FASHION
ผิดทุกข้อ...โว้กสับแหลกลุคข้ามเพศของ Cara Delevingne ในพิธีเสกสมรสบัดนี้เรากำลังจะถกกันถึงลุคสูทหางยาวของนางแบบสาว Cara Delevingne ในพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิง Eugenie กับ Jack Brooksbank |
ถ้าคุณเป็นพวกสนใจแต่ความเก๋โดยคิดว่ากาลเทศะไม่สำคัญ...ถ้าคุณเป็นพวกที่เวลาได้ยินคนพูดเรื่องกฎกับมารยาท แล้วต้องขอเถียงว่า "นี่มันยุค 2018"...ถ้าคุณเป็นพวกอยากใส่อะไรก็ใส่และยืนกรานจะอ้างแต่นิยามแห่ง'ปัจเจกบุคคล'...ถ้าคุณเป็นพวกแฟนคลับดาราที่ไม่ว่าพวกเขาหรือเธอจะทำอะไรก็ถูกต้องไปหมด กรุณาข้ามบทความนี้ไปเพราะมันอาจทำให้คุณอารมณ์เสียเปล่าๆ โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในชีวิต เนื่องจากบัดนี้เรากำลังจะถกกันถึงลุคสูทหางยาวของนางแบบสาว Cara Delevingne ในพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิง Eugenie กับ Jack Brooksbank ซึ่งสื่อแฟชั่นบางสำนักพากันสรรเสริญว่าเก๋นักเก๋หนา...เพียงเพื่อจะสะท้อนถึงรากเหง้าและรสนิยมส่วนตัวของผู้รายงานเองที่...เอ่อ...ไม่น่าจะศิวิไลซ์เท่าไรในเชิงชั้นทางสังคม หรือไม่น่าจะเข้าใจความหมายของเครื่องแต่งกายมากมายไปกว่าพื้นผิวนัก
ก่อนอื่นต้องขออภัยที่น้ำเสียงของผู้เขียนอาจฟังดูขมขื่นเป็นพิเศษในครั้งนี้ ก็ในเมื่อไม่มีเหตุผลอันใดจะต้องปกปิด ย้อมสำเนียง หรือแม้แต่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น และถ้าคุณกำลังหงุดหงิดเหมือนเรา กรุณาอย่าเพิ่งหยุด แต่ขอเชิญจอยเดอะคลับที่นานปีจะเกิดขึ้นทีหน...เพราะบางครั้งแฟชั่นจัดๆ (ที่คนชอบชื่นชมกันว่าปังๆ) ก็ไม่ได้แปลว่าจะเหมาะสมเสมอไป
ราว 10.30 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่นประเทศอังกฤษวานนี้ (12 ตุลาคม 2561) เหล่าผู้ลากมากดีต่างทยอยเดินทางมาถึงปราสาทวินด์เซอร์เพื่อเข้าร่วมในอีกหนึ่งพิธีเสกสมรสของสมาชิกราชวงศ์คือธิดาองค์เล็กของเจ้าชาย Andrew กับ Sarah Ferguson ในปีฤกษ์ดีนี้ ท่ามกลางสีสันอัญมณีของเหล่าชุดกระโปรงคลุมเข่านานา Cara Delevingne กลับหยอกล้อต่อกระซิกกันมากับก๊วนเพื่อนเซเลบในลุคสลับเพศที่คล้ายคลึงว่าจงใจผสมรวมเดรสโค้ดมากมายเข้าไว้ด้วยกัน แต่ขาดอยู่อย่างเดียวคือเดรสโค้ดที่ระบุอยู่ในบัตรเชิญจากพระราชวัง
จริงอยู่ที่นางแบบสาวเป็นภาพสะท้อนที่แข็งแรงของชาวเพศที่ 3 เธอเปิดเผยอย่างออกหน้าออกตาเสมอมาว่ารสนิยมทางเพศของตนเองเป็นเช่นไร หากคำถามสำคัญที่เราควรตั้งโจทย์ในพื้นที่ซึ่งผูกโยงกับธรรมเนียมปฏิบัติเคร่งครัดอย่างพิธีการของงานราชวังเช่นนี้คือ ประเด็น Diversity ที่กำลังถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นมีค่าขนาดที่ต้องหยิบยกมาเล่นหรือ แน่นอนว่าคงไม่มีใครมีปัญหาหาก Caitlyn Jenner (ซึ่งทางเทคนิคแล้วยังเป็น 'มิสเตอร์') จะสวมชุดกระโปรงลายดอกมางานแต่งเจ้า (ถ้าเขาได้รับเชิญ) แต่ในเมื่อ Cara ปรากฏตัวในกระโปรงอยู่บ่อยครั้งพอๆ กับกางเกง เหตุใดเธอจึงต้องการขโมยซีนในงานแต่งเพื่อนสนิทของตัวเองด้วยการแหกเดรสโค้ดที่เขียนไว้ชัดว่า "สุภาพสตรีต้องสวมชุดกระโปรงสไตล์กลางวันและสวมหมวก" ไม่นับรวมแอ็กเซสเซอรี่หลักอย่างกระเป๋าที่นอกจากจะบังคับว่าต้องถือมาแล้ว ยังควบคุมขนาดและรูปแบบให้เป็นเพียงกระเป๋าหนีบตัวเลือกเดียวเท่านั้นอีกด้วย
