Dance Card วัฒนธรรมยุครีเจนซี่จากซีรีส์ Bridgerton มากกว่าความโรแมนติกคือการส่งซิกขอทำความรู้จัก
รู้จัก “บัตรเต้นรำ” ในซีรีส์ Bridgerton โรแมนติกที่สุดในยุครีเจนซี
หากช่วงนี้ใครตามดูซีรีส์เผ็ดร้อนมาแรงของค่าย Netflix อย่างเรื่อง Bridgerton คงต้องเกิดความสงสัย (เหมือนกับผู้เขียน) อย่างแน่นอน ว่าไอ้เจ้า “Dance Card” หรือ “บัตรเต้นรำ” ที่เราจะได้เห็นหญิงโสดในยุคนั้นห้อยไว้ที่ข้อมือยามออกพบปะสังคมในงานเลี้ยงเต้นรำนั้นมันคืออะไรกันแน่
ตัวละครเอกอย่าง Simon Basset Duke of Hastings และ Daphne Bridgerton
แม้จะเป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อยภายในเรื่องที่หลายคนมองข้ามไป แต่ความจริงแล้วมันกลับซ่อนวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของคนหนุ่มสาวในสมัยนั้นไว้อย่างเฉียบคม เพราะบัตรเต้นรำคือโอกาสสำคัญที่จะให้หนุ่มโสดได้ “เกี้ยว” หรือทำความรู้จักกับสาวโสดอย่างเปิดเผยนั่นเอง ซึ่งก่อนจะอธิบายว่าอย่างไรนั้นเราขอกลับไปตั้งต้นใหม่ก่อนว่ายุคสมัยที่ซีรีส์ Bridgerton ถูกดำเนินไปคือช่วงยุครีเจนซี่หรือสมัยศตวรรษที่ 18 ใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่บอกเล่าการเข้าสังคมของชนชั้นสูงอย่างการจัดงานเลี้ยงเต้นรำโดยเราจะได้ยินตัวละครในเรื่องพูดบ่อยๆ ว่า “ซีซั่น” นั่นหมายถึง Social Season ที่ถือเป็นหัวใจหลักของวัฒนธรรมชนชั้นสูงในยุคนั้นเปรียบได้กับการเข้าคลับของคนปัจจุบันนั่นเอง
การออกงานสังคมครั้งแรกของ Daphne Bridgerton โดยมีแม่และพี่ชายคอยดูแล
ต้องพูดก่อนว่าการแตะเนื้อต้องตัวกันในยุคสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องงามเท่าไหร่นัก ดังนั้นเลิกคุยเรื่องการขอออกเดตสองต่อสอง ไปนั่งคุยในที่ลับตาคน หรือหญิงสาวจะเป็นฝ่ายรุกก่อนไปได้เลย เพราะทั้งหมดที่พูดมาถือเป็นเรื่องเสื่อมเกียรติของทั้งสองฝ่าย และยังจะลุกลามใหญ่โตไปจนถึงการทำให้พี่น้องต้องเป็นหม้ายและจมดิ่งไปกับความแปดเปื้อนด้วยซ้ำ เวลาจะไปไหนก็ตามหญิงสาวจึงต้องมีพี่เลี้ยงหรือผู้ติดตามไปด้วยตลอดเวลา นี่จึงเป็นเหตุสำคัญว่าถ้าคุณนึกจะจีบสาวสักคนไม่มีทางที่จะทะเล่อทะล่าเข้าไปหาเธอได้ง่ายๆ เว้นเสียแต่ในงานเต้นรำที่มีคนจับจ้องเป็นร้อยรวมทั้งพ่อแม่ของเธอที่คุณหมายปองด้วย
แล้วแบบนี้คุณจะเข้าไปพูดคุยหรือเกี้ยวเธอในงานเลี้ยงต่อหน้าคนของเธอได้อย่างไรถ้าไม่ใช่การไปเข้าคิวขอเต้นรำ ดังนั้นการเต้นรำนี่แหละจึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้หนุ่มสาวโสดต่างทั้งจดจ่อและตั้งตาคอยเพื่อที่จะได้พูดคุยและทำความรู้จักกันอย่างเปิดเผยโดยที่ยังคงอยู่ในสายตาของที่สาธารณะนั่นเอง
