FASHION

เจาะลึกทุกเรื่องราว! กว่าจะมาเป็นแบรนด์เครื่องหนัง PIPATCHARA อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย

โว้กพาไปพูดคุยถึงเรื่องราวการเดินทางของแบรนด์ PIPATCHARA กับเพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา ผู้ก่อตั้งแบรนด์คนไทย

     ในโลกอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ มีแบรนด์แฟชั่นเกิดขึ้นมากมาย หากจะมีสักกี่แบรนด์ที่พร้อมจะชูโรงความเป็นแบรนด์ไทยได้เต็มขั้น เฉกเช่นเดียวกันกับแบรนด์ PIPATCHARA อีกหนึ่งแบรนด์เครื่องหนังฝีมือดีไซเนอร์ชาวไทยที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ตัวของสินค้ากระเป๋าหนังหลากหลายรูปแบบที่สะดุดตาเท่านั้น หากเรื่องราวเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นกระเป๋าหนึ่งใบในนามของ PIPATCHARA ก็ไม่ง่าย และแฝงไปด้วยเรื่องราวมากมายเช่นเดียวกัน…

     ครั้งนี้โว้กจึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับแบรนด์ PIPATCHARA ผ่านการพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ คุณเพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PIPATCHARA จากประสบการณ์หลายขวบปีที่ Ecole de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne ณ กรุงปารีส อีกทั้งยังได้เคยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกมาแล้วทั้ง Givenchy และ Chloé พร้อมด้วย ทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา พี่สาวผู้ร่วมอุดมการณ์ ถึงเรื่องราวการเดินทางของ PIPATCHARA ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา และการต่อสู้ เพื่อช่วยเหลือชุมชนในเขตพื้นที่ห่างไกลให้มีอาชีพเสริม พร้อมทั้งยืนหยัด เพื่อให้คนทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของคนไทย

1 / 8

เจนี่ อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชร กับกระเป๋ารุ่น SHAM Bucket Bag จากแบรนด์ PIPATCHARA


2 / 8

ภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ตในกรุงปารีส และกระเป๋าจากแบรนด์ PIPATCHARA


3 / 8

อีกหนึ่งไอเท็มสำคัญอย่างรองเท้า RAMAL Sandle


4 / 8

อุปกรณ์ และเครื่องมือสำหรับสร้างงานแห่งแบรนด์ PIPATCHARA


5 / 8

เส้นสายการถักทอแบบ Macramé ในแบบของ PIPATCHARA


6 / 8

กระเป๋ารูปทรง Tote Bag ที่แสดงให้เห็นถึงการถักทอแบบ Macramé ชัดเจน


7 / 8

เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PIPATCHARA / ภาพ : p_patchara


8 / 8

(ซ้าย) เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา และ (ขวา) ทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา / ภาพ : p_patchara


     ทำไม PIPATCHARA จึงเลือกไอเท็มกระเป๋าให้เป็นสินค้าหลักของแบรนด์

     "เรารู้ตัวว่า เราชอบวัสดุหนังมานานมากแล้ว แต่ว่าพอกลับมาเมืองไทย การทำเสื้อผ้าจากหนังมันก็น่าจะไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่ ด้วยเพราะลักษณะภูมิอากาศของประเทศที่ไม่ได้เอื้อให้คนสามารถแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหนังมากนัก และเราก็คิดว่ากระเป๋าเป็นสินค้าที่ทุกคนต้องใช้ และจำเป็นในอุตสาหกรรมแฟชั่น ดังนั้นเราจึงคิดว่าการเอาวัสดุหนังมาทำเป็นกระเป๋าน่าจะเหมาะกว่า"



