FASHION
ย้อนสำรวจทศวรรษ 70s-90s ยุคทองแห่งมังงะ บันทึกประวัติศาสตร์การแต่งกายของญี่ปุ่นผ่านลายเส้นอาจกล่าวได้ว่า 'มังงะ' กลายเป็นตัวแทนในการบ่งบอกค่านิยมแฟชั่นของแดนอาทิตย์อุทัยในแต่ละยุคสมัยก็เป็นได้ |
ในขณะที่บางประเทศยังมองว่าการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่สำหรับดินแดนอาทิตย์อุทัยประเทศญี่ปุ่น คงจะไม่เกินไปนักหากจะบอกว่าพวกเขาใช้มังงะในการสร้างชาติ ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือผลงานเรื่อง ‘กัปตันซึบาสะ’ ที่ปลูกฝังความรักฟุตบอลให้กับเด็กๆ จนเป็นกุญแจสำคัญให้ฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่การเป็นยักษ์ใหญ่แห่งทวีปเอเชีย และผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกได้สำเร็จ นอกจากนั้นการที่มังงะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ในแง่หนึ่งมันจึงกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ อย่างไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะทศวรรษ 70s-90s ซึ่งถือเป็นยุคทองแห่งมังงะ
หนึ่งในมิติที่น่าสนใจคือเรื่องราวด้านแฟชั่น ซึ่งแฝงอยู่อย่างชัดเจนในลายเส้นมังงะเรื่องต่างๆ พร้อมทำหน้าที่สะท้อนและบอกเล่าว่าญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำแฟชั่นแห่งทวีปเอเชีย ซึ่งหากถามว่าเส้นทางที่ผ่านมาเป็นอย่างไร บทความนี้จะหยิบยกมากล่าวถึงให้ผู้อ่านได้รู้ไปพร้อมกัน
ภาพ: OK Nation
ยุค 70s ปลายยุคสมัยโชวะคือช่วงเวลาแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด เป็นการหยั่งรากลึกที่สร้างความแข็งแกร่งให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดเศรษฐกิจโลกเหมือนในปัจจุบัน การบริโภคส่วนบุคคลสูงขึ้น เป็นส่วนสำคัญในการสร้างแรงผลักดันให้แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นได้ไปศึกษาและเรียนรู้พัฒนาฝีมือในโลกตะวันตก ในแง่ของแฟชั่นช่วงทศวรรษนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสตรีตแฟชั่นในญี่ปุ่น และมีการได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันตกอย่างชัดเจน โดยสิ่งเหล่านี้ก็ได้สะท้อนออกมาผ่านการ์ตูนญี่ปุ่นในยุคดังกล่าวด้วยเช่นกัน
1 / 3
มังงะเรื่อง 'โจ สิงห์สังเวียน (Tomorrow’s Joe)' / ภาพ: TMDB
2 / 3
มังงะเรื่อง 'Lupin III' / ภาพ: Planocritico
3 / 3
มังงะเรื่อง 'โดราเอมอน' / ภาพ: The Momentum
WATCH
การ์ตูนญี่ปุ่นในยุค 70s ถือเป็นยุคที่ยังมีแนวเรื่องไม่หลากหลายมากนัก ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยเนื้อเรื่องแนวหุ่นยนต์ แฟนตาซี และผจญภัย ส่วนอีกหนึ่งแนวที่เฟื่องฟูไม่แพ้กันก็คือเนื้อเรื่องที่ขับเน้นความเข้มข้นของชีวิตออกมาอย่างสมจริง เป็นภาพสะท้อนของการสู้ชีวิตของคนรุ่นก่อนหน้า ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้การจะพูดถึงเรื่องแฟชั่นในการ์ตูน เนื้อเรื่องประเภทหุ่นยนต์แฟนตาซีอาจจะไม่ตอบโจทย์มากนัก ตรงกันข้ามกับประเภทหลังที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ยาบุกิ โจ จากเรื่อง 'โจ สิงห์สังเวียน (Tomorrow’s Joe)' ที่ตลอดทั้งเรื่องจะได้เห็นเขาสวมเสื้อโค้ตทับเสื้อยืดข้างใน และมีการสวมหมวกทรงไบเล่ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากการแต่งตัวของตะวันตก