WATCH
ฉากหนึ่งในซีรีส์ที่เจ้าชาย Frederick จากปรัสเซีย กำลังลงชื่อตัวเองในบัตรเต้นรำของ Daphne Bridgerton
การจีบกันผ่านการเต้นรำคือสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะควรที่สุดสำหรับยุคนั้น บัตรเต้นรำจึงเข้ามามีบทบาทเพื่อเปิดโอกาสให้เหล่าสุภาพบุรุษได้เข้ามาลงชื่อเพื่อขอหญิงสาวเต้นรำผ่านคำพูดอย่าง "Pencil me into your dance card" ซึ่งถ้าจะตีความให้น่าสนใจแล้วก็คงจะเป็นทำนองว่า “Find some time to spend with me" นั่นแหละ คุณจะเห็นได้จากฉากหนึ่งในซีรีส์ที่เจ้าชาย Frederick จากปรัสเซียเข้ามาหานางเอกอย่าง Daphne Bridgerton พร้อมประโยคจีบกลายๆ ว่า “หวังว่าบัตรเต้นรำของคุณจะยังไม่ถูกลงชื่อจนเต็ม” หมายความว่าเขาอยากใช้เวลาร่วมกับเธอนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันกรณีถ้าบัตรถูกลงชื่อจนเต็มแล้วมันยังถือเป็นการปฏิเสธอย่างสุภาพจากเหล่าสาวๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วยว่า “They have no time for another person” อีกด้วย
(ซ้าย) บัตรเต้นรำที่ใช้ในฉากงานเต้นรำของซีรีส์, (ขวา) ภาพวาดจริงของหนุ่มสาวในศตวรรษที่ 18 กับการลงชื่อในบัตรเต้นรำ
พูดให้เข้าใจง่ายๆ บัตรเต้นรำก็คล้ายๆ กับ Reminder ในไอโฟนที่จะคอยช่วยเตือนด้วยว่าในค่ำคืนนั้นเธอจะต้องเต้นรำกับสุภาพบุรุษคนไหนที่เข้ามาลงชื่อบ้างเพื่อไม่ให้หลุดโอกาสในการทำความรู้จักไปนั่นเอง นอกจากจะใช้แทร็กเหล่าหนุ่มๆ ที่กำลังรอคิวแล้วในบัตรเต้นรำยังมีรายละเอียดอย่างรายชื่อเพลงที่จะถูกแสดงในค่ำคืนนั้นด้วย เรียกว่าใครอยากเต้นรำกับใครในเพลงไหนก็รีบจ่อคิวลงรายชื่อกันได้เลย โดยปกติแล้วบัตรเต็มรำนั้นจะถูกห้อยติดไว้ที่ข้อมือหรือชุดเดรสของผู้หญิง และหลายครั้งที่บัตรเต้นรำยังทำหน้าที่เป็นของขวัญจากโฮสต์ผู้จัดงานเลี้ยงทำให้มีดีไซน์ที่หลากหลายและยังงดงามอย่างวิจิตรอีกต่างหาก
ถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เรียกได้ว่าคลาสสิกไม่เบา แม้กิมมิคแบบนี้จะเลือนหายไปตามกาลเวลาและถูกเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบอื่นแทน แต่มันก็คงคล้ายกับปัจจุบันที่เวลาเรายื่นมือถือเข้าไปขอเบอร์โทรศัพท์ใครสักคนเพื่อส่งสัญญาณว่าเราอยากจะรู้จักและ “Spend time with you” นั่นแหละ จนถึงตอนนี้ใครที่พลาดจุดสำคัญแบบนี้ไปเราขอให้คุณวนกลับไปชมซีรีส์ Bridgerton ใหม่อีกครั้ง แล้วจะได้เนื้อความที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าครั้งแรกที่ได้ดูอย่างแน่นอน
ข้อมูล : Messy Messy, Entertainment Weekly, Howstuffwork
ภาพ : Entertainment Weekly, Getty Image
WATCH