FASHION
'Non-Binary Fashion' นิยามใหม่ในวงการแฟชั่นที่เปิดกว้างด้านความหลากหลายได้อย่างแท้จริงแนวคิดแบบขั้วตรงข้ามถูกยึดถือเพื่อผลิตผลงานด้านแฟชั่นมาอย่างยาวนาน ถึงเวลาแล้วสำหรับการไม่ระบุตัวตนด้านเพศเรื่องแฟชั่น |
แฟชั่นกับเพศเป็นสิ่งที่พูดถึงกันเป็นเวลานาน หากย้อนกลับไปในยุคประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ ก็จะเห็นหลักฐานที่ใช้ระบุเพศได้ชัดเจนที่สุดก็คือเสื้อผ้าและเครื่องประดับ แต่ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็มีความเหมือนกันอย่างหนึ่งเสมอคือเพศถูกแบ่งแบบ Binary Opposition หรือเพศขั้วตรงข้ามอยู่เสมอ นั่นก็แปลว่าในความเป็นจริงเพศในประวัติศาสตร์อาจมีหลายเพศมากกว่าแค่เพศคู่ตรงข้าม แต่การจดบันทึกในประวัติศาสตร์กลับมามีการระบุไว้เพียงหญิงหรือชายเท่านั้น แต่ก็ต้องแอบเห็นใจนักประวัติศาสตร์ด้วยว่าหลักฐานอายุนับร้อยนับพันปีก็หลงเหลือไม่มากนัก การระบุรสนิยมทางเพศผ่านหลักฐานเชิงกายภาพอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงตรงพอจะสรุปได้ การผลิตซ้ำเชิงประวัติศาสตร์เหล่านี้เองจึงถือเป็นรากฐานสำคัญของแฟชั่นชาย-หญิงและแฟชั่นไม่ระบุเพศทั้งหลายก็ยังยึดโยงกับความเป็นขั้วตรงข้ามอย่างไม่รู้ตัว
การบันทึกประวัติศาสตร์สมัยกรีกโบราณที่แฟชั่นยังไม่ใช่จุดเด่นจนสามารถระบุรสนิยมเบื้องลึกในใจมนุษย์ได้ / ภาพ: Pinterest
เริ่มเดินทางกับเรื่องแฟชั่นไร้เพศกันในวันนี้ด้วยการนั่งไทม์แมชชีนกลับไปสู่ยุคกรีกโบราณ หลายคนทราบกันดีว่าในยุคนั้นเกย์ก็อยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมตามบันทึกประวัติศาสตร์ แล้วแฟชั่นของพวกเขาจะจัดจ้านหรือแสดงตัวตนอะไรพิเศษหรือไม่ คำตอบคือยัง เพราะจากหลักฐานด้านศิลปะจะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ยังอยู่ภายใต้กรอบการแต่งกายตามขนมธรรมเนียม และแน่นอนว่าจากหลักฐานทางโบราณคดีจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามันสามารถระบุได้แค่เพศสภาพเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีสัญลักษณ์ใดบ่งบอกได้เลยว่าความหลากหลายทางเพศสามารถระบุด้วยข้อมูลเชิงกายภาพ การศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแฟชั่นและความลื่นไหลทางเพศจึงเป็นเรื่องห่างไกลความจริงมาก กว่าผู้คนจะพูดถึงความลื่นไหลอย่างจริงจังนั้นก็ผ่านยุคประวัติศาสตร์สำคัญมาแล้วทั้ง อียิปต์, กรีก, โรมัน และต่อเนื่องมาอีกหลายต่อหลายยุค ซึ่งยุคเหล่านี้ก็ยังเต็มไปด้วยแนวคิดแบบขั้วตรงข้ามอันเข้มข้นกว่ายุคโมเดิร์นมากอยู่พอสมควรทีเดียว
ชุดในแคมเปญ Space Age ของ Pierre Cardin ที่นำเสนอศิลปะเครื่องแต่งกายแบบไม่ต้องขีดเส้นแบ่งไว้มากนัก / ภาพ: The New York Times
