FASHION
Stonewall Riots จลาจลสีรุ้งที่ระเบิดพลังการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศมาจนถึงปัจจุบันการหลบซ่อน ติดสินบน การกดขี่ และอีกหลายเรื่องราวที่ทำให้ Stonewall ถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์โลก |
เดือนมิถุนายนถูกขนานนามว่า #PrideMonth และยึดถือเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศกันทั่วโลก ในนิวยอร์กมีขบวนพาเหรดโด่งดังที่เต็มไปด้วยเรื่องราวสำคัญมากมาย ความสนุกสนานผสมผสานกับเนื้อหาการเรียกร้องความเท่าเทียมได้อย่างมีมิติน่าสนใจ ทว่าเบื้องหลังสีสันที่สะท้อนถึงความงดงามด้านความหลากหลายนั้นกลับไม่ได้สวยงามตามสีของมัน พาเหรดเหล่านั้นเกิดขึ้นจากรากฐานเดียวกัน เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งทำให้การเรียกร้องของกลุ่มคนชายขอบของสังคมในขณะนั้นผนึกกำลังอย่างแข็งแกร่ง วันนี้เราพาทุกคนย้อนอดีตไปกับ Stonewall Riots หรือเหตุจลาจลที่สโตนวอลล์ เบื้องหลังมันเกิดอะไรขึ้นและส่งผลมาถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง หาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้เลย
คู่รักที่ไม่จำกัดด้านขั้วตรงข้ามคู่หนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 / ภาพ: NYC LGBT Historic Sites Project
ย้อนกลับไปสมัยต้นศตวรรษที่ 20 ยุคนั้นถือเป็นยุคที่การมองโลกยังแบ่งในรูปแบบของ Binary Opposition ชัดเจน ชายและหญิงมีบทบาทในสังคม โดยกลุ่มคนนอกเหนือจากขั้วตรงข้ามทั้ง 2 ฝั่งนี้จะกลายเป็นคนชายขอบทันที ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการมีตัวตนในสังคมระดับใหญ่ แค่สังคมย่อยระดับครอบครัวก็ไม่ได้ให้ความเคารพต่อรสนิยมทางเพศที่แตกต่างแม้แต่น้อย หากมองลึกลงไปอีกจะเห็นว่ายุคนั้นอาจจะเป็นขั้วตรงข้ามที่เอนเอียงด้วยซ้ำ เพราะกว่า 100 ปีที่แล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ชายยังเป็นใหญ่ในสังคมและกดขี่ทุกเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่าว่าแต่เรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมต่อเพศต่างๆ แค่ผู้หญิงเองก็อาจจะเรียกว่าเป็นชนชั้นรองทางสังคมได้อย่างไม่เป็นทางการด้วยซ้ำ
Henry Gerber ผู้ก่อตั้งองค์กรเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับเพศทางเลือกในยุคเริ่มต้น / ภาพ: The Ponaganset Post
ความต้องการด้านความเท่าเทียมเมื่อ 100 ปีที่แล้วเหมือนเสียงของคนใบ้ที่พยายามตะโกน...อาจฟังดูหดหู่และหยาบคายแต่ในตอนนั้นความเข้าใจเรื่องนี้มีน้อยมากๆ (หรืออาจจะมีแต่ถูกเมินเฉย) การเรียกร้องต่างๆ ถูกปิดเงียบและทำให้หายไปจากสารบบอยู่เสมอ ตั้งแต่ The Society for Human ในปี 1924 (ถูกปิดในปี 1925) เรื่อยไปจนถึงองค์กรสำหรับรักร่วมเพศและองค์กรแสดงความหลากหลายทางเพศมากมาย เริ่มมีหนังสือพิมพ์เฉพาะกลุ่มแต่ก็ไม่ถูกผลักดันออกสู่สังคมในวงกว้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันเป็นเรื่องของกฎหมายและกลไกเชิงระบบที่กดขี่พวกเขาอยู่ตลอด ไม่ใช่แค่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนประวัติศาสตร์เหตุจลาจลสโตนวอลล์เท่านั้น แต่หมายถึงระบบกลไกของแทบทุกประเทศทั่วโลกในขณะนั้น ซึ่งในปัจจุบันเรื่องเหล่านี้ก็ยังไม่ถูกแก้ไขให้เหมาะสมเท่าไรนัก
