FASHION

ขุดค้นจุดเริ่มต้นของ “เครื่องแบบนักเรียน” จากการจัดระเบียบ สู่การปลดแอกของโลกยุคใหม่

เครื่องแบบนักเรียนเริ่มต้นมาได้อย่างไร และยังจำเป็นหรือไม่ในโลกสมัยใหม่ พื้นที่ตรงนี้เปิดให้คุณได้ขบคิดอย่างกว้างขวาง

     ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นเมื่อกล่าวถึง ‘เครื่องแบบ’ ในความคิดของคุณคืออะไร บ้างก็อาจจะชวนให้นึกถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย บ้างก็อาจจะทำให้นึกถึงความเสมอภาคและเท่าเทียม หรืออาจจะโยงใยไปถึงการถูกกักขัง ควบคุม และกดขี่จากอำนาจบางอย่างให้ต้องอยู่ในชุดเครื่องแบบที่ถูกจำกัด แต่ไม่ว่าความคิดของคุณจะเป็นแบบใดก็คงต้องยอมรับว่าการแต่งกายโดยถูกกำหนดเครื่องแบบก็ยังถูกระบุให้เป็นข้อกำหนดที่เคร่งครัดสำหรับกลุ่มคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะเครื่องแบบนักเรียนที่ยังเป็นกฎระเบียบที่ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกคลื่นลูกใหม่ในสังคมตั้งคำถามอย่างท้าทายถึงความจำเป็นของการมีอยู่เช่นกัน

เด็กนักเรียนสวมใส่เครื่องแบบในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1880 / ภาพ: Wiki Library

จุดเริ่มต้นของเครื่องแบบนักเรียน

     ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วไม่ได้มีการระบุอย่างแน่ชัดว่าเครื่องแบบนักเรียนเริ่มถูกคิดค้นตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อกันว่าประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่เริ่มให้แต่งเครื่องแบบนักเรียนริเริ่มโดยโรงเรียน Christ’s Hospital โดยกำหนดให้ใส่โค้ทยาวสีน้ำเงิน และถุงเท้ายาวสีเหลืองในปีคริสต์ศักราช 1552

เครื่องแบบนักเรียนหญิงญี่ปุ่นในปี 1972 / ภาพ: Wiki Library

     ประเทศญี่ปุ่นที่มักจะถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยอยู่บ่อยครั้งเมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน ประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้เครื่องแบบนักเรียนตั้งแต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยบังคับใช้ทั้งในโรงเรียนรัฐบาล เอกชน รวมถึงมหาวิทยาลัยหญิงหลายแห่ง ซึ่งแต่ละสถาบันก็จะมีเครื่องแบบนักเรียนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แต่จะมีสีกำหนดเช่น ขาว ดำ น้ำเงิน หรือกรมท่า



WATCH




เครื่องแบบนักเรียนของ Christ’s Hospital School ที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน / ภาพ: Wiki Libary

     ส่วนประเทศไทยเครื่องแบบนักเรียนถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อร่างระบบการศึกษาสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ศิวิไลซ์ทัดเทียมกับอารยะประเทศตะวันตก เครื่องแบบนักเรียนตั้งต้นในสมัยนั้นหมวกฟาง เสื้อราชปะแตนสีขาว กางเกงขาสั้น ถุงเท้ายาว และรองเท้าหนังสีดำ จนกระทั่งเครื่องแบบนักเรียนกลายเป็นวาระแห่งชาติเมื่อเกิดพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียนในปีพุทธศักราช 2482 สมัยจอมพล ป. พิบูลยสงคราม ซึ่งเป็นสมัยเดียวกันกับการสร้างชาติ และบัญญัติรัฐนิยมต่างๆ เพื่อสะท้อนความเป็นไทยสมัยใหม่

ภาพถ่ายนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญในช่วงก่อตั้งที่ใส่เครื่องแบบนักเรียนตามที่ถูกบัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 / ภาพ: AC18

ขบขั้วความคิด : ควรใส่หรือไม่ควรใส่เครื่องแบบนักเรียน

     ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อเกิดข้อบังคับใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับสิทธิ์พื้นฐานในการใช้ชีวิต ก็มักจะมีข้อสงสัยตามมาเสมอ การบังคับการแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนก็เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมาอย่างยาวนาน (เชื่อว่าต้องมีผู้อ่านเคยตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ในวัยเด็กจนตอนนี้คุณอาจจะลืมมันไปเสียแล้ว) อันเป็นที่มาของกลุ่มผู้ที่สนับสนุน และผู้ที่ต่อต้านที่ต่างฝ่ายก็มีเหตุผลที่น่าสนใจไม่น้อย