ระหว่างนั่งไทม์แมชชีนกลับมายุคปัจจุบันเราแวะลงในช่วงยุคฮิปปี้กันบ้าง ช่วงยุคฮิปปี้ถือเป็นช่วงที่ความลื่นไหลต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย การเรียกร้องด้านสิทธิความเท่าเทียมกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ Stonewall Riots ก็สร้างแรงกะเพื่อมมหาศาล ต้องบอกว่ายุคนี้เป็นช่วงเวลาที่การมองเพศแบบขั้วตรงข้ามอ่อนแอลงที่สุดแล้วในรอบศตวรรษ แฟชั่นเต็มไปด้วยความพลิ้วไหว สีสัน และขีดจำกัดด้านเพศก็เบาบางลง แต่สุดท้ายสังคมยังถูกกำหนดโดยผู้มีอิทธิพลและผู้ใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะสถาบันครอบครัว แม้จะมีการสลับผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าข้ามเพศสภาพแต่มันยังถูกมองแบบขั้วตรงข้าม และสร้าง “Opposite Effect” ให้เกิดขึ้นในสังคม นิยามในยุคนี้จึงถูกขนานนามว่า “แฟชั่นข้ามเพศ” แทนที่จะเป็น “แฟชั่นไร้เพศ” อย่างที่มันควรจะเป็น แต่ดีไซเนอร์หัวสมัยใหม่ในยุคนั้นตั้งแต่ Pierre Cardin, Paco Rabanne, Diane von Furstenberg และดีไซเนอร์หัวขบถอีกบางส่วนก็เริ่มผลักดันแฟชั่น “เพศกลาง” ขึ้นเพื่อทำให้เส้นแบ่งของขั้วตรงข้ามจางลงอย่างเป็นรูปธรรม
WATCH
เสื้อถักจากแบรนด์ Diane von Fürstenberg ที่สามารถสวมใส่ได้โดยไม่ต้องระบุเพศปรากฏขึ้นบนปกนิตยสาร Lady's Circle / ภาพ: Indiana University Press
ภาพจำของกลุ่มเพศทางเลือกกลายเป็นความยึดติดที่ดูเหมือนพยายามเปิดกว้างแต่ก็ยังตีกรอบให้พวกเขาอยู่ดี กล่าวคือหลายทศวรรษก่อนความหลากหลายทางเพศได้รับความเท่าเทียมในสังคมปัจจุบัน มีการเปิดเผยตัวตนโจ่งแจ้งมากขึ้นก็จริง แต่ภาพลักษณ์ต่างๆ ยังผูกติดกับสถานะเรื่องเพศเสมอ เช่นความเฟมินีนในร่างผู้ชายสำหรับเกย์หรือจะเป็นความแมสคิวลีนในร่างหญิงสำหรับทอม หากเป็นนอกเหนือจากนี้อาจยังถูกมองว่าผิดแปลกอยู่ดี เราอาจนิยามยุคแห่งความลักลั่นได้ดั่งหลักการตั้งชื่อเพลงของวง Getsunova ว่า “การเปิดกว้างที่ไม่เปิดกว้าง”
เสื้อผ้ากลิ่นอายแฟชั่นแบบข้ามเพศจากแบรนด์ Svitla Volka / ภาพ: Etsy
Cross-Gender ≠ Non-Binary เมื่อพูดถึงความหลากหลายทางเพศแน่นอนว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะยุคสมัยก่อนจะคิดว่าบางเพศเติมเต็มเข้ามาในระบบด้วยหลักการ “ข้ามเพศ” อย่างเดียวเท่านั้น แต่เปล่าเลยความหลากหลายมีมากกว่านั้น การหยิบจับแฟชั่นหญิงใส่ชาย ชายใส่หญิงเป็นการสร้างบรรทัดฐานโดยคนนอกกลุ่มสังคมอยู่วันยังค่ำ เพราะสุดท้ายเราจะรีบตัดสินได้อย่างไรว่าเป็นแบบไหนต้องใส่อะไร บางครั้งเพศสภาพเป็นหญิง มีรสนิยมทางเพศแบบทอมบอย แต่ก็ยังอยากแต่งตัวหวานฉ่ำคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายความเฟมินีน แฟชั่นแบบไร้เพศหรือไร้ขั้วตรงข้ามจึงไม่เท่ากับแฟชั่นข้ามเพศโดยอาจจะมีบางอย่างทับซ้อนกันอยู่ เพราะสุดท้ายแฟชั่นแบบไร้ขั้วแปลว่าจะใส่แบบนี้ได้โดยไม่ต้องมีใครต้องมานั่งนิยามว่าข้ามเพศหรือไม่
แฟชั่นโชว์ของฝั่งผู้หญิงจากเมืองมิลานที่แสดงให้เห็นว่าบนรันเวย์ก็ยังมีการแบ่งเพศอย่างชัดเจนตามขนบเดิม / ภาพ: Where Milan
