เปิดชีวิตช่างภาพไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ลั่นชัตเตอร์เก็บภาพงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของ Met Gala
ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพไทยที่ออกจากวงการถ่ายภาพในประเทศเพื่อไล่ตามความฝันในดินแดนแห่งโอกาสอย่างมหานครนิวยอร์ก
ความยอดเยี่ยมของศิลปินชาวไทยหลายคนปรากฏให้เห็นบนเวทีโลกมานักต่อนัก รูปแบบการทำหลายสไตล์ถูกอ้าแขนรับจากเหล่าผู้ให้โอกาสจากเมืองใหญ่ เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นผลงานของช่างภาพไทยที่ดูแล้วชวนให้รู้สึกประทับใจ แต่การก้าวออกจากกรอบคำชื่นชมในประเทศสู่ความท้าทายในระดับโลกอาจเป็นเป้าหมายใหม่ของศิลปินรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ ช่างภาพ สายอาชีพที่คู่แข่งจำนวนมหาศาล วันนี้โว้กจะพาไปทำความรู้จักและพูดคุยอย่างเอ็กซ์คลูซีฟกับ ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับโอกาสถ่ายงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของ Met Gala 2022
ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับโอกาสถ่ายงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของ Met Gala 2022
ปูเป้เล่าว่าเส้นทางการเป็นช่างภาพนั้นเริ่มจากความชื่นชอบส่วนตัว แปรเปลี่ยนสู่การทำจนเป็นงานอดิเรก ก่อนหน้านี้ทำงานด้านการตัดต่อวิดีโอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องภาพอยู่พอสมควร และใช้เวลาว่างช่วงนั้นหยิบจับกล้องขึ้นมาลั่นชัตเตอร์เก็บภาพแนวสตรีต จุดเริ่มต้นตรงนี้ทำให้เธอหลงรักการถ่ายภาพจนอยากทำจริงจังถึงขั้นยึดเป็นอาชีพ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และบินลัดฟ้ามาเรียนถ่ายภาพที่มหานครนิวยอร์ก
งานถ่ายภาพสตรีตที่ทำเป็นงานอดิเรกก่อนที่จะได้งานจากสื่อต่างประเทศ
“ประสบการณ์การทำงานถ่ายภาพที่ไทยไม่ค่อยดีเท่าไหร่” ปูเป้เผยถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาตัวเองด้วยการรับงานถ่ายภาพที่ประเทศไทย เหตุผลหลักของความไม่พึงพอใจดังกล่าวคือเรื่องค่าตอบแทนและกรอบความคิดสร้างสรรค์ ปูเป้เล่าว่าเธอรู้สึกว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ถูกผลิตอย่างเต็มที่ วงการเองก็ไม่ได้สนับสนุนช่างภาพมืออาชีพเท่าที่ควร ในมุมมองของช่างภาพสาวคนนี้มองว่าชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และปัจเจกบุคคลกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ได้รับการประเมินค่ามากกว่าผลงาน การริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานที่ฉีกกรอบออกไปเรื่อยๆ ยิ่งไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุน จนสุดท้ายผลงานก็ต้องออกมาในกรอบความสร้างสรรค์ที่อาจจะไม่สร้างสรรค์แล้วอีกต่อไป
WATCH
NYT Halloween ตัวอย่างงานที่ถ่ายให้กับ The New York Times งานแรกๆ ประกอบบทความเรื่องร้านขายของฮัลโลวีนที่กำลังจะปิดตัวลง
ความเชื่อและความพยายามคือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ปูเป้ที่อยากจับกล้องเพื่อสร้างอาชีพได้เลือกเดินทางชีวิตของตัวเอง แน่นอนว่าปูเป้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าไม่ชอบวงการถ่ายภาพในประเทศไทย เธอจึงต้องพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อเดินหน้าในสายอาชีพนี้บนเวทีการแข่งขันต่างประเทศ จุดเริ่มต้นในปี 2019 ปูเป้มีเพียงแรงขับเคลื่อนจากตัวเอง ไร้ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ คอยหนุนหลัง เธอมั่นใจมากว่าเวทีศิลปะที่ต่างประเทศให้คุณค่ากับการสร้างสรรค์ผลงาน แม้เธอจะไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน แต่ก็ตัดสินใจย้ายไปที่นิวยอร์ก และพยายามสร้างผลงานจนวงการที่นี่ยอมรับในฝีมือ