WATCH
ภาพตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่างานสำคัญทางราชการส่วนใหญ่เต็มไปด้วยผู้ชายและไม่เคยเปิดโอกาสให้ความหลากหลายทางเพศในช่วงยุคต้นศตวรรษที่ 20 / ภาพ: Churchill Archives for School
กฎหมายบีบบังคับผู้คนอย่างไรก่อนถึงเหตุจลาจล...ต้องบอกว่าเป็นเวลานานจนแทบประมาณไม่ได้ที่กฎระเบียบทางสังคมกดขี่พวกเขาเอาไว้อยู่ตลอด เรื่องนี้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในทุกประเทศซึ่งจนถึงปัจจุบันบางประเทศยังไม่แก้ไข หรืออาจจะแก้ไขในเชิงกฎหมายแล้วแต่ความอคติยังฝังรากลึกอยู่ในระบบความคิดคนโดยเฉพาะเรื่องอาชีพและการแสดงตัวตนในสังคม พวกเขาถูกแบนจากการทำงานราชการและเปิดเผยตัวตนอย่างโจ่งแจ้งในที่สาธารณะ กฎระเบียบนี้ทำให้หลายคนต้องปิดเงียบเกี่ยวกับสถานะทางเพศและบางคนต้องสูญเสียงานไปโดยปริยายทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดด้วยซ้ำ แม้จะเก่งกาจเพียงใดแต่ปัจเจกบุคคลก็ไม่สามารถเอาชนะระบบอันแข็งแกร่งได้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้ชะลอแค่การพัฒนาเชิงสังคมแต่มันชะลอการพัฒนาในทุกด้าน เพราะบุคลากรที่มีคุณภาพถูกจำกัดอยู่เพียงคำว่า “เพศ” เมื่อสังคมบีบรัดพวกเขามากเกินไปมันก็ต้องมีที่ปลดปล่อย...
Stonewall Inn ในสมัยแรกเริ่ม / ภาพ: The New York Times
เพศ การปลดปล่อย มาเฟีย และตำรวจ ความซับซ้อนของสโตนวอลล์ไม่ใช่แค่เรื่องของเพศและการเรียกร้องเท่านั้น จุดเริ่มต้นของที่นี่คือในปี 1966 ครอบครัวจีโนวีส กลุ่มมาเฟียทรงอิทธิพลในนิวยอร์กได้ซื้อกิจการ “Stonewall Inn” ซึ่งเป็นร้านอาหารกึ่งบาร์ของคนทั่วไปในตอนนั้นและทำการรีโนเวตเล็กน้อยก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นบาร์เกย์ในปี 1967 หลังจากนั้นมันก็โด่งดังในหมู่เกย์รวมถึงผู้นิยมความหลากหลายทางเพศแทบจะทันที คำถามคือทำไมมันถึงโด่งดังอย่างรวดเร็ว คำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือกฎหมายกำกับชัดเจนว่าผู้ให้บริการเครื่องดื่มไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเหล่าเพศทางเลือกได้ ดังนั้นผู้คนจึงหลั่งไหลมาที่นี่ อีกทั้งสโตนวอลล์ยังเป็นบาร์เพศทางเลือกแห่งเดียวที่อนุญาตให้ร้องเล่นเต้นรำได้อย่างสุดเหวี่ยง(ผลจากอิทธิพลของผู้ก่อตั้ง) แต่มันก็มีโลกสีเทาอยู่เบื้องหลังเพราะแท้จริงแล้วที่นี่ก็ไม่ได้มีใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พวกเขาเลือกลงทะเบียนในแบบ “Bottled Bar” หรือให้แขกนำเครื่องดื่มมาเอง
Vito Genovese ที่มาของชื่อ Genovese crime family / ภาพ: Wiki Library
มาเฟียก็ไม่ได้เป็นพระเอกของเรื่องนี้เสียทีเดียว ถึงแม้ผู้คนกลุ่มหนึ่งจะปลาบปลื้มที่มีบาร์แบบนี้เกิดขึ้นในนิวยอร์ก แต่มาเฟียก็หาประโยชน์จากการแบล็คเมล์เหล่าผู้มีอันจะกินที่ต้องการเก็บสถานะเรื่องเพศเป็นความลับ บาร์นี้ขึ้นชื่อเรื่องการเปิดกว้างรับทุกเพศ ทุกลักษณะของปัจเจกบุคคลที่ถูกปฏิเสธจากสังคมภายนอก แดรกควีนและคนไร้บ้านส่วนใหญ่ในยุคนั้นที่โดนปฏิเสธจากบาร์เกย์อื่นๆ ทั่วนิวยอร์กก็มาลงเอยกันที่นี่ทั้งหมด สโตนวอลล์จึงยิ่งใหญ่มากๆ จนมีภาระอันใหญ่หลวงที่มาเฟียต้องรับผิดชอบติดสินบนเจ้าหน้าที่ มันคือวังวนการเรียกเก็บเรียกจ่ายที่มาเฟียก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เพิ่มเติมจากนักเที่ยว แต่มันคือผลประโยชน์ที่ได้รับความยินยอมในการกระทำสีเทาๆ จากผู้ร่วมสนุกในบาร์เอง การแบล็คเมล์จึงเป็นวิถีที่เกิดขึ้นและถูกเก็บเงียบตลอดกาล
