FASHION

สืบค้นวิวัฒนาการแบรนด์ Dior #ฉบับรวบรัด ตั้งแต่ยุคของผู้ก่อตั้งจนถึงวันนี้...เกิดอะไรขึ้นบ้าง

คนแฟชั่นจะได้ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going

บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสกู๊ปฉบับเต็มในนิตยสารโว้กประเทศไทยเดือนกันยายน 2021

 

ท่ามกลางความคุกรุ่นของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โหมดดิจิทัลแบบเต็มอัตราของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก หัวข้อ “ประวัติศาสตร์แฟชั่น” กำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ คนแฟชั่นสายอนุรักษนิยมพากันตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์และรากเหง้าเก่าแก่ในคอลเล็กชั่นล่าสุดของแบรนด์ดังต่างๆ (ซึ่งมักจะบอกว่าต่อยอดความสำเร็จในวันนี้มาจากความยิ่งใหญ่ของห้องเสื้อในอดีต แต่บ่อยครั้งสิ่งที่เห็นก็ไม่ค่อยจะสัมพันธ์กับสิ่งที่พูดเท่าไรนัก) ส่วนอีกฟากหนึ่ง คนแฟชั่นรุ่นใหม่สายหัวก้าวหน้าก็ให้ความสำคัญกับการประกอบร่างสร้างบทบัญญัติใหม่ๆ...เพื่อยุคสมัยใหม่ๆ...เพื่อผู้บริโภคใหม่ๆ...แม้มันจะหมายถึงการต้องขีดฆ่าอดีตในบางบรรทัดก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการกลับมาของ Balenciaga Couture โดย Demna Gvasalia คือชนวนก่อให้เกิดกระแสที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งยังต่อยอดงานวิเคราะห์เจาะลึกไปอีกมากมายหลายแขนง ทั้งในแง่ศิลปะ ธุรกิจ หรือแม้แต่สังคม สาระสำคัญถึงคนแฟชั่นยุค 2020 คือการตอกย้ำว่างานดีไซน์ใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้คัตติ้งเดิมที่เห็นได้ชัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวเสมอไป การซ้อนทับของจิตวิญญาณแห่งแบรนด์ระหว่างผู้ก่อตั้งกับเจ้าลัทธิใหม่นั้นมีกลวิธีที่แยบยลกว่านัก เหนือสิ่งอื่นใด การเริ่มต้นใหม่ (ครั้งแล้วครั้งเล่า) คือสัจธรรมของวงการแห่งสไตล์ซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง วรรณวนัช สิริ และ สธน ตันตราภรณ์ นึกสนุกในฉบับ “New Beginnings” ชวนกันไปสืบค้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมแฟชั่น บุกถางทางเก่าที่ถูกลืมเพื่อสำรวจภูมิลำเนาเดิม ตลอดจนเปิดแผนที่ภูมิศาสตร์ใหม่ของแม่น้ำสายหลัก 7 สายที่หล่อเลี้ยงโลกแฟชั่นมานานหลายทศวรรษ งานนี้คนแฟชั่นจะได้ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going วันนี้ถึงคิวของแบรนด์ DIOR 

HOW IT STARTED

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงไม่นาน คริสเตียน ดิออร์ก็เปิดตัวห้องเสื้อชื่อเดียวกับตัวเองในปี 1947 โดยมีบาร์แจ็กเกตสีขาว กระโปรงบานสีดำ และหมวกเป็นคีย์ลุค เป็นลุคที่โดดเด่นจนบรรณาธิการ Carmel Snow ในยุคนั้นขนานนามให้ว่า New Look ซึ่งยังใช้เรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้โครงสร้างของนิวลุคก็คือดอกไม้กลับหัวนั่นเอง ช่วงไหล่และหน้าอกแคบ เอวเล็กคอดกิ่วด้วยคอร์เซต แต่ช่วงกระโปรงบานพอง โดยกระโปรงหนึ่งตัวใช้ผ้าถึง 10 เมตรกลายเป็นประเด็นเรียกแขกในยุคที่ทุกคนต้องใช้บัตรปันส่วนในการซื้อหาข้าวของเครื่องใช้รวมถึงเสื้อผ้า กระโปรงนิวลุคจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องมือแบ่งชั้นวรรณะอย่างชัดเจน ถึงขั้นมีคนฉีกกระโปรงประท้วงเพราะถือว่าเป็นงานออกแบบที่เบียดบังทรัพยากรของสังคม แต่ความนิยมในตัวแบรนด์ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด คอลเล็กชั่นต่อๆ มาของคริสเตียน ดิออร์ที่ยังคงใช้โครงสร้างของดอกไม้ล้อไปกับสรีระของผู้หญิงยังขายดีอยู่เสมอ รวมถึงน้ำหอมตัวแรก Miss Dior ที่มีกลิ่นหลักจากดอกกุหลาบแรงบันดาลใจจาก Catherine Dior ก็ขายดีมาจนถึงปัจจุบันด้วยเช่นกัน 

