FASHION
Real Men Cry เป็นผู้ชายก็ร้องไห้ได้ น้ำตาไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความอ่อนแอเสมอไปไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ร้องไห้ออกมาได้นะ ผลงาน Real Men Cry สะท้อนออกมาแบบนั้น |
เปิดยุค 2020s เราทุกคนทั้งโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ โลกใหม่เกิดขึ้นภายใต้การบีบบังคับของโรค เรื่องนี้ทำให้คนเกิดความเครียด อึดอัด และสามารถร่ำไห้ออกมาแบบไม่ต้องบีบน้ำตา ความทรหดอนทนอาจเป็นคำตอบ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ชีวิตมักมีการผ่อนหนักผ่อนเบาอยู่เสมอ การระบายความรู้สึกออกมาไม่ว่าจะดีหรือแย่จะช่วยลดทอนความอึดอัดในร่างกายได้ วันนี้โว้กพาแฟนๆ ย้อนชมว่า “การร้องไห้” ที่สมัยก่อนมองว่าไม่ใช่สิ่งที่ผู้ชายทำได้จะส่งพลังความรู้สึกออกมาให้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างไร
ภาพพอร์เทรตอื่นๆ ของ Maud Fernhout
โปรเจกต์ What ‘Real’ Men Cry Like เมื่อปี 2015 เป็นโปรเจกต์ที่เราอยากหยิบมาพูดถึงอีกครั้งทั้งในเชิงการนำเสนอและผลลัพธ์สะท้อนความสวยงามของการสร้างสรรค์ครั้งนี้ เจ้าของผลงานคือ Maud Fernhout ช่างภาพผู้สะท้อนสังคมออกมาทางภาพถ่ายอย่างมีนัยยะสำคัญ “เป็นลูกผู้ชายหน่อย / อ่อนแอ / ไอ้ตุ๊ด!” ทั้งหมดคือคำสะท้อนถึง Toxic Masculinity ที่ชายต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมเพื่อได้สถานะการสมเป็นผู้ชาย ซึ่งน้ำตาลูกผู้ชายจะถูกตีความสรุปอย่างรวดเร็วว่าหมายถึงความอ่อนแอ จุดนี้เองจะบีบบังคับให้ผู้ชายกดดัน ไม่กล้าปลดปล่อยความรู้สึกจนกลายเป็นปัญหาภายในจิตใจฝังรากลึก
ภาพพอร์เทรตอื่นๆ ของ Maud Fernhout
เมาด์ต้องการจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์แบบเหมารวมโดยใช้เพศเป็นตัวแบ่งเกณฑ์ ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ของแต่ละคนได้รับและรู้สึกไม่เหมือนกัน ทำไมผู้ชายถึงร้องไห้ คำถามนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นอย่างจริงจังเพื่อหาคำตอบว่าการร้องไห้ของผู้ชายคืออะไรกันแน่ พอหันมามองปี 2021 ปัญหาเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ทั้งอุปสรรคอันใหญ่หลวง หรือแม้แต่การรอดพ้นจากอะไรสักอย่างทำให้น้ำตาควรจะได้ไหลรินอย่างที่มันควรจะได้ทำหน้าที่สะท้อนอารมณ์ของมนุษย์โดยไม่ถูกหักห้ามฝืนธรรมชาติแต่อย่างใด
WATCH
ฝีมือการถ่ายภาพของ Maud Fernhout
ชายหนุ่ม 18 คนคือแบบในกายถ่ายภาพเซตนี้ ทั้งหมดต้องบอกเล่าผ่านเรื่องราวว่าน้ำตานี้เกิดจากอะไร หรือน้ำตาสามารถบ่งบอกอะไรได้บ้าง ในเมื่อหลายยุคก่อนหน้านี้มองว่าน้ำตาคือสัญลักษณ์แห่งความอ่อนแอ และความอ่อนแอนี้ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับผู้ชาย แนวคิดเหมารวมแบบนี้ทำให้คนยิ่งอยากปลดปล่อยอารมณ์ออกมาเต็มที่กว่าเดิม ชายหนุ่ม 18 จึงกลายเป็นต้นแบบให้เราเห็นผ่านเลนส์กล้องของเมาด์ว่าพวกเขาสามารถปลดปล่อยอารมณ์และยังเต็มเปี่ยมด้วยความแมสควิลีนได้อย่างไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แต่ละคนจะมีมุมมองต่อน้ำตาอย่างไรบ้าง ติดตามได้ที่ด้านล่างนี้เลย
