ทำความรู้จักแบรนด์ 'BULAN' กับคอลเล็กชั่นปฐมฤกษ์ ที่อุทิศให้แก่ผู้คนที่กำลังป่วยไข้ทางสภาวะจิตใจ
'คุณบีม-รัชพล เงางาม' ผู้ก่อตั้งแบรนด์เล่าให้โว้กฟังว่า เขาเดินทางมาที่อเมริกาโดยไร้ซึ่งคอนเน็กชั่น พร้อมสร้างทุกอย่างด้วยสองมือ และความตั้งใจ จนกลายเป็นแบรนด์แฟชั่น Knitwear อนาคตไกลและแตกต่าง #BULAN
ทุกอย่างในบทสัมภาษณ์นี้เริ่มขึ้นจากอีเมลหนึ่งฉบับของ ‘บีม-รัชพล เงางาม’ ดีไซเนอร์ไทยที่เดินทางไปเติบโต และสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถูกส่งมาให้กับกองบรรณาธิการของโว้กประเทศไทย อีเมลฉบับนั้นของบีมบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาที่เดินทางดั้นด้นไปถึงอเมริกาโดยไร้ซึ่งคอนเน็กชั่นใดๆ ด้วยความกล้าหาญ ก่อนจะประกอบสร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยความตั้งใจและสองมือของเขาเอง จนตอนนี้เขาก็ประสบความสำเร็จ และภาคภูมิใจในตัวเองอย่างมากที่สามารถเปิดแบรนด์แฟชั่นนามว่า ‘BULAN’ ได้สำเร็จ กับอัตลักษณ์การสร้างสรรค์ผลงาน Knitwear ที่ชวนให้เราสงสัยว่า “อะไรที่ทำให้คนไทยอย่างคุณบีม หันไปสนใจงานดีไซน์ประเภท Knitwear ทั้งที่สภาพภูมิอากาศของประเทศที่เขาจากไป ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้งานประเภทนี้มีที่ทางในชีวิตประจำวันของคนไทยมากนัก”...
คุณบีมเริ่มเล่าให้เราฟังผ่านโปรแกรม Zoom ในเช้าวันหนึ่งตามเวลาของมหานครนิวยอร์กว่า จุดเริ่มต้นของทุกอย่างคือการย้ายมาอยู่ที่อเมริกา ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อเข้าเรียนที่ไฮสกูลและมหาวิทยาลัยจนจบ หลังจากนั้นเขาจึงได้เริ่มฝึกงานกับ Proenza Schouler เป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม ซึ่งคุณบีมออกปากว่ามันเป็นช่วงที่ลำบากแสนสาหัส เพราะชะตาชีวิตส่งเขาให้เข้าไปฝึกงานในช่วงโควิด-19 พอดิบพอดี แต่ในเรื่องแสนลำบากก็มีแง่ดีอยู่บ้าง เนื่องจากคุณบีมเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับเลือกให้ฝึกงานต่อ ขณะที่แบรนด์กำลังเอาพนักงานออกเป็นว่าเล่น
“ตอนนั้นเราก็รู้สึกดีใจ แต่ก็ทำงานหนักมากเหมือนกัน เพราะเราทำทุกอย่างเลย ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก และได้เริ่มสร้างคอนเน็กชั่นด้วยจากตรงนั้น มันต่างกับตอนเรียนมาก เพราะในมหาวิทยาลัยสอนแค่เรื่องดีไซน์เป็นหลัก แต่การฝึกงานครั้งนั้น เราได้เรียนรู้ในภาคของธุรกิจจริงๆ ไปจนถึงการติดต่อกับโรงงานไหมที่อิตาลีด้วยตัวเอง” คุณบีมพรั่งพรูประสบการณ์ตรงกับการฝึกงานครั้งแรกของเขาในสนามอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลกให้โว้กประเทศไทยได้ฟังว่า เขาไม่ได้วิ่งไปซื้อกาแฟ หรือถ่ายเอกสาร แต่เขาได้ลงมือทำทุกอย่างจริงๆ ตามแต่สิ่งที่เขาจะร้องขอ และโอกาสของเจ้าของแบรนด์ที่หยิบยื่นให้ไม่ขาดสาย
หลังจากนั้นคุณบีมก็ได้โลดแล่นไปอยู่กับแบรนด์ดังทั้ง Dion Lee และ Philip Lim ตามลำดับ ณ ที่สุดท้ายนี้เองที่ทำให้คุณบีมตระหนักได้ว่า มันคงจะถึงเวลาแล้วที่เขาจะเติบโตไปอีกขั้น ด้วยการออกไปเปิดแบรนรด์เป็นของตัวเองเสียที
คุณบีมได้เล่าสิ่งที่อยู่ในใจในตอนนั้นที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินออกมาสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองว่า “อย่างที่ทราบกันดีว่าแต่ละแบรนด์จะมี Brand Identity เป็นของตัวเอง ซึ่งเวลาที่เราไปทำงานให้เขา เราก็ต้องดีไซน์ตามอัตลักษณ์ของแบรนด์เขาเป็นหลัก ซึ่งมันมีดีไซน์ที่ผมอยากดีไซน์จริงๆ อยากทำในแบบที่เราอยากทำจริงๆ แต่เราก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้เยอะมากนัก อีกอย่างก็คือมันถึงเวลาที่ผมอยากทำอะไรที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ประกอบกับความรู้สึกที่ออกจะเบื่อกับกิจวัตรการทำงานเดิมๆ ด้วย ก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดแบรนด์ ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้พลังเรายังเหลือเฟือ และควรเริ่มเลยตอนนี้”
