FASHION

'DRAG' จากวัฒนธรรมบันเทิงเช็ก สเปียร์ สู่เครื่องมือเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบันความหลากหลายทางเพศในสังคม คืออีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อน และนำพาวัฒนธรรม และปรากฏการณ์ใหม่น่าสนใจมาสู่สังคมโลก หนึ่งในนั้นที่เรากำลังจะพูดถึงกันในตอนนี้ก็คือ วัฒนธรรม Drag ที่นับเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์มาเป็นเวลายาวนาน

     หากจะพูดถึง Drag ในอดีตที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในรูปแบบของศิลปะการแสดง ย้อนกลับไปในราวยุคเมื่อบทละครเวที และวรรณกรรมของกวีชื่อก้องโลกอย่างเช็ก สเปียร์กำลังโด่งดัง บทประพันธ์ที่ถูกนำมาสร้างเป็นการแสดงบนเวทีจริงๆ ทำให้วัฒนธรรม Drag แบบดั้งเดิมถือกำเนิดขึ้น เพราะในศตวรรษที่ 17 บทละครของเช็ก สเปียร์ที่ได้รับการแปลงเป็นแสดงละครเวทีเป็นครั้งแรกที่โรงละคร Globe ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษนั้น ตามจารีตแล้วจะมีเพียงสุภาพบุรุษเท่านั้นที่จะสามารถแสดงละครเวทีได้ นั่นจึงเป็นหนึ่งเหตุผลจำเป็นที่ทำให้เราได้เห็นนักแสดงสุภาพบุรุษทั้งหลายจำต้องแต่งตัว และหน้าตา แสดงเป็นตัวละครหญิงแทนสุภาพสตรีจริงๆ หากนั่นก็เป็นเพียงการแสดงออกทางมิติของความบันเทิงแห่งยุคสมัยเท่านั้น

1 / 4

ภาพวาดจำลองการเล่นละครเวทีในโรงละครสมัยเช็ก สเปียร์ ราวศตวรรษที่ 17 / ภาพ : something with interested


2 / 4

ภาพเขียนโปสเตอร์เพื่อโปรโมตการแสดง Vaudeville / ภาพ : wikipedia


3 / 4

Julian Eltinge นักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุค 1910s ที่ได้ชื่อว่าเป็น Drag Queen แห่งยุค / ภาพ : thepridela.com


4 / 4

ภาพถ่ายการแสดงในคลับใต้ดิน ที่รู้จักกันในชื่อของ Pansy Craze / ภาพ : kcrw.com


     วัฒนธรรมการแต่งตัว และหน้าตาเลียนแบบสตรีเพื่อแสดงเป็นตัวละครให้สมบทบาทดำเนินต่อมาเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษ กระทั่งต่อมาในช่วง 1900s วัฒนธรรมดังกล่าวได้ขยายพื้นที่สู่อเมริกา ผ่านประเภทการแสดงที่ผสมผสานระหว่างดนตรี การเล่นตลก หรือแม้แต่การเต้นรำ ที่เหล่าอเมริกันชนต่างรู้จักกันในชื่อ “Vaudeville” การแสดงล้อเลียนแบบสดๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนั้น กระนั้นการแต่งตัวเป็นผู้หญิง (และการแต่งตัวเลียนแบบอื่นๆ) ได้กลายเป็นอีกหนึ่งความบันเทิงของการแสดงที่ว่านี้ และได้ถือกำเนิด Drag Queen คนแรก ชื่อว่า Julian Eltinge เธอกลายเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่ง จนอาจพูดได้ว่าเธอคือนักแสดงที่มีรายได้สูงที่สุดในยุค 1910s

     ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ วัฒนธรรม Drag ยังคงเกาะติดกับมิติแห่งความบันเทิงไม่ห่างหาย กระทั่งเมื่อถึงยุค 1930s การแต่งกายเป็นหญิง และวัฒนธรรม Drag ก็ยังได้รับการพูดถึงว่า ได้แผ่ขยายตัวเอง และมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกย์ไปแล้วเรียบร้อย เนื่องจากมีคลับใต้ดินเกิดขึ้นในกลุ่มชาวเกย์ และ Drag ก็เป็นการสร้างความบันเทิงรูปแบบหนึ่งในบาร์นั้น และถึงแม้ว่าชุมชนของวัฒนธรรมเกย์ใต้ดินที่กล่าวไปนั้น จะยังไม่ใช่เรื่องถูกกฎหมายในสมัยนั้น หากวัฒนธรรมการสร้างความบันเทิงด้วย Drag กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างช่วงยุค 1950s -1960s โดยรู้จักกันในชื่อของ Pansy Craze ก่อนที่ไม่นานหลังจากนั้น จะเกิดการปราบปรามชุมชนชาว LGBT ครั้งใหญ่ขึ้น และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Pride Month ที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน



WATCH




(ซ้าย) Davbid Bowie ศิลปิน และสไตล์ไอคอนในยุค 1970s / (ขวา) RuPual Andre Charles โต้โผใหญ่ผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรมการแข่งขัน Drag Race ไปทั่วโลก

 

     หลังจากที่เกิดจลาจลในปี 1969 ในขณะเดียวกันนั้นกลุ่ม LGBTQ ก็ยังได้สร้างชุมชนของตัวเองขึ้นมาในเมืองแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก และให้กำเนิดวัฒนธรรม Drag Ball ซึ่งเป็นการประกวดแข่งขันล้อเลียนในช่วงต้นของยุค 1970s ก่อนที่หลังจากนั้น Drag ก็ได้เดินทางเข้าสู่วัฒนธรรมกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นตัวอย่างชัดเจนได้จากศิลปินที่ควบตำแหน่งแฟชั่นไอคอนแห่งยุค 1970s อย่าง David Bowie ที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี

     วัฒนธรรม Drag ได้ไหลตามกระแสของสังคมเป็นเส้นเดียวกับวัฒนธรรมอื่นๆ มาจนถึงปัจจุบัน กับปรากฏการณ์รายการแข่งขัน Drag Race ที่มีโต้โผใหญ่อย่าง RuPual Andre Charles (ผู้ควบตำแหน่งนักแสดง นางแบบ นักร้อง นักแต่งเพลง ผู้ดำเนินรายการ และนักเขียน) เป็นผู้คอยดูแล เรียลลิตี้ดังกล่าวแตกแขนงรูปแบบการแสดงออกไปได้อีกมากมาย ทั้งความคิดสร้างสรรค์ด้านแฟชั่น และการแต่งหน้าที่กลายเป็นที่พูดถึงของเหล่าผู้เข้าแข่งขัน ไปจนถึงการคิด และจัดเตรียมการแสดง Lip Sync เพื่อสร้างความบันเทิง ทว่าในขณะเดียวกันที่ Drag ในปัจจุบันสร้างบันเทิงอย่างยิ่งยวดให้กับคนดูทั่วโลก อีกด้านหนึ่งหากพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าวัฒนธรรม Drag นี้ยังทำหน้าที่เป็นตัวขับเน้นให้เห็นความสามารถของเหล่ากลุ่มคน LGBTQ ให้สังคมโลกได้ประจักษ์ด้วยส่วนหนึ่ง แม้ว่า Drag จะเป็นวัฒนธรรมร่วมของทุกเพศก็ตาม 

ภาพถ่ายจากรายการ RuPaul's Drag Race / ภาพ : Variety

 

     ดังนั้นแล้วในตอนนี้ Drag คงไม่ใช่วัฒนธรรมที่เกาะติดกับความบันเทิงเท่านั้น หากยังแฝงไว้ซึ่งการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์มากมาย และกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งการเรียกร้องความเท่าเทียมอันเข้มข้นในยุคสมัยนี้ได้อย่างแยบยล และยังมีอิทธิพลต่อสไตล์ในอุตสาหกรรมแฟชั่น และบันเทิงปัจจุบันไม่น้อยเลยทีเดียว

 

WATCH

คีย์เวิร์ด: #DragEvolution