FASHION

เปิดประวัติศาสตร์ ‘กิโมโน’ เครื่องแบบประจำชาติของชาวญี่ปุ่นที่คุณอาจไม่เคยรู้

ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่ายิ่งใส่กิโมโนที่มีสีฉูดฉาดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงถึงความเป็นผู้นำและพลังมากเท่านั้น

     ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กิโมโน’ แทบจะเป็นสิ่งแรกที่นึกถึงหากมีใครพูดถึงประเทศญี่ปุ่น ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องแต่งกายชนิดนี้ และแฟชั่นการสวมใส่กิโมโนของชาวญี่ปุ่น ทำให้ชุดกิโมโนโด่งดังและกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในบทความนี้ โว้กพามาทำความรู้จักกับกิโมโน เครื่องแต่งกายของชาวญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ รวมถึงสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับกิโมโนมาก่อน

     ตามตัวอักษรคันจิ คำว่า ‘กิโมโน’ แปลเป็นภาษาไทยว่า เสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งกิโมโนเป็นการนำผ้า 4 ส่วนมาเย็บต่อกันเป็นรูปทรงคล้ายตัวอักษร T เมื่อใส่แล้วจะพรางรูปผู้สวมใส่โดยไม่ให้เห็นสัดส่วนที่แท้จริง ส่วนวิธีการสวมใส่เริ่มจากการพบทับของผ้าไปมา ซึ่งต้องเริ่มพับจากด้านขวาแล้วทับด้วยด้านซ้ายเสมอ จากนั้นรัดด้วยสายรัดที่เรียกว่า ‘โอบิ’ เพื่อรัดเสื้อคลุมให้อยู่คงที่ ซึ่งเงื่อนของโอบิสามารถผูกปมได้หลายประเภทตามความต้องการ อีกส่วนที่ขาดไม่ได้คือส่วนของปกคอ ซึ่งปกคอที่สวยงามจะต้องมีความกว้างประมาณฝ่ามือและเผยให้เห็นหลังคอผู้สวมใส่ นอกจากนี้ การใส่กิโมโนจะต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ มากถึง 15 ชิ้น ในการประกอบกันเป็นชุดกิโมโน ซึ่งต้องอาศัยความประณีตและความชำนาญสูงในการใส่แต่ละครั้ง

‘กิโมโน’ เครื่องแต่งกายของชาวญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ / ภาพ: KCP International

     หากจะย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของชุดกิโมโน คงต้องย้อนกลับไปช่วงปี ค.ศ. 794-1192 หรือในช่วงสมัย Heian ซึ่งในช่วงแรกนั้นชาวญี่ปุ่นนิยมตัดเสื้อผ้าเป็นเส้นตรงเพื่อให้ง่ายต่อการสวมใส่ โดยพัฒนามาจากก่อนหน้านี้ที่นิยมแต่งชุดท่อนบนกับท่อนล่างเหมือนกัน หรือไม่ก็เป็นผ้าชิ้นเดียวกันทั้งหมด หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาเทคนิคต่างๆ รวมถึงการเลือกเนื้อผ้าที่เหมาะสมกับฤดูกาล จนออกมาเป็นชุดกิโมโนที่เรารู้จัก โดยช่างตัดเย็บในสมัยนั้นพยายามคิดค้นหาวิธีผสมผสานสีของผ้าเพื่อความสวยงามมากขึ้น เรียกได้ว่ายุคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของแฟชั่นกิโมโนก็ว่าได้

ชุดกิโมโนในสมัย Heian / ภาพ: Owlcation

     ต่อมาในยุค Kamakura และยุค Romaji หรือช่วงปี ค.ศ. 1192-1572 ชุดกิโมโนกลายมาเป็นชุดที่ชาวญี่ปุ่นใส่กันในชีวิตประจำวัน  ทั้งหญิงและชายจะเลือกใส่กิโมโนที่มีสีสันสดใสมากขึ้น และในยุคนี้เริ่มมีการแบ่งแยกและสร้างสีเฉพาะของกิโมโนตามเพศ ตามหน้าที่ และสีตามฤดูกาลแล้ว เช่น กิโมโนของนักรบจำเป็นจะต้องใส่เฉพาะสีที่มีความฉูดฉาดเท่านั้น เพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อว่ายิ่งใส่กิโมโนที่มีสีฉูดฉาดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงถึงความเป็นผู้นำและพลังมากเท่านั้น