กลุ่มคนเพศทางเลือกรวมตัวกันหน้า Stonewall Inn ซึ่งเป็นภาพปกติที่คุ้นตากันดีในยุคนั้น / ภาพ: CNN
Gayola และการบุกตรวจ สโตนวอลล์ไม่ได้เรียบง่ายสวยงามขนาดนั้น เกโยล่าคือคำเรียกแทนสินบนที่ใช้จ่ายเจ้าหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ข้องเกี่ยวกับการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะบาร์ต่างๆ ทั่วซานฟรานซิสโกและนิวยอร์ก ทว่ามันก็ไม่ได้ราบรื่นตลอดเวลา ตำรวจบุกตรวจบาร์เหล่านี้อยู่เสมอ ทุกอย่างจบลงด้วยการเคลียร์ความเรียบร้อยเตรียมรับการตรวจตลอด เนื่องจากสินบนที่ติดไว้ทำให้พวกเขารู้ก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตอนเย็น แต่ทุกการตรวจย่อมมีการจับกุมเกิดขึ้นเพราะเหตุผลที่อาจทำให้คนยุคนี้งุนงง ตำรวจใช้หลักเกณฑ์การตรวจด้วยเอกสารทางทหารสำหรับผู้ชายและการแต่งกายสำหรับผู้หญิง อ่านไม่ผิดแน่นอนว่ามันเป็นเสื้อผ้าจริงๆ ตามดุลยพินิจของเจ้าพนักงานจะมองว่าผู้หญิงแท้ต้องสวมเสื้อผ้าที่มีกลิ่นอายเฟมินีนรวมกัน 3 ชิ้น หากไม่สวมตามนี้ก็จะถูกจับในประเด็นเรื่องผิดเพี้ยนทางเพศทันที มันสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ายุคนั้นกรอบทางสังคมมันแคบเสียจนตัดสินคนได้จากภายนอก และสิ่งนี้ก็กดขี่ความเจริญของมนุษย์และสังคมอย่างแปลกประหลาดเสมอมา มันคือการเหมารวมโดยใช้บรรทัดฐานเดียวมาตัดสินคนอื่นแบบไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย
บรรยากาศความวุ่นวาย ณ วันที่ 28 มิถุนายน 1969 / ภาพ: History
เมื่อขัดผลประโยชน์ก็ไม่ต้องมีใครได้ประโยชน์อีกต่อไป...ตำรวจบุกตรวจสโตนวอลล์ในดึกวันที่ 27 เข้าเช้าวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ก่อนหน้าจะบุกพวกเขาส่งตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาหาหลักฐานภายในบาร์ตั้งแต่ช่วงเย็น คราวนี้การบุกตรวจไม่เหมือนเดิม ทางสโตนวอลล์ไม่ยอมจ่ายค่าสินบนเพราะพวกเขาจ่ายไปแล้วก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน งานนี้ทุกอย่างที่ผิดกฎหมายจึงไม่ได้ถูกนำไปเก็บซ่อน ผู้ใช้บริการยังสนุกสุดเหวี่ยงโดยไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ทั้งหมดเริ่มกลายเป็นหายนะเพราะตำรวจดำเนินการจริงจังในชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตำรวจมีการตรวจเพศ ใช้กำลัง รวมถึงการกระทำอื่นๆ ที่สร้างความไม่พอใจไปทั่วทั้งบาร์ ไฟถูกเปิดขึ้นและไฟแห่งความโกลาหลก็ลุกโชนขึ้นทันที ผู้คนวิ่งหนีอลหม่านแต่ก็ไปไหนไม่ได้เนื่องจากตำรวจปิดกั้นทางออกทุกช่องทาง พวกเขากลัวถูกจับเหรอ...บ้างก็ใช่ แต่มีหลายคนที่ออกมาให้เหตุผลในภายหลังว่าพวกเขาไม่ได้กลัวถูกตำรวจจับแต่พวกเขากลัวคนในสังคมรู้ว่าพวกเขาเป็นอะไร มันช่างน่าหดหู่ใจนักเมื่อทราบว่ามนุษย์คนหนึ่งต้องปิดกั้นตัวตนของตัวเองเพื่อไม่ให้สังคมรับรู้ว่าตัวตนของพวกเขาเป็นอย่างไรกันแน่ และหลายคนต้องใช้ชีวิตแบบนี้จนสิ้นลมหายใจสุดท้าย
เหตุจลาจลเริ่มหนักข้อและรุนแรงมากขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 / ภาพ: History Collection