WATCH




     แรงบันดาลใจในแต่ละคอลเล็กชั่นของ PIPATCHARA คืออะไร

     "ตอนนี้  PIPATCHARA เปิดมาได้ 6 เดือนแล้ว มีทั้งหมด 2 คอลเล็กชั่น ซึ่งหลักๆ แล้วจะเน้นที่ตัวกระเป๋า แต่ก็จะมีไอเท็มแทรกเข้ามาด้วย อย่างรองเท้า สำหรับเรื่องของแรงบันดาลใจหลักๆ ในการคิดคอลเล็กชั่นที่ผ่านมา จะมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกเลยก็คือ การท่องเที่ยว ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่ไปเที่ยว เราจะได้แรงบันดาลใจกลับมาเยอะมาก ยกตัวอย่างที่เราได้ไปเที่ยวโมรอกโคมา ก่อนที่จะค้นพบว่างานถักแบบ Macramé ที่เรานำมาใช้เป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญของแบรนด์ PIPATCHARA นั้น มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอาหรับ เราก็ยังได้ชื่อในแบบของโมรอกโคมาตั้งชื่อกระเป๋าแต่ละแบบในคอลเล็กชั่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น SHAM Bucket Bag, MAL mini wallet, SAMA box bag หรือแม้แต่ RAMAL sandle"

      "แรงบันดาลใจอีกอย่างคือ เราต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชน ที่ในทุกๆ คอลเล็กชั่นเราอยากจะส่งคืนความสุขให้กับคนส่วนหนึ่ง จนทำให้เกิดจุดเด่นอีกอย่างก็คือ ทุกอย่างถูกทำขึ้นในไทย โดยคนไทย เพื่อที่จะทำให้โลกใบนี้เห็นว่า คนไทยก็มีศักยภาพสามารถทำได้จริงๆ ดังนั้นเราจึงภูมิใจทุกครั้งที่ได้บอกคนอื่นว่าแบรนด์ PIPATCHARA นี้เป็นของคนไทยอย่างแท้จริง"

     ยากแค่ไหนกว่าที่ PIPATCHARA จะมาถึงจุดนี้

     "คอลเล็กชั่นแรกที่ออกมา หลายคนยังไม่เข้าใจในเรื่องของราคา เพราะหลายคนก็จะไม่รู้ว่า กว่าจะมาเป็นกระเป๋า PIPATCHARA ใบหนึ่งต้องผ่านอะไรมาบ้าง เราใช้หนังเกรดเยี่ยมจากประเทศอิตาลี และใช้งานฝีมือในการถักทอโดยแรงงานคนไทยแบบใบต่อใบ ทว่าเราไม่ได้มีเวลาที่มานั่งให้สัมภาษณ์ หรือพูดคุยให้คนอื่นฟังแบบนี้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าช่วงแรกนั้น มันไม่ง่ายที่จะทำให้คนเข้าใจในเรื่องของราคา แต่สุดท้ายคนก็เข้าใจได้ในที่สุด"