แฟชั่นวีก การตลาด และทุนนิยม ปัจจัยหลักสำคัญในการดำรงอยู่ซึ่งแฟชั่นตามเพศสภาพ ใครเป็นสาวกแฟชั่นจะทราบอย่างดีว่าแฟชั่นวีกจะแบ่งช่วงของชายและหญิงเสมอแทบทุกฤดูกาล มีบางแบรนด์เท่านั้นที่ไม่แบ่งเพราะมีแค่ไลน์เดียวหรือไม่ก็เดินรวมกันในโชว์เดียวไปเลย แต่การแบ่งนี้ก็ระบุอย่างชัดเจนเลยว่าแฟชั่นสำหรับเพศไหน ถือเป็นการสร้างกรอบครอบเพศและแฟชั่นไว้ในโหลแก้วใบเดียวกัน ไม่ว่าจะเขย่าแรงเพียงใดมันก็คลุกเคล้ากันอยู่ในโหลใบเดิม วันหนึ่งแฟชั่นจะเปลี่ยนรูปทรงก็ยังผูกติดอยู่กับเพศสภาพในกรอบใสๆ ของโหลแก้วตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลง(เปิดโหล)เสียก่อนวิถีทางใหม่ๆ จึงจะเกิดขึ้น ต่อมาปัจจัยเรื่องทุนนิยมคือกรอบที่กว้างที่สุด เพราะสุดท้ายธุรกิจย่อมดำเนินได้ด้วยเม็ดเงิน การสร้างแผนการตลาดเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าใหญ่หรือทำให้ผู้คนเข้าใจง่ายที่สุด ซื้อคล่องที่สุด และสร้างมาตรฐานให้มั่นคงที่สุด ทั้งหมดก็คงยึดโยงกับอะไรที่ถูกกำหนดไว้อย่างยาวนาน โดยเฉพาะเรื่องเพศ ดังนั้นหากจะเปลี่ยนโลกแฟชั่นเป็นโลกแห่งความไร้เพศต้องเปลี่ยนสารบบแฟชั่นที่เป็นอยู่ใหม่ทั้งหมดเลยก็ว่าได้...
Thom Browne ผสมผสานเครื่องแต่งกายแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ เทคนิคการรังสรรค์ผลงาน และความตระหนักรู้ต่อสังคม / ภาพ: Thom Browne
ข้ามเพศผ่านไป แบ่งขั้วผ่านไป มีอีกหนึ่งสิ่งที่กำเนิดขึ้นพร้อมกับคำถามมากมายต่อสังคมคือ “การผสมระหว่างเพศ” หรือ “Mixed Gender” เรื่องราวนี้เห็นได้อย่างชัดเจนกับแบรนด์หัวขบถที่สร้างสรรค์งานแฟชั่นแบบผสมผสาน ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์ Thom Browne ที่หลายคอลเล็กชั่นมักนำเอาเสื้อผ้าระบุเพศระหว่าง 2 ขั้วชัดเจนอย่างชุดแต่งงาน ทักซิโด้ หรือชุดเดรสฟูฟ่องมาผสมผสานกันจนออกมาเป็นงานศิลปะชิ้นเดียวกัน แท้จริงแล้วสิ่งนี้นำเสนอความยากของการสอดประสานเทคนิคการรังสรรค์เข้ากับไอเดียงานศิลปะมากกว่าการทำขึ้นเพื่อสวมใส่จริง แฟชั่นโชว์ของทอม บราวน์จึงเหมือนนิทรรศการงานศิลปะแสดงสดที่สะท้อนให้เห็นความล้ำเลิศด้านงานฝีมือ ไม่ใช่แฟชั่นสำหรับการสวมใส่ในชีวิตประจำวันและพร้อมเป็นเทรนด์ฮิตบนท้องถนนแต่อย่างใด
โชว์จากแบรนด์ Louis Vuitton ฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 ที่เน้นใช้ Androgynous เป็นจุดเริ่มโชว์นี้ / ภาพ: Louis Vuitton
คำว่า “Androgynous” กลายเป็นศัพท์บัญญัติที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคำหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในวงการแฟชั่นคำนี้ถูกใช้เป็นธีมหลักของโชว์ Louis Vuitton คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 ที่นำเสนอบรรทัดฐานความหลากหลายทางเพศในอีกรูปแบบหนึ่ง คราวนี้ไม่ใช่แค่การข้ามเพศหรือผสมเพศอีกต่อไป แต่เป็นการบ่งบอกเอกลักษณ์ของเสื้อผ้าแบบห้องเสื้อหลุยส์ วิตตองมากขึ้น เสื้อผ้าหยิบเอาศิลปะมาเขย่าใหม่จนเกิดเป็นแฟชั่น หลายลุคไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่านี่คือแมสคิวลีน เฟมินีน สมหญิง หรือสมชาย การสร้างสมดุลแบบนี้ให้เกิดขึ้นถึงแม้จะเป็นคอลเล็กชั่นฝั่งผู้หญิงแต่ก็นับเป็นการเริ่มสร้างความตระหนักให้คนทั่วไปเห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างเพศค่อยๆ จางลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
ภาพหลังฉากโชว์ Gucci คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2019 ที่ไม่อยากให้คนแค่จับจ้องเรื่องเพศ และมีเอกลักษณ์ / ภาพ: Gucci
