FASHION
เจาะลึกทุกประเด็นกับ Louis Vuitton Spring/Summer 2020 แฟชั่นที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ
|
Beauty Fluidity
จากกลางอกของ Sophie ที่เปิดเปลือยไว้กลางจอกว้าง Nicolas Ghesquière เปิดประตูบานหนึ่งออก และทำให้เราได้เห็นดินแดนที่ไร้ขอบเขตของความงาม
ความลื่นไหลทางเพศกับนิโคลาส์ เกสกิแยร์เป็นส่วนผสมที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เมื่อหลายซีซั่นก่อนที่ Louis Vuitton ด้วยเหตุนี้ ทันทีที่ลุคสไตล์แอนโดรจีนีหรือ “ก้ำกึ่งระหว่าง 2 เพศ” ของ Sophie Xeon ซึ่งเป็นนักร้องทรานส์เจนเดอร์ปรากฏขึ้นบนจอขนาดยักษ์ เมสเสจจึงถูกส่งตรงมาหาคนดูได้แทบจะทันทีว่าสิ่งที่จะได้เห็นหลังจากนี้จะไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเพศเข้ามาเกี่ยวแน่ๆ และพร้อมกันนั้นก็เตือนอยู่ในทีว่าความลื่นไหลของเพศที่แสดงออกในคอลเล็กชั่นนี้ไม่ได้มาแบบซอฟต์ใส หากเปี่ยมไปด้วยพลังประดุจการปรากฏตัวของทูตสวรรค์ ที่รวมไว้ทั้งความอ่อนโยนนุ่มนวล พลังงานอันกร้าวแกร่ง และความซับซ้อนตามคาแร็กเตอร์ของเหล่าทูตสวรรค์ที่คาดเดาได้ยากแต่ก็ดึงดูดใจ
เพลงที่โซฟีนำมาเปิดอกร้องสำหรับโชว์นี้คือ It’s Okay to Cry เวอร์ชั่นยาวพิเศษที่ร่วมมือกับศิลปินอิเล็กทรอนิกส์/นีโอโฟล์ก Woodkid อะเรนจ์ขึ้นมาใหม่สำหรับแบรนด์คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 โดยเฉพาะส่วนของเนื้อเพลง “จะร้องไห้ก็ไม่ผิด” นั้น เรายกไว้ให้เป็นการตีความเฉพาะบุคคลว่าโซฟีเธอพูดกับใคร แต่การที่เหล่าโมเดลทยอยเดินออกมาจากกลางหัวใจของเธอ ภาพท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆสีจัด และสายฟ้าแปลบปลาบในช่วงท้าย ส่งสารมาถึงเราว่านิโคลาส์อาจมองความไร้เพศแบบแอนโดรจีนีว่าเปรียบประหนึ่งความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เป็นสากล เป็นความศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกับทูตสวรรค์ที่ไร้เพศ ซึ่งควรได้รับการปลดปล่อยออกมาอย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรถูกเหยียบย่ำหรือปกปิดเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตีความของผู้เขียนล้วนๆ ผู้อ่านสามารถไปดูโชว์แล้วตีความเป็นอื่นได้ตามอัธยาศัย
