FASHION

เรียนรู้จากแฝดสยามคู่แรกของโลก! อิน-จัน กับบทเรียนชีวิตที่สอนให้รู้จักคุณค่าของตัวเอง

เปิดประวัติศาสตร์อิน-จัน แฝดสยามผู้โด่งดัง กับเรื่องราวชีวิตที่ถูกเล่าขานและจารึกในหน้าประวัติศาสตร์โลก ทั้งหมดมันกำลังสอนอะไรอยู่ร่วมหาคำตอบกับบทความนี้

เนื้อหาสำคัญ

  • ประวัติชีวิตของ อิน-จัน
  • แง่มุมสะท้อนชีวิตของ อิน-จัน ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต
  • เผยความลับวิธีการคิดจากชีวิต อิน-จัน ว่าความแปลกประหลาดมันไม่ใช่สิ่งบั่นทอนชีวิตเสมอไป
  • เหตุผลนอกเหนือจากร่างกายที่แฝดสยามถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์โลก

________________________________________

 

     “แรงบันดาลใจสร้างได้จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะเรื่องราวเรียบง่ายหรือแปลกประหลาดแค่ไหนก็ตาม” คติเรื่องแรงบันดาลใจของผู้เขียนนำพามาสู่เรื่องราวของ “อิน-จัน” ฝาแฝดสยามที่โด่งดังไปทั่วโลก โว้กจึงถือโอกาสพาทุกคนย้อนกลับสัมผัสประสบการณ์ชีวิตผ่านเรื่องเล่า แง่มุมประวัติศาสตร์ ตำนานและอีกหลาย ๆ เรื่องราวของชีวิตชายผู้มีตัวติดกันแต่สามารถดำรงชีพได้อย่างปกติ และสร้างตำนานบทใหญ่ไว้ไม่ใช่แค่กับประเทศไทย แต่หมายถึงให้กับคนทั้งโลก...

ภาพ: Thairath

      ย้อนกลับไปในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ณ แม่กลอง จังหวัดสมุทรสงครามเด็กฝาแฝดเพศชายถือกำเนิดขึ้นพร้อมความมหัศจรรย์ที่โลกต้องจารึก พวกเขาตัวติดกัน! นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เพราะโดยปกติเด็กตัวติดกันมักเสียชีวิตไม่นานหลังจากคลอด แต่พวกเขารอดมาได้และเริ่มเติบโต “อิน-จัน” ชื่ออันเป็นมงคลกลายเป็นที่พูดถึงของชาวบ้านตั้งแต่แรกคลอดตลอดจนช่วงเวลาการเติบโตในวัยเด็ก ไม่น่าเชื่อว่าความพิเศษที่หลายคนมองและคิดว่าจะเสียชีวิตในเวลาอันสั้นสามารถใช้ชีวิตได้ตามอย่างเด็กปกติ พวกเขาวิ่งเล่นกับเด็กคนอื่นราวกับว่าร่างกายเขาปกติ ต้องขอบคุณแม่ของเขาที่เลี้ยงดูลูกคนเดียวเนื่องจากพ่อเสียชีวิตไปก่อนหน้า และการเลี้ยงอิน-จันของเธอไม่ได้ให้ความใส่ใจหรือมองว่าเด็กผู้ชาย 2 คนนี้แปลกเป็นรากฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า “เราควรจะเลี้ยงดูเขาเหมือนปกติ” แง่มุมนี้มันสอนเราตั้งแต่ต้นว่าเหมือนกับเพศที่ 3 นั่นล่ะ เขาไม่ได้ต้องการดูด้อยกว่า ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ต้องการพิเศษกว่าชาย-หญิง การให้ความสำคัญเท่า ๆ กันคือสิ่งที่นำมาสู่ผลลัพธ์อันน่าทึ่งที่สุด อิน-จันคือตัวอย่างของความสำเร็จในเรื่องรากฐานการดูแลที่ดีมากในด้านนี้

ภาพวาดบันทึกบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นการสัญจรเดินเรือทางน้ำ / ภาพ: phathnakartang

