FASHION

ย้อนเจาะลึกเส้นทางตำนานของ Marimekko สุดยอดแบรนด์งานฝีมือที่มีความพิเศษมากกว่าถุงผ้า

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมาแบรนด์ได้ฝากผลงานอันน่าจดจำไว้มากมาย และวันนี้โว้กจะพาทุกคนไปสัมผัสประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่นั้น

     ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า Marimekko เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะไอเท็มอย่างชุดเดรสเบาสบายและถุงผ้าลวดลายแสนน่ารัก ด้วยสีสันและการออกแบบโดยการใช้ภาพดอกไม้มาเป็นแกนหลักนั้นยิ่งเสริมสร้างจุดแข็งให้มารีเมกโกะกลายเป็นแบรนด์ราคาจับต้องได้ที่ฮอตฮิตสุดๆ แต่แท้จริงแล้วมารีเมกโกะมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ วันนี้โว้กจะพาไปย้อนประวัติศาสตร์กันว่ารากฐานที่มาของไอเท็มยอดฮิตในปัจจุบันนั้นเดินทางมาอย่างไร

กระโปรงตัวพิเศษที่ Armi Ratia ออกแบบไว้เมื่อยุค 1950s / ภาพ: Bukowskis

     ปี 2021 ถือเป็นปีสำคัญเมื่อมารีเมกโกะเดินทางมาถึงปีที่ 70 พอดิบพอดี เนื่องในโอกาสสำคัญแบบนี้แบรนด์จึงจับมือกับ Bukowskis องค์กรประมูลชื่อดังจัดการประมูลพิเศษขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยทางแบรนด์รวบรวมไอเท็มคลาสสิกจากคลังเก่าอายุเกินครึ่งศตวรรษมาให้ทุกคนยลโฉมพร้อมทั้งชื่นชมผลงานของแบรนด์มารีเมกโกะว่ามีความหลากหลายและล้ำลึกมากเพียงใด เพราะนี่ไม่ใช่แค่ห้องเสื้อ แต่ยังเป็นศูนย์รวมของศิลปะจากศิลปินหัวสร้างสรรค์ผู้กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

ลาย Amfora ที่นับเป็นลายพิมพ์แรกอย่างเป็นทางการของ Marimekko / ภาพ: Architonic

     จุดเริ่มต้นของแบรนด์ต้องย้อนกลับไปสู่ชีวิตของ Armi Ratia ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ในช่วงยุค ‘40s เธอยังคงทำงานอยู่ในเอเจนซี่โฆษณา และพบรักสามีอย่าง Viljo Ratia อดีตนายทหารที่ต่อมาวางมือและต้องการสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง ในปี 1949 เขาเปิด Printex บริษัทสิ่งทอขนาดย่อมในเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ นี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะตอนนั้นอาร์มีผันตัวจากพนักงานบริษัทสาวคนหนึ่งสู่การเป็นนักออกแบบมือใหม่ เธอต้องการรังสรรค์ผลงานที่ไม่ได้ออกมาจากหัวคิดของคนๆ เดียว แต่เสาะหาศิลปินหน้าใหม่ที่พร้อมจะเติมสีสันให้กับโลกสิ่งทอ และอาร์มีก็ได้ตัว Maija Isola มาออกแบบลายพิมพ์เป็นคนแรก ซึ่งไมยาคือผู้รังสรรค์ลาย Amfora ให้กับบริษัท และอาจเรียกได้ว่านี่คือลวดลายออริจินัลลายแรกของแบรนด์เลยก็ว่าได้



WATCH




แฟชั่นโชว์ของ Marimekko ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1951 / ภาพ: Green Mag