ส่วนของเสื้อผ้าในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 นี้เหมือนสมูททีแก้วโตที่นิโคลาส์จับเอาความขัดแย้งระหว่างสีสันจัดจ้านและความเรียบง่ายแบบมินิมัลลิสต์มาปั่นรวมเข้าด้วยกัน แล้วกระจายไปใส่ไว้ในทุกองค์ประกอบของโชว์ ตั้งแต่รันเวย์แสนเรียบตัดกับแบ็กกราวด์ก้อนเมฆสีร้อนแรง ลุคและการแต่งหน้าของนางแบบที่คิ้วและตาดูบางเบามินิมัล แต่ริมฝีปากกลับแดงจัดเคลือบกลอสเงาวับรับกับลุคของโซฟีที่ฉายอยู่บนสกรีน ไปจนถึงตัวคอลเล็กชั่นที่หยิบเอาสีสันของยุค 1970 มาผสมผสานกับเส้นสายอ่อนโยนของยุค Belle Époque แถมด้วยกิมมิกจากภาพยนตร์ในยุค 1980 (แนวถนัดช่วงหลังมานี้ของตัวดีไซเนอร์เอง) ซึ่งถ้าดูโดยรวมอาจจะมึนงงเหมือนนั่งไทม์แมชชีนกระโดดไปยุคนั้นทียุคนี้ที แนะนำให้ค่อยๆ ไล่ดูส่วนผสมไปทีละอย่างทีละขั้น เพื่อจะได้ลิ้มรสสมูทตี้ที่ชื่อ LV Spring/Summer 2020 แก้วนี้ได้อย่างรื่นรมย์และไม่วิงเวียน
Set Up
WATCH
โชว์นี้จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ Louvre กรุงปารีส ที่ประจำของแบรนด์มาหลายฤดูกาล แต่แทนที่จะใช้ความหรูหราจัดเต็ม นิโคลาส์กลับเลือกธีมมินิมัลลิสม์มาใช้ในโชว์ รันเวย์เซตอัพที่เป็นไม้ทั้งหมดคัดเลือกมาจากสวนป่าในฝรั่งเศสที่ปลูกและได้รับการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหลังจากโชว์จบ จะนำไม้ทั้งหมดไปบริจาคให้ ArtStock องค์กรที่มีภารกิจหลักเพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลและอัพไซเคิลวัสดุที่เหลือทิ้งจากโปรเจกต์ต่างๆ ของศิลปิน หรืองานแสดงศิลปะต่างๆ โครงสร้างส่วนอื่นๆ นั้นไม่ได้ทำขึ้นใหม่ แต่เช่ามาเพื่อโชว์นี้โดยเฉพาะ สายกรีนน่าจะให้แต้มบวกเพิ่มอีกหลายคะแนน
Tailoring
สไตล์ของงานสูทในรูปแบบใหม่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพลักษณ์และกลิ่นอายจากผลงานของ Marcel Proust นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้เป็นไอคอนของหนุ่มยุค 1970 ผสมผสานแฟชั่นเนี้ยบกริบแบบหนุ่มแดนดี้ ออกมาเป็นสูท 3 ชิ้นลายก้างปลาแนวยาว (หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Herringbone) กับลวดลายโมทีฟที่โดดเด่นจัดจ้านในแพตเทิร์นใหม่ ช่วงไหล่ดูซอฟต์ลงอย่างเห็นได้ชัด หากยังคงเก็บช่วงเอวแบบสลิมฟิต แต่มีปกสูทกว้างใหญ่โดดเด่น เข้ากันกับกางเกงทรงหลวมที่เส้นสายชัดเจน ดูแมสคิวลินขึ้น ประดับด้วยเข็มกลัดดอกไอริสให้พอได้กลิ่นอายของยุคเบลล์ เอพ็อก
Layering
การซ้อนทับระหว่างลายพิมพ์และเทกซ์เจอร์เป็นอีกลูกเล่นหนึ่งที่ดีไซเนอร์นำมาใช้ คอนเซปต์ของสูท 3 ชิ้นได้รับการปรับเปลี่ยน เสื้อนอกถูกแทนที่ด้วยเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายแขนพองสีจัดพิมพ์ลายตารางและลายทาง ส่วนเสื้อกั๊กถูกแทนที่ด้วยเสื้อแขนกุดไหมพรมถักปักเลื่อม ลำพังสีเสื้อก็จัดมากแล้ว แต่คงยังไม่พอ นิโคลาส์จึงโหมปักประดับเลื่อมวิบวับทับลงไปจนได้เทกซ์เจอร์สลับซับซ้อน แต่สวมแล้วกลับได้ลุค Subtle กว่าแนวการผลิตชิ้นงานมาก กล่าวคือ สุขุม ไม่โฉ่งฉ่าง และแทนที่จะจับคู่ชิ้นบนกับกางเกงสูทเข้ารูป ก็เปลี่ยนเป็นกางเกงเอวสูงขากว้างแบบ Palazzo pant หรือไม่ก็กระโปรงระบายสั้นบานพอง เป็นการพลิกแพลงส่วนผสมแล้วปรุงใหม่ออกมาจนกลมกล่อม เป็นลุคที่ผู้เขียนชอบมากลุคหนึ่งจากคอลเล็กชั่นนี้
