FASHION
เปิดสนามของคนสร้างสรรค์กับการผลักดันงานคราฟต์ไทยให้มีชื่อเสียง
|
หากคุณสงสัยว่างานคราฟต์แบบไทยจะสามารถก้าวเข้าสู่ความเป็นไฮแฟชั่นได้หรือไม่ วันนี้โว้กประเทศไทยมีคำตอบ เราได้มีโอกาสไปร่วมงานแฟชั่นโชว์ Ethical Craft Fashion Show 2019 ภายใต้ธีม Could Thai crafts be high fashion? แฟชั่นโชว์ชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Impact Day จาก “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change) โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
แฟชั่นโชว์ชุดนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนของบ้านปูฯ ที่เชื่อมั่นว่างานคราฟต์แบบไทยก็มีฝีมือ มีคุณภาพ เต็มไปด้วยแพชชั่น ทั้งยังสามารถสร้างแบรนด์และชื่อเสียงให้กับตัวเอง พร้อมเปลี่ยน Local ให้เป็น Global ได้เช่นเดียวกัน ด้วยศักดิ์ศรีของงานฝีมือไทยคือความพิเศษที่ผ่านทั้งกระบวนการคัดสรร สร้างสรรค์ ผ่านทั้งเวลา ฝีมือและประสบการณ์อันยาวนาน เพื่อออกมาสู่งานคราฟต์ที่สวยงามในแบบไทย เริ่มต้นจากฝ้ายเส้นเล็กที่ถูกถักร้อยทบกันไปมาจนเป็นผืนผ้าขนาดใหญ่ แล้วถูกดีไซน์ขึ้นด้วยความประณีตพร้อมแปลงเป็นงานคราฟต์ในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเหตุให้ราคาของงานคราฟต์ไทยค่อนข้างสูง เพราะอุดมไปด้วยแรงกายแรงใจและแรงสมองนั่นเอง
แฟชั่นโชว์ภายในงาน Impact Day ครั้งนี้รวมผลงานจาก 11 กิจการที่โฟกัสด้านงานฝีมือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อมในเครือข่ายโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ภายใต้ธีม Could Thai crafts be high fashion? ซึ่งต้องการยกระดับงานคราฟต์แบบไทย เปลี่ยนแปลงความคิดและเพิ่มพลังบวก เพื่อผลักดันให้ทั้งแบรนด์ไทยและคนไทยได้ภูมิใจและเข้าใจถึงความพิเศษและคุณค่าของงานคราฟต์ไทยที่สามารถก้าวไกลทัดเทียมแบรนด์ระดับโลก และที่สำคัญ ทั้ง 11 กิจการยังมีเป้าหมายที่จะสืบสานงานฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยในชุมชนต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับคนในชุมชนอีกด้วย โดยในแฟชั่นโชว์ครั้งนี้ ทั้ง 11 แบรนด์ต้องการที่จะสะท้อนคุณค่าและเป็นกระบอกเสียงให้คนไทยได้เข้าใจถึงความมีเสน่ห์ของงานคราฟต์ไทยผ่านแฟชั่นโชว์ บางลุคถูกสไตลิ่งด้วยการเลเยอร์ผ้าจากชนเผ่าลัวะของแบรนด์ Gonfai เข้ากับผ้าจากหนองบัวลำภูของแบรนด์อัตลักษณ์ เพื่อสร้างความสวยงามที่ดูโมเดิร์นและเข้ากันได้ดีกับยุคสมัย บางลุคมีการผสมผสานผ้าและวัสดุของชุมชนจากแบรนด์ต่างๆ ทำให้เห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นไทยมากกว่าเดิม ด้วยการนำเอาแรงบันดาลใจของแบรนด์ไฮแฟชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
WATCH
โดยทั้ง 11 แบรนด์ในงานแฟชั่นโชว์ครั้งนี้ ประกอบด้วย
- Gonfai: แบรนด์ที่ทำงานกับชาติพันธุ์อันหลากหลายด้วยการผลิตเสื้อผ้าจากฝ้าย
- Vanta: ทอผ้าฝ้ายจากฝ้ายออแกนิค และย้อมด้วยสีธรรมชาติจึงมีเนื้อผ้าที่แน่นเหมือนกางเกงยีนส์
- Bhukram: ภูครามทำงานกับชุมชนที่จังหวัดสกลนคร เน้นการย้อมสีธรรมชาติและวิธีการปัก เคารพคนทำด้วยการให้เครดิตคนที่ปักและย้อมด้วยการใส่รายชื่อเหมือนแคมเปญ who made my coat
- ม่วนจอย: สร้างอัตลักษณ์ให้ชุมชนด้วยผ้าม่อฮ่อมผสมผสานกับการปักที่ใช้ด้ายมงคลเข้ามาท้าทายด้วยความเชื่อที่มีอยู่
- อัตลักษณ์: สะท้อนภาพของชุมชนหนองบัวลำภูบนผ้าลายนาคที่เป็นลายผ้าประจำจังหวัด
- Heartist: นำผ้าที่ได้จากการทอผ้าในวิธีแบบซาโอริจากเด็กพิเศษมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยสีสันสดใส ซึ่งการทอผ้าเองก็เป็นการฝึกสมาธิและเป็นการบำบัดอย่างหนึ่งเช่นกัน