ความรุนแรงเกิดขึ้นจากความอดทนที่หมดลง สโตนวอลล์คือจุดแตกหักสำคัญเพราะเมื่อก่อนผู้คนในบาร์อาจยินยอมทุกอย่างเพื่อดำเนินชีวิตในโลกแคบๆ ณ สโตนวอลล์ แต่ไม่ใช่ครั้งนี้เมื่อเหตุการณ์ไม่ราบรื่นพวกเขาก็จะไม่ทน ยิ่งมีการใช้กำลังกับสมาชิกของกลุ่มสังคมเดียวกันผู้คนย่อมเกิดความเดือดดาล ยิ่งตำรวจใช้ความรุนแรงม็อบก็ยิ่งเริ่มก่อตัว จากแค่ม็อบก็กลายเป็นเหตุจลาจลที่มีการปะทะกับตำรวจทั้งเชิงกายภาพและคำพูด ผู้คนทนไม่ไหวที่สังคมพรากชีวิตพวกเขาไปอย่างไร้เหตุผล พวกเขาต้องการชีวิตอิสระคืนมาบ้าง และวันนี้ก็ถึงเวลาที่หมดความอดทนกับความเฮงซวยของกรอบสังคมดั้งเดิม จากที่ต้องเคาะประตูเพื่อเข้าไปในบาร์ลับอย่างหลบๆ ซ่อนๆ วันนี้พวกเขาเดินออกมาบนท้องถนนพร้อมพลังอันยิ่งใหญ่ ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พลังต่อต้านตำรวจและกฎหมายอันไร้ซึ่งความยุติธรรมกำลังเพิ่มขึ้นชนิดหยุดไม่อยู่ มันคือความโกลาหลที่ลากต่อกันนานถึง 5 วัน หลังจากนั้นมันก็เริ่มมีเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์นี้อยู่เรื่อยๆ
การประท้วงย่านกรีนิชที่เราจะเห็นว่ามีผู้หญิงเข้าร่วมด้วย ซึ่งไม่จำเป็นต้องระบุว่าเขาเป็นหญิงชอบชาย หรือเลสเบี้ยน เพราะทุกคนรวมพลังเพื่อความเท่าเทียม / ภาพ: METRO Charity
ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนเรื่องเพศมากขึ้น ทุกคนไม่ได้เปิดรับในทันทีแต่ก็เริ่มตั้งคำถามถึงความยุติธรรมของระเบียบทางสังคมที่กดขี่พวกเขา สำหรับคนบางกลุ่มที่เคยต่อต้านอย่างกลุ่มขับเคลื่อนอุดมการณ์เฟมินิสม์ผู้เคยขนานนามกลุ่มเลสเบี้ยนว่า “กบฏสโตนวอลล์” ก็หันมารวมพลังกันเพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม “Straight” กับ “Lesbian” ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น พลังของการขับเคลื่อนสังคมก็ยิ่งทวีคูณ ในด้านสถาบันสนับสนุนต่างๆ ก็มีองค์กรเกิดขึ้นมากมายทั้ง Gay Liberation Front, Human Rights Campaign, GLAAD และ PFLAG ซึ่งเป็นสัญญาณอันดีว่ากลุ่มคนที่เคยหลบซ่อนตอนนี้พวกเขากล้าจะรวมกลุ่มกันออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมแล้ว
ขบวนพาเหรดเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้เหล่าเพศทางเลือกเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1970 / ภาพ: CNN
ครบรอบ 1 ปีสโตนวอลล์ขบวนพาเหรดประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นกลางแมนฮัตตัน พวกเขาเดินเท้าจากสโตนวอลล์ไปที่เซ็นทรัลพาร์กในวันที่เรียกว่า “Christopher Street Liberation Day” ซึ่งเหตุการณ์นี้นับว่าเป็นพาเหรดความหลากหลายทางเพศครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา โดยมีคำปลุกใจติดปากประจำพาเหรดว่า “Say it loud, Gay is proud” หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของโลก สัญลักษณ์การเรียกร้องอันทรงพลังจากทุกที่ทั่วโลกสะท้อนให้เห็นภาพการปลดแอกของผู้ถูกสังคมกดขี่ แม้เรื่องจะเกิดในนิวยอร์กแต่มันกลับส่งผลต่อยอดกระจายไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้
Stonewall กลายเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องความยุติธรรม สิทธิ เสรีภาพ และมนุษยธรรมให้กับกลุ่มเพศทางเลือก / ภาพ: JSTOR Daily