     เกริ่นมาพอสมควรถึงความเสมอภาคแต่ก็ต้องยอมรับว่าหลักฐานเชิงกายภาพของพวกเขาไม่เหมือนกับร่างกายคนปกตินั่นทำให้เขาได้รับโอกาสพิเศษมากมายแลกมาด้วยแววตาและความคิดแปลกประหลาดยิ่งเสียกว่าร่างกายของพวกเขาหลายเท่าตัว โอกาสพิเศษสูงสุดในชีวิตอย่างหนึ่งคือการได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2367 ในปีเดียวกันนั้นเองชายผู้ต่อมาคือผู้ลิขิตชีวิตเด็กหนุ่ม 2 คนนี้ปรากฏตัวขึ้นในหน้าจารึก ‘โรเบิร์ต ฮันเตอร์’ ชื่อแบบชาวอังกฤษดั้งเดิม เขาคือพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในประเทศและบังเอิญไปพบอิน-จัน ความคิดเรื่องเงินก้อนมหาศาลหากพาฝาแฝดคู่นี้ไปปรากฏตัวต่อผู้คนในต่างแดนแล่นมาในหัวเขาทันที และนี่คือจุดเปลี่ยนชีวิตของแฝดตัวติดกันอย่างจริงจัง โรเบิร์ตเจรจาคุยกับแม่อิน-จันอยู่นานถึง 5 ปีกว่าจะได้ออกทริปพาฝาแฝดคู่นี้ออกจากประเทศไทยมุ่งสู่ดินแดนอเมริกาโดยมีอเบล คอฟฟินเป็นกัปตันเรือ ณ ขณะนั้น



WATCH




บรรยากาศบ้านเมืองของเมืองบอสตันในช่วงยุค 1840s / ภาพ: Perry Walton

     และแล้ววันที่พลิกชีวิตฝาแฝดคู่นี้ก็เป็นจริง... อิน-จันเดินทางถึงเมืองบอสตันวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2372 เขาถูกลบภาพคนไทยออกไปแทบทันทีเพราะคนส่วนมากนิยามคนเอเชียเหมารวมว่าเป็นจีน หลังจากถึงที่หมายความตั้งใจของทั้งโรเบิร์ตและอเบลคือพาพวกเขาไปแสดงความแปลกประหลาดให้ชาวโลก ในระหว่างนั้นแฝดคู่นี้ไม่ได้โชว์แค่เพียงในสหรัฐอเมริกา แต่มีโอกาสได้เดินทางไปสหราชอาณาจักรด้วย ในวันที่พวกเขาถูกกุมชะตาชีวิต ไร้ทางเลือกเพราะทำสัญญาไว้ถึง 2 ปี แต่อิน-จันไม่ได้ปิดโอกาสตัวเองให้เป็นเพียงสิ่งของในสายตาคนอื่น เขาเปลี่ยนจากทริปเดินทางในฐานะตัวประหลาดสู่ฐานะ “นักเรียน” เพราะระหว่างทริปเขาเรียนรู้ภาษาอังกฤษในทุกทักษะตั้งแต่เขียน ฟัง อ่าน เขียน นี่คือตัวอย่างของการพลิกโอกาสในชีวิตจากจุดที่ตนเองถูกมองเป็นแค่สิ่งของไว้ให้แสดงให้คนตื่นตาสู่ผู้ขวนขวายการพัฒนาชีวิตจนกลายเป็นรากฐานให้อิน-จันเริ่มปลดแอกชีวิตตัวเอง

