FASHION

Mollie Parnis ดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความงามของสตรีหมายเลขหนึ่งหลายต่อหลายยุค

แม้ชื่อเสียงของเธอจะไม่ได้โด่งดังและอยู่ค้างฟ้าเหมือนตำนานดีไซเนอร์หลายคน แต่เธอคือบุคคลสำคัญที่พาแฟชั่นอเมริกาก้าวสู่ความสำเร็จ

     มาตรวัดความสำเร็จของดีไซเนอร์มักเป็นความยิ่งใหญ่ในเชิงชื่อเสียง เรื่องราวเล่าขาน หรือแม้แต่ยอดขาย แต่เส้นทางกว่าจะมีชื่อเสียงนั้นอาศัยองค์ประกอบมากมายหลากหลายปัจจัย และหนึ่งในนั้นคือการที่ผู้มีชื่อเสียงหรือคนสำคัญระดับโลกเลือกสวมใส่เสื้อผ้าฝีมือการออกแบบของดีไซเนอร์คนนั้นๆ ซึ่งเดือนกรกฎาคมถือเป็นเดือนครบรอบการจากไปของ Mollie Parnis ดีไซเนอร์คนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสวยงามของสตรีหมายเลขหนึ่งและผู้หญิงสายแฟชั่นทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา วันนี้โว้กจะพาไปทำความรู้จักกับเธอคนนี้อย่างเจาะลึกมากขึ้น

บรรยากาศย่านบรุกลิน นิวยอร์ก ช่วงยุค 1900s / ภาพ: GFD Courier

     ชื่อเต็มของหญิงสาวมากความสามารถคนนี้คือ Sara Rosen Parnis เกิดที่บรุกลิน นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม คงจะสงสัยว่าทำไมถึงยังไม่ใส่ปีเกิด เพราะมอลลีซ่อนความเร้นลับด้านอายุมาโดยตลอด เมื่อค้นหาจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งพบว่าเธอเกิดวันที่ 18 มีนาคมตรงกัน แต่ต่างปีออกไปไม่ซ้ำกัน ตั้งแต่ 1899, 1902 หรือจะเป็น 1905 โดยปีลำดับหลังสุดถือว่าเป็นปีที่เชื่อกันว่าเป็นข้อมูลจริงที่สุด(แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้) และต้องบอกว่าเธอเติบโตในครอบครัวแฟชั่นโดยแท้ เพราะพี่สาวน้องสาวของเธอทั้งหมดล้วนสนใจและเดินบนเส้นทางแฟชั่นกันอย่างพร้อมเพรียง

Mollie Parnis บุคคลต้นเรื่่องของเราในบทความนี้ / ภาพ: npnewramnagar.com

     แต่ชีวิตของพี่น้องตระกูลพาร์นิสไม่ได้เรียบง่ายไร้อุปสรรคขวากหนาม เพราะพ่อแม่ชาวยิวของเธอมาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาหลังอพยพมาจากประเทศออสเตรีย แม่และพี่คนโตต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว มอลลีเองก็เริ่มสร้างรายได้ตั้งแต่ 8 ขวบ ในฐานะติวเตอร์ภาษาอังกฤษสำหรับคนต่างชาติ เหมือนการเป็นน้องในครอบครัวจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะครอบครัวส่งเธอเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับและให้ศึกษาต่อในสายกฎหมาย แต่แล้วพรสวรรค์เรื่องแฟชั่นที่เธอชื่นชอบค่อยๆ แสดงออกมาและพาเธอก้าวออกจากระบบการศึกษาทั่วไป