แล้วอะไรทำให้สโตนวอลล์กลายเป็นสัญลักษณ์ เรื่องนี้อาจจะตอบแบบเฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่หลักการสำคัญคือ “Break the Silence” หรือการทำลายความเงียบงันที่ถูกบีบบังคับนั่นเอง และถ้ามองในบริบทของสังคมยุคนั้นมันเป็นยุคเดียวกับฮิปปี้พอดิบพอดี ผู้คนต้องการสิทธิเสรีภาพขั้นสูงสุด ต้องการปลดแอกตัวเอง และอีกหนึ่งสิ่งคือรสนิยมความชื่นชอบที่เปิดกว้างมากขึ้น แฟชั่นจากที่เคยเป็นเครื่องกำหนดเพศและสถานภาพของปัจเจกบุคคล หลังจลาจลครั้งนี้เสื้อผ้าจึงค่อยๆ กลายเป็นเพียงเครื่องนุ่งห่มที่บ่งบอกตัวตนได้อย่างอิสระมากขึ้น เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งรากฐานของแฟชั่นอันหลากหลายในยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะกลุ่มเพศทางเลือกที่กล้าจะเผยตัวตนได้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลกับข้อจำกัดใดๆ อีกต่อไป
บรรยากาศขบวนพาเหรดสีรุ้งในปัจจุบันที่มีรากฐานมาจากเหตุจลาจลในปี 1969 / ภาพ: Young Scientists Journal
ทุกวันนี้ผู้คนยังคงเริ่มพาเหรดในวันที่ 28 มิถุนายนของทุกปี #PrideMonth มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มเพศทางเลือกอีกต่อไป เพราะทุกคนเข้ามาร่วมกิจกรรม ร่วมแสดงพลังเสียงให้โลกเห็นว่ามนุษย์อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมีอะไรมาขีดแบ่งอีกแล้ว แน่นอนว่าเบื้องหลังมันอาจขุ่นมั่วด้วยความรุนแรง แต่ผลอันสดใสค่อยๆ ผลิบานขึ้น ให้เปรียบก็คงเหมือนแม่กำลังคลอดลูก ที่คนๆ หนึ่งต้องทรมานกับความเจ็บปวด แต่เมื่อเด็กน้อยลืมตาดูโลกพลังแห่งความเป็นแม่ก็ยิ่งทวีคูณและลดทอนความเจ็บปวดไป ในอนาคตลูกก็ต้องได้รับการขัดเกลาทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางเพื่อชีวิตที่ดีที่สุด สำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคมก็เช่นเดียวกัน มันอาจจะเริ่มต้นด้วยความเจ็บปวดแต่ก็มีพลังมากขึ้นเมื่อพ้นจุดเจ็บปวดที่สุดมาได้ ต่อมาก็ย่อมมีช่วงเวลาที่การเรียกร้องหลุดแนวทางจากจุดเริ่มต้นไปบ้าง อาจจะไขว้เขวกันไปบ้าง แต่จุดหมายปลายทางคือความเท่าเทียมเหมือนเดิม ซึ่งแม่คนหนึ่งก็ต้องการให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกับผู้เรียกร้องยุคเริ่มต้นต้องการให้สังคมเกิดความเท่าเทียมไม่ว่าจะเคยไขว้เขวกับอะไรในชีวิตหรือหลุดออกนอกแนวทางก็ตาม ผู้คนในเหตุการณ์สโตวอลล์วันนั้นจึงมองสังคมที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเหมือนแม่ที่กำลังมองลูกน้อยคนหนึ่งเติบโตอย่างมีคุณภาพ
Stonewall Inn ในปัจจุบัน / ภาพ: Rolling Stone
หลายคนอาจนิยามสโตนวอลล์ว่าคือเหตุการณ์รุนแรงในประวัติศาสตร์ แต่เรามองกลับกันเหตุการณ์สโตนวอลล์คือแม่คนหนึ่งที่คลอดพลังอันยิ่งใหญ่ให้ LGBTQ+ ขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เราหวังว่าทุกคนย้อนอ่านประวัติศาสตร์ฉบับนี้แล้วจะเข้าใจบริบททางสังคม ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริง และเส้นทางการดำเนินไปของการเรียกร้องความเท่าเทียมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เดือนมิถุนายนที่สำคัญแต่ทุกวันคือวันสำคัญที่เราจะแสดงพลังเพื่อขับเคลื่อนสังคมในอุดมคติร่วมกันต่อไป Happy #PrideMonth
ข้อมูล:
WATCH