WATCH




ชุดกิโมโนสำหรับซามูไรถูกตัดเย็บอย่างประณีต / ภาพ: Pinterest

     หลังจากนั้นมา กิโมโนก็ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงยุคเอโดะ ซึ่งมีการตัดเย็บชุดเครื่องแบบกิโมโนอย่างประณีตให้เฉพาะพวกขุนนางหรือซามูไรที่ไปปกครองตามแคว้นต่างๆ โดยมีชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าลินินมาคลุมชุดกิโมโนเพื่อให้ดูไหล่ตั้ง และกางเกงขายาวที่คล้ายกับกระโปรงแยกชิ้น ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการพัฒนาชุดกิโมโนไปอีกขั้น คล้ายกับเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง จนมาถึงยุคเมจิ ในช่วงปี ค.ศ. 1868-1912 วัฒนธรรมทางฝั่งตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นเริ่มใส่เสื้อผ้าที่ดูเป็นสากลอย่างกางเกงยีนส์มากขึ้น จึงทำให้หลังจากนั้นมา ชุดกิโมโนจะถูกหยิบมาใส่เฉพาะโอกาสพิเศษหรือพิธีทางการเท่านั้น

กิโมโนลายนกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของความอายุยืนและชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ / ภาพ: VAM

     จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับชุดกิโมโนคล้ายกับเป็นผลงานศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะมีการซ่อนความหมายอยู่ภายใต้ลวดลายและสีสันบนเนื้อผ้า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วลวดลายบนชุดกิโมโนจะเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งดีๆ ทั้งความโชคดี ความร่ำรวย ความอายุยืน หรือความรักที่มั่นคง และมักหยิบยกเอาสิ่งรอบตัวมาเป็นลายบนเนื้อผ้า อย่างกิโมโนลายนกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของความอายุยืนและชีวิตที่อุดมณ์สมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่จะอยู่กับคู่ไปตลอดชีวิต กิโมโนลายนกกระเรียนจึงเป็นลายที่เป็นที่นิยมสำหรับเจ้าสาวในงานแต่งงาน หรือกิโมโนลายดอกซากุระเองก็มีความหมายซ่อนอยู่เช่นกัน เพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าต้นซากุระมีเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์อาศัยอยู่ อีกทั้งช่วงที่ดอกซากุระบานก็ตรงกับช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิพอดี กิโมโนลายดอกซากุระจึงมีความหมายที่สื่อถึงการเริ่มต้นใหม่

ในปัจจุบัน ชุดกิโมโนมักจะถูกหยิบมาใส่กันในโอกาสพิเศษต่างๆ หรือพิธีการสำคัญ / ภาพ: Schmetz-Magazine

     อย่างไรก็ตาม การใส่กิโมโนก็มีกฎ 3 ข้อใหญ่ๆ ที่ควรรู้ก่อนใส่ อย่างแรกคือต้องจำไว้ว่าการใส่กิโมโนนั้นด้านซ้ายจะต้องอยู่ด้านบนเสมอ เพราะหากด้านขวาทับด้านซ้ายจะเป็นการใส่ให้กับคนที่เสียชีวิตเท่านั้น อีกอย่างคือต้องยอมรับว่าคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับฤดูกาลเป็นอย่างมาก การใส่กิโมโนบางลายจะสามารถใส่ได้เฉพาะบางช่วงของปี เช่น กิโมโนที่มีลวดลายของต้นซากุระจะได้ใส่ช่วงฤดูซากุระบานเท่านั้น ยกเว้นแต่ลายดอกซากุระที่สามารถใส่ได้ตลอดทั้งปี ส่วนข้อสุดท้าย โอบิต้องอยู่ด้านหลังเสมอ จะมีเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานที่ Red-light-district หรือย่านโคมแดงเท่านั้นที่จะใส่โอบิไว้ด้านหน้า

     ในปัจจุบัน กิโมโน เครื่องแบบประจำชาติของชาวญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่ผู้สูงอายุที่หยิบมาใส่เท่านั้น เด็กวัยรุ่นก็ยังคงใส่กิโมโนในวันพิเศษต่างๆ เช่นกัน อย่างวันฉลองอายุครบ 20 ปี หรือในบางโรงเรียนมักจะให้เด็กๆ ใส่ชุดกิโมโนในวันจบการศึกษา อีกทั้งแบรนด์เสื้อผ้าในประเทศญี่ปุ่นยังนิยมหยิบยกเอากิโมโนมาทำให้ดูทันสมัยมากขึ้น จึงไม่แปลกใจที่เวลาเราไปเยือนญี่ปุ่น มักจะเห็นเด็กๆ วัยรุ่นใส่กิโมโนออกมาใช้ชีวิตกันเป็นปกติ

WATCH

TAGS : Kimono