FASHION

ย้อนรอยแฟชั่นชุดผ้าฝ้าย และเครื่องเพชรสุดอื้อฉาว เส้นทางมรณะสู่ความตายของ มารี อ็องตัวแน็ต!

จะว่าโชคร้ายก็ใช่ จะว่าผิดพลาดก็ถูก แต่ทุกเรื่องล้วนมีส่วนให้พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ต้องไปจบชีวิตลงที่กิโยตินทั้งนั้น...

     นอกจากประโยคเสียดสีความยากลำบากของประชาชนฝรั่งเศสที่ว่า “Let them eat cake!” ที่ใช้ปักปรำพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ในเวลานั้นแล้ว ยังมีอีก 2 คดี ที่ถูกนำมาใช้เป็นเรื่องเล่าสมทบสร้างความเดือดดาล และสุมไฟให้การปฏิวัติใหญ่ครั้งสำคัญของฝรั่งเศสครั้งนั้น เรื่องหนึ่งคือแฟชั่นชุดผ้าฝ้ายมัสลิน ที่ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีอะไร แต่กลับกลายเป็นการดูถูกแรงงานชาวฝรั่งเศสครั้งยิ่งใหญ่ และอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องสร้อยคอเพชรสุดอื้อฉาว ที่ทำให้ภาพลักษณ์เกี่ยวกับความฟุ่มเฟือยของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกตั้งคำถามอย่างเข้มข้นอีกครั้ง...

     อย่างที่ทราบกันดีว่า พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน “แฟชั่นไอคอน” คนสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฝรั่งเศส จากหลักฐานภาพวาดสีน้ำมันที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันก็น่าจะเดาได้ไม่ยาก ไม่ว่าพระนางจะหยิบอะไรมาสวมใส่ก็มันจะถูกวิจารณ์ และตีความอยู่เสมอ จนบางครั้งก็ต้องตกที่นั่งลำบาก กลายเป็นเหยื่อจากการเลือกใช้เสื้อผ้าเสียเอง เฉกเช่นเดียวกับคดีภาพวาดที่โด่งดัง และฉาวโฉ่ที่สุดของพระนาง นั่นคือภาพวาดของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ในชุดผ้าฝ้ายมัสลินสีขาวแสนสบาย ไร้เครื่องประดับ ขณะใช้ชีวิตส่วนตัวอยู่ที่พระตำหนัก Petit Trianon พระตำหนักที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักในเวลาที่พระนางต้องการหลีกหนีความวุ่นวายจากพระราชวังแวร์ซายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งภาพวาดดังกล่าวถูกวาดไว้ในปี 1783 มีลักษณะลำลองแตกต่างจากภาพวาดเซ็ตอื่นๆ ที่เรามักจะได้เห็นพระนางในชุดกระโปรงผ้าไหมแบบจัดเต็มทั้งหน้าผม พร้อมด้วยเครื่องประดับที่ถูกประโคมใส่ให้สมฐานะของพระนาง ซี่งภาพวาดดังกล่าวเป็นฝีมือของจิตรกรคนโปรดอย่าง Élisabeth-Louise Vigée-Le Brun ที่มีชื่อเรียกผลงานภาพวาดสุดไอคอนิกชิ้นนี้ว่า “Chemise à la reine” เพื่อหวังว่า “ความธรรมดาสามัญ” ที่ปรากฏบนภาพวาดดังกล่าว จะสามารถลบล้างกระแสด้านลบที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ฝรั่งเศส และตัวของพระนางเองในประเด็นของการใช้เงินภาษีประชาชนอย่างฟุ่มเฟือย ที่กำลังโหมกระพืออย่างหนักในตอนนั้น

ภาพวาด Chemise à la reine โดยฝีมือการวาดของศิลปิน Élisabeth-Louise Vigée-Le Brun

 

