FASHION

เมื่อคนดังพูดไม่คิด! ย้อนบทเรียน 'รักฮิตเลอร์' ของ John Galliano ผู้สร้างอาชญากรรมคำพูดเหยียดยิว

สำนักข่าวหัวใหญ่ต่างโหมกระพือข่าว เผยแพร่คลิปวิดีโอขณะที่เขาเมาอาละวาดอยู่ในบาร์แห่งหนึ่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่กำลังกล่าวถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติชาวยิว รวมถึงประโยคว่า “ฉันรักฮิตเลอร์” ที่กลายเป็นพาดหัวข่าวอันดับหนึ่งทั่วโลก และคำสบถอย่าง “ยิวหน้าสกปรก” ,“คนอย่างพวกแกสมควรตาย” และ “แม่แก โคตรเหง้าแก ควรจะโดนรมแก๊ส แล้วตายๆ ไปซะให้หมด”...

     “พ่อมดแห่งวงการแฟชั่น” คือฉายาของ John Galliano ดีไซเนอร์ผู้โด่งดังในช่วงยุค 1990s ซึ่งเริ่มต้นเส้นทางสายแฟชั่นด้วยการเปิดห้องเสื้อภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเองตั้งแต่เรียนจบ ทว่าด้วยความไม่มีหัวทางธุรกิจ จึงถูกเป็นบุคคลล้มละลายในปี 1990 ก่อนจะต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่กรุงปารีส แต่ไม่นานเขาก็ลุกขึ้นสู้บนสังเวียนนี้อีกครั้งด้วยแรงสนับสนุนของทั้ง แอนนา วินทัวร์ และอังเดร ลีออน เทลีย์ ตัวพ่อ และตัวแม่แห่งอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก กระทั่งที่เขาสามารถได้เข้าไปทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์ Dior ได้สำเร็จ ในฐานะของดีไซเนอร์ชาวอังกฤษคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ของแบรนด์ดังกล่าว พร้อมฝากผลงานเลื่องชื่อเอาไว้มากมาย ทั้งชุดราตรีผ้าซาติน สีมิดไนต์บลูประดับลูกไม้สีดำของ ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในงาน MET GALA ปี 1996, ชุดลายหนังสือพิมพ์ในปี 2000 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากคนไร้บ้าน ไปจนถึงกระเป๋า “Saddle Bag" ที่สามารถทำรายได้มากถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะแตะยอดขายพันล้านในปี 2010

จอห์น กัลลิอาโน่ และ ไดอาน่า สเปนเซอร์ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในงานเมต กาล่า ประจำปี 1996

\

     ตลอด 16 ปีที่ดิออร์ กัลลิอาโน่กลายเป็นราชาแห่งวงการแฟชั่น และก็ดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็น่าจะเป็นไปได้ด้วยดี จนเมื่อปี 2011 สำนักข่าวหัวใหญ่ต่างโหมกระพือข่าว เผยแพร่คลิปวิดีโอขณะที่เขาเมาอาละวาดอยู่ในบาร์ชื่อว่า La Perie ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่กำลังกล่าวถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติชาวยิว รวมถึงประโยคว่า “ฉันรักฮิตเลอร์” ที่กลายเป็นพาดหัวข่าวอันดับหนึ่งทั่วโลก และคำสบถอย่าง “ยิวหน้าสกปรก” ,“คนอย่างพวกแกสมควรตาย” และ “แม่แก โคตรเหง้าแก ควรจะโดนรมแก๊ส แล้วตายๆ ไปซะให้หมด”... สร้างความไม่พอใจให้กับคนทั่วโลก จนเกิดเป็นกระแสตีกลับ คว่ำบาตรการกระทำดังกล่าวในทันที เขาถูกคำสั่งให้พักงานทันทีจากแบรนด์ Dior ก่อนที่จะถูกไล่ออกในไม่กี่วันถัดมา อีกทั้งเขายังถูกไล่ออกจากแบรนด์ John Galliano ของตัวเองที่เขาอุตส่าห์ล้มลุกคลุกคลานปลุกปั้นขึ้นมานั้น ภายใต้ร่มเงาของ LVMH อีกด้วย พร้อมกันนั้นยังถูกลงโทษ และถูกฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายฝรั่งเศสในเวลาต่อมาอีกด้วย

 

 

     กัลลิอาโน่ ได้อ้างความผิดในครั้งนั้นว่า เป็นเพราะน้ำเมา และสารเสพติดที่ตนใช้จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น หลังจากถูกปลดจากตำแหน่งที่ดิออร์และเสร็จสิ้นเรื่องคดีความแล้ว เขาเข้ารักษาตัวที่สถานบำบัดแห่งหนึ่งถึง 2 เดือน เก็บตัวไม่ออกงานใดๆ มีข่าวลือว่ากัลลิอาโน่อาจตัดสินใจหอบผ้าหอบผ่อนไปอยู่ลอสแอนเจลิสเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของ ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ยังถอนรากถอนโคนอนาคตของพ่อมดแฟชั่นคนนี้ด้วยการประกาศถอนเครื่องรัฐอิสริยาภรณ์ La Légion D'honneur อย่างเป็นทางการ ที่กัลลิอาโน่ได้รับเครื่องรัฐฯ ดังกล่าวเมื่อปี 2009 ในฐานะที่สร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศให้แก่วงการแฟชั่นชั้นสูงของฝรั่งเศส นับเป็นการปิดฉากพ่อมดแห่งวงการแฟชั่น และราชาแห่งดิออร์ตลอด 16 ปีที่ผ่านมาอย่างไม่สวยงามสักเท่าไหร่นัก