1 / 4

กระเป๋ารุ่น SHAM Bucket Bag จากแบรนด์ PIPATCHARA / ภาพ : pipatchara.com


2 / 4

กระเป๋ารุ่น SAMA Box Bag จากแบรนด์ PIPATCHARA / ภาพ : pipatchara.com


3 / 4

รองเท้า RAMAL Sandle จากแบรนด์ PIPATCHARA / ภาพ : pipatchara.com


4 / 4

กระเป๋ารุ่น Flous Wallet จากแบรนด์ PIPATCHARA / ภาพ : pipatchara.com


     คอลเล็กชั่นล่าสุดของ PIPATCHARA มีที่มาอย่างไร

     "สำหรับคอลเล็กชั่น PIPATCHARA Holiday 2019 นี้ เราเริ่มจากที่เราได้เดินทางไปที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้เจอกับพี่เกรท ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ SATI (สติ) ก่อนที่พี่เขาจะพาเราไปรู้จักกับกลุ่มครูที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น เป็นกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับงานฝีมืออยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่มีรายได้น้อย เราก็เลยลองเอาการถักทอเชือกแบบ Macramé ตัวนี้ไปสอนให้เขาทำดู เราเริ่มจากเส้นสาย และลายง่ายๆ ที่เป็นพื้นฐานก่อนในอันดับแรก ซึ่งปรากฏว่าพวกพี่เขาสามารถทำได้ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นครูผู้ชาย หรือครูผู้หญิง หลังจากนั้นเราจึงเริ่มลองเอาลายใหม่ๆ ไปสอน และพวกเขาก็ทำออกมาได้ดีมากๆ เช่นกัน ซึ่งเรามองว่ามันเป็นทักษะงานฝีมือที่สืบทอดต่อกันมาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ จากตรงนี้จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา เกิดเป็นตัวคอลเล็กชั่นฮอลิเดย์ตัวนี้ขึ้นมา ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง PIPATCHARA x JITTRINEE"

     "ในคอลเล็กชั่นนี้ ลายถัก Macramé ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวแม่ฮ่องสอนอย่างแท้จริง ทั้งรูปร่างของดอกไม้ และเส้นสายที่เหมือนงานสานที่เราสามารถพบเห็นได้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรืองานคราฟต์ต่างๆ ส่วนโทนสีที่ทางแบรนด์ได้เลือกมาก็จะสื่อถึงภูเขา ท้องฟ้า ป่า ทรายดินแดง โดยคอลเล็กชั่นนี้จะมีทั้งหมด 6 สี ซึ่งจะมีทั้งหนังกลับ และหนังธรรมดา อีกทั้งเรายังจะได้เห็นฝีมือของคนไทยเต็มที่ ยกตัวอย่าง SHAM bucket back ที่ตัวสายกระเป๋าทั้งหมดถูกถักทอขึ้นโดยฝีมือของครูที่แม่ฮ่องสอนหนึ่งร้อยเปอร์เซนต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยากจะช่วยให้กลุ่มคนชุมชนนี้มีรายได้เสริมมากขึ้นกว่าเดิมด้วย"

     สิ่งที่ PIPATCHARA คาดหวังจากคอลเล็กชั่นนี้ และคอลเล็กชั่นที่ผ่านมา

     "เราแค่อยากให้คนเข้าใจว่า PIPATCHARA ได้ทำอะไรมาบ้าง แล้วก็อยากให้คนเข้าใจว่างานของเราไม่ใช่แค่งานกระเป๋าธรรมดา มันมีอะไรซ่อนอยู่ในส่วนของเบื้องหลังมากกว่านั้น ว่าเราได้ช่วยใครไว้บ้าง หรืออย่างน้อยๆ ก็คือความสุขที่เราได้ให้พวกเขาไป และอีกอย่างที่เราคาดหวังจากคนที่มองเห็นสินค้าเราก็คือ เราอยากให้พวกเขาเห็นว่า PIPATCHARA ไม่ได้ทำแค่กระเป๋า หากมันคือการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างหนึ่ง"

     หลังจากที่ลงสนามธุรกิจแฟชั่นมาถึง 6 เดือน PIPATCHARA มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

     "เรื่องของการประสบความสำเร็จมันน่าจะอยู่ที่ใจ ซึ่งเราคิดว่าตลอดหกเดือนที่ผ่านมานั้น เราประสบความสำเร็จแล้ว หากมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน ว่าเราจะต้องมีเงินเท่าไหร่ในบัญชีธนาคาร หรือแบรนด์ต้องดังมากขนาดไหน แต่ที่มากกว่านั้นคือ เราสามารถขึ้นไปช่วยคนบนแม่ฮ่องสอนได้จริงๆ แล้ว เราได้สร้างอาชีพเสริมให้กับกลุ่มคนได้ ได้พาฝีมือของคนเหล่านี้ไปสู่สายตาชาวโลกได้ สิ่งนี้แหละที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่ต่อจากนี้เราก็ต้องพัฒนาแบรนด์ต่อไปเรื่อยๆ ให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นไปอีกเช่นกัน"

WATCH

คีย์เวิร์ด: #ThaiDesigner #PIPATCHARA