FASHION

เปิดเรื่องราววันแรกที่ Chanel ของ Karl Lagerfeld ตึงเครียดมากจนถูกขนานนามว่าสงครามเย็น!

โว้กพาย้อนรอยตำนานบทที่สำคัญอย่างก้าวที่แรกชาเนลของคาร์ล เลเกอร์เฟลด์ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เนื้อหาสำคัญ

  • ก้าวแรกของ Karl Lagerfeld ในแฟชั่นเฮาส์อย่าง Chanel
  • สงครามเย็นระหว่าง Karl และทีมงาน
  • ความคลาสสิกที่ถูกปรับแต่งใหม่สู่ความอมตะเหนือกาลเวลา
  • แพตเทิร์น “Not Chanel” สู่ “So Chanel”

_______________________________________________________

 

     ในช่วงเวลาแห่งการระลึกถึงสุดยอดดีไซเนอร์ระดับตำนานอย่าง Karl Lagerfeld ที่เพิ่งจากโลกนี้ไปอย่างสงบเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องโชว์ ทรัพย์สิน ภาพสเกตช์ โมเมนต์ต่าง ๆ ถูกนำเสนอในมุมมองไปหลากหลายรูปแบบ ส่วนมากมักพูดถึงความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของปู่คาร์ล แต่ในแง่มุมความพยายามและก้าวย่างก่อนจะสร้างชิ้นงานไอคอนิกต่าง ๆ เหล่านี้มันไม่ได้ผุดขึ้นมาแบบทันทีทันใด แต่ดีไซเนอร์คนนี้ก้าวผ่านเส้นทางแห่งความฝันและความพยายามกว่าจะได้มายืนถึงจุดนี้ วันนี้เราจะนำเสนอเรื่องราวก้าวแรกเมื่อมาถึง Chanel กับโมเมนต์ที่เขาทำลายขีดจำกัดทุกอย่างจนทำให้แบรนด์ยังยืนหยัดอยู่แถวหน้าได้อยู่ถึงทุกวันนี้

Coco Chanel กับทีมของเธอ / ภาพ: sonia prada

     ย้อนกลับไปช่วงปีปี 1970-80 ตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของชาเนลว่างหลังจากมาดามโกโก้ผู้ก่อตั้งเสียชีวิตลงในปี 1971 ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาแบรนด์อยู่ในสภาวะไร้หัวเรือใหญ่มาตลอดระยะเป็น 10 ปี สุดยอดแบรนด์จากฝรั่งเศสดำรงอยู่ได้จากการสนับสนุนของเหล่าลูกค้าที่ยังเชื่อมั่นในตัวแบรนด์ และกลุ่มคนจงรักภักดีของชาเนลเหมือนเห็นอนาคตที่แบรนด์กำลังจะฟื้นตัวและพุ่งขึ้นสู่แบรนด์ชั้นนำของโลกมาถึงปัจจุบันจากการมารับตำแหน่งของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์

Alain Wertheimer ประธานของ Chanel / ภาพ: Pinterest

     ที่มาที่ไปของตำนานบทนี้คือ Alain Wertheimer โน้มน้าวให้คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ให้มารับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์อันหนักอึ้งที่ชาเนลในปี 1982 หลังจากที่คาร์ลหมดสัญญากับ Chloé ซึ่งช่วงเวลานี้เองมาพร้อมคำคมเด็ดจากคนยุคนั้นว่า “อย่าไปยุ่งเลย แบรนด์กำลังจะตายแล้ว เธอทำอะไรไม่ได้หรอก” และตำนานคนนี้ก็ตอบกลับด้วยความมั่นใจว่า “คอยดูแล้วกัน” เขาตัดสินใจรับตำแหน่งใหญ่ที่ว่างมานานแสนนาน กลายเป็นดีไซเนอร์สุดขยันที่ควบตำแหน่งหัวหน้าทีมออกแบบถึง 3 แบรนด์ทั้งเฟนดิ ชาเนลและแบรนด์ตัวเอง (ก่อตั้งปี 1984 อีก 1 ปีให้หลังรับตำแหน่งที่ชาเนล)



WATCH




Karl Lagerfeld ขณะทำงานช่วงแรกที่ Chanel / ภาพ: ZEIT

     แน่นอนว่าเมื่อคาร์ลรับงานสิ่งที่ต้องรังสรรค์ขึ้นเป็นชุดแรกคือโชว์โอต์ กูตูร์ประจำคอลเล็กชั่น Fall 1983 ในช่วงต้นปี ซึ่งการทำงานมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบต้อนรับคาร์ลขนาดนั้น ทำไมน่ะเหรอ? เพราะเหล่าทีมงานช่างตัดเย็บและขึ้นแพตเทิร์นล้วนมีประสบการณ์และอีโก้ค่อนข้างสูง เนื่องจากการทำงานอย่างอิสระโดยไร้ผู้นำมาตั้งแต่มาดามโกโก้เสียชีวิต เป็นเวลากว่า 12 ปีที่คนเหล่านี้สั่งสมประสบการณ์ ฝีมือและแนวคิดจนทำให้เกิดเป็น 'กำแพงน้ำแข็งขนาดใหญ่' ที่ปิดกั้นผู้เข้ามาใหม่อย่างคาร์ลแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยอาจจะตั้งใจหรือไม่ก็ได้

