FASHION
ย้อนรอย ‘มาลานำไทย’ การเปลี่ยนแปลงด้านแฟชั่นของสตรีไทยกับเบื้องหลังทางการเมืองการปรับตัวตามเทรนด์อาจจะไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น หากแต่ในยุคหนึ่งหมายถึงการรักษาไว้ซึ่งเอกราชของประเทศ |
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยี ทุกที่ ทุกเวลา การอัพเดทเทรนด์แฟชั่นซีซั่นใหม่ล่าสุดก็มาปรากฏต่อหน้าเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ‘อิทธิพลการแต่งกาย’ จะเผยแพร่ต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่ถ้านั่งไทม์แมชชีนย้อนไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หญิงสาวในสมัยนั้นมีความนิยมในการแต่งกายอย่างไร และรับเอารูปแบบการแต่งกายอย่างตะวันตกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และเพราะอะไรแฟชั่นของพวกเธอจึงเปลี่ยนไป เราชวนคุณมาสำรวจไปด้วยกัน
การแต่งกายของสตรีในราชสำนักรัชกาลที่ 4 / ภาพ: Siam History
ยุคต้นรัตนโกสินทร์
เนื่องด้วยไม่ต้องการให้บทความนี้ยืดยาวมากจนเกินไปนัก จึงขอเริ่มปักหมุดการแต่งกายของสตรีไทยเริ่มที่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งค่อนข้างคล้ายคลึงกับในสมัยอยุธยาตอนกลางที่เริ่มจะมีหลักฐานปรากฏเรื่อยมาจนถึงสมัยธนบุรีที่ผู้หญิงนิยมห่มสไบ บ้างก็เปลือยท่อนบน หรืออาจจะมีผ้าบางๆ คาดคลุมปกปิดร่างกายอย่างไม่มิดชิดนัก ส่วนท่อนล่างนิยมนุ่งจีบ หรือนุ่งโจงกระเบน
อนึ่งเนื่องด้วยในยุคนั้นทั้งในประเทศไทย และตะวันตกยังไม่มีสื่อมวลชนอย่างแพร่หลาย และวัฒนธรรมเซเลบริตี้ก็ยังไม่เริ่ม ดังนั้น ‘เทรนด์และแฟชั่น’ จึงมักจะเกิดขึ้นจากผู้คนในราชสำนัก แล้วจึงส่งต่อมาถึงชาวบ้าน โดยอาจจะไม่ได้ถอดแบบทั้งหมด เนื่องเพราะในราชสำนักมักใช้แพรพรรณที่มาราคาสูง การแต่งกายสไตล์ชาวบ้านจึงต้องปรับประยุกต์ให้ทั้งเหมาะสมกับฐานะและตามเทรนด์ในเวลาเดียวกัน
รัชกาลที่ 4 : จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
ต้นขั้วการรับเอาการแต่งกายแบบตะวันตกเข้ามาเริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ในตอนนั้นสยามเริ่มสานสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาอารยประเทศ รวมถึงมหาอำนาจทางตะวันตกด้วย ราชสำนักจึงเริ่มเอาแบบแผนเกี่ยวกับการสวมใส่เสื้อผ้ามาปรับประยุกต์ เริ่มจากการแต่งกายของผู้ชายในราชสำนัก โดยเฉพาะครั้งที่ต้องเข้าเฝ้าจำเป็นจะต้องสวมเสื้อ โดยแบบเสื้อที่นิยมของบุรุษในตอนนั้นคือเสื้อสไตล์บ้าบ๋าอย่างชาวจีนจากเมืองปัตตาเวีย (เมืองจาร์การ์ตา ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน) ส่วนผู้หญิงก็ยังยึดถือการแต่งกายแบบเดิมอยู่
WATCH
ผ้าลูกไม้ ชุดแบบตะวันตก และการไว้ผมยาวเริ่มเข้ามาในสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสวมใส่โดยสมเด็จพระปิตุฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร / ภาพ: Silpa Magazine
รัชกาลที่ 5 : ยุคเปลี่ยนผ่านสยามให้เป็นอย่างตะวันตก
ในรัชสมัยนี้เป็นการปฏิรูปสังคม วัฒนธรรม และสาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศอย่างเด่นชัดที่สุด เพราะขณะนั้นเป็นยุคที่มหาอำนาจตะวันตกเริ่มแผ่ขยายอำนาจ เกิดการล่าอาณานิคม สยามจึงได้รับเอาความเจริญจากตะวันตกมาปรับใช้อย่างรวดเร็ว รวมถึงวัฒนธรรมการแต่งกาย ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อความสวยงามแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าของสตรีสยามที่มีวัฒนธรรมทันสมัย เพื่อไม่ให้มหาอำนาจตะวันตกรุกคืบเอกราชของสยามได้
เจ้านายฝ่ายในรัชกาลที่ 5 ที่นิยมสวมใส่เสื้อแบบแขนหมูแฮม และนุ่งโจงกระเบน / ภาพ: Silpa Magazine
สตรีในยุคนั้นเริ่มเปลี่ยนทรงผมจากการไว้ผมปีก โกนผม หรือตัดผมสั้นเป็นผมยาวปล่อย ส่วนการแต่งกายก็เริ่มเปลี่ยนจากสไบเป็นเสื้อแขนยาว และเสื้อแขนหมูแฮมทับด้วยแพรแถบ คู่กับการนุ่งโจงกระเบน ใส่ถุงเท้ายาว และรองเท้าหุ้มส้น แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือในยุคนี้เริ่มประยุกต์เอาผ้าตะวันตกอย่างผ้าลูกไม้มาใช้ในราชสำนักเพิ่มขึ้นด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีในฉลองพระองค์สไตล์แกสบี้ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก / ภาพ: Prachachat
