'ทำไมถึงเผยเรือนร่าง' คำถามในเรื่อง Seoul Vibe ที่สะท้อนถึงกำแพงแฟชั่นในยุค 80s ของเกาหลี
บทพูดเพียงซีนเดียวของนักข่าวจากภาพยนตร์สุดซ่าเรื่องนี้ทำให้คนตระหนักถึงข้อจำกัดด้านแฟชั่นและสิทธิบนเรือนร่างของตัวเองเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน
การเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชั่นและวัฒนธรรมในประเทศเกาหลีนั้นมีกราฟชันไปในทิศทางที่ดี ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศเกาหลีใต้ถือว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันสินค้าทางวัฒนธรรมที่สามารถเจาะตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้นการย้อนกลับสู่บรรยากาศจุดเริ่มต้นจึงเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์น่าติดตาม และภาพยนตร์เรื่อง “Seoul Vibe” ที่นำเสนอเรื่องราวของเหล่านักซิ่งหัวขบถผู้ซึมซับวัฒนธรรมตะวันตกจนถ่ายทอดออกมาเป็นความขัดแย้งได้อย่างน่าสนใจ ไม่เพียงแต่เนื้อเรื่องยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่บทพูดบางตอนมันทำเราต้องหยุดชะงักและย้อนกลับไปฟังอีกครั้ง
สไตล์การแต่งตัวของ Park Ju-hyun กับการรับบท Park Yoon-hee สาวนักซิ่งในภาพยนตร์เรื่อง Seoul Vibe / ภาพ: @parkjuhyun_official
ฉากที่ทำให้ผู้เขียนหยุดสะดุดคงเป็นฉากที่แก๊งนักซิ่งสำมะเลเทเมาและออกข่าวจนเกิดเรื่องเกิดราว มันอาจจะดูธรรมดา แต่เมื่อเชื่อมโยงกับกรอบวัฒนธรรมชาวตะวันออกที่เริ่มมีกระแสวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามาชนอย่างรุนแรงในช่วงยุค ‘80s ยิ่งทำให้ประโยคที่มีการถามถึงการแต่งกายของ Park Yoon-hee (รับบทโดย Park Ju-hyun) น้องสาวของ Park Dong-wook (รับบทโดย Yoo Ah-in) ตัวละครเอกในเรื่อง โดยนักข่าวมีการถามไถ่ถึงความรู้สึกและมุมมองต่อการแต่งกายแบบเผยเรือนร่างมากมาย (ในยุคนั้น) ทั้งการใส่กางเกงขาสั้น เสื้อเอวลอย และมาพร้อมจริตแก่นซ่ามั่นใจ เรื่องนี้ทำให้เกิดความเอะใจและตีความบริบทสังคมยุคเก่าของประเทศเกาหลีและเชื่อมโยงถึงบริบทของประเทศไทยได้อีกด้วย
การแต่งกายในประเทศเกาหลีที่เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นในช่วงปลายยุค '80s ถึงต้นยุค '90s / ภาพ: DotDot
ยุค ‘80s คือยุคทองแห่งความขบถในประเทศแถบเอเชีย วิวัฒนาการด้านแฟชั่นไม่ใช่การสืบทอดความดั้งเดิมตามแบบฉบับโบราณของประเทศนั้นๆ อีกแล้ว ความสากลเข้ามาแทนที่ และแฟชั่นในรูปแบบใหม่ก็อ้างอิงจากความนิยมจากฟากตะวันตกอยู่ไม่น้อย แน่นอนว่าการเผยสัดส่วนของผู้หญิงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนกระทำกันเป็นเรื่องปกติ หญิงสาวชาวเอเชียถูกสอนให้รักนวลสงวนตัวและปกปิดเรือนร่างอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ไทย และอีกหลายๆ ประเทศในแถบนี้ แม้ในช่วง 40 ปีก่อนจะเริ่มมีคนแหวกขนบและสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาบ้าง แต่สุดท้ายมันก็ยังเป็นเรื่องแปลกใหม่และถูกตั้งคำถามอย่างโจ่งแจ้งเหมือนกับที่ตัวละครในเรื่องต้องเผชิญ
