FASHION

ผ้าไหมไทยกับอินฟลูเอนเซอร์คนดัง! ทำไม “แพรี่พาย” ถึงลุกขึ้นมาใส่ผ้าไทยเดินทางไปทั่วโลก

เธอกำลังทำหน้าที่ในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ผลักดันผ้าไทยที่ไม่ใช่แค่ในกลุ่มผู้ติดตามกว่าล้านคนของเธอเท่านั้น

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คนไทยไม่ใส่ผ้าไทย คำถามนี้ตอบยากเมื่อมองถึงบริบทรอบตัวของคนรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับการไม่เคยสัมผัสผ้าไทยเลยในชีวิต ครั้งหนึ่งธีระ ฉันทสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ T-ra ผู้ทุ่มเทเวลาในชีวิตเพื่อถ่ายทอดวิชาทางแฟชั่นให้กับชาวบ้านกลุ่มชุมชนทอผ้ากล่าวไว้ว่า “เรามองว่ามันคือหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่มีความสามารถและความถนัดแตกต่างกันออกไป อยากให้ทุกคนช่วยกันทำหน้าที่ตามความรู้ความสามารถของตัวเองเท่าที่ตัวเองจะทำได้” หากเราจะมองว่านี่คือภารกิจเพื่อชาติ ธีระในฐานะดีไซเนอร์ได้ถ่ายทอดความรู้ที่มีให้ชาวบ้านนำไปพัฒนาผ้าไทยให้อยู่ยงคงกระพัน ส่วนเธอคนนี้ “แพร-อมตา จิตตะเสนีย์” หรือที่คนทั่วประเทศรู้จักกันในนาม “แพรี่พาย” เธอกำลังทำหน้าที่ในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ในการผลักดันผ้าไทยที่ไม่ใช่แค่ในกลุ่มผู้ติดตามกว่าล้านคนของเธอเท่านั้น แต่ผ้าไทยกำลังเป็นที่กล่าวขวัญในทุกที่ที่เธอไปเยือน รวมถึงในแฟชั่นโชว์แบรนด์ดังระดับโลกที่กรุงปารีส

 

แพร-อมตา จิตตะเสนีย์ (แพรี่พาย) 

 

“เริ่มจากปีนี้แพรตั้งใจจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่มีค่ามากขึ้น รวมถึงให้ค่ากับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวมากขึ้น การได้เดินทางไปทั่วโลกถือเป็นประสบการณ์ชีวิตอันล้ำค่า หลายปีที่ผ่านมาแพรเดินทางปีละ 25 ครั้ง ทั้งทำแบ็กสเตจแฟชั่นวีก, บางทีบินไปประชุมที่แอลเอ อยู่วันเดียวแล้วกลับเลย บินไปงานเปิดตัวเครื่องสำอาง ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ และครอบครัว ไปพบปะและสอนแต่งหน้ากับแฟนๆ ที่อยู่เมืองนอก เดินทางไปถ่ายแบบ และอีกหลายอย่าง สรุปว่าเหนื่อยมาก เราใช้ร่างกายในอนาคตของเราเยอะเกินไป มีเวลาให้ครอบครัวน้อยเกินไป แม้กระทั่งเวลาออกกำลังกายยังไม่มีเลย จนกระทั่งปีที่แล้วแพรได้มีโอกาสไปสอนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง” อมตาเล่าถึงการเปลี่ยนหมุดหมายครั้งสำคัญเพื่อศึกษารากเหง้าของตนเอง

 

 