     ทว่าทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปดั่งที่ใจคิดเสมอไป เพราะหลังจากที่ภาพวาดดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการใน Salon of the Académie Royale งานนิทรรศการศิลปะ และการศึกษาของประเทศฝรั่งเศสที่มีคิวจัดขึ้นทุก 2 ปี ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในกรุงปารีส กระแสที่ตีกลับมานั้นสลับขั้วอย่างสิ้นเชิงจากที่พระนางได้คาดหวังไว้ ประชาชนส่วนมากตำหนิที่พระนางเลือกใช้ภาพวาดดังกล่าวมาจัดแสดง เพราะการแต่งตัวด้วยผ้าฝ้ายมัสลินสีขาวนั้นช่างไม่เหมาะสม ไม่ต่างจากการเลือกใส่เสื้อชั้นในออกมาต้อนรับประชาชน และคนทั่วไปที่มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการในครั้งนั้นได้อย่างน่าไม่อาย อีกทั้งการพยายามกำจัดชุดผ้าไหมออกจากภาพลักษณ์ของพระนาง ก็นับว่าเป็นการดูถูกแรงงานของประเทศอย่างมาก เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสนับเป็นประเทศมหาอำนาจในด้านอุตสาหกรรมผ้าไหม ซึ่งในทางกลับกันผ้าฝ้ายที่ปรากฏอยู่ในภาพวาดดังกล่าว คือสัญลักษณ์สินค้าของประเทศของอังกฤษ ที่ส่วนใหญ่ถูกผลิต และนำเข้าจากชาติอาณานิคมของอังกฤษเป็นหลัก ทำให้ในความเป็นจริงแล้วมีราคาสูงกว่าผ้าไหม แม้ภายนอกจะแลดูเรียบง่ายก็ตามผ้าไหมก็ตาม นั่นจึงนับเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ของพระนาง ที่ต้องการแก้ปัญหาอย่างฉาบฉวย เปลี่ยนภาพลักษณ์สถาบันกษัตริย์ตามคำเรียกร้องของประชาชน แต่กลับฉายซ้ำภาพความฟุ่มเฟือยให้ประชาชนได้เจ็บแค้นมากขึ้นกว่าเดิม สุมเชื้อเพลิงให้ไฟแห่งการปฏิวัติยังโหมกระพือไปอย่างเดือดดาลในเวลาต่อมา



WATCH




     คดีความผิดพลาด และความโชคร้ายของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ยังไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะนอกจากชุดผ้าฝ้ายมัสลินเจ้าปัญหานั้นแล้ว ยังมีเรื่องของสร้อยคอสุดอื้อฉาวอีกหนึ่งคดีเกิดขึ้น เมื่อ Madame De La Motte สตรีผู้สืบเชื้อสายมาจากลูกชายนอกสมรสของพระเจ้าอ็องรีที่ 2 อดีตกษัตริย์ของฝรั่งเศส กำลังอยู่ในภาวะขัดสนทางการเงิน เนื่องจากนิสัยการใช้จ่ายที่เกินตัว จึงทำให้มาดาม เดอ ลามอตต์ ต้องคิดหาเงินด้วยวิธีสกปรกขึ้นมา ด้วยการวางแผนเสนอเข้าช่วยเหลือ คาร์ดินัล โรอัง อดีตราชทูตฝรั่งเศสประจำราชสำนักเวียนนา ที่ตอนนั้นอยู่ในสถานการณ์ตกอับไม่ต่างกัน โดยอ้างว่าเธอเป็นสหายสนิทของพระราชินี และสามารถจะทำให้เขานั้นกลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง และในขณะเดียวกัน มาดาม เดอ ลามอตต์ ก็ยังรู้อีกว่าช่างทำเพชรอย่าง ชาร์ล โบห์เมอร์ และพอล บาสเซงเก กำลังเสนอเร่ขายสร้อยคอที่เคยถูกสร้างขึ้นให้กับชู้รักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก่อนที่พระองค์จะชิงสวรรคตไปเสียก่อน สร้อยคอเส้นนั้นเลยต้องถูกนำมาเร่ขายให้พระเจ้าแผ่นดินองค์ถัดมาคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และราชินี แต่พระนางมารี อ็องตัวแน็ต กลับปฏิเสธที่จะรับซื้อไว้ในตอนนั้น