เช่นเดียวกับตัวละครแทบทุกตัวในเรื่อง 'Lupin III' ที่มักจะปรากฏกายพร้อมชุดสูทสีสันสดใสและหมวกใบโปรดอยู่เสมอ หรือในแอนิเมชั่นที่ทุกคนต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง 'โดราเอมอน' ที่ถึงแม้จะเดินทางข้ามเวลามายาวนาน และยังมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่จุดเริ่มต้นของมันก็มาจากยุค 70s โดยเสื้อผ้าที่ตัวละครเอกใส่ ก็มีความสบายๆ ดูไม่เป็นทางการ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกเช่นกัน
1 / 3
ซาเอบะ เรียว ตัวละครขวัญใจมหาชนจากมังงะเรื่อง 'City Hunter' / ภาพ: Konachan
2 / 3
มังงะเรื่อง 'Touch' / ภาพ: Zerochan
3 / 3
มังงะเรื่อง 'ถนนสายนี้...เปรี้ยว' / ภาพ: LINE Today
ถัดมาในยุค 80s คือยุคของวิถีชีวิตแบบ “อเมริกันชน” เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนอาทิตย์อุทัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ที่ความคิดรูปแบบนี้ดูเหมือนจะมีอิทธิพลพอสมควร ในเรื่องของมังงะหรือแอนิเมชั่นช่วงยุค 80s นั้นค่อนข้างแตกต่างจากช่วงยุค 70s อย่างชัดเจน ถึงแม้จะยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นยนต์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนแนวเรื่องที่เพิ่มขึ้นมาคือแนวรักอบอุ่นหัวใจ เรื่องราวชีวิตวัยว้าวุ่นในโรงเรียนมัธยม และแนวตลกขบขันเบาสมอง ซึ่งแน่นอนว่าตัวละครในเรื่องราวประเภทนี้ นอกจากจะมีคาแร็กเตอร์ครองใจผู้ชมแล้ว เรื่องของแฟชั่นพวกเขาก็เป็นผู้นำเทรนด์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ซาเอบะ เรียว พระเอกจอมกะล่อนมากความสามารถ ขวัญใจเด็กผู้ชายยุค 80s ทุกคน จากเรื่อง 'City Hunter' ที่มักจะมาพร้อมการแต่งกายสไตล์ชิบูย่าแคชชวลด้วยการสวมเสื้อเชิ้ตหรือแจ็กเก็ตคลุมเสื้อยืดข้างใน และกางเกงขายาวทรงสลิม หรือแก๊งตัวละครหลักจากการ์ตูนเบสบอลแห่งยุค 80s เรื่อง Touch ที่โดดเด่นด้วยสไตล์ Japanese Preppy ด้วยการแต่งกายที่มีเสื้อสเวตเตอร์เป็นองค์ประกอบหลัก ไม่ว่าจะนำมาสวมใส่หรือพันไว้ตามตัว
นอกจากนี้ยังมี อายูคาว่า มาโดกะ นางเอกจากเรื่อง 'ถนนสายนี้…เปรี้ยว' ที่เชื่อว่าหนุ่มๆ ในยุคนั้นต้องเคยตกหลุมรักตัวละครนี้อย่างหัวปักหัวปำแน่นอน โดยบ่อยครั้งในเรื่องที่เธอมักจะปรากฏกายพร้อมเสื้อแจ็กแก็ตกีฬาตัวใหญ่โคร่งเสมอ สอดคล้องกับเทรนด์ Sporty Fashion ที่กำลังเป็นที่นิยมในช่วงเวลานั้น
มังงะเรื่อง 'One Piece' / ภาพ: Jediyuth
