sportmax
FASHION

‘Sportmax’ ส่งมอบความสมดุลระหว่าง ‘ธรรมชาติ’ และ ‘วัฒนธรรม’ ผ่านผลงานคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2024

ต้องยอมรับว่า Sportmax นำความอสมมาตรของธรรมชาติมาผสมผสานเข้ากับผลงานได้อย่างลงตัว

     เมื่อก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่เหล่าแบรนด์แฟชั่นชั้นนำก็ร่วมนำผลงานคอลเล็กชั่นประจำฤดูกาลอย่างฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2024 มาเฉิดฉายบนรันเวย์ให้เหล่าสาวกได้เชยชม พร้อมร่วมค้นหาถึงแรงบันดาลใจในผลงานนั้นๆ ที่บอกเล่ามากกว่าความสวยงามของเสื้อผ้า ทว่าบ่งบอกถึงแก่นแท้ของชิ้นงานซึ่งกว่าจะได้มาในแต่ละคอลเล็กชั่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แบรนด์ “Sportmax” ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่นำเสนอคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2024 ได้อย่างมีมิติ โดยได้แรงบันดาลใจจากการสะท้อนวัฒนธรรมเฉกเช่นกระจกที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและลักษณะของการเปลี่ยนแปลง เพื่อสื่อถึงการต่อสู้ซ้ำไปซ้ำมาระหว่างประเพณีและความสมัยใหม่อันเทียบเท่ากับวัฏจักรที่ไม่มีที่สิ้นสุด มีการปลุกเร้าความตื่นเต้นพร้อมทั้งตั้งคำถามถึงแก่นแท้แห่งความหมายของ 'ธรรมชาติ’ และ ‘วัฒนธรรม’ ที่ต้องใช้ความพยายามให้สองสิ่งนี้สอดคล้องกันไปอย่างสวยงาม กล่าวคือในยุคปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้นซึ่งอาจทำให้ใครบางคนหลงระเริงไปกับฟังก์ชั่นที่หลากหลายของแพลตฟอร์มดิจิทัล จนอาจกลายเป็นผู้ที่มองจากภายนอกมากกว่าผู้ทำ เป็นช่างเทคนิคมากกว่ากวี และเป็นผู้ติดตามมากกว่าผู้ก้าวหน้า สปอร์ตแม็กซ์จึงต้องการกอบกู้ความรู้สึกบางอย่างของธรรมชาติให้กลับมามีบทบาทและสามารถทำงานควบคู่กันไปกับเทคโนโลยีเหล่านั้นให้สมดุลที่สุด

     “ธรรมชาติจะกลายเป็น ‘Momento Mori’ (หมายถึงการตระหนักอยู่เสมอว่าสิ่งนั้นย่อมถึงความตายและดับสลายไป) เฉกเช่นพิธีกรรมโบราณ ประเพณี และงานฝีมือโบราณหรือไม่,จะมีอนาคตในการไม่ยอมรับอดีตหรือไม่ และสิ่งของเทียมจะเป็นธรรมชาติใหม่หรือไม่”… การตั้งคำถามเหล่านี้จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการเล่าเรื่องราวของคอลเล็กชั่นนี้ โดยเหล่าสาวกจะพบความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นและรูปแบบต่างๆ ของการเคลื่อนไหวด้านสไตล์ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อกระแสนิยมของอาร์ตนูโวและแฟชั่นของยุคสวยงาม ‘Belle Epoque’ และภายหลังถูกแปลงเป็นสไตล์ชั้นสูงในปี 1920s โดยคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2024 ของสปอร์ตแม็กซ์จะร่วมค้นหาความบริสุทธิ์และเปรียบเทียบความสมดุลระหว่างการควบคุมและการใช้รูปสามมิติ ความสมมาตรทางสถาปัตยกรรมอันสมบูรณ์แบบของกิโมโนและความอสมมาตรที่พบในธรรมชาติ

     ทั้งนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับการแต่งกายในพิธีการของเกอิซา การปรับปรุงโครงสร้างชั้นต่างๆ และเข็มขัด ‘โอบิ’ ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นใหม่ รวมถึงการตีความใหม่ในแง่ของเสื้อผ้าด้วยการจัดการด้านรายละเอียดที่จำกัดและการยอมรับความ ‘Wabi-Sabi’ อันหมายถึงความงามของทุกสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่จีรัง และไม่ยั่งยืน ผ่านบรรยากาศและเหล่าไอเท็มที่ดูเรียบง่ายอย่างสีขาวที่แต่งแต้มความมีชีวิตชีวาในทุกๆ เฉดสีตั้งแต่สี Optical ไปจนถึงสีวานิลลาผ่านเนื้อผ้าและเอฟเฟกต์การเล่นแสง พร้อมเน้นสี Acid และสีน้ำใสอ่อนๆ ที่พยายาม ‘คืบคลาน’ และ ‘ปลุกชีวิต’ ให้กับธรรมชาติ

     นอกจากจะมีสีที่เป็นตัวชูโรงให้กับผลงานของคอลเล็กชั่นนี้แล้ว ยังมีการเล่นระดับต่างๆ ของแพสตินที่เงา โพลิวินิลคลอรีนและวัสดุเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างเช่นวัสดุผ้าฝ้ายที่แข็งแรง ผ้าลินินที่หุ้มเส้นใยกระดาษที่หนา รวมถึงเสื้อผ้าที่ให้ความโปร่งใส ทั้งยังมีตีนตุ๊กแกซึ่งถูกนำมาใช้เป็นรายละเอียดสำคัญให้ความรู้สึกแปลกใหม่ระหว่างความซับซ้อนแบบมินิมัลของกูตูร์และการใช้งานในสไตล์บรูทัลลิสต์ ประกอบกับเทคนิคของลายพิมพ์นั้นเป็นการยืมภาพถ่ายจากงานศิลปะจัดวางของศิลปินชาวเช็ก ‘Krištof Kintera’, ผลงาน ‘Postnaturalia’ ของ Kintera ซึ่งเป็นการนำความคิดทางดิสโทเปียของ ‘Herbarium’ อันมีดอกไม้ที่ทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญตั้งแต่เริ่มต้น และได้รับการแบ่งปันจากศิลปินเพื่อช่วยให้แบรนด์สามารถอธิบายแนวคิดโดยรวมของคอลเล็กชั่นนี้ทั้งหมดได้อย่างครบถ้วนและชัดเจนที่สุด อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเหล่าสาวกคงเห็นแล้วว่ามีที่มาที่ไปของการพยายามสร้างความสมดุลระหว่าง ‘ธรรมชาติ-วัฒนธรรม-เทคโนโลยี-ผลงาน’ เข้ากันไว้อย่างงดงามได้อย่างไร...

 

1 / 10



2 / 10



3 / 10



4 / 10



5 / 10



6 / 10



7 / 10



8 / 10



9 / 10



10 / 10



ภาพ : Vogue Runway

WATCH