คุณบีมเล่าต่อไปด้วยน้ำเสียงหนักแน่น เมื่อโว้กถามถึงจุดเริ่มแรกของแบรนด์ตัวเองว่า “BULAN เป็นภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า พระจันทร์ ซึ่งตอนผมเด็กๆ แม่ผมเขาดูละครอินโดนีเซียที่ฉายในโทรทัศน์ แล้วมีตัวละครเด็กที่ชื่อบุหลัน แล้วแม่ก็บอกว่าหน้าตาเหมือนผมเลย ก็เลยเรียกผมว่าบุหลันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่จริงๆ ผมก็ลืมชื่อนี้ไปนานแล้วนะครับ เพราะพอโตขึ้นแม่ก็เรียกบีมเหมือนเดิม จนคิดจะสร้างแบรนด์นี้แหละ ก็ถามเขาว่าควรใช้ชื่ออะไรดี จนนึกขึ้นมาได้ว่าแม่เคยเรียกผมว่าบุหลัน ก็เลยเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ครับ”
WATCH
แบรนด์ BULAN เลือกปักหลักที่มหานครนิวยอร์ก ด้วยสาเหตุ 2 ประการหลัก ข้อแรกคือการสะท้อนความหลากหลายออกมาได้อย่างแท้จริงในมหานครนิวยอร์ก ไม่มีแฟชั่นที่ไหนที่สะท้อน ‘เสรีภาพ’ ได้ชัดเจนเท่ามหานครนิวยอร์กอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะแต่งตัวอย่างไร จะไม่มีใครมองคุณด้วยสายตาตัดสินแน่นอน ประการที่สองที่สำคัญอย่างมากกับคุณบีมคือ เรื่องของคอนเน็กชั่นที่เชื่อมโยงกันไม่รู้จบทั่วทั้งวงการ ซึ่งคุณบีมมองว่านั่นเองคือประตูแห่งโอกาสที่รอเขาอยู่ และจะสามารถทำให้เขานั้นเติบโตไปได้อีกไกลเกินคาดคิด
แล้วผลงานสร้างสรรค์จาก Knitwear ของแบรนด์ BULAN จะพาให้เขาไปได้ไกลแค่ไหนกันเล่า ในอุตสาหกรรมแฟชั่นแห่งนี้...
“จริงๆ ตอนอยู่ที่ไทยไม่รู้เลยว่า Knitwear คืออะไร จนกระทั่งได้มาเรียนตัดเย็บเกี่ยวกับเสื้อผ้าผู้ชาย แล้วสถาบันที่เรียนมีคอร์สบังคับให้เรียนเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ Knitwear ก็เลยลองเรียนดู จนผมค้นพบว่ามันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก เพราะการทำ Knitwear มันแตกต่างจากการตัดเย็บผ้าทั่วไป เพราะมันคือการซื้อไหมมาหนึ่งเส้น แล้วเราก็เอามาถักทอจนกลายเป็นชุดๆ หนึ่ง ที่สามารถสะท้อนตัวตนของคนทำได้อย่างดี ไม่ว่าจะมีไอเดียอะไรคุณก็สามารถสาดละเลงมันลงไปบนผลงาน Knitwear ของคุณได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งสาขาเกี่ยวกับ Knitwear ยังมีความพิเศษกว่าสาขาตัดเย็บอื่นๆ คือเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ ไม่เหมือนกับตัดเย็บทั่วไปที่เราทุกคนที่เรียนเกี่ยวกับงานดีไซน์จำเป็นต้องเรียนตัดเย็บอยู่แล้ว แต่ Knitwear ต่างออกไป รู้ไหมว่ามันต้องใช้ทักษะการคำนวณ และสูตรทางคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยด้วย สำหรับผมว่ามันเท่ดี ที่ได้บอกคนอื่นว่าเราเป็นดีไซเนอร์แต่ไม่ใช่ดีไซเนอร์ทั่วไปนะ เราเป็นดีไซเนอร์ที่สามารถสร้างงาน Knitwear ได้ แล้วที่สำคัญเลยคือได้เงินเดือนเยอะกว่าดีไซเนอร์ทั่วไปด้วย ยิ่งในตลาดอเมริกาหายากด้วยครับ” เขาจบประโยคสุดท้ายพร้อมเสียงกลั้วหัวเราะทีเล่นทีจริง