เข้าสู่ทศวรรษ 90s จุดเริ่มต้นของยุคเฮย์เซย์ คือช่วงที่กระแสเรื่องความเท่าเทียมทางเพศถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เรื่องนี้จะส่งผลโดยตรงถึงเรื่องของแฟชั่นการแต่งกาย เรียกได้ว่าในยุค 90s เป็นช่วงที่ความอิสระ และความคิดสร้างสรรค์เริ่มผลิบาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความหลากหลายทางแฟชั่นที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนี้มาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับในเรื่องของการ์ตูน ยุค 90s ที่เป็นยุคทองแห่งการ์ตูนญี่ปุ่นก็ว่าได้ เหล่าบรรดาการ์ตูนในตำนานที่ทุกคนรู้จักหลายเรื่องล้วนแล้วแต่มีจุดกำเนิดมาจากยุคนี้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น One Piece, Slam Dunk, GTO และมากมายอีกหลายเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของแฟชั่นการแต่งกายก็สะท้อนออกมาผ่านการ์ตูนชื่อดังเหล่านี้เช่นกัน
1 / 2
มังงะเรื่อง 'คนเก่งฟ้าประทาน' / ภาพ: Thecinemaholic
2 / 2
มังงะเรื่อง 'Ocean Waves' / ภาพ: Wikia
หนึ่งในตัวละครที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งยุค 90s คือ อุราเมชิ ยูสึเกะ พระเอกจอมรันทด (เพราะคนดันชอบพระรองอย่าง ฮิเอ และ คุรามะ มากกว่า) จากเรื่อง 'คนเก่งฟ้าประทาน' ที่มักจะมาพร้อมกับสไตล์ชิบูย่าแคชชวล สวมเสื้อแจ็กเก็ตทับเสื้อยืดข้างใน ท่อนล่างเป็นกางเกงยีนส์ขายาว โดยสไตล์นี้ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุค 80s และยังคงไม่เสื่อมคลาย เช่นเดียวกับตัวละครจาก 'Ocean Waves' แอนิเมชั่นจาก Ghibli Studio ในปี 1993 ที่ดูเรียบง่ายแต่ก็มีเสน่ห์ด้วยสไตล์อมตะนี้
มังงะเรื่อง 'GTO' / ภาพ: Wallpaper Cave
อีกหนึ่งเทรนด์ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่คือการแต่งกายของนักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนหญิง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่นักเรียนหญิงญี่ปุ่นเริ่มหันมาสวมใส่กระโปรงนักเรียนสั้นเหนือเข่า จากที่ก่อนหน้านั้นกระโปรงจะอยู่เสมอกับบริเวณเข่า หรือถ้าเป็น “จิ๊กกี๋” ก็จะสวมใส่กระโปรงยาวติดพื้น โดยเรื่องนี้ก็สะท้อนผ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมากมายที่วางจำหน่ายในยุคนั้น แต่ที่โดดเด่นและทุกคนน่าจะรู้จักก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง 'GTO'
โบยะ ฮารุมิจิ จากมังงะเรื่อง 'เรียกเขาว่าอีกา' / ภาพ: Dek-D
ปิดท้ายด้วยเสื้อแจ็กเก็ตพิมพ์ลวดลาย ที่เรามักจะเห็นยากูซ่าหรืออันธพาลในประเทศญี่ปุ่นสวมใส่กันเป็นประจำก็เริ่มได้รับความนิยมในยุคนี้เช่นกัน และถ้าเป็นในโลกการ์ตูน ตัวละครที่สะท้อนแฟชั่นประเภทนี้ออกมาอย่างชัดเจนที่สุดก็คงเป็น โบยะ ฮารุมิจิ ขวัญใจมหาชนจากมังงะเรื่อง 'เรียกเขาว่าอีกา' ที่ยังคงได้รับความนิยมและมีผู้คนแต่งกายตามตัวละครนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้การกลับไปย้อนอ่านมังงะเหล่านี้อีกครั้ง นอกจากจะได้ความสนุกและหวนคืนวันวานแห่งความสุขแล้ว ยังเหมือนได้หยิบนิตยสารแฟชั่นย้อนยุคของญี่ปุ่นมาเปิดอ่าน ราวกับว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การแต่งกายที่ถึงทุกวันนี้ก็ยังคงสร้างแรงบันดาลใจเหนือกาลเวลา
ข้อมูล : Arts and Culture
ภาพ : MetalBridges
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim
WATCH