Hervé L. Leroux ผู้ช่วยที่ Karl ดึงมาช่วยทำงาน ณ ขณะนั้น / ภาพ: Celebrity Net Worth

     คาร์ลต้องเผชิญกับรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า “สงครามเย็น” รอยยิ้ม ความเพิกเฉย และอารมณ์ผันผวนต่าง ๆ เกิดขึ้นในเฮาส์ออฟชาเนลแห่งนี้ ในความจริงจังและระยะเวลาที่บีบเข้ามาทำให้คาร์ลและทีมงานไม่มีโอกาสได้ละลายพฤติกรรมหลอมรวมเป็นทีมเดียวกันสักเท่าไหร่นัก หนำซ้ำคาร์ลยังดึง Hervé L. Leroux เข้ามาเป็นผู้ช่วยในไลน์เรดี้ทูแวร์ และ Mercedes Robirosa อดีตนางแบบคนสนิทเข้ามาปรับมู้ดจังหวะของที่ทำงานให้เปลี่ยนไปด้วย ตอกย้ำความต่างขั้วกันของทีมงานและดีไซเนอร์มากความสามารถในชนิดที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน

สีหน้าอันตึงเครียดของ Karl Lagerfeld ในช่วงแรก ๆ ที่ Chanel / ภาพ: Designer-Vintage

     การมาของคาร์ลคือการพัฒนาหรือทำลาย? ลองนึกภาพคาร์ลถูกตั้งคำถามแบบนี้มันอาจจะดูตลก แต่เราต้องนึกย้อนถึงช่วงเวลาขณะนั้นที่ดีไซเนอร์วัย 49 ปียังไม่ใช่ตำนานและต้องพิสูจน์กับคำพูดที่จะฟื้นคืนชีพชาเนล นั่นเพียงพอที่จะทำให้เหล่าลูกค้าเดิมรวมถึงคนในองค์กรเองเริ่มตั้งแง่และจับตาดูคาร์ล งานกูตูร์คอลเล็กชั่นแรกที่ต้องปล่อยในช่วงต้นปี 1983 ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยความตึงเครียดยังคละคลุ้งอยู่ทั่วแฟชั่นเฮาส์แห่งนี้ ยังดีที่ความเป็นมืออาชีพและจิตวิญญาณของแบรนด์ยังอยู่ในใจของทั้ง 2 ฝ่าย คอลเล็กชั่นแรกจึงเป็นผลผลิตของความขัดแย้งหรือที่ Hypothesis ตามหลักการการพัฒนา Dialetical Materialism ของ Karl Marx ที่ต้องเกิดความขัดแย้งของ 2 สิ่งจึงจะเกิดเป็นการเดินหน้าสู่สิ่งใหม่ ๆ

การทำงานร่างแบบในสตูดิโอของ Chanel ปี 1983 / ภาพ: prabook

     คอลเล็กชั่นกูตูร์แรกของคาร์ลมาในรูปแบบของการย้อนยุคถึงช่วง 20-30s ที่เป็นออริจินัลคอนเซปต์ของแบรนด์จากการสร้างสรรค์ของโกโก้ เขาเริ่มซึมซับ เพิ่มเติมและตัดทอนบางอย่าง เห็นได้จากสมุดเก็บภาพที่เขาเก็บตัวอย่างงานเก่า ๆ และทุกสิ่งทุกอย่างที่นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ คาร์ลคือบุคคลที่สามารถเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกัน หัวเรือใหญ่ของชาเนลไม่ได้ใช้แรงบันดาลใจเก่า ๆ แล้วมาผลิตซ้ำเท่านั้น แต่เขาเลือกที่จะตีความใหม่ ดัดแปลงและเล็งเห็นถึงอนาคตโดยที่ยึดถือตามโควต “สร้างอนาคตที่ดีกว่าด้วยการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในอดีต” โดย Johann Wolfgang von Goethe

แฟชั่นยุค Comeback ช่วง 50s ที่มีจุดเด่นเรื่องความยาวอยู่ในช่วงเข่าของ Chanel / ภาพ: Teresa39852