ภาพ: Edouard-Henri-Théophile Pingret

     แต่อุปสรรคชีวิตจากลักษณะทางกายภาพทำให้พวกเขากลายเป็นจำเลยสังคมอยู่เสมอ เคยมีเหตุการวิวาทกันและฝาแฝดตัวติดคือผู้ผิดโดยมีเหตุผลว่า “ผู้กระตุ้นความรุนแรง” หรือแม้แต่การที่ผู้คนอยากจะไขข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างกายที่ติดกัน แต่พวกเขาไม่ย่อท้อแทนที่จะยอมให้โดนกระทำราวกับสิ่งของ พวกเขากลับสู้ สู้ในชนิดที่ว่าจะไม่ให้ใครมาเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เฉกเช่นทุก ๆ คน ใช่! ใครจะพูด ใครทำอะไรเราไม่สามารถบังคับได้ แต่เราสามารถยืนหยัดสร้างจุดยืนให้กับตัวเองได้ว่า “ฉันแข็งแกร่ง ถึงฉันจะไม่เหมือนคนอื่นหรือมีเงื่อนไขในชีวิตที่เป็นอุปสรรคอะไรก็ตามแต่ พวกเธอทุกคนไม่มีสิทธิ์มาก้าวย่ำความเป็นมนุษย์ของฉัน” นี่คือสิ่งที่ชีวิตอิน-จันกำลังสอนเราในแง่มุมของการต่อสู้ยืนหยัดต้านทุกอุปสรรค

โปสเตอร์โปรโมตการแสดงโชว์ของคู่ฝาแฝด อิน-จัน ในชื่อ Siamese Twins / ภาพ: Red Bubble

     พวกเขามีผู้จัดการหลายต่อหลายคนแต่อเบล คอฟฟินนายเรือที่พาพวกเขามานั้นคือผู้กุมอำนาจบาตรใหญ่ช่างหิวโหยเงินตราและเอารัดเอาเปรียบแฝดคู่นี้ ดูได้จากการบริหารจัดการ  การเดินทางและเงินต่าง ๆ ทำให้อิน-จันหมดความเชื่อมั่นและรอเวลาพ้นสัญญา 2 ปีในวันเกิดอายุครบ 21 ปีที่ขีดไว้กับนายหัวเรือหน้าเลือดคนนี้ แต่แล้วพวกเขาก็ตัดสินขีดเส้นทางชีวิตตัวเองด้วยการหนีออกมาจากสัญญาฉบับนั้นและแยกการแสดงเดี่ยวเพราะไม่มั่นในสัจจะของอเบลเรื่องสัญญา และแน่นอนว่าเขากำหนดทุกเรื่องด้วยตัวเองโดยยังไม่มีการประกาศว่าพวกเขามาทำกันเอง เพียงแต่ค่อย ๆ ปรับให้เหมาะสมกับทั้งคนดูและความสบายใจของอิน-จันเอง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นชื่อที่ทุกคนเรียกกันอย่างคุ้นหูอย่าง “แฝดสยาม” หรือในภาษาอังกฤษว่า “Siamese Twins” จากเดิมคือ “Siamese Youths” อันสื่อถึงความเป็นเด็กโดยมี เจมส์ ดับเบิ้ลยู. เฮล ผู้จัดการคนก่อนหน้าเป็นผู้ตั้งให้นั่นเอง

Inseperable บอกเล่าเรื่องราวชีวิตอันเป็นตำนานของฝาแฝดคู่นี้ / ภาพ: The National Book Review

     ทำไมถึงเอารูปร่างอันแปลกประหลาดมาขายในเมื่อเลือกเส้นทางชีวิตตัวเอง? คำตอบมันง่ายแสนง่ายคือเขาไม่จำเป็นต้องมองว่ามันเป็นปมด้อย เขาภาคภูมิใจกับมัน เขาพัฒนาการแสดงของตัวเองด้วยการสวมเสื้อผ้าตามสมัยนิยม พูดคุยกับผู้ชมโดยตรง และพวกเขาก็จ้างทีมงานของพวกเขาเอง พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความรู้สึกนึกคิดและลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างไม่ใช่ปมด้อย ไม่ใช่ของแปลกประหลาดหรือแม้แต่สิ่งของที่จะใช้ตั้งตระหง่านให้คนรับชมอย่างเดียวเท่านั้น เป็นการประกาศทางการกระทำอย่างชัดเจนว่า “พวกเขาคือมนุษย์ที่มีชีวิต”

ภาพวาดครอบครัวอิน-จันกับภรรยาและลูก ๆ / ภาพ: University of North Carolina Wilson Library