JOB (18): “สำหรับผมการร้องไห้ไม่ใช่การแสดงถึงความอ่อนแอ เมื่อผมร้องไห้ผมสามารถยอมรับความรู้สึกและสามารถเดินหน้าต่อได้ มันทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น”
ADITYA (19): “สำหรับผมการร้องไห้ไม่ใช่การแสดงถึงความอ่อนแอ เมื่อผมร้องไห้ผมสามารถยอมรับความรู้สึกและสามารถเดินหน้าต่อได้ มันทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น” (ประโยคเดียวกับคนก่อนหน้าตามอ้างอิงของเจ้าของผลงาน)
JIP (20): “การร้องไห้ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์เป็นไม่กี่อย่างที่แยกพวกเราออกจากสัตว์ แต่ฉันก็ยังกระตุ้นให้เกิดการเก็บซ่อนธรรมชาติของพวกเรา(การแสดงออกทางอารมณ์) เพราะเหตุผลด้านโครงสร้างของสังคม(ที่มองการร้องไห้เป็นเรื่องอ่อนแอโดยเฉพาะสำหรับผู้ชาย)”
MILOS (20): “น้ำชำระล้างกายเช่นไร น้ำตาก็ชำระล้างจิตวิญญาณเช่นนั้น”
MAU (19): “โควตเดียวที่เคยอยู่บนผนังห้องฉันมาจากรายทีวีรายการโปรด;
Q: มันเจ็บไหม
A: เจ็บอย่างสวยงาม
สองประโยคนี้สะท้อนให้เห็นว่าการร้องไห้ไม่ใช่การแสดงออกถึงความอ่อนแอ แต่มันคือช่วงเวลาที่ใครบางคนอ้าแขนรับความรู้สึกตัวเองซึ่งเป็นสัญญาณของความเข้มแข็งและควรได้รับการเฉลิมฉลอง
LOUIS (19): “ผมคิดว่าการร้องไห้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่มีใครควรต้องเก็บซ่อนความรู้สึกตัวเองเพื่อพยายามอยู่ในแบบแผนที่กำหนดให้กับเพศใดเพศหนึ่ง”
BRAM (19): “ผู้ชายก็ร้องไห้ได้ ผมหมายถึงพวกเราล้วนเกิดมาก็ร้องไห้เหมือนกันหมด ทำไมต้องกลัวที่จะร้องไห้ในช่วงชีวิตที่เหลือหลังจากนั้นล่ะ”
STEFANO (19): “มันน่ามหัศจรรย์มากที่จะคิดว่าน้ำตาหยดหนึ่งเกิดขึ้นได้อย่างไร น้ำตาหยดหนึ่งจากตาของเรา โลกแห่งความรู้สึก อารมณ์ และเหตุผลถูกกลั่นออกมา มันเหมือนกับว่าน้ำตาหยดหนึ่งนั้นคือการแสดงการดำรงอยู่ของเรา”
PIETER (18): “เมื่อคุณคิดถึงมัน มันแปลกที่เรามักจะเก็บซ่อนน้ำตาเราเอาไว้ ทั้งๆ ที่มันเป็นปรากฏการณ์ของมนุษย์อันน่าหลงใหล”
BUCKSMINTER (20): “เมื่อใดก็ตามที่ผมร้องไห้ ฉันช่วยอะไรตอนนั้นไม่ได้แต่ฉันก็ยิ้มได้หลังจากนั้น เพราะน้ำตามันสร้างความตระหนักถึงระดับอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงและความเห็นอกเห็นใจที่มีให้เราตลอดเวลา มันคือการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก การลบล้างอะไรบางอย่าง มันคือการรับรู้ที่เกิดขึ้นเองจากตัวเรา เกี่ยวกับบางอย่างที่เชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่สร้างตัวตนของเราอย่างลึกซึ้ง มันไม่ต่างอะไรจากความสวยงาม” (เราเชื่อมโยงการร้องไห้เข้ากับเรื่องราวลึกๆ ภายในใจเสมอ มันคือสิ่งที่สร้างให้เราเป็นเราในวันนี้นั่นเอง)
TOBIAS (18): “ผู้คนกำหนดให้การร้องไห้เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับความเศร้าเท่านั้น ไม่สนใจแบบแผนอื่น โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าการร้องไห้เป็นเรื่องน่าอายหรือเป็นปัญหา จนกระทั่งมันเป็นปัญหาเมื่อผมต้องโพสต์ถ่ายภาพนาน 2 ชั่วโมงในอารมณ์เศร้าและจริงจัง ผมทำได้แค่ 8 นาทีและที่เหลืออีก 112 นาทีผมก็หัวเราะออกมาเสมอ นั่นล่ะเป็นปัญหา”
