FASHION

Kathrine Switzer นัก(ลักลอบ)วิ่งมาราธอน ผู้ปลดแอกการแข่งกีฬาให้กับสตรีทั่วโลก

เธอคือผู้หญิงคนแรกที่ช่วงชิง ปลดล็อค และท้าทาย พื้นที่กีฬาวิ่งมาราธอนที่ถูกครอบงำด้วยระบบปิตาธิปไตยเข้มข้นอย่างเป็นทางการ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจของผู้หญิงทั่วโลก!

     โลกในยุค 1960s กีฬาวิ่งแข่งมาราธอนคือมาตรวัดความแข็งแกร่งของเหล่าผู้ชาย จนเราไม่อาจจะจินตนาการได้เลยว่าจะมีผู้หญิงคนใดที่จะสามารถช่วงชิงพื้นที่ของการแข่งขันวิ่งมาราธอนในยุคนั้นมาได้ กระทั่งขาข้างหนึ่งของสตรีที่ชื่อ Kathrine Switzer ก้าวเหยียบลงบนสนามวิ่งที่งานแข่งขันบอสตันมาราธอน ประจำปี 1967 พร้อมสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่วิ่งแข่งมาราธอน และเข้าเส้นชัยของการแข่งขันบอสตันมาราธอนอย่างเป็นทางการ...

     แคทเธอรีน สวิตเซอร์ คือเด็กสาวที่เติบโตมาพร้อมกับการเล่นกีฬาฮอกกี้ และกิจกรรมการวิ่ง 1 ไมล์สะสมทุกวัน ซึ่งนั่นเองที่ปลูกฝังนิสัยรักการออกกำลังกาย และกีฬาให้เกิดขึ้นในใจเธอทีละนิดๆ ตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก จนกระทั่งเธอได้เริ่มต้นชีวิตในมหาวิทยาลัย Lynchburg ในรัฐเวอร์จิเนียร์ ซึ่งที่แห่งนั้นเองที่เปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ทำให้แคทเธอรีนได้รู้จักกลุ่มของเหล่านักวิ่งเป็นครั้งแรก และจุดประกายความหวังให้เธอได้ใฝ่ฝันถึงการลงแข่งขันในรายการบอสตันมาราธอน หลังจากที่โค้ชกรีฑาของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นเคยทาบทามให้เธอมาลงแข่งขันวิ่ง 1 ไมล์สำหรับทีมชายนั่นเอง ไฟฝันในด้านกีฬาของแคทเธอรีนลุกโชนอยู่ตลอดเวลา ทว่าในยุคนั้นอนาคตของสตรีในวงการกีฬาวิ่งมาราธอนก็ช่างมืดแปดด้าน เธอจึงต้องจำใจย้ายมหาวิทยาลัยไปเข้าเรียนที่ Syracuse ที่มีชื่อเสียงในศาสตร์ด้านการสื่อสารมวลชนแทน เพื่อทำตามความฝันในการเป็นผู้สื่อข่าวกีฬาอย่างจริงจัง

     กระนั้นโชคชะตาก็เหมือนจะเล่นตลกเรียกร้องให้แคทเธอรีนไม่อาจหนีพ้นจากทางสายกีฬา เมื่อเธอได้พบกับ Arny Briggs โค้ชที่ร่วมฝึกซ้อมการวิ่งมาราธอนกับเธอ แต่ด้วยความเชื่อ และบรรยากาศแห่งยุคสมัยที่คุกรุ่นไปด้วยเขม่าความคิดปิดกั้นพื้นที่การวิ่งมาราธอนต่อเพศหญิง ทุกคนต่างเชื่อว่าผู้หญิงไม่มีทางที่จะวิ่งระยะมาราธอนได้ เนื่องจากปัจจัยทางด้านสุขภาพร่างกายที่อาจเสื่อมเสียได้ (กระทั่งมีกฎออกมาให้ผู้หญิงห้ามวิ่งเกินระยะ 1 ไมล์ในเวลานั้น) ซึ่งอาร์นีก็คือหนึ่งในกลุ่มคนที่เชื่อเช่นนั้น กอปรกับที่เขาพยายามจะตัดลูกตื๊อของแคทเธอรีน ที่เอาแต่พร่ำบ่นว่าอยากลงแข่งวิ่งมาราธอนในการแข่งขันบอสตันมาราธอนให้ได้ อาร์นีจึงได้ยื่นข้อเสนอเอาไว้ว่า หากแคทเธอรีนสามารถพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ว่าเธอวิ่งมาราธอนได้จริง เขาจะพาเธอไปสมัครลงแข่งขันวิ่งที่บอสตันด้วยตัวเอง คำพูดประโยคนั้นดังก้องอยู่ในโสตประสาทของแคทเธอรีนเสมอมา และดูเหมือนว่าเลือดนักสู้อันพุ่งพล่านของเธอก็จะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้อีกต่อไป สุดท้ายเธอก็กำชัยชนะจากเดิมพันในครั้งนั้นด้วยการวิ่งไปเหยียบได้ไกลถึงหลักกิโลเมตรที่ 42.195 สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับอาร์นีอย่างมาก และในคราวเดียวกันก็ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับอาร์นีรู้ว่า ผู้หญิงก็เป็นสิ่งมีชีวิตวิ่งมาราธอนได้ไม่ต่างจากผู้ชาย...