     ความภาคภูมิใจในการเปลี่ยนปมด้อยในร่างกายสู่ความภาคภูมิใจ อิน-จันเก็บหอมรอมริดจากค่าเข้าชมพวกเขาได้มากมายถึงขนาดสร้างตัวได้ในสหรัฐฯ เขาลงรักปักฐานที่แทรปป์ฮิลล์ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา นี่คือจุดเริ่มต้นของการเอาชนะข้อจำกัดทางสังคมทุก ๆ อย่าง การมีบ้าน มีทาส แต่งงานกับคนอเมริกันทั้งซาราห์และอเดเลด เยตส์ สร้างความกวนใจชาวอเมริกันใจแคบผู้เหยียดเผ่าพันธุ์ตามคติคนขาวเป็นใหญ่ในสมัยก่อน แต่ฝาแฝดคู่นี้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้มีนามสกุลที่เปลี่ยนในช่วงเวลานี้ด้วยคือ “บังเกอร์” ถือเป็นการปักหมุดสำคัญถึงการเปลี่ยนแปลงสู่อิน-จันคนไทย เป็นเอ็ง-ชางอเมริกันเต็มตัว ถึงเขาจะไม่ใช่คนขาวตามขนบ แต่สิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาและครอบครองมันมีบรรทัดฐานเดียวกับชนชั้นสูงในสมัยนั้นและนี่ก็เป็นบทเรียนให้ทุกคนให้เห็นว่าเราต่างถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขบางอย่าง เราไม่สามารถเปลี่ยนกฎเปลี่ยนเกณฑ์เพื่อให้ตัวเองยิ่งใหญ่ได้ เพียงแต่เราต้องพยายาม อาจจะพยายามมากกว่าคนอื่นแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาชนะผู้เหนือกว่าในบรรทัดฐานเดียวกันไม่ได้

ภาพวาดเรื่องราวชีวิตของอิน-จัน / ภาพ: National Library of Medicine

     แต่ละชีวิตมันไม่ได้โรยด้วยกุหลาบมีหนามอย่างเดียว เพราะบางครั้งเราก็อาจจะขึ้นสู่ยอดกุหลาบแล้วตกลงบนกระบองเพชร เพราะการที่ทำการเกษตรไร่ฝ้ายอยู่กับความสงบสุขแต่ขาดซึ่งการวางแผนชีวิต พวกเขาและคู่สมรสมีทรัพย์จนซื้อทาสได้ก็จริงแต่ก็มีลูกเยอะพอ ๆ กัน (อิน 11 คน จัน 10 คน) นั่นทำให้การเงินเริ่มขาดมือจนพวกเขาต้องนำร่างกายเข้าสู่กงเกวียนการหากินอีกครั้ง มันสะท้อนให้เห็นว่าในชีวิตเราสามารถก้าวขึ้นมาสู่จากจุดต่ำสุดที่คนอื่นวาดไว้ให้สู่จุดสูงสุดจากความพยายามของตัวเองในเวลาที่รวดเร็วมันอาจผิดพลาดและไม่มั่นคงพอที่จะยืนหยัดอยู่ในจุดนั้นได้หากวางแผนไม่ดีพอ เคราะห์ซ้ำกำซัดสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ เกิดขึ้นและจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเขตที่อิน-จันอาศัยอยู่นั่นทำให้ทรัพย์สินทาสและอื่น ๆ ถูกริบไปทั้งหมด พวกเขากลายเป็นประชากรธรรมดา กลับมาสู่เลข 0 อีกครั้ง