     ความสวยงามในแบบฉบับผู้ก่อตั้งแบรนด์ถูกนำเสนอด้วยความดั้งเดิมเป็นหลักแต่เพิ่มดีเทลและลูกเล่นสามารถพัฒนาไปสู่อนาคตที่สดใสในแบบที่เราเห็นกันจนมาถึงทุกวันนี้ กระเป๋าควิลท์ ผ้าทวีด สร้อยไข่มุก และไอคอนิกพีซอีกมากมายของแบรนด์ฟื้นคืนชีพตั้งแต่บัดนั้น โดยการที่เขาเข้ามากลับไม่ใช้ “comeback era” ช่วงยุค 50s ที่โดดเด่นในเรื่องสีพาสเทลและบ็อกซี่สูทเป็นจุดเริ่มต้น แต่ดึงเอาความเป็นแก่นแท้ของแบรนด์และสร้างภาพลักษณ์ให้ดูสดใหม่ยิ่งขึ้นผ่านวัสดุและดีเทลเล็ก ๆ น้อยตามยุคสมัย ตอนนี้ปี 2020 แล้วงานวันนั้นของคาร์ลในก้าวแรกกับแบรนด์ยังคงเป็นอมตะเหนือกาลเวลาสืบต่อเรื่อยมา

ชุดเดรสสุดเนี้ยบที่ Karl รังสรรค์ให้ย้อนนึกถึง Coco ในสมัยยุค 20s / ภาพ: Inside CHANEL

     แนวคิดที่ค่อนข้างสวนทางกับคนส่วนใหญ่ตั้งแต่แรกทำให้เป็นปฏิปักษ์ต่อบุคลากรดั้งเดิมของชาเนลและด้วยความช้าในการทำผลงานและแนวคิดในการผลักดันไอเดียใหม่ ๆ สู่ความโมเดิร์นในช่วงแรกคาร์ลจึงต้องเอานำคนของเขามาทำเพิ่มเติมในแฟชั่นเฮาส์แห่งนี้ ยิ่งสร้างกำแพงระหว่างกันกับคนดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เหมือนทางคาร์ลสามารถเดินเกมสงครามเย็นได้แบบแนบเนียนเช่นกัน คำพูดที่ว่า “เขาก็ไม่มีความหมายอะไรถ้าไม่เคารพตัวแบรนด์” นั่นทำให้เขาเปลี่ยนแปลงชาเนลอย่างค่อยเป็นค่อยไป เปลี่ยนโดยมีรากฐานมาจากความตั้งใจของโกโก้ ถึงแม้ว่าวิธีการขั้นตอนการคิด รวมถึงรายละเอียดจะถูกปรับเปลี่ยนไปบ้างแต่ความคลาสสิกและความเข้าใจแก่นจริง ๆ ทำให้กำแพงน้ำแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายค่อย ๆ ละลายลงและเริ่มทำงานร่วมกันได้ตามอีกคำคมอมตะว่า “ถึงเธอ (โกโก้) ไม่เคยทำเช่นนี้ แต่มันก็เป็นชาเนลมากเลยจริงไหมล่ะ?”

ชุดเดรส Chanel จากปี 1984 ผลงาน Karl Lagerfeld ในรูปแบบที่ถูกวิจารณ์ว่ามันไม่เป็นแบรนด์นี้เอาเสียเลย / ภาพ: Anya Georgijevic

     สงครามเย็นหลังม่านจบลง! คาร์ลต้องต่อสู้กับสงครามหน้าม่านกับคำวิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสมที่ชาเนลเลือกผู้ชายคนนี้เข้ามาจัดการตำแหน่งที่สำคัญแบบนี้ เพราะเขาละเลยกฎความเป็นแบรนด์ฝรั่งแบรนด์นี้จนเกินไป แหกกฎทั้งการทำงานและพลวัติความเป็นไปตามยุคสมัยของเสื้อผ้าแบรนด์นี้ วัสดุ การจัดองค์ประกอบ หรือแม้แต่เทคนิคการรีดมันช่างดูไม่เป็นชาเนลเอาเสียเลย (ภาพจำของเหล่าแฟชั่นนิสต้ายุค 50-70s) แต่สุดยอดดีไซเนอร์ไม่สะทกสะท้านกับคำวิจารณ์แง่ลบเหล่านั้น เขารู้ว่าเขากำลังทำอะไรและแน่นอนเขารู้ว่ามันต้องออกมาดีอย่างแน่นอน คอลเล็กชั่นแรกคือชิ้นงานที่ถูกวิจารณ์แต่ไม่ใช่เพราะเนื้องานแต่คืออคติและภาพจำเดิม ๆ ที่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของชาเนลออกมาในแบบที่ตัวเองวาดไว้ถ้าไม่ใช่เท่ากับผิด ในวันนั้นคาร์ล เลเกอร์เฟลด์คือแพะรับผิด...