ภาพปก New York Magazine FOMO Issue
การเก็บรายละเอียดและจับจังหวะของผู้คนคือจุดเด่นของปูเป้ เธอกล่าวว่า “บรรณาธิการภาพที่นี่บอกว่าเราเก็บรายละเอียดและจับจังหวะผู้คนได้ดี คิดว่านี่น่าจะเป็นจุดเด่นที่ทำผลงานพิเศษขึ้นมา จริงๆ แล้วมันคือการรวมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งการมองเห็นจังหวะที่น่าสนใจ การจัดวางเฟรม การใช้แสงและสี มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ภาพๆ หนึ่งเป็นภาพที่ดีได้” ความโดดเด่นตรงนี้สร้างตัวตนของปูเป้ให้กลายเป็นช่างภาพที่มีสไตล์เฉพาะตัว จนครั้งหนึ่งเมื่อปี 2021 เธอมีโอกาสถ่ายภาพขึ้นปก New York Magazine FOMO Issue ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่นิวยอร์กเปิดเมืองพอดี ทางนิตยสารจึงติดต่อให้เธอออกไปถ่ายภาพการกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีสีสันอีกครั้งหนึ่งหลังจากเผชิญสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เธอยกให้การทำงานครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่ง หลังจากเดินถ่ายภาพสตรีตนานถึง 3 วัน สุดท้ายภาพแรกๆ ที่เธอเลือกลั่นชัตเตอร์เก็บไว้คือภาพที่ได้ขึ้นปก
บรรยากาศงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของ Met Gala โดย ปูเป้
สิ่งที่ทำให้เราสะดุดตาคือภาพงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของเมต กาล่าประจำปีล่าสุด จุดเริ่มต้นมาจากการทำงานถ่ายภาพปาร์ตี้ให้กับ The New York Time Styles ปูเป้เล่าว่า “พอมาทำงานกับโต๊ะ ‘Styles’ มาสักพัก บก.ภาพก็ไว้ใจให้เราถ่ายงานยิ่งใหญ่อย่างเมต กาล่า ซึ่งต้องขอบคุณทางต้นสังกัดที่ให้โอกาสถ่ายงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และสร้างโอกาสในการเติบโตบนเส้นทางอาชีพนี้” งานเมต กาล่าทำให้ปูเป้ตื่นเต้นถึงขั้นเล่าถึงงานวันนั้นว่า “ตื่นเต้นมากๆ ค่ะ กลัวพลาดหน้างานมากๆ ก็เลยเตรียมอุปกรณ์ไปให้พร้อมที่สุด การทำงานที่นี่มาตรฐานสูงมาก ถ้าพลาดครั้งเดียวก็คิดว่าอาจจะไม่ได้โอกาสอีกเลย ดีใจที่ได้โอกาสนี้และหวังว่าจะมีโอกาสอื่นๆ ต่อไปในอนาคตค่ะ”
บรรยากาศงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของ Met Gala โดย ปูเป้
เรื่องรายได้เป็นเรื่องสำคัญที่ปูเป้คิดมาตั้งแต่ทำงานถ่ายภาพในประเทศไทย โดยเธอเล่าว่า “จริงๆ การแล้วการถ่ายภาพประกอบข่าวหรือบทความที่นี่ก็เป็นงานที่ไม่ได้เงินเยอะนะคะ แต่ข้อดีทำให้งานของเรากระจายไปในวงกว้างค่ะ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าโฆษณาหรือสื่ออื่นๆ เห็นงานเรา ทำให้ได้งานที่รายได้สูงขึ้นต่อๆ มาในอนาคตค่ะ” พร้อมทั้งเสริมว่า “ถ้าทำงาน Editorial ให้สื่ออย่างเดียวก็พออยู่ได้นะคะ เรตค่าตัวราคาวันละ 400-500 เหรียญสหรัฐฯ ไม่รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร แต่ถ้าถ่ายงานอีเวนต์ให้แบรนด์ จะได้ค่าจ้างที่สูงกว่ามากค่ะ เรตค่าตัววันละ 2000-5000 แล้วแต่การนำงานไปใช้ด้วยค่ะ” แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามูลค่าของผลงานภาพถ่ายที่นิวยอร์กได้รับการประเมินไว้ในระดับที่น่าพึงพอใจ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้มุ่งมั่นจะเดินทางในเส้นทางนี้มีโอกาสเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสิ่งนี้เองจะช่วยให้วงการถ่ายภาพเดินหน้าต่อ มีบุคลากรอยากสร้างสรรค์ผลงานเพื่อประกอบอาชีพอย่างจริงจัง
บรรยากาศงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของ Met Gala โดย ปูเป้
ความสนใจของช่างภาพด้วยกันคือกุญแจสำคัญในการพัฒนาวงการในมุมมองของปูเป้ เธอมองว่าในประเทศไทยหลายครั้งที่ช่างภาพมืออาชีพไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร พวกเขาไม่ถูกผลักดันอย่างจริงจัง ในอีกด้านหนึ่งต่างประเทศมีการสนับสนุนช่างภาพมืออาชีพอย่างต่อเนื่อง “คนในวงการสนใจที่จะหาช่างภาพที่มีมุมมองใหม่ๆ อยู่เสมอ มีการส่งต่อความรู้ การรวมกลุ่มกันเพื่อวิจารณ์งาน ให้ความสำคัญกับคนที่มีความรู้และมีประสบการณ์ ผลักดันงานที่มีแนวคิดใหม่ๆ ผลักดันช่างภาพมืออาชีพคนใหม่ๆ ให้เติบโตในวงการค่ะ” ปูเป้พูดถึงแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกับวงการถ่ายภาพในประเทศบ้านเกิดอย่างมาก แต่ใช่ว่าเธอจะไม่หันหลังกลับมามองวงการถ่ายภาพไทยเสียทีเดียว เพราะเมื่อเราถามถึงแนวทางการพัฒนาที่อยากให้วงการในประเทศไทยเดินหน้าต่อไป เธอก็มีคำตอบพร้อมสำหรับเรื่องนี้เช่นกัน
New Yorker Yoga at Brooklyn Museum งานภาพถ่ายที่สร้างสรรค์มุมมองใหม่จากเหตุการณ์ธรรมดา
“อยากให้มีการสนับสนุนช่างภาพมืออาชีพมากกว่านี้ค่ะ ส่วนตัวคิดว่า ผลงานจากกลุ่มพรีเซนเตอร์สินค้า ไม่ได้สื่อสารประเด็นอะไรมากไปกว่าการทดสอบอุปกรณ์ เราอยากเห็นผลงานที่สื่อสารแนวคิดของช่างภาพ หรือมีประเด็นที่อยากนำเสนอ ได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ค่ะ ซึ่งตอนนี้เรากับทีมกำลังเริ่มทำ Fotogarten เป็นแพลตฟอร์มที่ทำแคมเปญและเวิร์กช็อปภาพถ่ายในรูปแบบต่างๆ เราจะติดต่อช่างภาพและคนทำงานจากวงการภาพถ่ายในต่างประเทศเข้ามาด้วยในทุกแคมเปญ/เวิร์กช็อปเพื่อให้ช่างภาพและคนดูงานเองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการทำงานภาพถ่าย เราอยากเห็น Fotogarten เป็นช่องทางของช่างภาพที่เก่งจะเติบโตในระดับต่อๆ ไปได้ค่ะ” ปูเป้กล่าวถึงแพลตฟอร์มการพัฒนาที่เธอหวังว่าจะช่วยให้วงการช่างภาพพัฒนาไปอย่างมีคุณภาพ
ผลงานที่ได้เป็นหนึ่งในภาพประจำปีของ The New York Times เมื่อปี 2021
ฝันสูงสุดและข้อความถึงโว้กประเทศไทย... “ตอนนี้อยากถ่ายภาพในงานออสการ์ค่ะ” ปูเป้เผยความฝันสูงสุดในฐานะช่างภาพที่ต้องการเก็บบรรยากาศความทรงจำในอีเวนต์แห่งประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ นอกจากนี้เธอยังฝากข้อความถึงโว้กประเทศไทยด้วยว่า “เราเห็นว่าอุตสาหกรรมภาพถ่ายในต่างประเทศ ทั้ง Editorial และแฟชั่น เป็นก้าวแรกของช่างภาพหน้าใหม่ที่มีผลงานน่าสนใจค่ะ บก.ภาพที่นิวยอร์กคอยดูงานและให้โอกาสช่างภาพหน้าใหม่ตลอด นิตยสารเป็นหน่วยงานสำคัญมากที่ทำให้เกิดมุมมองภาพแบบใหม่ๆ เราอยากเห็นโว้กเป็นพื้นที่ของภาพถ่ายแฟชั่นที่มีสไตล์และเรื่องราวที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ช่างภาพหน้าใหม่ที่มีฝีมือในไทยได้ทำงานที่ดี เพราะสำหรับเราโว้กมีศักยภาพมากๆ ที่จะผลักดันนิยามของ 'ภาพถ่ายแฟชั่น' ในไทยไปไกลกว่าภาพแบบเดิมค่ะ” และนี่คือทุกแง่มุมอาชีพช่างภาพของ “ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต”
WATCH