WATCH




ย่าน Seventh Avenue ที่เธอทำงานในช่วงต้นของอาชีพ / ภาพ: Ephemeral New York

     จุดเริ่มต้นที่มีการบันทึกนั้นระบุว่าความโดดเด่นของมอลลีเห็นได้อย่างชัดเจนตอนที่ทุกคนสวมเสื้อผ้าแบบเดียวกันในงานพิเศษงานหนึ่งช่วงมัธยม เธอจึงเลือกทำสิ่งที่แตกต่างด้วยการตัดชุดขึ้นมาเองจากชุดเดรสเก่าๆ ของเธอเอง มีการดัดแปลงและแต่งเติมจนชุดนั้นโดดเด่นกว่าใครเพื่อน เมื่อครอบครัวตระหนักถึงความสามารถพิเศษตรงนี้ก็พร้อมผลักดันมอลลีช่วงวัยรุ่นไปทำงานในบริษัทแฟชั่นแห่งหนึ่ง มอลลีแสดงให้นายจ้างเห็นแววในฐานะพนักงานขายด้วยความใส่ใจรายละเอียดและเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง เด็กสาวได้รับรางวัลความยอดเยี่ยมด้วยการที่เจ้าของบริษัทเปลี่ยนชื่อชั้น 4 ของอาคารที่เธอทำงานอยู่เป็นชื่อ “Mollie Parnis” ซึ่งถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ราวกับการเปลี่ยนชื่อสถานที่ตามบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างไรอย่างนั้น

ชุดเดรสของ Mollie Parnis ที่ดูเรียบง่ายแต่สอดแทรกด้วยรายละเอียดอันมีเอกลักษณ์ / ภาพ: Henry Clarke

     “1929” จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของมอลลี สไตลิสต์ของห้องเสื้อแห่งหนึ่งพบกับ Leon Livingston คู่รักซึ่งเป็นเซลล์ขายสิ่งทอและแต่งงานกันในปี 1930 ต่อมาในปี 1933 ขณะที่ทุกคนกำลังล้มจากวิกฤติ “Great Depression” แต่พวกเขากลับสวนทางด้วยการเปิดบริษัท เธอมีวิสัยทัศน์ในการอ่านใจลูกค้า เธอรู้ว่าหญิงสาวชาวอเมริกันชอบอะไร ถึงแม้เธอจะไม่ได้เรียนการตัดเย็บมาเลย แต่เธอใช้วิธีดึงคนที่สามารถรับการถ่ายทอดของเธอและเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ มอลลีไม่ได้เจาะตลาดหญิงสาววัยรุ่น แต่เธอพยายามสร้างสรรค์แฟชั่นที่ทำให้สาววัย 30+ สามารถเลือกสรรแฟชั่นได้อย่างเหมาะสมลงตัว อีกทั้งเอกลักษณ์ในเสื้อผ้าของมอลลียังแสดงถึงความเฟมินีนที่ดูสวยแบบสุภาพสตรีมีสไตล์

Lisa Fonssagrives-Penn สวมเดรสสไตล์ Shirtwaist ของ Mollie Parnis เมื่อปี 1951 / ภาพ: Pinterest

     ไอเท็มชิ้นสำคัญที่ทำให้ทุกคนจดจำแฟชั่นของมอลลีและแฟชั่นอเมริกันยุค ‘50-70s ได้อย่างชัดเจนคือ Shirtwaist Dress ที่ดูเรียบง่าย สวมใส่ได้ทุกวัน แต่ซ่อนเสน่ห์ไว้อย่างพอเหมาะพอดี เสื้อผ้าของเธอกลายเป็นไอเท็มชิ้นไอคอนิกของแฟชั่นฝั่งอเมริกานานหลายทศวรรษ มอลลี พาร์นิสกลายเป็นชื่อแบรนด์ที่หลายคนตามหา ถึงแม้จะไม่ใช่แบรนด์ที่หาซื้อยากหรือต้องสั่งตัดเท่านั้น เพียงแค่เดินเข้าห้างสรรพสินค้าชั้นนำสาวๆ ก็มีโอกาสเป็นเจ้าของชุดเดรสของเธอกันแล้ว ทว่าสิ่งนี้กลับไม่เคยลดทอนคุณค่าแฟชั่นของเธอแม้แต่น้อย กลับกันยังเพิ่มฐานความนิยมได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

ชุดเดรสของ Mollie Parnis เมื่อปี 1955 ที่แสดงถึงความเรียบง่ายของซิลูเอตแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดอันน่าตื่นตาตื่นใจ / ภาพ: Richard Avelon