- Go went gone: จากจังหวัดสุรินทร์ต้องการปลุกระดมให้ชุมชนที่ใช้สีเคมีในการย้อมสีได้หันกลับมาย้อมสีธรรมชาติแทน พร้อมรื้อฟื้นภูมิปัญญาที่กำลังหายไปให้กลับคืนมา
- Craft de Quarr: ทำงานกับชุมชนที่ใช้ผ้าตีนจกจากแม่แจ่ม โดยนำมาทำเป็นลายสำหรับตัวกระเป๋า
- Pakjit Pakjai: ทำงานกับคนตาบอดด้วยกระบวนการสอนในรูปแบบพิเศษ เพื่อให้คนตาบอดสามารถทำงานได้ และทำงานร่วมกับแบรนด์ Once ด้วยการส่งผ้าไปให้แบรนด์อื่นนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ
- ผ้าสร้างสุข: นำเอาผ้ามือสองหรือผ้าที่ได้จากการบริจาคมาใช้ในการทำงานคราฟต์แบบแพชเวิร์ค (การปะ) นอกจากจะได้ลวดลายใหม่แล้วยังช่วยในเรื่องการลดขยะอีกด้วย
- Folkcharm: นำเสนอผ้าฝ้ายออร์แกนิคทอมือ และในขณะเดียวกันก็สร้างกระบวนการทำงานและการออกแบบให้กับชุมชนอีกด้วย
1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
แฟชั่นโชว์ครั้งนี้พ่วงหลักใหญ่ใจความสำคัญด้วยความต้องการที่จะเปลี่ยนมุมมองของคนไทยต่องานคราฟต์ไทยด้วยกันเอง โดยการนำเสนอชิ้นงานหรือผลงานที่เต็มไปด้วยความประณีต เนื่องจากผ้าไทยมีศักยภาพในการเติมเต็มธุรกิจแฟชั่นเช่นเดียวกัน ด้วยมิติและเบื้องหลังแรงบันดาลใจจากผ้าเหล่านี้มาจากการทำงานของชุมชนที่หลากหลาย มีคุณธรรมและความยั่งยืน เพราะฉะนั้นลองหยิบงานคราฟต์ไทยขึ้นมาพินิจและพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วนดูสิ ลองสัมผัสความละเอียดของฝีเข็ม ความตั้งใจในการดีไซน์ และเรื่องราวแรงบันดาลใจของงานคราฟต์เหล่านี้ แล้วเราเชื่อว่าคุณจะตอบคำถามที่ว่า “คุณค่าและความหมายที่อยู่ข้างใต้นั้น มันมีมูลค่ามากกว่าที่เรากำลังต่อรองจริงหรือไม่”
1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
โดยงาน Impact Day ครั้งนี้ที่จัดขึ้นโดยมีบ้านปูฯ และสถาบัน ChangeFusion ผู้เป็นโต้โผใหญ่ในการสนับสนุนโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่เปิดโอกาสและพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้นำเสนอตัวตน ภูมิปัญญา และความสามารถ ผ่านการเชื่อมโยงธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างให้เกิดรากฐานและสิ่งดีๆ กับสังคมนั้น นอกจากการนำเสนอคุณค่าของผ้าไทยในงานคราฟต์ผ่านแฟชั่นโชว์ชุดดังกล่าว บ้านปูฯ ยังเปิดเวทีสร้าง “ผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่” (Young Social Entrepreneur) ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ตลอดระยะเวลาโครงการ มีกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในหลากหลายด้าน ทั้งการพัฒนาธุรกิจ การนำเสนอแผนธุรกิจ การทำแบรนด์ดิ้ง เป็นต้น เพื่อสามารถต่อยอดผลลัพธ์ทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดได้ โดยผู้ชนะ 5 ทีม จากโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมปีที่ 9 ยังมีจุดเริ่มต้นและรากฐานมาจากความคิดที่ใกล้เคียงกัน คือความต้องการสร้างรายได้ให้กับสินค้าที่สามารถนำมาแปรรูปได้ รวมถึงการสนับสนุนและมอบอาชีพให้กับคนในชุมชน อันได้แก่ ทีมเพียงใจ, ทีม Heaven on earth, ทีม Younghappy, ทีม Orgafeed และทีมอัตลักษณ์ งาน Impact Day ครั้งนี้เป็นการรวบรวมกิจการเพื่อสังคมของไทยในหลากหลายสาขา รวมถึงงานคราฟต์ที่มีคุณภาพ ที่สามารถเป็นกระบอกเสียงชั้นเยี่ยมในการสื่อสารถึงฝีมือการทำงานจากคนไทยว่า งานคราฟต์เหล่านี้สามารถสร้างอนาคตและความมั่นคงแบบยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนมุมมองที่เหมือนกันให้กับคนไทยได้เข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของ “งานคราฟต์ไทย" อีกด้วย
WATCH