FASHION

เจาะอดีตทบทวนบทเรียนเหยื่อแฟชั่น เมื่อกระโปรงของสตรียุคก่อนกวาดความสกปรกจนคนติดโรค

ย้อนเวลาเจาะหาเรื่องราวความโหดร้ายของแฟชั่นที่บีบบังคับให้ผู้หญิงต้องแบกรับชะตากรรมกับกระโปรงตัวโปรดของพวกเธอ เป็นเหยื่อแฟชั่นไม่รู้ตัว เมื่ออยู่ดีๆ ผู้หญิงสมัยก่อนก็ตายเพียงเพราะใส่กระโปรง

    #FashionVictim เหยื่อแฟชั่น...คำนิยามง่ายๆ ที่ตีความได้มากมายหลายรูปแบบ ผลทางตรง ผลทางอ้อมหรือจะเป็นการเปรียบเปรยแต่ทั้งหมดล้วนเป็นกรรมของเรื่องนี้ ซีรีส์เหยื่อคือซีรีส์ที่เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปดูความโหดร้ายของแฟชั่นในแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นที่สะท้อนด้านมืดของโลกแฟชั่นนั้นให้อะไรกับเราบ้างติดตามได้ในซีรีส์นี้เท่านั้น

______________________________________________

     วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องกระโปรงยาว...อย่าเพิ่งตกอกตกใจเพราะมันไม่ใช่ความยาวระดับธรรมดาแต่มันคือกระโปรงยาวลากพื้นของผู้หญิงฝรั่งตะวันตกที่ได้รับความนิยมในช่วงยุควิกตอเรียน รีเจนซี่และเรเนซองส์ อ้างอิงไปถึงเรื่องราวการเขียนถึงความน่ากลัวของกระโปรงในปี 1838 เรื่องสั้นของนักเขียนนามว่า Nathaniel Hawthorne ระบุไว้ว่าความอู้ฟู่หรูหราและเลอค่าของกระโปรงปักเย็บพิเศษกำลังนำผู้หญิงโฉมงามมาสู่ “ความตาย”

Nathaniel Hawthorne นักเขียนเรื่องสั้นผู้นิยามถึงกระโปรงพิษ / ภาพ: Courtesy of Nathaniel Hawthorne

     เหยื่อแฟชั่นในนิยามครั้งนี้หมายถึงการเป็นเหยื่อเทรนด์แฟชั่น ไม่ใช่เพราะพวกเขาจับจ่ายใช้สอยแบบเกินตัวในนิยามของ Oscar de la Renta แต่หมายถึงการให้ความสำคัญกับความสวยงามจนลืมฉุกคิดถึงปัจจัยรอบตัวที่จะมาทำร้ายร่างกายเราทางอ้อม กระโปรงยาวลากพื้นนำความเดือดร้อนมาสู่หญิงสาวจนได้รับคำนิยามว่า “กระโปรงพิษ” หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันไม่ได้ทรมานในการใส่ มันไม่ได้เจ็บปวดรวดร้าวเมื่อถอดออก แล้วสิ่งนี้จะทำร้ายสาวๆ ยุคก่อนได้อย่างไร...

นิตยสารล้อเลียนชื่อ Punch, or The London Charivari ตีพิมพ์ภาพรูปแบบกระโปรงยาวลากพื้นของหญิงสาวสมัยก่อนที่เป็นภัยอย่างไม่รู้ตัว ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1862 โดยใส่รายละเอียดถึงรายละเอียดของวัสดุที่เราจะนำเสนอในตอนต่อไป / ภาพ: Collectors Weekly

     คำตอบของคำถามด้านบนถูกเฉลยด้วยเหตุผลง่ายแสนง่ายแต่มันร้ายแรงเกินกว่าจะขำ ด้วยรูปทรงกระโปรงแบบบานพอสมควร พร้อมด้วยรายละเอียดการตัดเย็บ จับผ้าและใช้เทคนิคอย่างละเอียด ทำให้กระโปรงตัวเดียวที่ทั้งยาวและบานออกมีปัจจัยเรื่องชั้นเลเยอร์ของมันเสริมเข้าไปอีก และชั้นเหล่านี้จึงกลายเป็นแหล่งกักเก็บและบ่มเพาะภัยอันตรายชั้นดีในแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ถึงตอนนี้น่าจะพอนึกกันออกแล้วว่าทำไมเหยื่อของแฟชั่นอันสวยงามครั้งนี้ถึงเจอผลที่เลวร้ายโดยแทบไม่มีบาดแผลทั้งทางกายและใจ



