FASHION

เปิดโลกศิลปะของ Edward Hopper ศิลปินผู้สร้างผลงานตรงชีวิตปี 2020 แม้จะผ่านมาเกินกว่า 70 ปี

Edward Hopper สร้างผลงานไว้กว่า 100 ปี แต่อยู่ดีๆ ก็ดันสะท้อนวิถีชีวิตคนปี 2020 ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

     ช่วงเวลาการกักตัวคงเป็นสิ่งที่คนไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองและคนทั่วโลกโดยพร้อมเพียงกันขนาดนี้ ปรากฏการณ์นี้นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของโลกแบบ 100 ปีมีสักหน แต่ทว่าศิลปินบางคนกลับรังสรรค์ความเงียบเหงายามอยู่คนเดียวไว้นานหลายสิบปี แต่ดูไปดูมามันช่างคล้ายกับการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกตอนนี้เสียจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังเผชิญกับความอ้างว้างในจิตใจ ความหดหู่ในความรู้สึก แต่ทั้งหมดกลับถูกถ่ายทอดมาตามความสวยงามเชิงศิลปะ ภาพเหล่านี้คือภาพอะไรและใครเป็นเจ้าของผลงาน ติดตามได้ด้านล่างนี้เลย

ผลงาน Self-Portrait ของ Edward Hopper / ภาพ: Arthive

     ผลงานสีน้ำมันที่เราเห็นและจะเห็นต่อจากนี้ตลอดทั้งบทความคือผลงานของ Edward Hopper ศิลปินภาพวาดสีน้ำมันระดับตำนานชาวอเมริกัน ผู้ขึ้นชื่อเรื่องความโดดเด่นในการส่งผ่านอารมณ์หลายรูปแบบ แต่ที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องความว้าเหว่ของผู้คนในเมืองใหญ่ ซึ่งดูไปดูมาความว้าเหว่เหล่านี้กลับมาเยือนมวลมนุษยชาติอีกครั้ง หลังจากผู้คนทั้งโลกคงไม่คิดถึงว่าตลอดหลายสิบปียุคแห่งการปฏิสัมพันธ์ยุคใหม่จะเกิดภาวะที่คนในสังคมส่วนใหญ่กลายเป็นเอเลี่ยนตรากตรำอยู่ในโลกอันเงียบเหงาของตัวเอ และงานสีน้ำมันเหล่านี้ถูกรังสรรค์ขึ้นมานานเกือบแตะหลักร้อยปีแล้ว ถือว่าเอ็ดเวิร์ดทำนายทายทักอนาคตด้วยความช่ำชองของเขาได้อย่างแม่นยำ โดยอาจจะตั้งใจหรือเป็นแค่เรื่องบังเอิญ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญอะไรเท่าเนื้องานที่สะท้อนชีวิตผู้คนได้อย่างลึกซึ้ง

Nighthawk (1942) ภาพวาดที่ถือว่าโด่งดังที่สุดของ Edward Hopper / ภาพ: Artsy

     ด้วยความที่พื้นฐานของเอ็ดเวิร์ดเป็นคนสร้างงานสไตล์เรียลลิสม์ผ่านแรงบันดาลใจแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ นั่นแปลว่าเขารับอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาและถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดสีน้ำเสมือนจริงบนกระดานผ้าใบ เพราะฉะนั้นงานของเขาจะไม่มีข้อกำหนดตายตัวตามหลักเหตุและผลมากนัก แต่เปิดกว้างให้เหล่าผู้เสพได้เสพผลงานและวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแต่ละภาพของเขาก็แสดงให้เห็นว่าแม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปีภาพพวกนี้ยังคงถูกตีความให้ทันสมัยได้เสมอ แม้ในปี 2020 สถานการณ์โควิดก็ทำให้เราเห็นว่าเราเชื่อมโยงกับภาพวาดของเอ็ดเวิร์ดได้โดยไม่ต้องยัดเยียด หญิงสาวนั่งมองออกนอกหน้าต่างด้วยความเงียบเหงา การนั่งในร้านอาหารแบบห่างไกลกันประกอบกับสภาพความเงียบเหงายามค่ำคืนจากภาพ “Nighthawks” ก็ไม่ต่างจากวิถีชีวิตของคนทั่วโลกในปี 2020 นี้มากนัก