     สิ่งที่ทำให้ชื่อเสียงมอลลีดังขึ้นเป็นเท่าตัวต้องกล่าวถึงการเลือกชุดของสตรีหมายเลขหนึ่งอย่าง Mamie Eisenhower ภรรยาของประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower เธอโปรดปรานแบรนด์มอลลี พาร์นิสเป็นอย่างมาก เพราะเสื้อผ้าสไตล์ของแบรนด์ทำให้เธอดูสง่าในแบบสตรีหมายเลขหนึ่ง อีกทั้งยังดูเรียบง่ายและมีสไตล์ในเวลาเดียวกัน ครั้งหนึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้โลกต้องตะลึงเมื่อมามี่สวมชุดเดรสของมอลลีออกงานในปี 1955 และพบกับแขกในงานที่สวมชุดเดียวกันเกือบเป๊ะ เนื่องจากมอลลีไม่ได้ทำเสื้อผ้าแบบสั่งตัดเฉพาะ ดังนั้นถึงแม้จะมีการดัดแปลงชุดของคนสำคัญให้ต่างจากชุดต้นแบบเล็กน้อย แต่ก็ยังมีความเหมือนชุดทั่วไปที่เธอส่งขายไปทั่วอเมริกาอยู่มากทีเดียว เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสีสันที่ทำให้ชื่อของมอลลีปรากกฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ของสหรัฐฯ เพราะไม่ใช่แค่ความเหมือนกันของชุด แต่เธอให้เหตุผลว่าความเหมือนกันของชุดนั้นแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยอันเท่ายอดเยี่ยมของประเทศ และเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้เธอเสียเครดิตจากเหล่าสตรีหมายหนึ่งคนใดเลยแม้แต่น้อย

บรรยากาศงานแฟชั่นโชว์ในทำเนียบขาวเมื่อปี 1968 / ภาพ: Bettman

     นอกจากมามี่แล้วมอลลี พาร์นิสถือเป็นแบรนด์ที่สตรีหมายเลขหนึ่งเลือกใช้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Jackie Kennedy, Betty Ford หรือจะเป็น Lady Bird Johnson ซึ่งรายหลังถือเป็นเพื่อนสนิทของมอลลีก็ว่าได้ เพราะสตรีสำคัญคนนี้สวมใส่ชุดมอลลีเป็นประจำ อีกทั้งยังเชิญเธอมาทานมื้อค่ำที่ทำเนียบขาว และที่สำคัญที่สุดชุดของมอลลียังถูกนำมาแสดงในแฟชั่นโชว์กลางทำเนียบขาวในปี 1968 ซึ่งเป็นแฟชั่นโชว์ครั้งแรกและครั้งเดียวที่จัดขึ้น ณ ศูนย์กลางการปกครองของประเทศ

ชุดจากแบรนด์ Mollie Parnis ช่วงยุค 70s ที่สะท้อนถึงความสวยงามตามยุคสมัยได้เสมอ / ภาพ: Etsy

     หลังจากนั้นเธอก็ใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาธุรกิจแฟชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดมุมมองใหม่ด้วยการออกไลน์เสื้อผ้าเพื่อตอบโจทย์คนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น และเธอยังเป็นต้นแบบของการมองแฟชั่นผ่านความต้องการของลูกค้าโดยตรง แต่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองเสียทีเดียว เสื้อผ้ายังคงความเป็นเอกลักษณ์ เพียงแค่ดูว่าทิศทางของผู้บริโภคจะดำเนินไปอย่างไรเพื่อจะได้นำมาผสมผสานกับความเป็นมอลลี พาร์นิสได้อย่างลงตัวที่สุด

ภาพในตำนานของแบรนด์ Mollie Parnis ในโว้กอเมริกาฉบับเดือนกรกฎาคม 1948 / ภาพ: Frances McLaughlin-Gill

     นอกจากการทำธุรกิจเธอยังเป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการตั้งมูลนิธิ การบริจาค หรือการร่วมกลุ่มสมาพันธ์ต่างๆ ถึงแม้ชื่อของเธอจะไม่ใช่สุดยอดดีไซเนอร์ผู้โด่งดังจนคนทั่วโลกรู้จัก แต่ในสหรัฐอเมริกาขนานนามเธอว่า “บุคคลสำคัญที่ช่วยพัฒนาและโปรโมตอุตสาหกรรมแฟชั่นในสหรัฐอเมริกาให้ประสบความสำเร็จ” วันนี้ชื่อเสียงของเธออาจเลือนหายจากสารบบแฟชั่นไปบ้าง แต่วันนี้เราหยิบเรื่องราวของเธอมาเล่าใหม่อีกครั้งให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ โว้กขอไว้อาลัยแด่การจากไปครบรอบ 29 ปีแด่ “มอลลี พาร์นิส”

 

ข้อมูล:

jwa.org

fashionencyclopedia.com

fashionista.com

vogue.com

fineartamerica.com

newsd.co

WATCH