FASHION

เปิดประวัติ 'ผ้าบาติก' อารยธรรมสำคัญจากอินโดนีเซีย สู่งานหัตถศิลป์ล้ำค่าของประเทศไทย

     จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในช่วงหน้าร้อน คงหนีไม่พ้นชายหาด และท้องทะเลภาคใต้ของประเทศไทย ที่ยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ อยู่บ่อยครั้ง กระทั่งยังเคยติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยที่สุดในโลกมาแล้ว กลายเป็นภาพจำของภาคใต้ของประเทศไทยไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเอง หรือต่างชาติที่มาพำนัก และเยือนเมืองไทยต่างหลงใหลในท้องทะเลใต้ หากแท้จริงแล้วนั่นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของภาคใต้ เพราะเมื่อเราได้เงยหน้ามองให้กว้าง เรากลับพบว่าภาคใต้มีอะไรมากกว่าทะเล และชายหาดที่กล่าวไปข้างต้น และหนึ่งในนั้นคืองานหัตถศิลป์ "ผ้าบาติก" ที่รู้จักกันไปทั่วโลก...

ภาพ : line thai Batik

 

     ผ้าบาติก หรือเรียกอีกอย่างว่า ผ้าปาเต๊ะ เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสีเท่านั้น ผ้าบาติกบางชิ้นอาจจะผ่านขั้นตอนการปิดเทียน แต้มสี ระบายสีและย้อมสีนับเป็นสิบๆ ครั้ง ส่วนผ้าบาติกอย่างง่ายอาจทำโดยการเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียนแล้วจึงนำไปย้อมสีที่ต้องการ เมื่อย้อนกลับไปคำว่าบาติก {Batik} หรือปาเต๊ะ เดิมเป็นคำในภาษาชวาที่ใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด คำ ว่า “ ติก”  มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ตริติก หรือ ตาริติก ดังนั้นคำว่า บาติก จึงมีความหมายว่าเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ

     โดยวิธีการทำผ้าบาติกดั้งเดิมในสมัยก่อนนั้น ใช้วิธีการเขียนด้วยเทียนเป็นหลัก ดังนั้นผ้าบาติกจึงเป็นลักษณะผ้าที่มีวิธีการผลิตโดยใช้เทียนปิดในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี แม้ว่าวิธีการทำผ้าบาติกในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปไกลมากด้วยเทคโนโลยี และองค์ความรู้แล้วก็ตาม ทว่าลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของผ้าบาติกที่ยังคงอยู่ก็คือ จะต้องมีวิธีการผลิตโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีหรือปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีซ้ำอีกเป็นมาตรฐาน นับเป็นกรรมวิธีที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง อีกทั้งลายของผ้าบาติก โดยส่วนมากแล้วจะเป็นลวดลาย และสีสันที่อิงจากธรรมชาติ และอัตลักษณ์วัฒนธรรมรอบตัวของแต่ละชุมชนที่นำเสนอความเป็นภาคใต้ได้อย่างดี ความโดดเด่นของผ้าบาติกจึงอยู่ที่การใช้สี และลวดลายที่คมชัดของภาพที่สามารถบอกอะไรได้หลายอย่างทั้งถิ่นที่มา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ธรรมชาติ ไปจนถึงเอกลักษณ์ของแหล่งผลิต หรือกระทั่งความรู้สึกนึกคิดของคนในท้องถิ่นนั้นๆ นั่นจึงนับได้ว่าผ้าบาติกได้รวมอารยธรรมของความเป็นภาคใต้เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

1 / 3

ภาพบรรยากาศการทำผ้าบาติก ในชุมชน ประเทศอินโดนีเซีย สมัยก่อน / ภาพ : ikha restno Blog


2 / 3

ตัวอย่างลายผ้าบาติกของประเทศอินโดนีเซีย / ภาพ : DMICE


3 / 3

ตัวอย่างลายผ้าบาติกของประเทศไทย / ภาพ : districtCdd.co.th




WATCH




     กระนั้นก็ตาม แหล่งกำเนิดของผ้าบาติกมาจากไหนยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด แต่นักวิชาการชาวยุโรปหลายคนยังเชื่อว่า กำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย แล้วจึงแพร่หลายเข้าไปในอินโดนีเซีย ทว่าอีกหลายคนบอกว่ามาจากอียิปต์ หรือเปอร์เซีย และแม้ว่าจะมีการค้นพบผ้าบาติกที่มีอายุเก่าแก่ในประเทศอื่นๆ ทั้งอียิปต์ อินเดีย และญี่ปุ่น แต่บางคนก็ยังเชื่อว่าผ้าบาติกเป็นของดั้งเดิมของอินโดนีเซีย โดยยืนยันจากรากศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกวิธีการ และขั้นตอนการทำผ้าบาติกว่าเป็นศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย อีกทั้งจากการศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ยังสรุปไว้ว่า การทำโสร่งบาติก หรือโสร่งปาเต๊ะ เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนติดต่อกับอินเดีย ดังนั้นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมนี้น่าจะมีเค้าลางมาจากอินโดนีเซียเป็นสำคัญ ก่อนที่จะถูกเผยแพร่ไปยังชาติอื่นๆ รวมไปถึงพื้นที่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ชิ้นส่วนผ้าบาติกเก่าแก่ที่ถูกค้นพบที่ประเทศจีน / ภาพ : Wikipedia

 

     ผ้าบาติกคือสายสัมพันธ์ระหว่างไทย และชวาอย่างแท้จริง ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังเคยได้เสด็จเยือนชวาอย่างเป็นทางการเมื่อปีพุทธศักราช 2413 ซึ่งนับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเป็นครั้งแรก จากนั้นยังได้เสด็จชวาอีกครั้งในปีพุทธศักราช 2439 และ 2444 โดยแต่ละครั้งพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเขียนผ้าบาติกอันเป็นหัตถศิลป์ที่เลื่องชื่อของชวาเสมอ และทรงซื้อผ้าบาติกกลับมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายด้วย ทำให้ทรงมีผ้าบาติกเท่าที่ค้นพบได้กว่า 300 ผืน ผ้าเหล่านี้มีความโดดเด่นในแง่ของความงดงาม และองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์

1 / 3

ผลงานคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าร่วมสมัยจากผ้าบาติก / ภาพ : OCAC


2 / 3

วิธีการลงสีบนผ้าบาติก / ภาพ : line thai Batik


3 / 3

ภาพถ่ายผ้าบาติกในประเทศอินโดนีเซีย / ภาพ : Wonderful Malaysia


     กระทั่งในปัจจุบันเรายังได้เห็นเหล่าดีไซเนอร์ชาวไทยในอุตสาหกรรมแฟชั่นหลายคนได้นำผ้าไทย อย่างผ้าบาติกมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่มีความร่วมสมัยอีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้น ผ้าบาติกยังกลายเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพให้กับชุมชนหลายชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากงานหัตถศิลป์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากคุณได้ #หลงไทย ไปเที่ยวภาคใต้แล้วล่ะก็ นอกเหนือจากหาดทรายเม็ดละเอียด และน้ำทะเลสีสวยใส ก็ยังมีวัฒนธรรมผ้าบาติกอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นดั่งเสน่ห์ของภาคใต้ ให้คุณได้ไปค้นหา และน่าสนใจไม่แพ้กัน

WATCH