     คนแห่ชื่นชมกับความสวยงามแต่ทำไมยังขายไม่ออก...เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญที่อาร์มีต้องแก้ให้ได้ หลังจากเริ่มออกแบบและผลิตลายพิมพ์สุดเก๋ล้ำยุคมาประมาณ 2 ปี เธอก็เกิดไอเดียและมุ่งไปจับมือกับ Riitta Immonen เพื่อรังสรรค์คอลเล็กชั่นเสื้อผ้าขึ้นในปี 1951 มารีเมกโกะกำเนิดขึ้นในโลกแฟชั่นจากการจัดแฟชั่นโชว์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1951 ก่อนจะจดทะเบียนเปิดบริษัทและเปิดร้านในวันที่ 25 พฤษภาคมปีเดียวกัน หรือเพียง 5 วันหลังจากโชว์เท่านั้น ณ ช่วงเวลาดังกล่าวมารีเมกโกะโด่งดังมากกับชุดแสนเรียบง่ายที่เบาสบายเหมาะสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีการสอดแทรกลวดลายเพิ่มสีสันให้สนุกไม่ซ้ำจำเจกับชุดเดรสสไตล์ลำลองในตลาด แสงสว่างอันสดใสของมารีเมกโกะก็เริ่มส่องประกายจ้าขึ้นเรื่อยๆ

 

FUN FACT: ชื่อ Marimekko มาจากการผสมชื่อกลางของ Armi Ratia คือ Maria หรือเรียกสั้นๆ ว่า Mari กับคำว่า Mekko ที่แปลว่าชุดเดรสในภาษาฟินแลนด์

Jokapoika หรือเสื้อเชิ้ตตัวยาวที่เป็นไอคอนิกพีซของแบรนด์ Marimekko / ภาพ: Marimekko

     ปี 1953 คือปีแห่งการเริ่มปฏิวัติวงการสิ่งทอในฟินแลนด์ของมารีเมกโกะอีกขั้นหนึ่ง แบรนด์ได้ Vuokko Eskolin-Nurmesniemi มาร่วมงานด้านการออกแบบเสื้อผ้าและทำแพตเทิร์น มีคำกล่าวขานว่าสิ่งที่เธอทำในฟินแลนด์นั้นเปรียบดั่งสิ่งที่ Coco Chanel ทำในฝรั่งเศสเลยทีเดียว ถ้าหากจะพูดเช่นนั้นก็คงไม่ผิดนัก เพราะวูอ็อคโค่รังสรรค์ Jokapoika เสื้อเชิ้ตยูนิเซ็กซ์ที่ยังคงเป็นไอคอนิกพีซของแบรนด์อยู่เสมอ อีกทั้งยังสร้างสรรค์ชุดเดรสสไตล์ “loose-fit” ขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย และในช่วงเวลาเดียวกัน ปี 1954 อาร์มีก็ได้ออกแบบโลโก้มารีเมกโกะที่เราคุ้นตาโดยใช้แรงบันดาลใจจากฟอนต์ Olivetti แสนเบสิก ซึ่งโลโก้ดังกล่าวก็คือโลโก้ปัจจุบันของแบรนด์ที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยแม้แต่ครั้งเดียว

Jackie Kennedy สวมชุด Marimekko ขึ้นปก Sports Illustrated ในเดือนธันวาคม 1960 / ภาพ: Pattern+Source

     ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มารีเมกโกะเติบโตคือจังหวะเวลาอันเหมาะสม ต้องบอกว่าช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มเสาะหาสีสันและลวดลายอันสนุกสนานเพื่อลบเลือนความดำมืดในจิตใจจากช่วงสงคราม มารีเมกโกะมาถูกจังหวะเวลาพอดี เพราะด้วยดีเอ็นเอของแบรนด์ที่เต็มไปด้วยสีและความสดใสทำให้ผู้คนต่างสนใจผลิตภัณฑ์ของมารีเมกโกะอย่างล้นหลาม เชื่อไหมว่าในระยะเวลาไม่ถึงทศวรรษแบรนด์เล็กๆ จากเฮลซิงกิจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีชื่อเสียงไปทั่วยุโรป มากไปกว่านั้นยังสร้างชื่อโด่งดังไกลไปถึงสหรัฐอเมริกา และเริ่มต้นยุค ‘60s อย่างสวยงามด้วยการที่ Jackie Kennedy เลือกซื้อชุดจากแบรนด์ไปถึง 7 ชุด และสวมชุดเซตนั้นขึ้นปก Sports Illustrated ในปี 1960 นับจากวันนั้นกราฟความยิ่งใหญ่ของแบรนด์จากฟินแลนด์ก็พุ่งสูงขึ้นจนหยุดไม่อยู่