รัชกาลที่ 6 : ยุครุ่งเรืองของดนตรี ศิลปะ และแฟชั่น
แม้การล่าอาณานิคมโดยมหาอำนาจตะวันตกในช่วงรัชสมัยนี้จะไม่ได้เข้มข้นเท่ากับในช่วงรัชกาลที่ 5 แต่สยามก็ยังรับเอาความเจริญอย่างตะวันตกนำมาปรับใช้อยู่อย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นทางด้านศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรมที่รุ่งเรืองอย่างมาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกายที่ไม่ได้เพียงรับเอากลิ่นอาย หรือไอเท็มบางอย่างมารับประยุกต์ แต่เลือกที่จะเอาสไตล์แบบแกสบี้ (Gastby) มาอย่างเต็มกำลัง
การแต่งกายแบบแกสบี้ที่เน้นความสบาย เสื้อตัวยาว กระโปรงเลยเข่า และเครื่องประดับจัดเต็ม / ภาพ: Fashion History
เสื้อแขนหมูแฮม และการนุ่งโจงกระเบนก็เป็นสิ่งที่ถูกโละทิ้ง และแทนที่ด้วยเสื้อแขนสามส่วนตัวยาว จับคู่กับผ้าซิ่นนุ่งที่ดูคล้ายกับกระโปรงสไตล์ตะวันตก และเครื่องประดับจัดเต็มทั้งสร้อยคอ กำไลแขน และผ้าคาดหัวที่แทบจะเหมือนกับสาวชาวตะวันตกทุกประการ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นแฟชั่นไอคอนคนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ไทย ภาพ: Thai Post
รัชกาลที่ 7: การคงอยู่ของกลิ่นอายตะวันตก
ในช่วงนี้การแต่งกายยังคงอิงกับช่วงก่อนหน้า และปรับประยุกต์ให้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากกระโปรงกรอมเท้าก็เปลี่ยนมาเป็นกระโปรงสั้นขึ้น ไปจนถึงการเปลี่ยนรูปแบบจากเสื้อชิ้น กระโปรงชิ้นกลายเป็นชุดเดรสอย่างตะวันตก โดยมีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นผู้นำแฟชั่นในยุคนั้น โดยให้ห้องเสื้อจากฝรั่งเศสทำเสื้อผ้าถวาย
สตรีในยุคสมัยมาลานำไทยที่ต้องนิยมเทรนด์สวมหมวกออกนอกบ้านตามรัฐนิยม / ภาพ: Musueum Thailand
รัชกาลที่ 8 - รัชกาลที่ 9 : มาลานำไทย และการกำเนิดชุดไทยราชนิยม
ภายหลังการเปลี่ยนผ่านจากสยาม มาเป็นประเทศไทยในปี พ.ศ.2482 ก็ได้เริ่มมีการออกข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนให้มีระเบียบ แบบแผน และดูมีความศิวิไลซ์ดังเช่นตะวันตก ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากนโยบายมาลานำไทยหนึ่งในข้อบังคับรัฐนิยมในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ขอความร่วมมือให้ประชาชนสวมหมวกออกจากบ้านเพื่อความเรียบร้อย และมีอารยะ และยังออกข้อบังคับการแต่งกายที่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทำตาม
ส่วนชุดไทยราชนิยมที่หลายๆ คนเข้าใจผิดว่าเป็นการแต่งกายของผู้หญิงมาตั้งแต่โบราณนั้น ความจริงแล้วแบบแผนของชุดไทยราชนิยมเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งที่ทั้งสองพระองค์จะต้องเสด็จฯเยือนยุโรป และอเมริกาจึงได้ทรงโปรดฯให้ออกแบบชุดไทยราชนิยม 8 แบบเพื่อใช้สวมใส่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย
ปัจจุบันคือยุคของ Fashion Influencer และโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลต่อการแต่งตัวของคนในสังคม / ภาพ: @paloyh
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา ประชาชนก็ไม่ได้ยึดโยงการแต่งกายกับราชสำนักอีกต่อไป แต่กลายเป็นยุคของแฟชั่น การแต่งกายที่ได้อิทธิพลมาจากตัวบุคคลเช่นดารา นักร้อง ศิลปิน หรือจากสื่ออย่างเช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และนิตยสาร จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนผ่านไปที่ Fashion Influencer และโซเชียลมีเดีย
‘แฟชั่น’ อาจจะไม่ได้เป็นแค่เรื่องการแต่งตัวแต่เพียงเท่านั้น แต่แฟชั่นยังเป็นการบอกสถานะ บอกความเป็นอารยะ และยังเป็นสัญญะทางการทูตที่มีส่วนช่วยให้ประเทศคงความเป็นเอกราชได้อย่างปัจจุบัน แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าแฟชั่นในสายตาคุณจะเป็นอย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแฟชั่นนั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตของคุณไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน
ข้อมูล : สารานุกรมไทยเยาวชน, Silpa Magazine, Sarakadeelite
WATCH