FASHION

ตำนานแห่งราชวงศ์อังกฤษ! เปิดประวัติฉลองพระองค์วันขึ้นครองราชย์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2

     “ความรุ่งโรจน์” คงจะเป็นบัญญัติศัพท์เดียวที่เหมาะสมที่สุดกับฉลองพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ปี 1953 ซึ่งในตอนนั้น พระองค์มีพระชนมายุได้เพียง 25 พรรษาเท่านั้น ที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตโดยฝีมือของช่างอาภรณ์ประจำราชวงศ์อังกฤษอย่าง Norman Hartnell ที่พระองค์ได้ทรงสวมใส่ และเสด็จพระราชดำเนินไปตามทางเดินของวิหารเวสต์มินสเตอร์ จนกลายเป็นภาพอันตราตรึงที่ถูกถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ไปทั่วโลก ความรุ่มรวยแห่งพระราชอำนาจของประมุขแห่งเครือจักรภพ ฉายแววผ่านฉลองพระองค์ที่ถูกจารึกไวับนหน้าประวัติศาสตร์โลกว่างดงามที่สุดอีกชุดหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในชุดเปลี่ยนโลกก็ว่าได้...

พระบรมสาทิสลักษณ์ และฉลองพระองค์จริงของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

 

     เป็นที่ทราบกันดีว่านอร์แมน ฮาร์ตเนล ช่างออกแบบ และตัดเย็บอาภรณ์ประจำราชวงศ์อังกฤษฝีมือดีผู้นี้ มักจะออกแบบ และรังสรรค์อาภรณ์ที่สวมใส่ได้ง่าย สะดวกสบาย และเป็นไปตามกาลเทศะ ให้กับเหล่าเชื้อพระวงศ์อยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับฉลองพระองค์เมื่อครั้งพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับการรังสรรค์ฉลองพระองค์สำคัญนี้จากผ้าซาตินสีขาว ปักประดับไปด้วยไหมทองคำ และเงิน ผสมกับชิ้นผ้าไหมสีพาสเทล ก่อนที่จะตกแต่งด้วยมุก และคริสตัล ทำให้ฉลองพระองค์ชุดนี้มีความแวววาวด้วยประกายของเหล่าชิ้นจิวเวลรี่ และเป็นที่จับตามองตั้งแต่วินาทีแรกที่พระองค์ทรงก้าวลงจากราชรถ Gold State Coach ท่ามกลางผู้คนกว่า 3 ล้านคนที่มารอรับเสด็จในวันนั้น พร้อมสวมทับด้วยฉลองพระองค์ครุยลากยาวที่ต้องมีข้าราชบริพารเดินตามถึง 7 นายเพื่อยกชายผ้า เสริมให้ฉลองพระองค์ดังกล่าวกลายเป็นที่โจทก์ขานไปทั่วโลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

1 / 5

รายละเอียดการเย็บปักของฉลองพระองค์ในตำนาน โดยฝีมือของนอร์แมน ฮาร์ตเนล / ภาพ : AFP


2 / 5

รายละเอียดการเย็บปักของฉลองพระองค์ในตำนาน โดยฝีมือของนอร์แมน ฮาร์ตเนล / ภาพ : AFP


3 / 5

รายละเอียดการเย็บปักของฉลองพระองค์ในตำนาน โดยฝีมือของนอร์แมน ฮาร์ตเนล / ภาพ : AFP


4 / 5

รายละเอียดการเย็บปักของฉลองพระองค์ในตำนาน โดยฝีมือของนอร์แมน ฮาร์ตเนล / ภาพ : AFP


5 / 5

รายละเอียดการเย็บปักของฉลองพระองค์ในตำนาน โดยฝีมือของนอร์แมน ฮาร์ตเนล / ภาพ : AFP




WATCH




     ความน่าสนใจอีกประการคือ ในช่วงที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ ประเทศอังกฤษในฐานะประเทศผู้นำแห่งเครือจักรภพ กำลังตกอยู่ในภาวะรัดเข็มขัดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ทว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งจัดขึ้นที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ครั้งนั้นก็เป็นไปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ เช่นคำกล่าวของเจ้าหญิงมากาเร็ตผู้เป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่า “พิธีราชาภิเษกเป็นเหมือนเวลาของนกฟินิกซ์ ทุกอย่างเกิดขึ้นมาจากเถ้าถ่าน... แล้วจะดีขึ้น และดีขึ้นเรื่อยๆ” อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งราชวงศ์อังกฤษ ที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก อันเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์อังกฤษในยุคใหม่ ที่สื่อมวลชนสามารถเข้าถึงเรื่องราวภายในพระราชวังได้มากขึ้น ทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ นับเป็นพระราชอัจฉริยภาพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงเล็งเห็นถึงสถานการณ์ของโลกที่กำลังจะดำเนินไป กระทั่งในปัจจุบันราชวงศ์อังกฤษ ยังนับเป็นอีกหนึ่งราชวงศ์ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากที่สุดทั่วโลก