ลาย Unikko ซึ่งถือเป็นลายที่ได้รับความนิยมสูงสุดของแบรนด์ / ภาพ: Marimekko

     ความหลากหลาย การประท้วง และจุดเริ่มต้นของลายไอคอนิก อาร์มีไม่ได้หยุดอยู่แค่กับงานออกแบบจากหัวสมองของคนเพียงไม่กี่คน เธอชื่นชอบความหลากหลายและช่วงยุค ‘60s เธอได้ร่วมงานกับ Annika Rimala และ Liisa Suvanto สร้างสรรค์ผลงานอันน่าจดจำหลายต่อหลายชิ้น และอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในยุคนี้คือไมยา ดีไซเนอร์คนดั้งคนเดิมของแบรนด์ที่ออกแบบลาย Lokki และ Kaivo มากไปกว่านั้นคือลาย Unikko หรือลายดอกป๊อปปี้ที่เป็นลายอมตะสุดคุ้นตา ลายนี้เกิดขึ้นเพราะไมยาต้องการประท้วงอาร์มีเกี่ยวกับการจำกัดแนวคิดด้านศิลปะ โดยอาร์มีระบุว่ามารีเมกโกะไม่ใช่แบรนด์ที่รังสรรค์ลายดอกไม้ แต่สำหรับไมยาเธอเห็นต่างและออกแบบยูนิกโกะขึ้นมาประท้วงในปี 1964 ต่อมามันกลายเป็นลายที่โด่งดังที่สุด ได้รับความนิยมที่สุด และถือว่าเป็นลายอมตะที่มารีเมกโกะขาดไม่ได้อย่างแท้จริง

แคมเปญโฆษณาของแบรนด์ Marimekko ช่วงยุค '60s / ภาพ: Vogue US

     ชีวิตช่วงสุดของอาร์มีกับการขยับขยายมารีเมกโกะสู่แบรนด์ระดับนานาชาติ ถึงแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังมากตลอดหลายปีตั้งแต่ยุค ‘60s เป็นต้นมา ทว่าแบรนด์ยังไม่ได้มีหลักมีฐานในพื้นที่ต่างทวีปเท่าไรนัก ช่วงนั้นลูกชายของอาร์มีก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบกระเป๋ารุ่นแรกให้กับแบรนด์ อีกทั้งยังได้ Pentti Rinta ดีไซเนอร์อีกหนึ่งคนมาผสมโรงในโลกแห่งความสร้างสรรค์เพิ่มด้วย ดีไซเนอร์คนเก่าก็ยังผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง และในปี 1968 Katsuji Wakisaka ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นก็มาถึงฟินแลนด์ ก่อนจะเริ่มรังสรรค์ผลงานชิ้นเด่นอย่างต่อเนื่อง และต่อมาได้พาเพื่อนจากแดนอาทิตย์อุทัยมาร่วมงานอีกคนคือ Fujiwo Ishimoto ในช่วงกลางยุค ‘70s เรียกได้ว่าตอนนั้นแบรนด์ขยับขยายอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องการออกแบบและการผลิต ในช่วงเดียวกันแบรนด์ก็ทำสัญญาในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเพื่อขยายความยิ่งใหญ่ออกสู่เวทีระดับโลกอย่างจริงจังก่อนวันที่ 3 ตุลาคม 1979 อาร์มีจะจากโลกนี้ไปแบบไม่มีวันกลับ