ชุดผ้าทวีดที่เล่นโทนสีขาว-ดำในแบบคลาสสิก / ภาพ: myvintagevogue.com

     แพะตัวนี้ทำงานอย่างหนักกว่า 16 ชั่วโมงต่อวันนั่นเป็นเครื่องพิสูจน์ความตั้งใจและอดทนของคาร์ล ไม่มีวันไหนที่จะหยุดทำงานไม่ว่าจะมีกระแสโจมตีเพียงใดเขาก็มุ่งมั่นทำงานในวิถีทางที่ดีที่สุดอยู่เสมอ ผลงานจากรากฐานของชาเนลจริง ๆ ปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับคำวิจารณ์ที่กลายเป็นหมอกจางลงไป และคาร์ลสร้างจุดยืนและเริ่มฟื้นคืนชีพให้กับแฟชั่นเฮาส์แห่งนี้ตั้งแต่ยุคแรกที่เข้ามา โทนสีแบบใหม่ถูกเพิ่มเข้ามาแทนที่สีเบจเอกลักษณ์ยุค 20s ของโกโก้หรือสีสันพาสเทลสดใสที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกแฟชั่น เขากลับเริ่มใช้สีขาว ดำ กรมท่าและเงินกลายเป็นนางเอกของงานออกแบบเขาตั้งแต่ช่วงแรกก่อนที่จะเพิ่มสีแดงและสีอื่น ๆ เข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น

เสื้อและกระโปรงที่ถูกปรับเปลี่ยนสัดส่วนผ่านการตีความใหม่ โดยเฉพาะกระโปรงที่มีความยาวถึงหน้าแข้งจากเดิมระดับหัวเข่า / ภาพ: Pinterest

     “เครื่องจักรแฟชั่น” นี่คือคำที่คาร์ลถูกนิยามตั้งแต่รับงานทีนี่ (และก่อนหน้านี้ด้วย) เขาเลือกหยิบจุดเด่นความยาวชุดที่ยาวกว่าบ็อกซี่สูทในยุค 50s มาใช้ หรือจะเป็นแจ็คเก็ตหลากหลายทรงที่ปรับให้เข้ากับรูปร่างผู้หญิงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ผ้าปีเก้เข้ากับลุคเสื้อและกระโปรงในแบบชาเนลกับระดับความยาวที่สดใหม่มากขึ้น และตั้งแต่คาร์ลเข้ามายุคแรกเขาไม่ได้เปลี่ยนแค่ชาเนลแต่เขาเปลี่ยนกระแสโลก นิยามความเซ็กซี่แบบใหม่ถูกตั้งขึ้นใหม่ทั้งชุดที่ยาวบางคือความเซ็กซี่ที่อัจฉริยะด้านเสื้อผ้าและชาเนลมอบให้กับโลกใบนี้ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง

Karl Lagerfeld พร้อมเหล่านางแบบที่ปรบมือให้เกียรติหลังจบโชว์ ภาพที่เราจะไม่ได้เห็นกันอีกแล้ว / ภาพ: Jacques Langevin 

     ความอัจฉริยะถูกส่งผ่านมาในรูปของงานออกแบบ ภาพสเกตช์ต่าง ๆ ถูกนำมาขึ้นแพตเทิร์นกลายเป็นเสื้อผ้าที่สาว ๆ ทุกยุคต้องเหลียวมอง นั่นเป็นเพราะความทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งชีวิตให้กับศิลปะเครื่องแต่งกายเหล่านี้ เขาไม่แม้แต่จะออกไปแฮงก์เอาต์ตอนกลางคืน (ส่งผู้ช่วยเป็นตัวแทน) การทำงานของเขาถูกนิยามไว้ตั้งแต่ช่วงแรกว่า “เขาคือคอมพิวเตอร์ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ในโหมดชาเนล” และเขาก็พิสูจน์แล้วว่าก้าวแรกอันหนักหนาสาหัสไม่สามารถหยุดยั้งเขาจากการทำงานที่เขารักได้ และสุดยอดดีไซเนอร์คนนี้คือผู้รับไม้ต่อจากโกโก้ ชาเนลที่ฝ่ายบริหารตามหามานานกว่า 10 ปี เขาไม่เคยทำให้สาวกแฟชั่นผิดหวังทั้งโชว์ เสื้อผ้า และทุกองค์ประกอบ บุคคลผู้เป็นตำนานถูกจดจำในฐานะดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่ ในอีกมุมหนึ่งเขาคือนักสู้และผู้ฟื้นคืนชีพชาเนลขึ้นมาอีกครั้งด้วยความแน่วแน่และไม่ย่อท้อต่อทุกอุปสรรค เขาคือ “คาร์ล เลเกอร์เฟลด์”

 

ข้อมูล: Little Book of CHANEL by Emma Baxter-Wright, WWD, Business of Fashion, Biography.com, karllagerfeld.com & Bloomberg

WATCH