FASHION

เปิดประวัติ ธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ดีไซเนอร์ที่ทำฉลองพระองค์ชุดไทยให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

ช่างภาพ : วัชรสิทธิ์ วิชญาณรัตน์
ฉลองพระองค์ชุดไทย : Tirapan
แต่งพระพักตร์ : ภูวษา พรธรรมฉัตร, เอกรินทร์ วงศ์อกนิษฐ์
ช่างพระเกศา : สมพร ธิรินทร์

____________________________________________

     1950 ปีเกิดที่เป็นหลักไมล์ให้ธีระพันธ์ลากจุดเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ชีวิตซึ่งโคจรในจักรวาลแฟชั่น มีหญิงสาวเปล่งแสงนวลเรื่อยๆ อยู่รอบๆ “ช่วงยุคห้าศูนย์ผมตามคุณแม่ไปเกือบจะทุกแห่งที่เป็นวันหยุดโรงเรียน น้อยคนที่จะทันร้านนี้ ร้านคลังแม่บ้านบนถนนราชดำเนิน ชั้น 1 เป็นร้านทำผม มีตู้กระจกใส่ของจากปารีส สายสร้อย โบติดผม รองเท้าซึ่งไม่ได้มีทุกไซซ์นะ ผมเชื่อ พอคุณแม่ทำผมเสร็จจะขึ้นไปลองเสื้อชั้น 2 ซึ่งผมจำได้ว่าสวยโก้มาก เป็นห้องเพดานสูง เสื้อที่ลองทำไมสวยขนาดนี้ สำหรับเด็ก 6-7 ขวบนี่ตื่นเต้นมาก เหมือนมาร้านของเล่น”

      เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากจุดนี้ ทั้งชีวิตของธีระพันธ์และการเดินทาง 40 ปีของห้องเสื้อชื่อเดียวกันกับเขา “ร้านทำผมมีแมกกาซีนเล่มใหญ่ๆ บางๆ มาจากฝรั่งเศส มีรูปวาดของนักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งจะวาดผู้หญิงตาโตขนตางอน ขายาว ไปตามที่ต่างๆ และแต่งตัวสวยตลอด ผมเลยวาดแต่ตุ๊กตาแนวนี้ เพิ่งคุยกับเพื่อนนักเรียนอัสสัมชัญ เขายังจำได้ว่าผมวาดรูปตุ๊กตาใส่เสื้อตลอดเวลา นั่งเรียนหนังสือยังแอบวาดจนครูดุว่าตาให้มองหนังสือ โรงเรียนหยุดอยู่บ้านก็ไม่ออกไปเล่น นั่งคิดเสื้อให้แม่ ให้พี่สาว”

     คุณหญิงเจ้าฉมชบา วรรณรัตน์รับรู้ พลโทจวน วรรณรัตน์เห็น แต่อย่าลืมว่าเวลานั้นไม่ได้ทิ้งยุค 1950 ไปไกลเท่าไรนัก “คุณพ่อคุณแม่ปล่อย เพียงแต่เป็นห่วงชีวิตในอนาคตว่าลูกเป็นช่างเสื้อแล้วจะเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร สมัยนั้นไม่มีดีไซเนอร์ เป็นแต่ช่างตัดเสื้อ” ลงท้ายธีระพันธ์จึงเรียนต่อด้านตกแต่งภายในที่ลอสแอนเจลิสตามประสงค์คนจ่ายค่าเทอม แต่ก่อนหน้านั้นเขาเรียนไฮสกูลที่รัฐเมนและทำข้อสอบอย่างหนึ่งที่ชี้แนวทางได้ว่านักเรียนควรไปทางสาขาอาชีพไหน “ผลสอบผมออกมาว่าเป็นช่างตัดเสื้อ” นำเสียงเขาพูดคำนี้ช้าชัดและดื่มด่ำ “เป็นคนที่รู้ว่าจะต้องเป็นช่างเสื้อตั้งแต่เด็ก รู้ตัวว่าจะไม่ทำอย่างอื่น”

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานเสื้อให้ข้าราชการใส่ออกงานที่เรียกกันว่าเสื้อพระราชทาน เวลานั้นธีระพันธ์ย้ายตามบิดาผู้ว่าการจังหวัดเชียงใหม่ จบนักเรียนนอกหมาดๆ หวิดจะได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากว่าเขาขอตัดเสื้ออยู่กับบ้านเท่านั้น “ผมตัดเสื้อพระราชทานให้คุณพ่อใส่ไปงานขันโตกดินเนอร์ เลือกผ้าไหมไทยสีชมพูอ่อน คุณพ่อเป็นคนคล้ำ โอ้โหเกิด! ทุกคนชมว่าทันสมัยมาก ตัดที่ไหน เป็นครั้งแรกที่เขาพูดออกจากปากว่า ‘ลูกชายตัด’ ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับรู้ ไม่ชอบ ลูกชายต้องไม่ทำเสื้อ พี่ชายผมก็เป็นทหาร”