นอกเหนือจากเรื่องของดีไซน์แล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณบีมสังเกตเห็นจากงาน Knitwear ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อแบรนด์ BULAN คือการเชื่อมโยงถึงประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ทั่วโลกตอนนี้อย่าง Inclusivity และ Sustainability ที่คุณบีมอธิบายเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ผลงานของเขาทุกชิ้นไม่ได้ผลิตขึ้นจากสารตั้งต้นเรื่องเพศหรือไซซ์ หากคุณใส่แล้วสวย ใส่แล้วเหมาะกับคุณ เท่านั้นจบ ไม่มีอะไรต้องพูดกันอีก ส่วนเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนยิ่งไม่ต้องห่วง เพราะงาน Knitwear เป็นงานที่ไม่ทิ้งขยะไว้ให้กับโลกใบนี้เหมือนเศษผ้าอย่างแน่นอน ทุกส่วนถูกใช้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วง
สำหรับคอลเล็กชั่นประจำฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 2023 ของแบรนด์ BULAN ที่ถูกปล่อยภาพแฟชั่นเซ็ตออกมาแล้วทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของแบรนด์นั้น คือหลักฐานของความตั้งใจทั้งหมดที่ดีไซเนอร์คนหนึ่งจะใส่ลงไปได้ เพื่ออุทิศให้กับกลุ่มคนที่กำลังประสบกับปัญหา Mental Health Issue และต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น
“ผมได้มีโอกาสไปช่วยดูแลญาติที่ผมรู้จักคนหนึ่งอย่างใกล้ชิด เขากำลังประสบปัญหาสภาวะสุขภาพทางจิตใจอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่เคยใส่ใจกับอาการเหล่านี้มาก่อนเลย ออกจะขาดองค์ความรู้ด้วยซ้ำ จนกระทั่งได้ไปดูแลเขาคนนั้นก็ทำให้ผมเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า กลุ่มคนเหล่านี้เขาไม่สามารถที่จะควบคุมอะไรได้เลย มันเกี่ยวกับสารเคมีที่หลั่งอยู่ในสมองของเขา อยู่ดีๆ เขาอาจจะกำลังมีความสุขอยู่ แต่อีกไม่กี่นาทีถัดมาเขาอาจจะร้องไห้ฟูมฟายก็ได้ แล้วทุกๆ เช้าที่เขาตื่นขึ้นมา เขาก็ต้องต่อสู้กับอาการและสภาวะทางจิตใจอย่างยากลำบากกว่าที่จะผ่านแต่ละวันมาได้ และมันก็ไม่ได้หายง่ายๆ มันซับซ้อนมา ซึ่งผมคิดว่าคนทั่วไปควรจะได้รู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับโรคนี้ ผมก็เลยทำคอลเล็กชั่นนี้ขึ้นมา เพื่ออุทิศให้กับกลุ่มคนที่ต้องเผชิญสภาวะความป่วยไข้ทางจิตใจ และสร้างความตระหนักรู้ในสังคมเพิ่มมากขึ้นด้วย"
“ดังนั้นคอลเล็กชั่นนี้จะมีรูเยอะมาก รวมไปถึงซิลูเอตของชุดที่มีความอสมมาตรปะปนอยู่ สะท้อนความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ไปจนถึงแมตทีเรียลที่หักมุมมากมาย เพื่อสะท้อนความซับซ้อนและแปรปรวนที่เกิดขึ้นในสมองของกลุ่มคนเหล่านี้ แต่เวลาที่คนเสพงานของผมในครั้งแรกเขาจะยังไม่นึกไปถึงเรื่องนั้น เพราะเพียงปราดแรกที่เขามอง เขาจะเห็นแค่สีสันจัดจ้านภายนอกที่ผมเลือกประโคมใส่ลงไป ซึ่งผมตั้งใจทำแบบนั้น เพราะต้องการเล่าเรื่องว่า กลุ่มคนที่กำลังเอาตัวรอดอย่างยากลำบากจากอาการป่วยนั้น เขาต้องพยายามตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อทำให้ตัวเองอารมณ์ดี กระทั่งยิ้มแย้มต่อหน้าคนอื่นๆ ในสังคมที่พบเห็น จนเราไม่อาจล่วงรู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขากำลังเผชิญอยู่กับช่วงเวลาที่ยากลำบากอยู่ ก็เหมือนกับชุดในคอลเล็กชั่นนี้ ที่มีสีสันสดใสเคลือบฉาบความซับซ้อนแปรปรวนของดีไซน์ที่อยู่ข้างใน เพื่อปกปิดความเศร้าที่แท้จริงข้างในนั่นเองครับ”
บทสนทนาครั้งนี้จบลงเท่านั้น กับน้ำเสียงแห่งความตั้งใจและความภาคภูมิใจของคุณบีม ที่พยายามอธิบายคอลเล็กชั่นปฐมฤกษ์ของแบรนด์ BULAN ให้โว้กประเทศไทยได้รับรู้ ก่อนที่เขาจะสัญญาว่า เขาจะทำมันต่อไป พร้อมลองอะไรใหม่ๆ ต่อจากนี้ เพื่อดูว่าเขาจะสามารถไปได้ไกลแค่ไหนในสนามแฟชั่นแห่งนี้
Website: www.bulannewyork.com
Instagram: @bulannewyork
WATCH