PAVLO (19): “มันทำให้ผมควบคุมตัวเองไม่ได้ ความรู้สึกวิ่งผ่านหน้าอก สร้างความอึดอัดให้กับคอของผม มันบี้ผม บิดผม ทำให้ผมต้องคุกเข่าจำนน ผมเกลียดมันและผมพยายามจะคืนทุกอย่างกลับไป ในเมื่อความรู้สึกเหมือนเอนดอร์ฟีนระเบิดในร่างกาย ทำไมมันถึงเจ็บนัก แล้วทำไมถึงจะร้องไห้ไม่ได้”
ARFOR (19): “บางคนหัวเราะ บางคนก็ร้องไห้ มันจะผิดอะไรในเมื่อที่จะแสดงออกตามความรู้สึกที่ถูกต้อง”
KEVIN (19): “เสียงร้องไห้ของผู้หัวเราะ และเสียงหัวเราะของการร้องไห้ การแสดงออกทางอารมณ์ทั้ง 2 รูปแบบเกี่ยงโยงใกล้กันมากจนทำให้ผมกลัว มันเกี่ยวกันราวกับว่าผู้คนต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเศร้าและความสุขเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ แต่ละคนต้องเจออะไรแบบนี้หมด โลกเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ความเจ็บปวด และความสุข มันน่าพอใจมากที่มีการร้องไห้เพื่อให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ และคนแต่ละคนก็ควรจะได้รู้สึกเชิงนั้นได้ในแบบของตัวเอง”
FLORIAN (19): “ผมไม่ได้เล็งเห็นประเด็นในการร้องไห้ ผมเข้าใจว่ามันสามารถช่วยบรรเทาได้ แต่ผมอยากจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่า”
JOCHEM (23): “การแสดงตัวตนของตัวเองไม่ใช่สัญญาณแห่งความอ่อนแอแต่กลับเป็นพลังงานอันยิ่งใหญ่”
FRANCO (19): “การร้องไห้เป็นสิทธิของทุกคน ไม่ว่าจะชายหรือหญิง”
GIJS (19): “การร้องไห้เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่สวยงามที่สุดที่เราสามารถทำได้ และไม่ต้องกลัวที่จะร้องไห้ แต่อย่างไรก็ตามทำมันอย่างพอเหมาะเพื่อรักษาความงดงามของมันเอาไว้”
ทั้งหมดทั้งมวลจะเห็นว่าแต่ละคนแต่ละความคิด ทว่าทุกคนมองตรงกันว่าการร้องไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่การแสดงอารมณ์ทางอารมณ์ที่จำกัดไว้สำหรับเพศใดเพศหนึ่ง น้ำตามีความสวยงามเสมอ มันสะท้อนเบื้องลึกในใจออกมาได้อย่างไม่ต้องปริปรากเอ่ยคำใดๆ เพราะฉะนั้นในเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ของโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหา ทุกคนมีปัญหาหนักของตัวเอง ถ้ามันรู้สึกอัดแน่นไปด้วยอารมณ์ไม่ว่าจะสนุกสนาน มีความสุข มีความทุกข์ โศกเศร้า หรือแม้แต่เจ็บปวด ปล่อยมันออกมาตามธรรมชาติ การบีบรัดตัวเองอาจยิ่งทำให้สภาวะต่างๆ แย่ลง คนภายนอกเองก็ต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง ในเมื่อน้ำตาไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความอ่อนแอใครก็สามารถแข็งแกร่งได้แม้จะร้องไห้ไม่ว่าชายหรือหญิง เมื่อน้ำตาหยดแรกไหลออกจาดวงตามันพิสูจน์แล้วจริงๆ ว่าน้ำใสๆ ถูกกลั่นออกมาอออกเบื้องลึกของแต่ละคนอย่างแท้จริง
ข้อมูล: Maud Fernhout และ Yours
ภาพ: Courtesy of Maud Fernhoutป
WATCH