คำอธิบายภาพ : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงฉายพระรูปร่วมกับนายธีระพันธ์ วรรณรัตน์

 

     เสื้อตัวนั้นทำให้ธีระพันธ์ได้เรียนแฟชั่นสมใจ และต้องเป็นปารีสเท่านั้น เมืองที่ให้แรงบันดาลใจเสมอแม้ทุกวันนี้ “นักเรียนแฟชั่นฝรั่งเศสสเกตช์แบบและทำแพตเทิร์นเป็นทุกคน ถ้าไม่เรียนพื้นฐานแล้วขีดเขียนเอาเองก็ได้เสื้อไม่สวย” เสื้อผ้าของเขามีโครงชัดเจน แต่เส้นสายอ่อนหวาน เป็นลายมือประจำตัวมาตั้งแต่เปิดบ้านเป็นร้านธีระพันธ์ “มาจากตัวผมไงครับ เส้นเบา” เขาพูดทอดหางเสียง “เสื้อสูทผู้หญิงถึงไม่ออกมาเป็นเสื้อสูทผู้ชาย ผมไม่ชอบผู้หญิงที่แต่งโครงเสื้อผู้ชายและไม่นุ่งกระโปรง คนไทยน้อยคนที่จะนุ่งกางเกงสวย ขาไม่ยาวพอ (น้ำเสียงเจ็บปวด) แล้วบางทีฝืนจะเปรี้ยว ทัั้งที่ไม่ใ่ช่คนเปรี้ยว เป็นผู้หญิงหวานแต่ไปตามแฟชั่น เท่ได้นะครับ เก๋ก็ได้อีก แต่ผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิง”

     ผู้หญิงแบบไหนที่ว่าสวย “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ท่านงาม ฉลององค์งาม พระจริยวัตรก็งาม มีฝรั่งเคยเขียนถึงเรื่องที่ท่านทรงพระดำเนินเอียงข้างลงบันได ไม่ใช่ทุกคนลงบันไดแล้วจะสวยนะครับ แล้วผมดู Breakfast at Tiffany’s 200-300 รอบมาตั้งแต่ปี 1961 ซึ่งทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปเลย ทำไม Audrey Hepburn แครี่เสื้อได้สวย แล้วก็เห็นว่าเสื้อสวยตั้งแต่ผมยังไม่รู้ว่า Givenchy ทำให้ ฉากออเดรย์ลงบันไดในหนังเรื่อง My Fair Lady ทำไมสวยอย่างนั้น เธอบอกว่าไม่เคยเรียนแอ็กติ้ง ชุดบังคับให้เธอลงบันไดสวย เสื้อผ้าช่วยคนได้นะครับ บุคลิกเปลี่ยนไปได้เลย เห็นหลายคนแล้ว

     “แม่คือคนที่ให้แรงบันดาลใจมากที่สุดในชีวิต เวลาแม่ขับรถก็ชอบแอบดู ด้านข้างของแม่สวยมาก แม่เป็นคนโก้ พูดน้อย ใจดี แต่งตัวสวย รองเท้ากระเป๋าเข้าชุด ไม่พอ... กระเป๋าข้างในยังต้องสีเดียวกับกระเป๋าถือด้วย เวลาเจอใครแต่งตัวดีและสนิทกัน ผมชอบขอดูกระเป๋า เห็นถือกระเป๋าสีเทา เปิดมาเจอกระเป๋าข้างในสีน้ำเงินบ้าง สีดำบ้าง แหน่ะ ยังแต่งตัวไม่เนี้ยบพอ” อย่างนี้เจอผู้หญิงสมัยนี้ไม่ตกใจแย่หรือ เขาเสหัวเราะตอบเพียงว่า “เขาก็สวยของเขานะครับ” และไม่ขอพูดอะไรต่อเหมือนที่เขาไม่มีความเห็นต่อแฟชั่นหลังจากยุค 1980 เป็นต้นมา

คำอธิบายภาพ : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมานผ้าไหมปักลูกปัดลายพิกุลในลายราชวัตร ทรงประดับสายสะพายและดวงดารา เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงประดับเหรียญปฐมจุลจอมเกล้า เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๙ ชั้นที่ ๑ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑ แพรแถบเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระเกศาประดับเหรียญสองพระองค์ ภปร. สก. ทรงพระกุณฑลทับทิมประดับเพชร พร้อมทรงสายรัดพระองค์ทอง ประดับพระปั้นเหน่งดวงตราจักรีประดับเพชร และพระกระเป๋าทรงถือถมเงินรูปมะเฟือง

 