“พอสอนเสร็จตอนนั้นแพรมีเวลาอีกหนึ่งวัน เรายังไม่เคยไปเที่ยวขอนแก่นมาก่อนเลย ประกอบกับว่ามีแฟนคลับเอาผ้าไหมไทยมาให้ พอเราเห็นก็เกิดอยากจะไปที่หมู่บ้านที่เค้าทอผ้ากัน ระหว่างทางมันสนุกมากจริงๆ ได้เห็นทุ่งนา เห็นควาย ซึ่งเอาจริงๆ คนขับก็ไม่รู้หรอกว่าเค้าทอผ้ากันที่ไหน เราก็ไปกันมั่วๆ เป็นโร้ดทริปที่สนุกมาก ขับมาเรื่อยๆ จนเห็นคุณป้าท่านหนึ่งกำลังสาวไหมที่กลุ่มทอผ้าบ้านหัวฝาย เท่านั้นแหละเราก็วิ่งลงไปทักทาย แล้วเค้าก็พาเราไปเลือกผ้า เราอุดหนุนเป็นผ้าสีเทาราคา 3 หมื่น ตกใจมาก! เพราะเราไม่รู้จักว่าผ้าไหมไทยคืออะไร แล้วทำไมแพง

 

 

“ตอนไปเลือกผ้าเราก็นั่งคุยกับแม่ (ช่างทอเก่าแก่ของกลุ่มทอผ้าบ้านหัวฝาย) บอกว่าเราเป็นช่างแต่งหน้า ตอนนั้นแพรพกลิปสติกสีเมทัลลิกไปด้วยเลยเอามาแต่งตา แก้ม ปากแม่ เราไม่เคยคิดเลยว่าจะเห็นผู้ใหญ่ร้องไห้ แม่บอกว่าเค้าดีใจมากเลย เกิดมาไม่เคยแต่งหน้า หลังจากนั้นแม่ก็ลุกพาพวกเราไปทัวร์รอบหมู่บ้าน พาไปดูใบหม่อน เข้าบ้านนี้ ออกบ้านโน้น ความจริงคืออยากไปให้เพื่อนๆ แม่ได้เห็นแม่สวย (หัวเราะ)”

 

 

พักหลังมานี้เราเห็นแพรี่พายไปเที่ยวจังหวัดต่างๆ ในไทยเยอะขึ้น “แพรมานั่งมองตัวเองแล้วก็คิดว่า เราไปเห็นอะไรมาก็เยอะ แต่พอพูดถึงประเทศของเราเอง เรายังตอบไม่ค่อยได้เลย เลยบอกกับตัวเองว่าไม่ได้แล้ว เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองไทยให้ได้มากที่สุด อยากจะไปทุกจังหวัด อยากไปเห็นว่าแต่ละจังหวัดมีดีอะไร อยากไปเห็นว่าชุมชนเขาอยู่กันอย่างไร อะไรคือคำว่าอยู่อย่างพอเพียง ปีนี้แพรเลยวางแผนไปสอนตั้งแต่เหนือถึงใต้ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ อยากไปสอนในเรื่องของการกรูมมิ่ง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน นักศึกษา อยากแชร์ประสบการณ์ และพัฒนาสังคมการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ๆ”

 

 

หลังจากนั้นเธอจึงเริ่มพูดถึงภารกิจที่เราขอเรียกว่าเป็นภารกิจเพื่อชาติในการผลักดันผ้าไทยสู่สายตาโลกโดยเริ่มต้นจากความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติตนเอง “ตอนไปดูโชว์ Dior ที่ปารีสแฟชั่นวีกเราเอาผ้าไหมที่ได้มาจากขอนแก่นมาตัดเป็นสูท แล้วใส่คู่กับกระโปรงสีเงินเมทัลลิก สวมกับรองเท้า Nike รุ่น Air Max ซึ่งออกมาสวยมาก เหมือนช่วยเพิ่มความภูมิใจให้กับตัวเอง มีคนฝรั่งเศสเดินมาชมว่าเท่มาก หลังจากนั้นไม่ว่าจะไปประเทศไหนแพรก็จะเลือกผ้าให้แมตช์กับสถานที่ที่ไป เช่นไปดูมินเนียนที่ญี่ปุ่นแพรจะใส่ผ้าไทยสีเหลือง (หัวเราะ) ไปชัยปุระแพรก็หาผ้าไทยสีชมพู ส่วนตอนไปเกาหลีแพรก็ใส่ผ้าไทยเพราะอยากจะบอกว่าฉันทีมไทยแลนด์นะจ๊ะ พอยิ่งได้ใส่บ่อยๆ เข้ามันทำให้หลงผ้าไทยไปเลยค่ะ จากนั้นก็เริ่มศึกษาลักษณะของผ้าไทยในภูมิภาคต่างๆ ไปน่านต้องไปดูผ้าแบบไหน อยากไปดูดอกบัวต้องใส่ผ้าอะไร”