ภาพ : Cecil Beaton

 

     ไม่เพียงแค่ฉลองพระองค์เท่านั้นที่กลายเป็นที่พูดถึงจวบจนทุกวันนี้ หากพระมหามงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนั้น ก็ได้กลายเป็นตำนานเช่นกัน นั่นคือ Imperial State Crown ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ในรายการสารคดีของบีบีซีเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา โดยทรงเล่าถึงพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตตดังกล่าว ที่ประกอบไปด้วยเพชร 2,868 เม็ด ไพลิน 17 เม็ด มรกต 11 เม็ด และไข่มุกอีกกว่าหลายร้อยเม็ด (ซึ่งรวมถึงไข่มุกจำนวน 4 เม็ดจากพระกุณฑลของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 และทับทิมแบล็กพรินซ์) ที่มีน้ำหนักรวมกันทั้งสิ้น 1.28 กก. ซึ่งพระองค์ทรงต้องสวมใส่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในพระราชพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาเมื่อปี 1960 ว่า “พระมหามงกุฎมีน้ำหนักมาก จึงทำให้เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสต่อองค์ประชุม จะต้องทรงยกกระดาษขึ้นมาอ่าน ไม่สามารถก้มได้ เพราะไม่เช่นนั้น พระศอของพระองค์อาจหักได้” ทว่าพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตตนั้นก็นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่กษัตริย์อังกฤษจะทรงใช้สวมในตอนเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสมอมา

1 / 5

พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตต / ภาพ : Wiki Pedia


2 / 5

ภาพถ่ายในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสนมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 / ภาพ : Google Culture


3 / 5

ภาพถ่ายขาว-ดำ ขณะที่ข้าราชบริพาร เดินตามสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อบกชายผ้าของฉลองพระองค์ครุย ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปตามทางเดินของวิหารเวสต์มินสเตอร์ / ภาพ : Royal Memo


4 / 5

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประยืนข้างกับเจ้าชายฟิลิปส์ / ภาพ : Google Culture


5 / 5

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงสวมพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตตอีกครั้งในปี 2019 / ภาพ : BBC


     โดยมงกุฎอิมพีเรียลสเตตปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในปี 1937 เป็นครั้งแรก และยังมีความเชื่อว่า สมเด็จพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 แห่งอังกฤษยังทรงเคยสวมใส่ที่ยุทธการอาแจ็งคูรต์ (Battle of Agincourt) ซึ่งเป็นยุทธการในสงครามร้อยปี (Hundred Years' War) ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1415 อีกด้วย จึงนับเป็นพระมหามงกุฎที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน นอกจากนี้จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถ่ายโดยฝีมือของช่างภาพแฟชั่นชาวอังกฤษ Cecil Beaton ยังเผยให้เห็นลูกโลกทองคำ และคทาในพระหัตถ์ทั้งสองข้างของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อันแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจ และการสำเร็จเป็นประมุขแห่งเครือจักรภพโดยสมบูรณ์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานสัมภาษณ์แก่สำนักข่าวบีบีซศี ในสารคดีชุดพิเศษ เมื่อปี 2018 / ภาพ : BBC    

 

     ถ้าจะกล่าวว่า ชุดแต่งงานของไดอาน่า อดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์คือชุดในตำนานของราชวงศ์อังกฤษในยุค 1980s แล้ว ฉลองพระองค์ในพิธีบรมราชาภิเษกแห่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็นับได้ว่าเป็นชุดในตำนานแห่งราชวงศ์อังกฤษที่มาก่อนกาล ที่ควรได้รับการยกย่อง และบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์โลก ไม่เพียงเป็นชุดที่ตัดเย็บประณีต ที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นจากช่างออกแบบอาภรณ์ชื่อดังประจำราชวงศ์เท่านั้น หากยังเป็นชุดที่แสดงถึงพลัง ความหวัง และพลวัติการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค 1950s ได้อย่างดี จนกลายเป็นชุดต้นแบบที่ราชวงศ์ไหนก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้

คลิปวิดีโอขนาดสั้นทางช่องบีบีซี ขณะที่พระองค์ได้ตรัสถึงพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตต

WATCH

คีย์เวิร์ด: #QueenElizabeth2 #RoyalFamily