Pajamas All Day! ข้อดีและข้อเสียของการใส่ชุดนอน Work From Home ที่บ้านทั้งวัน
โควิด-19 ไม่ได้แค่บังคับให้เราต้องอยู่บ้าน แต่ยังคืนชีพให้กับเทรนด์ชุดนอนให้กลับมาอีกด้วย
ในยุคที่จำเป็นต้องทำงานที่บ้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันทำให้พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นกับใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกล้างหน้าแปรงฟันและตรงมาที่โต๊ะทำงานเลยทั้งชุดนอน รวมถึงวันหยุดที่ออกไปไหนไม่ได้ จึงเลือกนอนดูซีรีส์บนเตียงจนหมดวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ชุดนอนกลายเป็นเสื้อผ้าที่อยู่กับคุณมากที่สุด และยังเป็นเพื่อนซี้ที่สุดในช่วงนี้อีกด้วย ถ้าอย่างนั้นเราลองมาพูดถึงเรื่องของ “ชุดนอน” กับแบบจริงจังดูบ้างดีไหม…
หากจะย้อนถึงจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการใส่ชุดนอนคงต้องย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 ยุคที่อังกฤษยึดครองอินเดียเป็นอาณานิคม คำว่า “Pajamas” ในภาษาอังกฤษ จึงมาจากคำว่า “Pae-jama” หรือ “Pai-jama” ในภาษาฮินดี ซึ่งหมายถึงกางเกงขายาวหลวมๆ ที่มีเชือกผูกเอว เป็นเครื่องแบบที่ชาวอินเดียนิยมใส่กัน ช่วงล่าอาณานิคมทำให้ชาวอังกฤษเริ่มเรียนรู้วัฒนธรรมการใส่เสื้อผ้าแบบหลวมๆ ในเวลานอน ตามแบบชาวอินเดีย ตั้งแต่นั้นมาชุดนอนแบบหลวมๆ นี้ก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ชายในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 1870 ทำให้ช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา คำว่า “Pajamas” เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และเป็นคำที่ใช้อธิบายกางเกงขายาวทรงหลวมๆ และซึ่งเข้าคู่กับเสื้อชิ้นบน
ชุดนอนของผู้หญิงในสมัยก่อน สไตล์ Victorian Nightgown
ทว่าชุดนอนสำหรับผู้หญิงไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน เนื่องด้วยค่านิยมที่สังคมชายเป็นใหญ่ในยุโรปสมัยนั้น ความเท่าเทียมทางเพศยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก ทำให้ยุคนั้นชุดนอนสำหรับผู้หญิงไม่ได้มีรูปทรงอะไรแปลกใหม่ เป็นแค่กระโปรงยาวเรียบๆ ที่เรียกว่า Victorian Nightgown จนกระทั่งในปี 1920 มาดมัวแซล Coco Chanel ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Chanel ได้เริ่มรังสรรค์ชุดนอนสำหรับผู้หญิงเป็นคนแรกๆ เธอพยายามผลักดันวัฒนธรรมความเท่าเทียมในเรื่องเครื่องแต่งกายของผู้หญิงมากขึ้น เพราะในช่วงนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนแปลกใหม่ที่ผู้หญิงจะหยิบกางเกงมาสวมใส่ โคโค่เลือกทำชุดนอนแบบ 2 ชิ้น เป็นเสื้อและกางเกงนอนขายาวเช่นเดียวกับผู้ชาย โดยเลือกใช้เนื้อผ้าเป็นไหมหรือผ้าใยสังเคราะห์เนื้อเรียบลื่น พร้อมตกแต่งด้วยริบบิ้นหรือลูกไม้เพื่อสร้างความแตกต่าง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ชุดนอนสำหรับผู้หญิงนั้นถูกพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้
Coco Chanel ดีไซเนอร์ชื่อดังในเช็ตชุดนอนผ้าไหม
ในปัจจุบันเนื้อผ้าและสไตล์ของชุดนอนมีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ชุดนอนจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่คนนิยมใส่อยู่บ้าน และหลายๆ คนเลือกที่จะใส่มันทั้งวันเลยเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในช่วง #StayHome ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เว้นแต่ว่าคุณจะใส่มันตลอดในวันทำงาน เพราะเชื่อหรือไม่ว่าชุดนอนมีแนวโน้มที่จะส่งผลเสียต่อการทำงานในด้านต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย
WATCH
ตัวอย่างของชุดนอนที่ถูกถักทอขึ้นจากเส้นใยไผ่
