทั้งโลก ปี 2021 แล้วหวังว่าชุดเดรสสีแดงนี้จะเป็นสัญลักษณ์ให้คนฉุกคิดว่าปัญหาการเหยียดชาติพันธุ์เชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นโดยหลายคนแทบไม่รู้ตัวนั้นน่ากลัวเพียงใด

 

ข้อมูล: Vogue US, The Nelson Daily และ Nelson Star

WATCH