WATCH




Eleven am (1926) ผลงานสีน้ำที่สะท้อนความอ้างว้างโดดเดี่ยวทันทีเมื่อเห็นเพียงครู่เดียว / ภาพ: Fine Art America

     หลายคนกำลังวิเคราะห์ว่าภาพเหล่านี้คือความเหงาและสิ้นหวังอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วเอ็ดเวิร์ดไม่ได้อยากให้คนมองแง่ลบจนเกินไป เขาแค่อยากถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจพร้อมทิ้งพื้นที่ในภาพให้สอดรับกับช่วงเวลาของบุคคลสมมติในภาพอย่างเต็มที่ เขาเคยบอกกับ Brian O’Doherty เพื่อนของเขาเกี่ยวกับความไม่ชอบให้คนตีความผลงานว่า “ความโดดเดี่ยวถูกให้ความสำคัญเยอะเกินไป จนบางครั้งมันสร้างแบบแผนของการมองศิลปะอย่างที่ไม่ควรจะเป็น” และเมื่อเพื่อนรักถามถึงการสะท้อนความหมายถึงโลกยุคใหม่ในสารคดีเรื่อง "Hooper’s Silence" เขาก็ตอบว่า “มันอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้” คำตอบสมกับเป็นชายผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากสายอิมเพรสชั่นนิสต์ ผู้ไม่ลงหลักปักข้อมูลความจริงสัมบูรณ์ ให้อารมณ์ความรู้สึกอยู่เหนือตรรกะ

Morning Sun (1956) เปิดรับแสงยามเช้าอย่างโดดเดี่ยวตัวคนเดียว ชีวิตในภาพวาดจะต่างอะไรกับคนที่กักตัวอยู่ตามอาคารสูงมากมาย / ภาพ: Alamy

     ด้วยเหตุผลที่ไม่มีหลักความจริงสัมบูรณ์ของงานจากเอ็ดเวิร์ดทำให้งานศิลปะแทบทุกชิ้นถูกตีความใหม่ได้แม้จะเปิดชมในปี 2020 การไม่กำหนดตายตัวทำให้ผลงานทันสมัย ความอัจฉริยะที่เขาสอดแทรกไว้โดยไม่ต้องปริปากบอกใครกำลังทำให้ผลงานของเขาถูกพูดถึงอีกครั้ง ณ ตอนนี้ แต่ที่มันยิ่งพิเศษขึ้นไปอีกคือ “ความโมเดิร์น” ผลงานบางชิ้นของศิลปินดังผู้นี้นำสมัยมาตั้งแต่เกือบ 100 ปีที่แล้วแต่ยังให้อารมณ์ร่วมสมัยได้จนถึงปัจจุบัน ด้วยสภาพบ้านเรือน วิถีชีวิต ไม่ว่าจะที่อพาร์ตเมนต์ ปั๊มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งหน้าต่างบ้านตัวเอง มันเป็นช่วงเวลาเงียบเหงาที่ผู้คนได้ทบทวนความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเองในหลายๆ ปัญหาที่เราไม่เคยคิดสงสัยมาก่อนยามใช้ชีวิตปกติ...