นาตาลี พอร์ตแมน และจอห์น กัลลิอาโน่ เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ของ Dior

 

     ในด้านของสังคมรอบข้าง กัลลิอาโน่ยังโดนคว่ำบาตรทางสังคมจากทั้งคนทั่วไป นักเรียนแฟชั่น ไปจนถึงคนดังอย่าง Natalie Portman นางเอกรางวัลออสการ์ ที่ออกมายืนกรานหนักแน่นว่า ไหล่อนจะไม่มีวันสวมใส่เสื้อผ้าที่ได้รับการออกแบบ หรือตัดเย็บโดยกัลลิอาโน่อีกต่อไป"... กัลลิอาโน่ใช้เวลาอยู่นานหลายปีในการชุบตัวเพื่อเกิดใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก ที่บัดนี้ก็ยังไม่แม้แต่จะคิดอ้าแขนรับ “คนรักฮิตเลอร์” อย่างเขาด้วยความเต็มใจสักเท่าไหร่ กระนั้นผ่านไปประมาณ 3 ปีหลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวดังกล่าว กัลลิอาโน่คืนชีพอีกครั้งด้วยการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้กับห้องเสื้อสัญชาติฝรั่งเศส Maison Margiela เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมงานออกแบบที่ยังคงสร้างความหวือหวา และยังแสดงถึงอัตลักษณ์ของดีไซเนอร์คนนี้อย่างชัดเจนเสมอมา



WATCH




จอห์น กัลลิอาโน่ ขณะเดินทางเข้าให้ปากคำต่อชั้นศาล จากกรณีการเหยียดเชื้อชาติดังกล่าว

 

     นับเป็นประวัติศาสตร์บทเรียนของอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ไม่ว่าจะหยิบยกขึ้นมาพูดสักกี่ครั้งก็ยังคงน่าสนใจเสมอ หลากหลายบทเรียนเวียนวนกลับมาให้เราได้ทบทวนตัวเองเสมอ จากกรณีตัวอย่างของ จอห์น กัลลิอาโน่ เห็นได้ชัดที่สุด และน่าเศร้าที่สุดคือความไม่แปรผันตามกันของกฎหมาย และพฤติกรรมการคว่ำบาตรทางสังคมของประเทศไทย ที่แตกต่างกันออกไปจากประเทศฝรั่งเศส ต่อมาคือ “สำนึกร่วมเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ที่ยังคงถูกละเลย และไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งที่จริงแล้วสิ่งนี้คือบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรถูกลืมเลือนไม่ว่าคุณจะเป็นชนชาติใดบนโลกนี้ก็ตาม มันคือสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์โลก  เพราะความโหดร้ายที่น่าสลด และอยุติธรรมที่สุดในประวัติศาสตร์หน้านี้คือ เพียงเพราะที่คุณเกิดมาเป็น “ยิว” คุณจึงถูกฆ่า ไม่มีเหตุผลอื่นใด ซี่งแท้จริงแล้วอะไรก็ตามที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด ไม่ว่าจะเป็นสีผิว เพศ หรือเชื้อชาติ ไม่ควรถูกใช้เป็นเหตุผลในการเหยียดหยาม และกีดกันการเข้าถึงสิทธิความเป็นคนทั้งสิ้น ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึง “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในครั้งนั้นจึงควรเป็นไปในแง่ของความเสียใจ ความสำนึกผิด และความเคารพมากกกว่าความรู้สึกอื่นใด

     “คำพูดเป็นนายเรา” สำนวนไทยที่ยังคงใช้ได้เสมอมา เตือนสติให้คนเราคิดให้หนัก พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนพูดทุกครั้ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราพูดออกไปแล้ว คำพูดจะกลายเป็นนายเราทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณคือ บุคคลสาธารณะ(Public Figures) ที่จะต้องถูกจับจ้องเป็นพิเศษไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหน ชีวิตกลางสปอตไลต์ของคุณจะไม่ได้รับความปราณี ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ 10 ปี เรื่องที่คุณเคยทำไว้ จะตามกลับมาหลอกหลอนคุณอยู่ร่ำไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะคุณต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อคุณเลือกที่จะเดินเข้าสู่สังเวียนการเป็นที่รู้จักแล้วนั้น คือคุณได้ผ่านกระบวนการ “Objectify” จนกลายเป็น “คนไม่เต็มคน” หรือเป็นเพียง “สินค้า” ชิ้นหนึ่งเท่านั้นจากสายตาของกลุ่มคนนอก และเมื่อสินค้าชิ้นนั้นไม่เป็นไปดังที่พวกเขาหวัง หรือกระแสนิยม ก็ไม่แปลกที่สินค้าชิ้นนั้นจะถูกโจมตี หรือตกกระป๋องไปในที่สุด และนั่นเองคือมูลค่าที่ต้องจ่ายในฐานะของ "คนดัง"...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #JohnGalliano #HateCrime