เครื่องแบบนักเรียนที่ถูกสร้างสรรค์เพิ่มเสริมเอกลักษณ์ของตัวละครใน Gossip Girl / ภาพ: BuzzFeed

     ในฝั่งที่สนับสนุนให้ยังรักษาระเบียบการแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียน มักมีหลักการ และเหตุผลที่ส่งเสริมแนวคิดของตนเองคือ การบังคับแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนจะช่วยสร้างระเบียบวินัย และกล่อมเกลาให้ประชาชนอยู่ในกรอบของรัฐตั้งแต่ในวัยเยาว์  ซึ่งอาจจะมีผลต่อการสร้างคุณลักษณะของประชาชนที่ดีตามแนวทางของรัฐในแง่อื่นต่อไป นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสนับสนุนอื่นๆ เช่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้นในสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนทุ่มเทความสนใจไปที่การเรียนมากกว่าความสวยงาม หรืออาจจะช่วยความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในวัยรุ่นอย่างการล้อเลียน หรือปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น

กลุ่มนักเรียนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา, การแต่งเครื่องแบบนักเรียน และทรงผม / ภาพ: Reuters

     เสียงจากอีกด้านหนึ่งของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับการแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนมองว่าเยาวชนควรจะมีสิทธิ์เหนือร่างกายตนเองที่จะเลือกสวมใส่หรือไม่เลือกสวมใส่สิ่งใดก็ได้โดยที่รัฐไม่มีอำนาจจัดการแม้จะอ้างถึงการรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย และเป็นระเบียบ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของมีแชล ฟูโกต์ นักทฤษฎีความคิดชาวฝรั่งเศสที่อธิบายไว้ในหนังสือ Discipline and Punish : The Birth of Prison ว่าระเบียบวินัยแท้ที่จริงแล้วคือเทคนิคอำนาจนิยมสมัยใหม่ ที่ทำให้เรือนร่างของมนุษย์เป็นผู้ถูกกระทำ เสมือนเป็นหุ่นเชิดที่พร้อมกลายเป็นทาสของอำนาจโดยการจัดระเบียบวินัยด้วยตนเอง

อีกหนึ่งผลงานออกแบบจาก POST-THESIS ที่ตั้งคำถามอย่างท้าทายกับเครื่องแบบนักเรียนผ่านการออกแบบเสื้อผ้า / ภาพ: POST - THESIS

     นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสนับสนุนอื่นอย่างเช่น การบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนเป็นการเสริมสร้างแนวคิดทางเพศแบบสองขั้วที่มีแต่หญิงและชาย, การบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนยังครอบคลุมไปถึงการบังคับเกี่ยวกับทรงผมซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการสร้างบาดแผลทางจิตใจต่อเด็กจากการกระทำของครู, ความไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับชุดนักเรียนกับการช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของผู้ปกครอง และเครื่องแบบก็ยังเป็นส่วนเสริมที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม หรือประเด็นความไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน และความตั้งใจเรียนของนักเรียน

     ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าในทรรศนะของคุณจะเห็นด้วย หรือต่อต้านการบังคับเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน สิ่งที่อยากจะชวนกระตุกคิดก็คือกฎข้อบังคับที่น่าจะดีต่อทุกฝ่ายอาจจะเป็นกฎข้อบังคับที่ปรับไปตามบริบทที่เปลี่ยนไปของสังคม และกฎบังคับบางประการควรจะปรับเปลี่ยนเป็นเพียงทางเลือกที่จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้น นี่อาจจะเป็นทางออกของปัญหาที่เรื้อรังยาวนาน และทำให้ทุกฝ่ายต่างอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขก็เป็นได้

 

ข้อมูล:

ngthai.com

bbc.com

en.wikipedia.org

th.wikipedia.org

หนังสืออ่านวิพากษ์ มิเชล ฟูโกต์โดยอนุสรณ์ อุณโณ, จันทนี จริญศรี และสลิตา ยุกตะนันทน์

WATCH