 

 

 

 

หลังพบรักกับผ้าไทย อมตาสารภาพว่าเธอเปลี่ยนไปมาก “เมื่อก่อนเวลาเลือกซื้อเสื้อผ้าเราก็จะคิดแค่ว่าเลือกที่สวยทันสมัยตามเทรนด์ ซีซั่นใหม่มาเราก็ซื้อ บางชุดใส่ไม่กี่ครั้งก็เบื่อ แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราให้คุณค่ากับทุกอย่างที่เราทำ เราเป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากจะอนุรักษ์และสืบสานผ้าไทยตามพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทยและอาภรณ์ของสตรีไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมามากกว่าครึ่งศตวรรษ ให้คนไทยได้ภูมิใจว่าเรามีศิลปวัฒนธรรมอันงดงามเป็นของตนเอง ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง เราจะละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงทำไว้ จะละทิ้งสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ได้อย่างไร”

 

 

เสน่ห์ของผ้าไทยคือความเป็นหนึ่งเดียวในโลก เป็นความภูมิใจที่ได้ครอบครองศิลปะบนผืนผ้าที่ไร้ขีดจำกัด ผ้าไทยของแต่ละท้องถิ่นมีความงาม มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่ละลวดลายจะแสดงออกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ผ้าแต่ละผืนมีเรื่องเล่าและความเป็นมา กว่าจะได้ผ้าหนึ่งผืนช่างทอต้องมีความวิริยะอุตสาหะ ยิ่งถ้าเราได้ฟังเรื่องราวของผ้า บวกกับได้ไปเห็นกับตาว่าผ้าแต่ละผืนถูกผลิตอย่างไร มันสุดยอดมากจริงๆ ไม่เหมือนใครเลย สิ่งนี้ทำให้แพรหลงรักและภูมิใจทุกครั้งที่ได้สวมใส่ผ้าไทย”

 

 

 

อินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนติดตามหลักล้านขยับตัวทำอะไรคนก็อยากทำตาม เราเชื่อว่าตอนนี้มีหลายคนรอฟังว่าแพรี่พายซื้อชุดผ้าไทยที่เราเห็นเธอสวมในโซเชียลมีเดียมาจากที่ไหน “มีหลายที่ค่ะ อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าครั้งแรกเราซื้อที่กลุ่มทอผ้าบ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น เป็นผ้าสีเทาที่เราเอามาตัดเป็นสูทสวมไปดูโชว์ Dior แล้วก็มีที่ตลาดผ้านาข่า จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีพวกผ้าครามเยอะมาก ผ้าที่นั่นจะมีการนำไปหมักโคลน ใส่แล้วนุ่มมาก ส่วนที่จังหวัดน่านจะมีพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณฝ้ายเงินของอาจารย์ต๋อม ส่วนช่วงไหนที่อยู่ต่างประเทศเราจะซื้อผ่านออนไลน์จากร้านต่างๆ ตามชนิดของผ้าที่อยากได้ เช่น ผ้าไหมมัดหมี่จะซื้อที่ร้านคมขำไหมไทย อำเภอชนบท ขอนแก่น ส่วนผ้าไหมสุรินทร์แพรชอบร้านลดาผ้าไหม ถ้าเป็นผ้าไหมกาบบัวจะซื้อจากร้านไหมจันทร์หอม ส่วนผ้าทอไทลื้อเราชอบร้านลานนา พัทธนันท์ ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าเห็นผ้าที่ไหนจะรีบพุ่งตัวไปดู มีครั้งหนึ่งเจอคุณลุงถือตะกร้ามาขายผ้าอยู่หน้าออฟฟิศ เราก็นั่งซื้อกันริมถนนเลย ผ้าขาวม้าสวยๆ ก็มีนะ เอามาโพกหัวตอนร้อนๆ”