และถ้าพูดถึงเพศและความหลากหลายในชนิดไม่ต้องนิยามใดๆ คงจะไม่พูดถึง Gucci ไม่ได้ เพราะวิธีการนำเสนอของแบรนด์เก่าแก่จากเมืองฟลอเรนซ์แสดงให้เห็นว่าแฟชั่นไร้เพศแต่คงเอกลักษณ์ความเป็นแบรนด์ได้อย่างดีต้องทำอย่างไร ในหลายคอลเล็กชั่นกุชชี่นำเสนอลุคสะกดตาคนทั้งโลกด้วยความลื่นไหลทางเพศ ไม่มีการระบุใดๆ ไม่มีสิ่งบ่งบอกว่าใครต้องเป็นแบบใด ไม่ใช่แค่กับเรื่องเพศแต่กับรสนิยมความชื่นชอบอีกด้วย โดยเฉพาะคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2019 ที่มีการใช้หน้ากากเพื่อระบุถึงความไร้ตัวตนแต่เต็มไปด้วยสไตล์ การเปิดกว้างแบบไม่ต้องบรรยายสรรพคุณถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาแฟชั่นสำหรับทุกเพศแบบไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไป ถึงกระนั้นแบรนด์ก็ยังจัดขายเสื้อผ้าบนเว็บไซต์ออนไลน์หรือแบ่งโซนในร้านแยกชายและหญิง ทำให้เราต้องย้อนไปถึงเรื่องการตลาดและทุนนิยมที่สร้างบรรทัดฐานเรื่องเพศตรงนี้เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการแบ่งประเภทเสื้อผ้าด้วยตัวอักษรและหมวดหมู่จะขวางกั้นความอิสระทางเพศเสมอไป เพราะสุดท้ายถ้าเสื้อผ้าออกแบบมาในรูปแบบไร้เพศอย่างแท้จริง จะกดเลือกเมนูของเพศไหนก็นำมาสวมใส่ได้เกือบทั้งหมด
Billie Eilish กับแฟชั่นแบบ Non-Binary ที่เปิดกว้างไม่จำกัดความเหมาะสมของเพศในการสวมใส่ / ภาพ: Sourcing Journal
สิ่งสำคัญสิ่งสุดท้ายในการพัฒนาแฟชั่นแบบไร้เส้นแบ่งเรื่องเพศคือชุดความคิดของคนในสังคมเอง ความรับผิดชอบในการพัฒนาไม่ได้ผูกติดอยู่กับแบรนด์แฟชั่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าแบรนด์ต่างๆ ไม่ใช่แค่คนกำหนดเทรนด์แต่เป็นผู้อ่านกระแสสังคมและตอบสนองไปด้วยในเวลาเดียวกัน หากใช้แพลตฟอร์มของตัวเองเรียกร้องจนไม่สนใจกลุ่มตลาดแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมไม่เกิดขึ้น มิหนำซ้ำอาจจะสร้างสถานการณ์ลำบากให้ตัวเองอีกด้วย ดังนั้นหากต้องการแฟชั่นไร้การระบุเพศและไร้ซึ่งขั้วตรงข้ามมากขึ้น คนในสังคมต้องเปิดกว้างยอมรับว่าแท้จริงแล้ว “ใครจะใส่อะไรก็ได้” คำว่าแมสคิวลีน เฟมินีนยังมีอยู่แต่จะไม่ใช่เครื่องมือกำหนดตัวตนของผู้สวมใส่อีกต่อไป สิ่งนี้ไม่ได้ใช้เวลาเปลี่ยนแปลงภายใน 1-2 ปี แต่ต้องใช้เวลานานนับทศวรรษในการขัดเกลาทางสังคมเพื่อสร้างชุดความคิดใหม่ร่วมกัน ในท้ายที่สุดคำว่าแฟชั่นแบบ “Non-Binary” นั้นคือการจะใส่อะไรก็ได้จะข้ามเพศ ผสมเพศ เพศกลาง ชาย หญิง ฯลฯ เมื่อถึงวันที่ชุดความคิดแบบไร้เพศ ไม่ระบุตัวตนด้านสไตล์ผ่านเพศสภาพ เมื่อนั้นแฟชั่นทุกรูปแบบจะกลายเป็นแฟชั่นแบบปฏิเสธขั้วตรงข้ามโดยไม่ต้องมีนิยามใดๆ แม้แต่นิดเดียว เราหวังว่าอิสระในการเลือกสรรงานศิลปะลงบนร่างกายจะเปิดกว้างจนก้าวไปสู่สังคมในอุดมคติที่ไม่ต้องตีกรอบให้อึดอัดกันอีกต่อไปในไม่ช้า
ข้อมูล:
Forever Young: The Teen-aging of Modern Culture โดย Marcel Danesi, Director of the Program in Semiotics and Communication Theory Marcel Danesi, PH.D.
WATCH