อิน-จัน ในวัยชรานั่งบนเก้าอี้โดยมืออินโอบไหล่จันผู้น้อง / ภาพ: Nannette Rod

     เรื่องราวชีวิตเป็นกราฟวิ่งขึ้นลงอยู่ตั้งแต่เกิดจนถึงวัยแก่ตัวลงเผชิญเรื่องราวมาด้วยกันนับไม่ถ้วน แต่ใครจะรู้บ้างว่ามีแค่ตัวที่ติดกันหาใช่นิสัยไม่ เพราะอิน-จันเหมือนเป็นหยิน-หยางขั้วตรงข้ามกันแทบทุกเรื่อง อินมีนิสัยใจเย็น สุขุมหนักแน่นและไม่ดื่มสุรา แต่จันกลับตรงข้าม อารมณ์ร้อน หุนหันพันแล่นชอบดื่มสุราจนเมามาย ถึงขนาดมีบันทึกจากหลายที่ว่าเคยวิวาทกันเองในร่างกายเดียวกันมาแล้ว นี่คือสิ่งที่ต้องเผชิญคน 2 คนอยู่ผูกติดแยกกันไม่ได้ หากเปรียบให้ง่ายสักหน่อยก็คงเหมือนครอบครัวหรือผัวเมีย เราอยู่ด้วยกันได้ เราสามารถทะเลาะกันได้แต่สุดท้ายเราแยกจากกันไม่ได้ ต้องปรับความเข้าใจกัน ทุกคนมีความต่างกันไม่ว่าจะสนิทกันแค่ไหน ขนาดอิน-จันตัวติดกันยังต่างกัน ฉะนั้นจงปรับความแตกต่างเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ ถึงแม้จะมีติดขัดกันบ้างถึงยังไงความสัมพันธ์ก็ไม่ขาดเหมือนกับชิ้นส่วนที่ติดกันของอิน-จัน

โรเบิร์ต บังเกอร์ ลูกชายคนสุดท้องของอินนั่งบนเก้าอี้ในห้องนอนที่มีเตียงที่อิน-จันนอนเป็นครั้งสุดท้าย / ภาพ: แฝดสยาม อิน-จัน ฅนสู้ชีวิต โดย วิลาส นิรันดร์สุขศิริ - มติชน

     จารึกบทสุดท้ายของชีวิตอิน-จันคือความใส่ใจกันของพี่น้องฝาแฝด จันล้มป่วยลงในปี พ.ศ. 2413 ด้วยอาการสโตรก จันเป็นอัมพาตซีกขวาจนทำให้เขากลายเป็นนักดื่มตัวยง สุขภาพเริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ อินผู้พี่คอยดูแลน้องทุกวินาทีของชีวิต จนกระทั่งเช้าวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2417 จันเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายและอีก 2 ชั่วโมงต่อมาอินผู้พี่ก็หมดลมหายใจ กลายเป็นตำนานบทใหญ่ของโลกที่ฝาแฝดตัวติดกันมีอายุยืนยาวถึง 62 ปี พวกเขาสืบต่อตระกูลบังเกอร์ด้วยจำนวนลูกหลานจวบจนปัจจุบันมากกว่า 1,500 คน เรื่องราวชีวิตขึ้นลง ฝ่าฟันอุปสรรคมาทุกรูปแบบตั้งแต่ลักษณะทางกายภาพไปจนถึงสภาพจิตใจ พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นว่าหน้าประวัติศาสตร์ของพวกเขาไม่ใช่แค่ “คนประหลาดตัวติดกัน” แต่พวกเขาคือฝาแฝดร่างกายติดกันที่สร้างสรรค์เรื่องราวชีวิตตัวเองราวกับภาพยนตร์คุณเยี่ยมเรื่องหนึ่ง ทุกย่างก้าวในชีวิตกลายเป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลัง สุดท้ายผู้เขียนอยากฝากไว้ว่า “คุณไม่จำเป็นต้องย่อท้อต่อคำสบประมาทและปมด้อยของคุณ จงภูมิใจในตัวเองและใช้ความภูมิใจที่มีอยู่ผลักดันกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตด้วยมือของเราเอง” 

หลุมศพอิน-จัน ที่เมืองเมาต์ ไอรี รัฐนอร์ทแคโรไลนา / ภาพ: ชมรมประวัติศาสตร์สยาม

อนุสาวรีย์รำลึกอิน-จัน ณ จังหวัดสมุทรสงคราม / ภาพ: Travel Blog

WATCH