WATCH
ลุคแสบซ่าของ Park Ju-hyun กับบทสาวนักซิ่งอย่าง Park Yoon-hee ในเรื่อง Seoul Vibe / ภาพ: @charmgirl_1005
แค่เอวลอยก็ถือเป็นแฟชั่นแสบซ่าและโป๊มากแล้ว ข้อจำกัดของผู้หญิงเอเชียในสมัยก่อนถูกตีกรอบไว้อย่างแน่นหนา ใครที่ก้าวข้ามกรอบนั้นมาเปรียบเหมือนบุคลากรหัวขบถ และจะถูกตีตรา รวมถึงถูกตัดสินด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับตัวละครหญิงที่อยู่ในบ้านอู่ซ่อมรถที่ไม่ใช่คนชนชั้นนำทางสังคม เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ปัจจัยจึงถูกนำมารวมกันและตัดสินให้เป็นสิ่งไม่ค่อยดีนัก ตามบันทึกแฟชั่นกระแสหลักของเกาหลีที่หาอ่านได้ทั่วไปส่วนมากจะพูดถึงอิทธิพลของเกมกีฬาและวัฒนธรรมป๊อปที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคดังกล่าว ทว่ากลับไม่มีการพูดถึงนิยามความเซ็กซี่หรือการเปิดเผยเรือนร่าง มีเพียงการระบุความนิยมเรื่องแฟชั่น ตั้งแต่การใช้แบรนด์ตะวันตก การแต่งกายแบบวัยรุ่นอเมริกัน ความสนใจของเด็กวัยรุ่นที่กล้าจะเลือกสวมใส่เสื้อผ้ามากกว่าเครื่องแบบ หรือแม้แต่ความคลั่งไคล้และโปรโมตการกีฬาเนื่องด้วยการจัดโอลิมปิก ณ กรุงโซลในปี 1988 เหมือนกับว่าทุกอย่างวิ่งหาความสดใหม่จากโลกอีกฟากหนึ่ง พร้อมทำให้เป็นกระแสโดยผู้ที่ก้าวกระโดดออกนอกกรอบนั้นจะกลายเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมรองและไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่นัก
อีกหนึ่งลุคเท่ๆ ของ Park Ju-hyun ในการรับบท Park Yoon-hee ในเรื่อง Seoul Vibe / ภาพ: @parkjuhyun_official
สุดท้ายเมื่อมองกันถึงบริบทและการตั้งคำถามจากเพียงประโยคเดียวในเรื่อง ทำให้ทุกคนเห็นได้ชัดว่าการนำเสนอเรื่องราวของวัฒนธรรมรองในยุคนั้นมีอะไรสอดแทรกอยู่มากมาย ตั้งแต่เรื่องดนตรี ความสนใจของวัยรุ่น และที่ขาดไม่ได้คือแฟชั่นนอกขนบที่ถูกปิดกั้นจนเกิดความไม่เข้าใจ ในประเทศไทยเองก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แฟชั่นมากมายถูกนำเสนอด้วยกระแสนิยมจากฝั่งตะวันตก แต่สุดท้ายก็ยังถูกกรอบวัฒนธรรมดั้งเดิมตีกั้นเอาไว้อย่างแนบเนียน วันนี้ที่ผู้หญิง(หรือเพศใดก็แล้วแต่) สามารถสวมใส่อะไรได้ตามอำเภอใจแสดงให้เห็นว่าโลกเราพัฒนาไปมากเพียงใด หลงเหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์หน้าเล็กๆ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานสะท้อนกลิ่นอายยุคเก่าอันแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดและความจัดจ้านที่ถูกกีดกันจากสังคม
WATCH