ภาพสร้อยเพชรจำลองในคดีอื้อฉาวของ Madame De La Motte และ พระนางมารี อ็องตัวแน็ต

 

     มาดาม เดอ ลามอตต์ จึงอาศัยช่วงเวลานี้ปลอมตัวเป็นพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เขียนจดหมายโต้ตอบกับ คาร์ดินัล โรอัง หลอกว่าต้องการซื้อสร้อยคอเส้นนั้น แต่กลัวว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะไม่พอพระราชหฤทัย จึงหวังว่าจะให้คาร์ดินัลเป็นนายหน้าช่วยซื้อสร้อยคอเส้นนั้นให้แทน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ...คาร์ดินัล โรอัง ที่กระหายอำนาจ ต้องการกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ตัดสินใจออกเงินซื้อเครื่องเพชรชิ้นดังกล่าวให้ก่อน และแน่นอนว่า มาดาม เดอ ลามอตต์ ที่เป็นผู้รับสร้อยเพชรเส้นนั้นมาเอง ก็ไม่ได้นำไปให้พระนางมารี อ็องตัวแน็ต แต่อย่างใด แต่กลับนำไปขายแยกส่วน เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเสียเอง สุดท้ายเรื่องอื้อฉาวนี้ก็แดงขึ้นมาจนได้ เมื่อใบเสร็จการเก็บเงินรอบที่ 2 ส่งถึงพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ผู้ที่ไม้รู้อีโหน่อีเหน่อะไรเลยแม้แต่น้อย จนนำไปสู่การสอบสวน และจับกุมครั้งยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

     จริงอยู่ที่คดีดังกล่าวจบลงที่สามารถจับคนร้ายอย่าง มาดาม เดอ ลามอตต์ มาลงโทษได้สำเร็จ แต่ต่อมาเธอก็สามารถหลบหนีออกมาจากการกักขังได้สำเร็จ พร้อมใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยการตีพิมพ์หนังสือใส่ร้ายพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด และใส่ร้ายให้เธอนั้นได้รับโทษแทน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องฉาวโฉ่แบบนี้มีหรือจะขายไม่ดี ภาพลักษณ์ความฟุ่มเฟือยของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกโจษขานไปทั่วทุกสารทิศอีกครั้ง โหมกระพือไฟปฏิวัติให้ร้อนแรงขึ้นอย่างไม่อาจต้านทานได้ แม้ว่าพระนางจะออกมาฟ้องร้องเพื่อปกป้องตัวเองแล้วก็ตาม ทว่าก็สายไปเสียแล้ว เพราะคนทั่วไปต่างจำภาพของพระนางว่า เป็นราชินีแฟชั่นไอคอนที่ดีแต่ผลาญเงินฟุ่มเฟือยไปวันๆ แล้วเรียบร้อย แม้กระทั่งตอนนี้บนหน้าประวัติศาสตร์ก็ยังทำให้เราทุกคนระลึกถึงพระนางแบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

     จะว่าเป็นความโชคร้าย และความผิดพลาดก็ย่อมได้ เพราะทั้ง 2 คดีที่ยกมาเล่าในครั้งนี้ก็มีส่วนเติมเชื้อฟืนให้นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 จนได้ในที่สุด และยังเป็นเส้นทางมรณะที่นำให้ชีวิตของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เดินทางไปหยุดอยู่ที่เครื่องประหารกิโยติน และจบลงอย่างที่พวกเราทราบกันดี...

ข้อมูล : www.history.com/news/marie-antoinette-diamond-necklace-affair-french-revolution
ข้อมูล : www.racked.com//marie-antoinette-dress-slave-trade-chemise-a-la-reine

WATCH