Dr.Jennifer Dragonette จิตแพทย์จากสถาบัน Newport Institute ได้ให้ความรู้ไว้ในเว็บไซต์ Purewow ว่า “การสวมชุดนอนทั้งวันมีผลต่อนาฬิกาในร่างกาย สมองจะคิดว่าเรากำลังพักผ่อน และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เหมือนเวลาที่เราใส่ชุดสบายๆ ร่างกายของเราก็จะรู้ผ่อนคลาย แต่ถ้าเราแต่งตัวสวยๆ ในโอกาสพิเศษ สมองและร่างกายจะสั่งการเรารู้สึกมั่นใจและกระตือรือร้นมากขึ้น” นอกจากนี้ เจนนิเฟอร์ยังกล่าวอีกว่า การที่เราเปลี่ยนเสื้อผ้าในทุกๆ เช้าอาจจะช่วยลดความกังวลและช่วยให้เรารู้สึกเป็นตัวเองอีกครั้ง
“ในช่วงที่ต้องทำงานที่บ้าน ฉันคิดว่าการแต่งตัวสำคัญมากเพราะแต่ละวันจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป ฉันชอบใส่อะไรที่สบายๆ และมีสีสันสดใส การเลือกใส่กางเกงนอนลายกราฟิกเก๋ๆ สักตัว ให้ความรู้สึกเหมือนฉันกำลังอยู่ที่ฮาวาย” Michelle Li นักเขียนจาก Teenvogue กล่าว ถือเป็นความลงตัวสำหรับใครที่ยังอยากใส่ชุดนอนอยู่บ้านแต่ก็ไม่อยากหมดไฟระหว่างทำงาน ลองเลือกแมตช์กางเกงนอนหรือเสื้อนอนกับไอเท็มที่มีอยู่ในตู้ ไม่แน่อาจจะได้ชุดใหม่ๆ อีกเพียบ
Gigi Hadid ในชุดนอนเข้าเซ็ตกัน ถูกจับภาพได้โดยเหล่าปาปารัซซี่
ในขณะเดียวกันการเลือกชุดนอนที่ดีก็ส่งผลดีต่อการนอนหลับเช่นกัน เนื้อผ้าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ในการเลือกชุดนอน เพราะความเบาสบายทำให้เรานอนหลับได้สนิทขึ้น นอกจากผ้าซาตินและผ้าจากใยสังเคราะห์ที่นิยมใช้กันแล้ว การเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติอื่นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนยุคใหม่ เพราะในยุคนี้ นอกจากการขายสินค้าแล้วยังต้องให้ความสำคัญกับสินค้าแฟชั่นแบบยั่งยืนอีกด้วย ทำให้ตอนนี้หลายๆ แบรนด์เลือกใช้เนื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยจากไม้ไผ่ หรือเส้นใยจากเปลือกไม้แทนชุดนอนที่ทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์ เพราะเส้นใยจากไม้ไผ่สามารถยับยั้งการเกิดเชื้อโรคได้ ระบายอากาศได้ดี และมีสัมผัสที่นุ่มสบายเช่นกัน อีกทั้งยังนิยมผลิตแบบ Eco-friendly หรือแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นการลดการใช้น้ำในการผลิต หรือการปลูกต้นไผ่ที่ใช้ทำเส้นใยโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ
แน่นอนว่าชุดนอนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ มันอาจมีจำนวนมากกว่า 1/4 ของเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้า ถ้ายังอยากใส่ชุดนอนอยู่บ้าน แต่ไม่อยากใส่ในรูปแบบเดิมๆ แนะนำให้นำชุดนอนมาแมตช์กับไอเท็มใหม่ๆ ให้ดูสนุกขึ้น อีกทั้งยังลดความจำเจในแต่ละวันได้ อย่างการนำ Headband หรือที่คาดผมแบบผ้ามาคาด ช่วยเพิ่มลุคให้ดูสดใสขึ้นและปรับลุคให้ดูเหมือนไม่ได้เพิ่งตื่นนอนจนเกินไป หรือเลือกนำสปอร์ตบรา บราลูกไม้น่ารักๆ มาใส่ด้านใน สวมทับด้วยเสื้อนอนแบบหลวมๆ แนะนำว่าควรเผยให้เห็นบราเล็กน้อย ใส่ทุกอย่างเหมือนไม่ได้ตั้งใจ จะได้ลุคที่ดูเซ็กซี่แบบธรรมชาติและอาจช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจในการทำงานด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกัน ชุดนอนเองก็สามารถใส่ออกไปข้างนอกในวันสบายๆ ได้ด้วย ขอเพียงเลือกแบบให้ถูก ไม่ว่าจะเป็นชุดนอนลายทาง ชุดนอนผ้าซาติน หรือชุดนอนพิมพ์ลายกราฟิกเก๋ๆ สำหรับใครที่ยังไม่กล้าใส่ชุดนอนออกไปทั้งชุด ลองหยิบเอาเสื้อนอนซาตินทรงหลวมๆ มาแมตช์กับกางเกงยีนส์ดูก่อน พร้อมหยิบรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าบู๊ทหนังมาใส่สักคู่ ก็พร้อมออกไปเดินเล่นด้วยอินเนอร์แบบ I woke up like this!
เรื่อง: ธนพร สมบูรณ์สิทธิ์
Edited by ปภัสรา นัฏสถาพร
WATCH