’70s Spirit
นอกจากสูท 3 ชิ้นและกางเกงขากว้างซึ่งถือเป็นภาพจำของยุคดิสโก้แล้ว ลายพิมพ์ยังโดดเด่นเตะตาและถือเป็นความสำเร็จชั้นเลิศบนรันเวย์ครั้งนี้ เช่น ลวดลายเรขาคณิต ลายทิวทัศน์แนวนามธรรม ลายคดโค้งเหมือนภาพพิมพ์สีน้ำมันที่ใช้เทคนิคการวาดลายลงบนผิวน้ำ และลวดลาย Psychedelic swirls ที่ชวนเวียนศีรษะแต่ก็ละสายตาได้ยาก ทั้งหมดนี้ล้วนฮิตถล่มทลายในยุค 1970 ก่อนถูกหยิบมาผสมโน่นปรับนี่ลงบนโครงเสื้อที่เรียบง่าย เรียกว่าให้ลายเด่นจนลืมดูเสื้อกันไปเลยก็มี ซึ่งแนวคิดของการ “ปล่อยให้นางเอกโซโล” ถือเป็นหัวใจของการสร้างสรรค์งานคอลเล็กชั่นนี้ ความซับซ้อนที่ผ่านการคำนวณมาอย่างมีรสนิยมเที่ยวนี้ทำให้นิโคลาส์สามารถกู้ชื่อคืนได้สำเร็จจากงานคอลเล็กชั่นก่อนหน้าที่สื่อหลายสำนักและผู้ชมมากมายอาจยัง “อาว็อง-การ์ดไม่พอ” จึงไม่ค่อยเข้าใจนัก
Stripes
ลายทางในคอลเล็กชั่นนี้ซึ่งค่อนข้างโดดเด่นทั้งสีและแพตเทิร์นนำมาจัดวางไว้บนโครงสร้างเรียบง่าย ทั้งชุดกระโปรงทรงเอ เสื้อคอปกปีเตอร์แพนเนื้อผ้าพลิ้วไหว และชุดกระโปรงป้ายที่เรียบง่ายแต่ส่งให้ลายทางของหลุยส์ วิตตองในคอลเล็กชั่นนี้โดดเด่นจับตา
Movie
พูดถึงหลุยส์ วิตตองถ้าไม่พูดถึงกระเป๋าคงไม่ได้ เราเชื่อว่านิโคลาส์ผู้ซึ่งปกติแล้วเหมือนไอเดียจะล้ำหน้าคนร่วมศตวรรษอยู่ก้าวหนึ่งตลอดเวลาน่าจะพยายามรื้อฟื้นอะไรบางอย่างจากในคลังเก่าของตัวเองเพื่อเอามาประกอบในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 นี้ ถ้าย้อนกลับไปสังเกตซีซั่นก่อนๆ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มาร่วมงานกับหลุยส์ วิตตอง ผลงานของเขาจะมีความเชื่อมโยงกับอดีตในหลายๆ ยุคสมัย อย่างเช่นการเอาเสื้อ Frock coat จากศตวรรษที่ 18 มาจับคู่กับรองเท้าสนีกเกอร์ หรืออย่างในโชว์นี้ที่แม้เจ้าตัวจะบอกไว้ว่าตั้งเข็มของไทม์แมชชีนเอาไว้ที่ยุคเบลล์ เอพ็อก แต่ยังไม่วายแทรกกลิ่นอายของความป๊อปในยุคเด็กเทปแคสเซตผ่านรายละเอียดในแอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ เช่น กระเป๋า VHS (aka. ม้วนวิดีโอเทปที่เคยเป็นความบันเทิงและอุปกรณ์หลักของการดูหนังที่บ้านในยุคหนึ่ง) หรือกระเป๋าโทตลายโมโนแกรมประดับกองเทปหนังเก่าที่แอบแปลงชื่อหนังบนหัวตลับมาชนิดที่ว่า “ถ้าใครเกตทุกมุกนี่ เรารุ่นเดียวกันแน่นอน” ไม่ว่าจะเป็น The Terminator ที่กลายเป็น The Trunkinator Thelma and Louise ที่ถูกแปลงเป็น Gaston And Louise (Gaston-Louis Vuitton เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของบ้านแอลวี) หรือ Louis’ Excellent Adventure ที่ (หวังว่า) น่าจะเดากันได้ว่ามาจากสองดู๊ดสุดป่วน Bill & Ted’s Excellent Adventure ผู้อ่านที่เกิดไม่ทันยุค Keanu Reeves วัยละอ่อนสามารถย้อนกลับไปดูหน้าใสๆ ของพี่เขาได้ในเรื่องนี้
Belle Époque Femininity
ภาพลักษณ์ของหญิงสาวในยุคเบลล์ เอพ็อกที่เด่นที่สุดถูกตั้งชื่อให้ว่า The Gibson Girls เป็นคอนเซปต์ของผู้หญิงจากผลงานการวาดภาพของศิลปิน Charles Dana Gibson ซึ่งสร้างอิมเมจของหญิงสาวที่ผสมผสานลุคของผู้หญิงอเมริกันในศตวรรษที่ 19 เข้ากับความงามตามแบบฉบับ “ปัจจุบัน” ของเขา (ราวต้นศตวรรษที่ 20) ออกมาเป็นหญิงสาวที่ดูบอบบาง เอวคอดกิ่วด้วยคอร์เซต แต่ต้องมีอกอวบอิ่ม ภาพรวมจึงเป็นหญิงสาวที่แลดูเย้ายวนภายใต้เสื้อผ้าลูกไม้เนื้อดี ลุคแบบ Gibson Girls ที่ค่อนข้างจะเยอะแบบแม็กซิมัลลิสม์นี้ถูกนิโคลาส์ลดทอนลงและเก็บไว้เฉพาะรายละเอียดบางอย่าง เช่น ความพองใหญ่ของแขนเสื้อ วอลูมของโครงสร้างโดยรวม การจับจีบที่ดูพลิ้วไหว กระโปรงทรงดอกทิวลิปอ่อนช้อย ผ้าลูกไม้ละเอียดและการซ้อนทับของเนื้อผ้าโปร่งบาง แล้วโอบล้อมรายละเอียดมากมายเอาไว้ในโทนสีขาวครีมสะอาดตา สร้างลุคน้อยแต่มากได้สมบูรณ์แบบชนิดที่เห็นแล้วอยากสั่งซื้อมาสวมเลยทันที
Floral
ความอ่อนช้อยของกลีบดอกไม้ที่ปรากฏอยู่บนชิ้นเด่นหลายชิ้นของคอลเล็กชั่นนี้ บางชิ้นคนรักงานศิลปะแบบอาร์ตนูโวเห็นปุ๊บจะบอกได้ทันทีว่าน่าจะอินสไปร์มาจากภาพวาดของศิลปินเด่นประจำยุคอย่าง Alphonse Mucha ดอกไอริส ภาพวาดดอกไม้สไตล์ยุคเบลล์ เอพ็อก ลายเส้นจากภาพวาดพืชพรรณไม้ ล้วนโปรยปรายกระจัดกระจายเป็นทั้งลายพิมพ์ ลายปักบนแจ็กเกต กระโปรงทรงทิวลิป และเข็มกลัดรูปดอกไม้ สร้างภาพรวมที่อ่อนหวานเติมเข้ามาในคอลเล็กชั่นโดยไม่เลี่ยน
Pins
เข็มกลัดเป็นอีกคีย์พีซที่โดดเด่นในคอลเล็กชั่นนี้ ดีไซเนอร์นำดอกกล้วยไม้ ไอริส และเส้นสายจากพรรณไม้ต่างๆ มาประดิษฐ์เป็นช่อบูทอนเนียร์ ขนาดอาจค่อนข้างใหญ่เกินจริงนิดหน่อยแต่ก็เหมาะกับการกลัดบนปกเสื้อขนาดใหญ่พิเศษ หรือบนเดรสสีขาวล้วนเพื่อเพิ่มมิติและพลังแฟชั่นให้กับลุคโดยรวม ยิ่งกับบูโทเนียร์ที่ใช้เส้นสายซับซ้อนของดอกกล้วยไม้ แต่เบรกความเยอะด้วยโทนสีสุภาพอย่างขาว ครีม ดำ ยิ่งช่วยคอมพลีตลุค “สวมน้อยแต่เก๋มาก” ได้อย่างชวนมองจนสามารถขโมยซีนบนรันเวย์ไปจากหลายลุค
WATCH