Gas (1940) ปั๊มน้ำมัน บุคคล แสงสว่าง และความว่างเปล่า / ภาพ: Wiki Paintings

     ปี 2019 ต่อถึง 2020 ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายเร่งรีบโดยเฉพาะวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ทั่วโลก ผู้คนต่างเร่งเดินทาง ทำงาน ผลิตผลงานเพื่อแข่งขันกัน สิ่งที่ทุกคนโหยหาคือการพักผ่อนและให้เวลากับตัวเอง แนวคิดหลักของโลกยุคใหม่คือ “อิสระ” เพราะฉะนั้นเราต้องการการพักผ่อนแบบตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง เมื่อได้นอนเอนกายาลงบนโซฟาพร้อมชมซีรี่ส์เรื่องโปรดก็รู้สึกอิ่มเอมกับความสุขยามปลีกวิเวกออกจากสังคม แต่ตอนนี้อิสรภาพหายไปเพราะโควิด-19 เราไม่ได้อยู่บ้านด้วยเจตนารมณ์เดิมอีกต่อไป เมื่ออิสระหายไปนั้นความจำเป็นจึงเข้ามาบีบบังคับแทนที่ Jonathan Jones นักเขียนของ The Guardian จึงทิ้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจในการตีความเกี่ยวกับผลงานแห่งความเงียบเหงาชั้นครูนี้ว่า “เราเลือกการปลีกวิเวกตัวคนเดียวเพราะอยากเป็นอิสระในโลกยุคโมเดิร์น แต่ตอนนี้ผลงานเอ็ดเวิร์ดตั้งคำถามกับเราว่าเมื่ออิสรภาพในชีวิตยุคใหม่ถูกลบหายไป มันจะเหลืออะไรนอกเสียจากความโดดเดี่ยวที่เลือกไม่ได้”

Automat (1927) หญิงสาว ร้านคาเฟ่ และ ความโดดเดี่ยวอันปราศจากผู้คนรายล้อม ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน / ภาพ: Independent

     แต่อย่าเพิ่งหมดความหวังไปเสียก่อน...เอ็ดเวิร์ดฝากเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งให้กับเหล่านักวิเคราะห์ศิลปะให้ได้ตีความเสมอ นั่นก็คือ “แสง” ไม่ว่ารูปภาพจะดูเงียบเหงาโดดเดี่ยวเพียงใดแต่รายละเอียดภายในภาพจะมีแสงสว่างส่องอยู่เสมอ เหงาเพียงใด โดดเดี่ยวเพียงใด หมองหม่นเพียงใดก็มักมีจุดกระทบของแสง ถ้ามองในเชิงทัศนศิลป์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจากทั่วโลกมองว่ามันคือการสร้างเส้นและเงาที่ดึงดูดสายตาคนและจดจำได้อย่างมีนัยยะสำคัญ และนักวิจารณ์ศิลปะหลายคนก็มองว่าแสงมันให้ความหมายมากกว่าความสวยงามด้วย เพราะตลอดหลายสิบปีมีข้อสันนิษฐานถึงผลงานข้อหนึ่งที่มักดูสมเหตุสมผลและผ่านกระบวนการ Romanticize อย่างละเอียดลออว่า “แสงเหล่านั้นคือแสงสว่างของชีวิตยามโลกมืดมนลง” สิ่งนี้อาจจะหาคำตอบไม่ได้ว่าศิลปะตั้งใจรังสรรค์ไว้แบบใดเพื่อความหมายอะไร แต่ข้อดีของการเสพศิลปะโดยไร้ข้อจำกัดแบบนี้ยิ่งทำให้ทุกองค์ประกอบสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง หากเรารู้สึกว่าจริงว่าใช่ชิ้นงานนั้นก็มีความหมายเสมอ เวลาล่วงเลยมานาน สาธยายมาอย่างยาวเหยียด ถึงเวลาที่ผู้อ่านจะจ้องมองภาพและตีความเองแล้วว่างานเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์กับชีวิตของมนุษย์ปี 2020 คือความสอดคล้องกันจริงหรือไม่ เมื่อศิลปะไม่มีขีดจำกัดก็จงสนุกกับมันให้เต็มที่...

Office in a Small City (1957) ในยุคนี้แม้จะทำงานในออฟฟิศ แต่สถานการณ์บีบบังคับให้ต้องเว้นระยะห่างระหว่างกัน จะต่างอะไรกับความเงียบเหงาของออฟฟิศในภาพของ Edward Hopper / ภาพ: The Hard Copy

 

ข้อมูล: Auralcrave, Visual-Art-Cork, Medium|Art, The Guardian และ Artsper

 

 

voguefreemay2020

WATCH

คีย์เวิร์ด: #COVID-19