     ธีระพันธ์เป็นช่างเสื้อชั้นสูงไม่กี่คนในประเทศไทย ไม่ว่าสมัยนี้หรือสมัยไหนที่หาตัวจับยาก และเป็นคนที่เกิดมาทำอาชีพเดียวอย่างรักใคร่และลุ่มหลงมากขึ้นทุกขณะ “จะพูดอย่างไรดี ผมเก่งขึ้นจากการทำงาน 40 ปีอย่างต่อเนื่อง ทำแพตเทิร์นเก่งขึ้น รู้จักผ้ามากขึ้น รู้จักลูกไม้ในแบบที่ลึกซึ้งกว่าเดิม ผมชอบลูกไม้ที่สุด เห็นใครใส่ต้องเหลียวทุกที สมัยอยู่ปารีสมีตลาดเก่าต้องไปซื้อลูกไม้ทุกเสาร์-อาทิตย์ เอาเป็นว่าสตางค์ทานขนมไม่ใช้ ซื้อลูกไม้เก็บหมด ซึ่งก็ชำรุดเสียมาก แต่ทุกอย่างชำรุดได้ทั้งนั้นถ้าเป็นของแอนทีก ผมกลับไปใช้ลูกไม้เก่าแก่เหล่านั้นจากโรงงานในเมืองลียง”

     ดีไซเนอร์ผู้ถวายงานพระบรมวงศานุวงศ์มา 22 ปี กูตูริเยร์ในดวงใจของเจ้าสาวดีไซเนอร์ของดีไซเนอร์ ถ้อยคำยกย่องและความนิยมมีผลต่อธีระพันธ์บ้างไหม ไม่มากก็น้อย “ไม่มีเลย” เขาตอบ
“ผมไม่ค่อยไปไหน ไม่ค่อยได้เจอใคร มีแต่เพื่อนนักเรียนซึ่งทุกคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ส่วนผมก็คือช่างตัดเสื้อ เพื่อนๆ ผมเขาเก๋กันหมด ทุกคนเกษียณแล้วแต่ผมยังทำงานหนักอยู่และสนุกมาก ถ้าไปตรวจผมคงไม่ธรรมดา คงจะเป็นออทิสติก (หัวเราะ) ชีวิตผมคิดแต่เรื่องเสื้อ เมื่อกี้ก่อนคุยกับคุณ ผมกำลังนั่งวาดตุ๊กตาใส่เสื้ออยู่” เขาตอบเสียงสุภาพ อ่อนหวาน และถ่อมตนอย่างนึกไม่ถึงว่าจะได้ยินจากดีไซเนอร์ที่กำลังจะมีแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่ฉลองการทำงาน 4 ทศวรรษในโรงแรม 7 ดาว ผิดแผกอย่างสิ้นเชิงจากภาพลักษณ์ที่คนนอกมองเข้ามาเห็นดีไซเนอร์ที่มักพ่วงด้วยคำว่า ฉูดฉาด เจ้าโทสะ หรือยโส ซึ่งไม่ใกล้เคียงเป็นที่สุดกับทุกอย่างที่ธีระพันธ์ วรรณรัตน์เป็น

 



WATCH




 คำอธิบายภาพ : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน ไหมกรองทองปักทับด้วยลูกปัด ลายดอกแปดกลีบในลายราชวัตร ตัดเย็บโดยนายธีระพันธ์ วรรณรัตน์

ทรงประดับสายสะพายและดวงดารา เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์
ทรงประดับเหรียญปฐมจุลจอมเกล้า เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๙ ชั้นที่ ๑ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑ แพรแถบเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระเกศาประดับปิ่นลายดอกไม้และนกฮัมมิ่งเบิร์ดประดับเพชรและมรกต ทรงสร้อยพระศอเพชรคล้องจี้มรกตคาโบชองประดับเพชร, พระกุณฑลมรกตคาโบชองประดับเพชร และเข็มกลัดเพชรประดับมรกต

พร้อมทรงสายรัดพระองค์ทอง ประดับพระปั้นเหน่งดวงตราจักรีประดับเพชร และพระกระเป๋าทรงถือถมทองจากนครศรีธรรมราช

 

     ถ้าไม่ได้ทำเสื้อผมก็ดูหนังเก่าๆ ที่ออเดรย์ เฮปเบิร์นแสดง ดูแฟชั่นโชว์ที่ Twiggy เดินและเต้นรำไปด้วย หรือดูมิวสิคัล ผมมีโลกส่วนตัวมาก” เขาพูดถึงสิ่งอื่นที่ดึงให้เขาออกจากแฟชั่นบ้าง ซึ่งในทางใดทางหนึ่งก็ยังเกี่ยวข้องกับแฟชั่นอยู่ดี

    ในวัย 68 ย่าง 69 ปี ธีระพันธ์เตรียมทายาทให้กับทศวรรษต่อๆ ไปของห้องเสื้อแล้วหรือยัง “หลานๆ ประสบความสำเร็จเป็นนักธุรกิจ เป็นแม่บ้าน เป็นวิศวกรหญิง ไม่มีใครทำเสื้อหรอกครับ ก็จะจบไป” ง่ายดายและเป็นเช่นนั้นเองที่เขาตอบมา “ผมไม่ได้คิดไกลขนาดนั้นด้วย ทำวันต่อวัน ทุกวันนี้ได้ทำสิ่งที่รักและตั้งใจ ทำให้ดี ผมโชคดีมากแล้ว"

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Tirapan40th