WATCH




กระโปรงยาวลากพื้นในยุคสมัยวิกตอเรีย / ภาพ: Smithsonian Magazine

     กระโปรงลากพื้นหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Trailing Skirts’  มันลากพื้นสมชื่อ มันทำหน้าที่เหมือนไม้กวาดย่อมๆ ปัดกวาดถนนเมื่อพวกเธอเดินออกจากบ้าน ในยุคที่การทำความสะอาดยังไม่หมดใจและการแพทย์ยังไม่รุ่งเรื่อง ความสะอาดบนท้องถนนที่ดูเนียนเรียบอาจไม่มีอยู่จริง กระโปรงเหล่านี้ลากเชื้อโรคทั้งฝุ่นทั่วไปลามถึงไข้ทรพิษ ไหนจะความสกปรกทั้งเสมหะและน้ำมูกจากผู้คนชนชั้นล่างที่ไม่สนใจระเบียบของสังคม ณ ขณะนั้น ยังไม่นับเชื้อโรคจากสุนัขและแมวที่สามารถแพร่กระจายไปทั่วทั้งเมือง นับว่าจากกระโปรงธรรมดากลายเป็นแฟชั่นไอเท็มแห่งความหายนะอย่างแท้จริง

การ์ตูนล้อเลียนที่ทำให้คนตระหนักถึงอันตรายจากกระโปรงนี้อย่างแท้จริง / ภาพ: PUCK Magazine

     จนกระทั่งช่วงปลายทศวรรษที่ 19 รอยต่อเข้าศตวรรษที่ 20 คนเริ่มตระหนักว่าการใส่กระโปรงแบบนี้มันมีผลร้ายแรงและทุกคนกำลังจะกลายเป็นเหยื่อของแฟชั่นแบบนี้ และในปี 1900 ก็มีการผลิตหนังสือการ์ตูนล้อเลียนขึ้นมาซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำความสะอาดโดยใช้ผ้าปัดและสิ่งที่กระเด็นออกมาจากกระโปรงอันกรีดกรายก็คือไทฟอยด์ วัณโรค และเชื้อโรคต่างๆ ฟุ้งกระจายไปทั่วและนี่เป็นจุดเตือนใจจุดใหญ่ว่าความสวยงามชิ้นนี้มันกำลังจะฆ่าคุณแบบไม่ทันตั้งตัว ต้องบอกว่ามันไม่ใช่แค่การสันนิษฐานทั่วไป เพราะมีการวิจัยพร้อมบทวิเคราะห์เรื่องทฤษฎีทางการแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในชื่อ “Sanitzing Style” 

ถ้ากระโปรงยาวและรายละเอียดเยอะขนาดนี้ลองนึกภาพดูสิว่าชีวิตผู้หญิงคนนี้จะเป็นอย่างไร ภาพล้อเลียนจาก The Comic Almanack for 1850 จุดประสงค์เพื่อสะท้อนถึงกระโปรงที่เทอะทะจนบริกรไม่สามารถบริการได้โดยตรง / ภาพ: Courtesy of George Cruikshank

     นี่ก็นับเป็นเหยื่อของนิยามความงามรูปแบบหนึ่ง หลายคำถามอาจอยู่ในหัวใครหลายคนว่ารู้ว่ามีความเสี่ยงทำไมถึงยังใส่ เหตุผลแรกพวกเขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ เมื่อย้อนไปถึงบริบทสมัยนั้นความรู้ไม่ถูกกระจายและนำเสนออย่างละเอียดจนสามารถนำมาคิดต่อยอดและมีความตระหนักได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวิทยาศาสตร์เช่นนี้ เหตุผลต่อมาคือมันคือบรรทัดฐานของสังคม โลกในบริบทสมัยก่อนมันไม่ง่ายที่จะปลดแอกตัวเองออกมาจากกรอบเดิมที่ถูกสร้างไว้ ไม่ใช่แค่อยากสวยแต่มันคือความต้องการไม่ผิดแปลกเป็นเอเลี่ยนของสังคม และแล้วก็ต้องเอาตัวสอดเข้าไปอยู่ในกระโปรงลากพื้นและนั่นเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผู้หญิงสวยในศตวรรษที่ 19-20 กลายเป็น “เหยื่อ” ของกระโปรงพิษ!

 

เนื้อหา: Collectors Weekly, r/Creepy Art (Reddit), The Osler Library, McGill & Fashion Victims: The Dangers of Dress Past and Present by Alison Matthews David

WATCH

คีย์เวิร์ด: #FashionVictim