     แน่นอนว่าหลังจากนั้นอาร์นีก็พาแคทเธอรีนไปแข่งขันที่บอสตันมาราธอนอย่างที่ตกลงไว้ ซึ่งด่านหินด่านแรกที่เธอต้องผ่านไปให้ได้ก็เริ่มต้นขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ กับการกรอกใบสมัครลงแข่งขัน โดยในครั้งนั้นเธอได้ลงชื่อของเธอเอาไว้ว่า K.V. Switzer ซึ่งภายหลังเธอยังได้ออกมาไขความกระจ่างว่าเธอไม่ได้ต้องการปกปิดเพศของเธอแต่อย่างใด เพราะในใบสมัครตอนนั้นไม่มีช่องให้กรอกเรื่องเพศด้วยซ้ำ คนสมัยนั้นได้ใจเกินกว่าจะถามเพศผู้เข้าแข่งขัน เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเชื่อเลยว่าผู้หญิงจะดั้นด้นเข้ามาแข่งขันวิ่งมาราธอนได้ แต่ที่เธอเขียนชื่อย่อแบบนั้นก็เพราะเธออยากจะเขียนชื่อให้เหมือนกับนามปากกาของนักเขียนที่เธอชื่นชอบก็เท่านั้น... ในการแข่งขันที่ไม่มีใครคาดคิดครั้งนั้น เธอลงแข่งพร้อมกับอาร์นี และ Tom Miller แฟนหนุ่มของเธอ ที่คอยวิ่งขนาบข้างจนกระทั่งนาทีประวัติศาสตร์ที่ถูกจับภาพได้ เมื่อฝ่ายจัดการแข่งขันในครั้งนั้นทราบภายหลังว่าเธอเป็นผู้หญิง และรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก จึงตั้งใจวิ่งตามเธอมาเพื่อพยายามกระชากป้ายหมายเลข 261 ที่หน้าอกของเธอออก พร้อมตะโกนไล่ให้ออกจากการแข่งขันทันที แต่นั่นก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะแฟนหนุ่มของแคทเธอรีนได้ช่วยเธอไว้ทัน ด้วยการวิ่งเข้าใส่ตัวของฝ่ายจัดการแข่งขันคนนั้นจนล้มไปข้างทาง การแข่งขันในครั้งนั้นจบลงด้วยการย่ำเท้าเข้าเส้นชัยของแคทเธอรีนได้สำเร็จด้วยสถิติเวลา 4 ชั่วโมง 20 นาที ปลดแอกหน้าประวัติศาสตร์ให้กับผู้หญิงบนพื้นที่กีฬาแข่งขันวิ่งมาราธอนได้สำเร็จอย่างเป็นทางการ



WATCH




***Take Notes : ก่อนหน้านั้นในปี 1966 เคยมีเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วที่บอสตันมาราธอน เมื่อหญิงสาวนามว่า Bobbi Gibb ที่เคยปลอมตัวเป็นผู้ชาย ด้วยการสวมใส่เสื้อฮู้ดและกางเกงร่วมลงการแข่งขัน โดยวางแผนซุ่มอยู่ใกล้จุดออกตัวในการแข่งขัน ก่อนจะเข้าเส้นชัยไปด้วยสถิติเวลา 3 ชั่วโมง 21 นาที แต่ในครั้งนั้นเธอไม่ได้ลงทะเบียนการแข่งขัน และไม่มีป้ายหมายเลขในการแข่งขัน จึงนับเป็นชัยชนะของสตรีอย่างไม่เป็นทางการ***

     หลังจากมาราธอนครั้งแรกของแคทเธอรีนจบลง 5 ปีให้หลังบอสตันมาราธอนก็ต้องเปิดใจยอมรับให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขัน อีกทั้งการแข่งขันกีฬาต่างๆ ก็อ้าแขนรับผู้หญิงให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนตามมา เฉกเช่นในปัจจุบันที่มีผู้หญิงลงทะเบียนงานวิ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งต่อการแข่งขัน ทั้งในสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก อีกทั้งเรื่องราวของแคทเธอรีนยังกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ และถูกใช้เป็นกรณีตัวอย่างในกรณีการรณรงค์ และเรียกร้องตามกระแสสตรีนิยม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้ เพียงแต่สังคมไม่ให้ “โอกาส” พวกเธอได้ลองพิสูจน์ตัวเองก็เท่านั้น และนั่นเองก็คือปัญหาสำคัญที่ทำให้ “ความเท่าเทียม” ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในสังคมเสียที...

ข้อมูล : Wikipedia-Kathrine Switzer, www.kathrineswitzer.com, BBC UK และ www.womenofthehall.org

WATCH