Kirsti Paakanen ผู้วางรากฐานในโลกยุคโมเดิร์นให้กับ Marimekko / ภาพ: Pirkka

     หลังจากอาร์มีเสียชีวิตก็เหมือนกับแบรนด์กำลังหลงทาง แม้อาร์มีจะไม่ใช่ผู้ออกแบบผลงานทั้งหมดแต่เธอก็คือนักธุรกิจผู้มีวิสัยทัศน์และพาแบรนด์เดินหน้าอย่างที่ไม่ใครคาดคิดว่าจากโรงงานพิมพ์ลายเล็กๆ ในฟินแลนด์จะแผ่ขยายอิทธิพลด้านแฟชั่นไปไกลถึงทำเนียบขาว ช่วงยุค ‘80s ดีไซเนอร์หลายคนทำงานอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ด้านศิลปะก็ยังคงคุณภาพระดับเดิม ทว่าด้านธุรกิจแบรนด์ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างราบรื่นนัก จนกระทั่งปี 1991 Kirsti Paakanen เข้ามาครองกิจการมารีเมกโกะ และมุ่งเป้าพัฒนาตามแนวทางดั้งเดิมของแบรนด์อีกครั้ง และเธอก็ใช้วิธีแบบเดียวกับอาร์มีคือดึงดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาสร้างสรรค์งานที่สดใหม่เสมอ อีกทั้งยังเล็งเห็นว่าการเลือกดีไซเนอร์เฉพาะทางคือกุญแจสำคัญที่จะพามารีเมกโกะเดินหน้าอย่างมั่นคงอีกครั้ง

Carrie Bradshaw สวมชุดเดรสลาย Unikko ใน Sex and the City / ภาพ: Vestilos

     ยุคมิลลิเนียลมารีเมกโกะไม่ใช่แค่แบรนด์สุดสร้างสรรค์ที่กลับมามั่นคงอีกครั้งเท่านั้น เพราะแบรนด์ก้าวกระโดดจากจุดเดิมได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ลายยูนิกโกะฝีมือไมยากลายเป็นกระแสนิยมทั่วโลกในแบบที่ยิ่งใหญ่กว่าตอนออกแบบครั้งแรกเสียอีก ก่อนที่ปี 2007 จะเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น 2 เหตุการณ์คือ Carrie Bradshaw สวมชุดของแบรนด์ใน Sex and the City จนกลายเป็นกระแสฮิตติดลมบน ส่วนอีกหนึ่งเหตุการณ์คือ Mika Ihamuotila เข้ามาซื้อกิจการก่อนจะนั่งแท่นบริหารในช่วงต้นปี 2008 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือผลักดันมารีเมกโกะให้กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกเต็มตัว

แคมเปญประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2021 ของ Marimekko x Uniqlo / ภาพ: Uniqlo

     ยุค 2010s คือยุคที่คนไทยและสาวกแฟชั่นแถบเอเชียได้รู้จักมักคุ้นกับมารีเมกโกะอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นผลจากแนวทางการทำงานของมิกะที่เล็งเห็นถึงการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันไลน์เทเบิลแวร์ก็เติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากเริ่มทำครั้งแรกในปี 2009 ช่วงนี้เรียกได้ว่ามารีเมกโกะไม่ใช่แค่แบรนด์แฟชั่นที่เน้นเรื่องการออกแบบลายพิมพ์อย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นแบรนด์ที่ครบเครื่องที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก ตลอดระยะหลายปีหลังมารีเมกโกะจับมือทำคอแลบอเรชั่นกับแบรนด์ดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Converse, Banana Republic, Adidas รวมถึง Uniqlo ผลักดันมารีเมกโกะให้อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างแข็งแกร่งมาโดยตลอด ปีนี้แบรนด์ครบรอบ 70 ปี โว้กจึงอยากนำเสนอทุกแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของแบรนด์ให้ทุกคนได้สัมผัสในบทความนี้ หวังว่าต่อไปเราเห็นมารีเมกโกะเมื่อไหร่จะนึกถึงความยิ่งใหญ่ที่แบรนด์รังสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง และจดจำความหลากหลายที่อาร์มีรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกคนตั้งใจสร้างสรรค์ให้กับโลกแฟชั่นเสมอมา

 

ข้่อมูล:

vogue.com

nytimes.com

independent.co.uk

scandinavia-design.fr

WATCH