ตามจริงเราไม่ควรแปลกใจเกินไปนักกับการตัดสินใจของเธอ หลักฐานแห่งความเขลาและตื้นเขินตำตาอยู่โทนโท่กันในลุคที่สวมใส่อย่างผิดๆ (ไม่มี) ถูกๆ อย่างน้อยๆ ถ้าเธอจะเลือก 'หล่อ' มาในเช้านั้น ก็ควรศึกษาธรรมเนียมการแต่งกายที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า Morning Coat หรือ Lounge Suit เสียแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่ต้องปล่อยไก่ฝรั่งทำเกินด้วยการยัดชิ้นงานต่างสายพันธ์ุให้มั่วมึนไปหมดในลุคเดียว กุนซือด้านสไตล์ผู้มีรสนิยมควรแนะนำเธอว่าโค้ตหางยาวจากหมวด White Tie นั้นถูกบังคับให้จับคู่กับหูหระต่ายสีขาวเท่านั้น หาใช่เนคไทสีเทาที่คาดอยู่บนปกเชิ้ตสไตล์พนักงานออฟฟิศซึ่งไม่ใกล้กับ Dress shirt (หรือ Tuxedo shirt ในระบบอเมริกัน) แต่อย่างใด แถมผ้าคาดเอวตีเกล็ดที่เรียกว่า Cummerband ซึ่งออกแบบมาให้เดรสโค้ด Black Tie โดยเฉพาะก็ไม่ได้คาดกันกับท่อนบนแบบนั้น...ผิด ผิด ผิด และผิด
คุณอาจอยากเถียงว่า "นี่-มัน-แฟ-ชั่น...ปล่อยเขาไปเถอะ" แต่เราขออนุญาตกัดไม่ปล่อยจริงๆ เที่ยวนี้ เพราะยังมีจุดเปราะบางขั้นสุดคือประเด็นเรื่องหมวกซึ่งไม่พูดถึงไม่ได้ เนื่องจากนางแบบสาวคนดังเองก็คงลืมนึกถึงเรื่องนี้ไปถนัด ทำให้เธอเลือกเก๋สุดแบบเสร่อๆ ด้วยการจบลุคด้วยหมวกทรงสูง (Top hat) จนกล้องสามารถจับภาพเธอได้ในท้ายที่สุดขณะเกิดอาการอิหลักอิเหลื่อว่าจะถอดหมวกดีหรือไม่ถอดดีท่ามกลางแขกเหรื่อยามประจำที่นั่งภายในโบสถ์ ข้อควรทราบคือสุภาพสตรีที่ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีเสกสมรสจำเป็นต้องสวมหมวกหรือเครื่องศีรษะในขณะที่สุภาพบุรุษไม่จำเป็น หากชายหนุ่มเลือกสวมหรือติดมาด้วย ตามธรรมเนียมแล้วต้องถอดหมวกเมื่อเข้าสู่โถงพิธี ซึ่งในกรณีของ Cara ออกจะชวนสับสนอยู่สักหน่อย เพราะหากเธอยืนยันว่าเธอเป็นผู้หญิง เธอก็ไม่ต้องถอดแม้มันจะเป็นหมวกทรงสูง แต่หากเธอเลือกปฏิบัติตามรูปแบบของเครื่องแต่งกายชายที่สวมมา ก็เห็นควรต้องถอดเนื่องจากมันจะกลายเป็นหมวกทรงสูงใบเดียวที่ลอยอยู่เหนือศีรษะของแขกทั้งงาน ดังนั้นเมื่อเธอตัดสินใจถอดหมวกออกในท้ายที่สุด เธอจึงกลายเป็นหญิงสาวเพียงรายเดียวในงานราชพิธีทั้งหมดที่ไม่มีเครื่องประดับศีรษะใดๆ...และคุณคงเข้าใจว่าผมสั้นหลังถอดหมวกออกนั้นหน้าตาเป็นเช่นไร
กฎข้อแรกที่คนดีๆ เขาส่งต่อคำแนะนำจากรุ่นสู่รุ่นคือ "อย่าเกินหน้าเกินตาเจ้าภาพ" และในกรณีของงานแต่งงาน ไม่ว่าจะยาก ดี มี จน คุณก็ไม่ควรสวมสีขาวไปแข่งวาสนากับเจ้าสาว หรือสวมสีดำให้มีค่าเท่าไปงานศพ จริงอยู่ที่วัฒนธรรมตะวันตกในปัจจุบันอะลุ่มอะหล่วยมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา หากมันยอมรับได้หรือที่นางแบบสาวที่สวยมากๆ นางหนึ่งจะต้องพยายามมากมายขนาดนั้นเพื่อเติมความเด่น ความดัง ความเก๋ ความคูล หรืออะไรก็ตามแต่ที่สังคมหลับหูหลับตาเทิดทูนนักหนา และจบลงด้วยการเป็นแกะดำ (-ขาว)
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณจะสรรเสริญเธอต่อไปก็เชิญ (ซึ่งเราจะทำเช่นเดียวกันเมื่อถึงคราวเห็นควร) แต่สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจนำเสนอคือความจริงที่ว่าสื่อหลักเช่นโว้กจะไม่ประนีประนอมกับสถานการณ์เช่นนี้ เพราะพลังขับเคลื่อนวงการไม่ได้เกิดจากการกล่าวชมอะไรลมๆ แล้งๆ และตราบใดก็ตามที่ยังมีชื่อของ สธน ตันตราภรณ์ อยู่ในหน้า Masthead คุณจะเห็นบทความเช่นนี้ต่อไป โปรดติดตาม (ซึ่งหากคุณไม่พอใจ ขอเรียนเชิญพบกันที่สำนักงานโว้ก เรามีคำอธิบายเสมอ) และถ้าคุณอยากวิพากษ์ผ่านแชร์ในโซเชียลมีเดีย โปรดอย่ากลัวจะระบุชื่อเสียงเรียงนามผู้เขียนบทความ...เพราะนั่นอาจไม่ต่างกันนักกับการแสวงหาความโด่งดังของ Cara Delevingne...ที่คุณชื่นชอบ
WATCH