เมอซีเยอดิออร์ทำงานอยู่ได้แค่ 10 ปีก็จากไป Yves Saint Laurent ซึ่งเป็นเด็กปั้นของเฮาส์มารับตำแหน่งแทน อีฟว์เป็นดีไซเนอร์ที่มีแนวทางของตัวเองชัดเจนและมีสไตล์โดดเด่น ถ้าผู้หญิงของเมอซีเยอดิออร์สวมเสื้อผ้าทรง H ผู้หญิงของอีฟว์ก็สวมทรง A ซึ่งประสบความสำเร็จเกินไปและล้ำเกินไปจนเฮาส์ต้องปลดเขาออกเพราะดูเหมือนดีไซเนอร์จะดังเกินตัวแบรนด์ จากนั้นเด็กปั้นคนถัดไป Marc Bohan ก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาแทน มาร์กเป็นดีไซเนอร์ที่อยู่กับคริสเตียน ดิออร์มานานตั้งแต่ปี 1958-1989 เป็นคนที่ทำให้เกิดโค้ดของคริสเตียน ดิออร์ที่ชัดเจนและออกแบบคลาสสิกพีซหลายชิ้น สไตล์หลักๆ ของมาร์กคือความเป็นยูนิฟอร์มที่จะมีลวดลายปักประดับผสมผสานอยู่เสมอถัดจากมาร์กก็เป็น Gianfranco Ferré อดีตสถาปนิกที่เข้ามากุมบังเหียนดิออร์ในยุค 1980-1990 ความโดดเด่นของเขาคือการฟอร์มโครงสร้างทั้งหมดให้เป็นสถาปัตยกรรม   



WATCH




แฟชั่นโชว์ DIOR ในยุคของ John Galliano

 

ยุคถัดมา แอนนา วินทัวร์รับหน้าที่เจ๊ดันส่ง John Galliano เข้ามารับไม้ต่อจากจานฟรังโก้ แฟร์เร่ และสร้างยุคทองของแบรนดิ้งของคริสเตียน ดิออร์ เขาสร้างพีระมิดของแบรนด์ขึ้นมาใหม่โดยมีโอตกูตูร์อยู่บนยอดสุดถัดลงมาเป็นเรดี้ทูแวร์ กระเป๋า และแอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ ซึ่งราคาจับต้องง่ายแต่ก็ช่วยส่งให้มูลค่าของโอตกูตูร์พุ่งทะยานขึ้นสูงลิบ แฟชั่นโชว์ในยุคของเขาเต็มไปด้วยเรื่องราวและสีสันราวกับละครเวทีสั้นๆ เรียกได้ว่าเป็นยุคทองที่อร่ามเรืองรองที่สุดช่วงหนึ่งของแบรนด์ Raf Simons เข้ามาอยู่กับแบรนด์ได้ไม่นาน ด้วยความเป็นศิลปินทำให้เจ้าตัวไม่สามารถทนบังคับตัวเองให้เข็นงานออกมาตามซีซั่นของโลกแฟชั่นได้ แต่ราฟก็ได้สร้างเอกลักษณ์ความเป็นโมเดิร์นที่ชัดเจนทิ้งไว้ให้แบรนด์ และงานออกแบบของเขายังเป็นพื้นฐานให้นักออกแบบอีกหลายคนในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาจนถึงปัจจุบัน

HOW IT’S GOING

Maria Grazia Chiuri พูดเสมอว่า “ฉันฟังเสียงของเมอซีเยอดิออร์ แล้วก็ฟังเสียงของลูกสาวฉันด้วย” คุณแม่ของลูกสาววัยแรกแย้มหยิบจับชีวิตประจำวันของผู้หญิงสมัยใหม่มาผสมรวมเข้าไปในการออกแบบ และตั้งแต่คอลเล็กชั่นแรกในปี 2016 มาเรีย กราเซียก็ใส่แนวคิดสตรีนิยมเข้าไปเพราะเชื่อว่าแฟชั่นอยู่ไม่ได้โดยการทำหน้าที่แค่เป็นเสื้อผ้าอย่างเดียว จะต้องมีความเชื่อทางสังคมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสื้อยืดที่เขียนว่า We should all be feminists จึงกลายเป็นชิ้นเด่นที่ปรากฏอยู่ในแทบทุกสื่อ และทุกคอลเล็กชั่นหลังจากนั้นก็มีกลิ่นอายสตรีนิยมแทรกอยู่ตลอด นอกจากนี้มาเรีย กราเซียยังดึงกลุ่มนักออกแบบที่เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมเช่น นักออกแบบหญิงหน้าใหม่ กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานฝีมือในแอฟริกามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานออกแบบของเธออยู่เสมอ

 

ติดตามซีรีส์บทความสืบค้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมแฟชั่น #ฉบับรวบรัด ได้ตลอดเดือนตุลาคมนี้...

 

 
 

 

WATCH