 

 

 

เสน่ห์ผ้าไทยที่คนไทยด้วยกันเองไม่ตื่นเต้น แต่สำหรับคนทั่วโลกนี่คือผ้าที่งดงามจนต้องขอถ่ายรูป “เวลาใส่ผ้าไทยไปไหนเราได้ยินฟีดแบ็กดีมาก อย่างตอนไปอินเดียมีผู้ชายคนหนึ่งเดินมาหาบอกว่าสวยมาก ภรรยาขอถ่ายรูปได้ไหม พร้อมทั้งยิ้มไปให้ผู้หญิงสวมชุดสีดำคลุมทั้งตัว พอเขาเห็นว่าเราเซย์เยสเท่านั้นแหละ เขาถอดผ้าคลุมออกแล้วข้างในเป็นชุดส่าหรีที่สวยมาก เราตกใจเลย เวลาใส่ผ้าไทยเดินเมืองนอกเราชอบมาก เหมือนเป็นการโปรโมตประเทศไทยไปในตัว แต่บางทีถ้าแต่งจัดเต็มที่เมืองไทยมีหลายคนนึกว่าแพรมารำแก้บน (หัวเราะ)”

 

 

หลายคนชอบบอกว่าชุดผ้าไทยใส่แล้วดูมีอายุ ดูไม่ทันสมัย “เราต้องเปิดใจ เปิดระบบความคิดสร้างสรรค์ของเราออกมา และภูมิใจค่ะว่าผ้าไทยเป็นรากเหง้าของเรา สมัยนี้คนรุ่นใหม่หันมานุ่งผ้าไทยกันมากขึ้น นุ่งแบบไหนก็ได้ในแบบที่คุณคิดว่าสวย และเหมาะกับคุณ หลายคนสามารถนำผ้าไทยมาแต่งกายได้อย่างแปลกใหม่และสวยงามตามสมัยนิยม ทุกวันนี้การนุ่งผ้าไทยไม่เชยอย่างแน่นอนค่ะ โลกนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นตัวเอง และภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นเถอะ”

 

 

สูตรการใส่ผ้าไทยแบบแพรี่ พายคือ “อย่างแรกเลยคือต้องใส่อย่างมีคุณค่า สองคือให้เกียรติสิ่งที่เราใส่อยู่และเคารพสถานที่ที่ไป สามเพิ่มความเป็นตัวเองเข้าไปค่ะ แต่งสไตล์ไหนก็ได้แต่จงสนุกกับการมิกซ์แอนด์แมตช์ เราสามารถนำผ้าไทยมาตัดเป็นชุดสากลนิยม หรือจะนุ่งเป็นผืนแบบดั้งเดิมก็ได้ ทุกวันนี้มีคนทำคลิปสอนนุ่งผ้าซิ่นในรูปแบบต่างๆ ในยูทูปเยอะแยะเลย” และเมื่อถามถึงสถานที่ที่เธออยากจะใส่ผ้าไทยไปเยือนมากที่สุดแต่ยังไม่เคยได้ไปเธอบอกว่าอยากลากผ้าไทยสวยๆ ไปเดินในทะเลทราย

 

 

 

“ในอนาคตแพรอยากให้คนไทยหันกลับมาสนใจในวัฒนธรรมการนุ่งห่มของไทยกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผ้าไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงผ้าที่มีความวิจิตรตระการตา สวมออกงานได้อย่างหรูหราไม่แพ้เสื้อผ้าแบรนด์ต่างประเทศ ทั้งยังดูมีคุณค่า มีวัฒนธรรมด้วยค่ะ ตอนไปน่านอาจารย์ต๋อมแห่งพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณฝ้ายเงินท่านบอกว่าถ้าคนไทยเรายังไม่ช่วยกันใส่ ต่อไปเราจะไม่เหลือผ้าไทยอีกแล้ว” – แพร-อมตา จิตตะเสนีย์ (แพรี่พาย)

 

เรื่องและสัมภาษณ์: ปภัสรา นัฏสถาพร

WATCH